“นักข่าว” ในสถานการณ์น้ำท่วม-ภัยพิบัติ

“อาชีพอย่างเราต้องวิ่งสวนทางเข้าไป กับคนที่วิ่งหนีออกมาเวลาเกิดเหตุ แต่บางทีเราอาจจะลืมนึกไปว่า ทางที่เราวิ่งสวนเข้าไปนั้นไม่มีทางกลับ”

การทำงานในสถานการณ์ต่างๆโดยเฉพาะ “อาชีพผู้สื่อข่าว” จำเป็นต้องมีทักษะ เพื่อช่วยเพิ่มเติมให้ผลงานออกมาดีมีคุณภาพ ดังนั้นการวางแผนและการบริหารจัดการ จึงเป็นทักษะที่สำคัญมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2554 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนอีกเหตุการณ์หนึ่ง ทั้งนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของทักษะการทำงาน ของนักข่าวภาคสนาม จึงมีการจัดอบรม Safety training และบรรจุเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำเข้าไปในหลักสูตรด้วย

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา วิทยากร การอบรมเชิงปฏิบัติการ การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ Safety training สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย บอกเล่าใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า หลักสูตร Safety training ดังกล่าว เป็นการเพิ่มทักษะให้นักข่าวในการรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยขอให้หน่วยกู้ภัยทางน้ำมาสอน สิ่งแรกที่เขาสอนคือการสวมเสื้อชูชีพ เพราะเสื้อชูชีพสำคัญมากในการลงพื้นที่ นอกจากนี้ควรจะต้องมีการปฏิบัติตัวเรียนรู้ในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ , การขับเรือ ,ประเมินสถานการณ์น้ำให้ถูกต้อง หากเจอผู้ประสบภัยลอยน้ำมาหรือเพื่อนเราตกน้ำ เราจะนำเขาขึ้นมาอย่างไรโดยที่เราไม่ต้องลงน้ำไปด้วย

การสวมเสื้อชูชีพอย่างไรให้ถูกต้อง ตรงนี้ถือเป็นจุดใหญ่มากที่เราไม่ชอบทำกัน คือที่เสื้อชูชีพจะมีสายข้างล่างบริเวณชายเสื้อ ซึ่งจะต้องมารัดตรงเป้ากางเกง ช่วยพยุงร่างกายเราไว้ ผมรับประกันเลยว่า 90% ไม่มีใครใส่สายรัดนี้ เพราะอายมันรัดตรงเป้ากางเกง แต่ถ้าเราจำเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตจำนวนมากในเหตุการณ์นั้น คนที่เสียชีวิตสวมเสื้อชูชีพ แต่เขาไม่ได้รัดสายนี้ ขณะที่เสื้อชูชีพบางตัวอาจจะไม่มีสายนี้ให้รัดด้วยซ้ำไป ซึ่งศพของนักท่องเที่ยวจีน เราจะเห็นว่าเสื้อชูชีพติดอยู่บริเวณใบหน้าของเขาเพราะว่าเสื้อลอยแล้วคนจม ก็ดันหัวเราจมลงไป ขณะที่เสื้อชูชีพก็ปิดหน้าอยู่แทนที่เสื้อชูชีพนั้นจะช่วยเราก็กลายเป็นฆ่าเรา เป็นต้น

นักข่าวบางส่วนก็จะติดตามไปกับหน่วยกู้ชีพ ซึ่งค่อนข้างที่จะ adventure หรือผจญภัย ต้นสังกัดของสื่อดังกล่าว ควรต้องเตรียมเสื้อชูชีพไปให้พร้อม หากตกน้ำก็จะสามารถลอยตัวได้ และไม่กลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง จึงไม่จำเป็นต้องซื้อราคาแพงและสามารถนำมาไปใช้ได้ตลอด เพราะเคยมีสถานการณ์เกิดขึ้นมาแล้วซึ่งอันตรายมาก บางพื้นที่มีความลาดเอียง เป็นหลุมหรือเป็นถนนเพราะน้ำท่วมคลุมไปหมด ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าที่คุณเดินอยู่ขาอาจจะเหยียบลงไปน้ำแค่หน้าอก แต่พอก้าวไปอีกจุดอาจหล่นปุ๊บลงไปเป็นแม่น้ำเลย ต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งความปลอดภัยของนักข่าวและอุปกรณ์

“อาชีพอย่างเราต้องวิ่งสวนทางเข้าไป กับคนที่วิ่งหนีออกมาเวลาเกิดเหตุ แต่บางทีเราอาจจะลืมนึกไปว่า ทางที่เราวิ่งสวนเข้าไปนั้นไม่มีทางกลับ เช่น ตอนที่เราเข้าไปน้ำกำลังขึ้น เราเข้าไปได้แต่พอจะออกมาไม่ได้แล้ว ก็เลยกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ตรงนี้ถือเป็นจุดสำคัญ ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีน้ำท่วม แต่ถ้าเป็นพื้นที่ในสถานการณ์อื่น เช่น ดินถล่ม เราเข้าไปยังไม่ถล่ม แต่เราพอจะออกมาดินถล่มลงมาขวางทาง เราออกมาไม่ได้ เป็นต้น แต่น้ำจะเป็นไปได้มากที่สุด หรือแม้แต่จุดที่เราอยู่ตั้งเป็นศูนย์บัญชาการไว้ เราควรจะตั้งอยู่ตรงไหน เช่น เราตั้งในจุดนี้ ปรากฏว่าผ่านไป 2 ชั่วโมง น้ำล้อมหมดแล้วปรากฏว่าเอารถออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิดในเรื่องของการประเมินสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญ”

สถาพร เล่าว่า ก่อนหน้านี้การอบรม Safety training เน้นเรื่องการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งเป็นหลัก แต่เมื่อผ่านสถานการณ์ปี 2553 มา จนมาถึงสถานการณ์ช่วงนี้ ความขัดแย้งไม่ได้มีความรุนแรงมาก จึงมีการปรับการฝึกเรื่องความขัดแย้งออกไปเล็กน้อย และเพิ่มเรื่องสถานการณ์ภัยพิบัติเข้ามาในหลักสูตร เนื่องจากประเทศไทยเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมทุกปี และเจอบ่อยกว่าความขัดแย้ง

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว #น้ำท่วม-ภัยพิบัติ

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation