ความเป็นความตายของสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย

หมายเหตุ   มานิจ สุขสมจิตร ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาสังคมศาตร์สาขาวิชานิเทศศาสตร์สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  นำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

ขอบคุณภาพจากสยามรัฐ

สื่อมวลชน (Mass Media) หมายความถึงสื่อที่สามารถกระจายข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ผ่านช่องทางต่างๆ อันได้แก่หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และอินเทอร์เน็ตเป็นต้น *๑๒

ในบรรดาสื่อสารมวลชนนั้น ยังได้แบ่งประเภทออกเป็นสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) เช่นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อสารมวลชนอีกประเภทคือสื่อใหม่ (New Media) อันได้แก่สื่อที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวกระจายสาร ซึ่งบางทีก็เรียกว่าสื่อสังคม (Social Media) โดยนัยที่กล่าว ถึงช่องทางสื่อสารออนไลน์ผ่านเวบไซต์ซอฟท์แวร์ และแอพลิเคชั่นต่างๆ อย่างรวดเร็วและมีสมรรถนะสูงมาก 

ปัจจุบันผู้คนโดยทั่วไปนิยมใช้สื่อสังคมผ่านโทรศัพท์มือถือในการแลกเปลี่ยนและส่งต่อข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็น ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทั้ง ความรู้ความบันเทิง ธุรกิจ สังคมและการเมืองการปกครอง บางทีก็เป็นการด้อยค่าหรือสรรเสริญเยินยอกัน  เพราะโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นสื่อเคลื่อนที่ สามารถใช้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ไม่ว่าจะอยู่บนท้องถนน อยู่ในบ้าน ร้านอาหาร ห้องทำงาน หรือห้องเรียน นั่นทำให้ประชาชนจำนวนมหาศาลสามารถเข้าถึงสื่อชนิดนี้ได้ง่าย และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าสื่อสังคมมีอิทธิพลมาก กล่าวคือในจำนวนพลเมืองไทย ๖๙.๗๑ ล้านคน ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (โทรศัพท์มือถือ) จำนวน ๙๓.๓๙ ล้านหมายเลข โดยนับจากซิมการ์ด (sim card) ที่มีผู้ลงทะเบียน ๕๒ ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ ๗๕ ใช้โซเชี่ยลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ ไม่สนใจคำเตือนของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทที่เตือนว่า การใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ที่เรียกว่าโรค Text neck syndrome 

โรค Text neck syndrome เป็นโรคที่แตกแขนงมาจากโรค Office syndrome ซึ่งในยุค "สังคมก้มหน้า" มีผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่นี้เข้ารับการรักษา โรคกระดูกคอเคลื่อนตามโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ป่วยก้มหน้าดูจากอุปกรณ์สื่อสารติดต่อกันเป็นเวลานานจนทำให้กล้ามเนื้อคอและกระดูกสันหลังที่บริเวณคอต้องรับน้ำหนักมากขึ้นจนเกิดอาการการปวดกล้ามเนื้อที่คอเรื้อรัง ไหล่ห่อ บางรายถึงกับหลังค่อม ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย รวมถึงเด็กและวัยรุ่นด้วย

ในเรื่องความนิยมใช้โทรศัพท์มือถือนั้น ได้เกิดขึ้นโดยทั่วไปทั้งโลก และนับวันจะเพิ่มมากขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์บางอย่างตามมา 

หนังสือพิมพ์ The Telegraph ของอังกฤษ รายงานพฤติกรรมของคนอังกฤษว่า ยอดการซื้อ Ring tone หรือเสียงเรียกเข้าในลักษณะต่างๆ ตามรสนิยมจากการ Download ผ่านเครือข่าย อินเทอร์เน็ต ในสหราชอาณาจักร มีปริมาณลดลงถึง ๑ ใน ๔ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เพราะหนุ่มสาวยุคใหม่ นิยมปิดเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือ เพราะเขาและเธอต่างก็ใช้ชีวิตอยู่ติดกับหน้าจอโทรศัพท์ตลอดเวลา ดังนั้น Ring tone จึงไม่จำเป็นเพราะพวกเขาสามารถรู้ได้ในทันทีที่มีใครโทรศัพท์หรือส่งข้อความเข้ามา พวกเขานิยมการสื่อสารกันแบบเงียบๆ ผ่านการส่งข้อความ นอกจากจะเป็นเรื่องของมารยาททางสังคมแล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนรอบข้างทราบว่ากำลังสนทนากับใคร ในเรื่องอะไรอยู่อีกด้วย

บทความนี้จะได้กล่าวถึงความเป็นและความตายของสื่อสิ่งพิมพ์อันเป็นสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) ของประเทศไทย ที่กำลังพบกับวิกฤตที่รุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดคำถามขึ้นมาว่าสื่อดั้งเดิมในประเทศไทยจะยังคงรักษาสถานภาพต่อไปได้อีกกี่มากน้อย และนานสักเท่าไร

ปฐมบทของสื่อมวลชนไทย

หนังสือพิมพ์นับว่าเป็นสื่อสารมวลชนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกรวมถึงประเทศไทยเราด้วย เนื่องจากหนังสือพิมพ์ชื่อ"หนังสือจดหมายเหตุ"(TheBangkokRecorder) เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศไทย ที่ออกโดยหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันชื่อนายแพทย์ แดเนียล บีช บรัดเลย์ (Daniel Beach Bradley) ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ให้ออกเป็นปฐมฤกษ์ได้เมื่อวันที่ ๔ กรกฏาคม พศ. ๒๓๘๗ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะมีหนังสือพิมพ์ฉบับแรกเกิดขึ้น ๑๗ ปี *๑

ที่สำคัญก็คือสื่อสิ่งพิมพ์อันเป็นสื่อดั้งเดิมกว่าสื่อสารมวลชนประเภทอื่นนั้น ได้รับการยกย่องให้อยู่ในสถานะของผู้มีฐานันดรที่ ๔ (Fourth  Estate)*๑๐ เพราะได้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนได้ดีกว่า โดยฐานันดรทั้ง ๓ ที่มีมาแต่ก่อนในยุโรปคือ "ขัตติยะ" หรือนักรบ เป็นฐานันดรที่ ๑ "สมณะ" อันได้แก่บรรพชิตผู้ทรงศีล เป็นฐานันดรที่ ๒ และ "คนธรรมดา" อันได้แก่ผู้ที่ทำการงานค้าขาย หรือทำการเพาะปลูกเป็นอาชีพนั้นเป็นฐานันดรที่ ๓ 

     รัฐสภาสหราชอาณาจักร ที่กรุงลอนดอน ก็มีกำหนดลำดับศักดิ์ของคนในสังคม ทำนองเดียวกันคือ ฐานันดรทั้งสาม ประกอบด้วย สภาขุนนาง อันมีบรรดาขุนนางสืบตระกูล (The Lord Spiritual) เป็นฐานันดรที่ ๑ บรรพชิตชั้นพระราชาคณะ (The Lord Temporal) เป็นฐานันดรที่ ๒ และสามัญชนคนธรรมดา ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร (The Commons) เป็นฐานันดรที่ ๓

สาเหตุที่จะเกิดฐานันดรที่ ๔ (Fourth Estate) ที่หมายถึงผู้ประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์นั้นคือ วันหนึ่ง เมื่อ ๒๐๐ ปีเศษมาแล้ว นายเอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) รัฐบุรุษและนักปรัชญาชาวไอร์แลนด์ (มีอายุอยู่ระหว่าง คศ. ๑๗๒๓-๑๗๙๒) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภาในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตอนหนึ่งว่า "...ในขณะที่เราทั้งหลาย ผู้เป็นฐานันดรใดฐานันดรหนึ่งในฐานันดรทั้งสามกำลังประชุมกันอยู่นี้ เราพึงคำนึงไว้ด้วยว่า บัดนี้ได้มีฐานันดรที่ ๔ เกิดขึ้นแล้ว พวกเขาเป็นปากเป็นเสียงแทนฐานันดรอื่น และฐานันดรนั้น กำลังนั่งฟังการประชุมของเราอยู่ ณ ที่นี้ด้วย..." ว่าแล้ว เขาก็ชี้มือไปทางผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ The London Times ซึ่งมานั่งฟังการประชุมที่ทางรัฐสภาจัดไว้ให้ที่ระเบียงชั้นบน

ตั้งแต่นั้นมา บรรดาผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ต่างก็ยินดีรับเอาสมญานามที่ได้ชื่อว่า เป็น "ฐานันดรที่ ๔" นั้นอย่างเต็มภาคภูมิ แม้สื่อมวลชนที่เกิดขึ้นภายหลังเช่นวิทยุ โทรทัศน์และสื่ออื่น ต่างก็ถือว่าตนเองก็เป็นผู้อยู่ในฐานันดรที่ ๔ ด้วย เพราะได้ทำหน้าที่อันสำคัญ ๔ ประการคือ ให้ข้อมูลข่าวสาร ออกความเห็น ให้ความบันเทิง และเป็นสื่อในการโฆษณาเช่นเดียวกันเรื่อยมา และดูเหมือนว่าในระยะหลังต่อมา สถานภาพความเป็นฐานันดรที่ ๔ ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้ถูกลดทอนลงมาด้วยคนในวงการสื่อมวลชนเอง จนหาคนที่พยายามจะกู้คืนศักดิ์ศรีได้น้อยมาก โดยเฉพาะการที่เป็นเสมือน "สุนัขเฝ้าบ้าน" (Watchdog) ที่มีหน้าที่ส่งเสียงเตือนเจ้าของบ้านว่ามีอะไรเกิดขึ้นเพื่อจะได้ป้องกันและระมัดระวัง ต่างพากันละเลยหน้าที่อันสำคัญ ปล่อยปละละเลยให้มีผู้ทุจริตประพฤติมิชอบ ไม่เคารพกฏเกณฑ์หรือกติกาเกิดขึ้นในสังคมมากมาย

ส่วนวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยที่เกิดขึ้นภายหลังหนังสือพิมพ์โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระอวงค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเริ่มทดลองส่งกระจายเสียงเป็นครั้งแรกระหว่างปี พศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๒ โดยทรงตั้งชื่อว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพที่พญาไท" เปิดกระจายเสียงอย่างเป็นทางการด้วยการถ่ายทอดพระสุรเสียงกระแสพระราชดำรัสเนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคลในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เมื่อวันพุธที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พศ. ๒๔๗๓ จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มไหยสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง 

ต่อจากนั้นอีก ๒๕ ปี เราจึงได้มีสถานีโทรทัศน์โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ประกอบพิธีเปิดสถานีโทรทัศน์ "ไทยทีวี ช่อง ๔ บางขุนพรหม" เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พศ. ๒๔๙๘ นับเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของไทยและของทวีปเอเซีย

กิจการหนังสือพิมพ์อันเป็นสื่อดั้งเดิมในประเทศไทยนับเนื่องจากหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์เป็นต้นมาได้เจริญเติบโตตามลำดับจากที่ออกเป็นรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ รายสามวันและเป็นรายวัน มีคนทำงานในตำแหน่งต่างๆ ในสำนักพิมพ์บางแห่งมีมากถึงกว่า ๒ พันคน จากที่เคยพิมพ์เฉพาะสีดำก็มาเพิ่มเป็นการพิมพ์ ๔ สี พิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันออกจำหน่ายบางฉบับถึงวันละ ๑ ล้านฉบับ มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น สำหรับหนังสือพิมพ์ภาษาไทย นั้นมีการพิมพ์ถึงวันละ ๖ กรอบหรือผลัด (Edition) ลงวันที่เดียวกันส่งไปจำหน่ายต่างภูมิภาคทั่วราชอาณาจักรรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านและต่างประเทศที่มีชุมนุมคนไทยอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากเช่นที่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส ฮ่องกง ออสเตรเลีย ด้านนิตยสารก็มีทั้งรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ ทั้งที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทยเอง และต้นกำเนิดจากต่างประเทศโดยขอซื้อสิทธ์หัวหนังสือจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลี และญี่ปุ่น มาออกเป็นภาษาไทย มีทั้งประเภทบันเทิงคดีโดยทั่วไป และประเภทเจาะจงผู้อ่านเฉพาะด้าน เช่นด้านแฟชั่น การ์ตูน พระเครื่อง กีฬา  นวนิยาย หรือด้านวิทยาศาสตร์ ฯลฯ 

แต่แล้วเมื่อเกิดการพลิกผันของเทคโนโลยี (Disruptive Technology) ขึ้นมา ภาพต่างๆ ที่เคยปรากฎเป็นความรุ่งเรืองของสื่อสิ่งพิมพ์ในอดีตได้อันตรธานไปจากแผงหนังสือตามริมถนนหรือริมตรอกซอกซอย ร้านขายหนังสือพิมพ์กลายเป็นร้านขายผลไม้หรือขายสินค้าอุปโภคบริโภค การขายหนังสือพิมพ์ตามสี่แยกจราจรบนถนนในเมืองหรือตามหน้าโรงภาพยนตร์ก่อนทำการฉายเวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกาไม่มีแล้ว คนขี่จักรยานยนต์ส่งหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารตามบ้านตอนเช้าตรู่หายไป เพราะเมื่อเขามีอายุมากขึ้นลูกๆ ที่เติบโตขึ้นมาก็หันไปประกอบอาชีพอย่างอื่น แม้ว่าสมัยก่อนจะมีค่าขายสิทธิ์สายส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านและร้านค้า มูลค่าสายส่งถนนสายละเป็นแสนๆ บาทก็หมดค่าลง ไม่มีใครซื้อ สู้ไปทำงานเป็นไรเดอร์ (Rider) ส่งอาหารตามสั่งไม่ได้เพราะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนต่อเที่ยวที่มากกว่ากัน

เทคโนโลยีการสื่อสารที่พลิกผัน

เมื่อการพลิกผันทางเทคโนโลยีการสื่อสาร (พจนานุกรมศัพท์นิเทศศาตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสภาแปลคำ Disruptive Communiction ว่าหมายถึง ๑. การสื่อสารพลิกผันหรือ ๒. การสื่อสารแบบภังควิวัฒน์ -ภังค แปลว่าการแตก การทำลาย หรือความยับเยินล่มจม) อันหมายถึงการที่สภาวการณ์ วิสัยทัศน์และกรอบความคิดทางการสื่อสาร ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยี ซึ่งแทรกเข้ามากีดขวางระบบการสื่อสารของมนุษย์จนหยุดชะงัก ไม่ให้เคลื่อนไปตามทิศทางเดิม เป็นการล่มสลายของระบบเก่าที่แม้จะยังพอมีเค้าเดิมอยู่บ้าง แต่ก็สร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ที่รวดเร็วและพลิกไปสู่สถานการณ์การสื่อสารใหม่ 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะ Disruptive Communication ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการเช่น เมื่อมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้ เราก็เลิกไปโอนเงินที่ธนาคาร ไม่ต้องมีนาฬิกาข้อมือ ไม่ต้องส่งจดหมายทางไปรษณีย์ ไม่ต้องมีอุปกรณ์เครื่องบันทึกเสียงบันทึกภาพต่างหาก ต่างก็ลืมวิธีคิดเลขในใจ ลืมวิธีเขียนหนังสือด้วยมือ สมุดจดบันทึกก็ไม่ต้องมี การประชุมแบบพบหน้ากันก็เปลี่ยนมาประชุมออนไลน์ (Online meeting) ด้วยแอพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ Skype, Zoom meeting, Microsoft team, Line call, WhatsApp หรือประชุมสัมมนาผ่านเว็บ ที่เรียกว่า webinar โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสถานที่ประชุมนอกบ้าน

ในอดีตที่เคยเกิดโรคระบาดขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายลงไปครั้งละมากๆ เราไม่มีช่องทางสื่อสารถึงกันสะดวกและรวดเร็วเหมือนสมัยนี้เลย

พฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารก็เช่นกัน สมัยก่อนเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติทางธรรมชาติ เหตุการณ์ทางการเมือง หรือเรื่องอื่นใดก็ตาม กว่าที่เราจะรู้เรื่องต้องรอฟังข่าวต้นชั่วโมงจากสถานีวิทยุกระจายเสียง หรือคอยดูข่าวโทรทัศน์ตอนกลางคืน หรือไม่ก็ต้องรออ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้า แต่สมัยนี้เราสามารถทราบข่าวคราวเหล่านั้นจากสื่อสมัยใหม่ที่เรียกว่าสื่อสังคม (Social Media) ภายในเสี้ยวนาทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่มุมไหนของโลก ส่วนคนที่นิยมดูละครโทรทัศน์หลังข่าวก็ไม่ต้องรีบกลับบ้าน เพราะสามารถเปิดดูละครย้อนหลังกี่ครั้งกี่หนก็ได้ ใครที่เป็นแฟนเพลงนักร้องคนโปรดก็สามารถหามาฟัง รวมทั้งหาความบันเทิงจากยูทูปได้ด้วย นี่คือความสะดวกสบายที่เข้ามาทะลายกรอบเวลาและสถานที่ลงอย่างสิ้นเชิง

สื่อดั้งเดิมโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายต่างก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกันทั้งโลก ซึ่งนอกจากจะได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักจากการพลิกผันของเทคโนโลยีแล้ว ยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากการระบาดของโรคไวรัสโควิด-๑๙ เข้าไปอีกผู้คนต้องเก็บตัวอยู่แต่ในเคหะสถานบ้านช่องไม่ออกไปไหน สื่อสิ่งพิมพ์ขายไม่ออกจนมีอาการร่อแร่จวนเจียนจะเกิดหายนะอย่างที่เห็น

การสิ้นสุดของสรรพสิ่ง

ปรากฏการณ์การสิ้นสุดของสรรพสิ่งที่เป็นไปตามกฏธรรมชาติที่เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่และตายไป ได้ปรากฎให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ เช่นนามบัตรที่มีการแลกเปลี่ยนโดยต่างยืนโค้งมอบให้กันเมื่อคน ๒ ฝ่ายพบกันครั้งแรก บางคนต้องพิมพ์นามบัตรไว้เป็นกล่องๆ ตามที่ BBC ประมาณการเอาไว้ว่าก่อนการมาถึงของโควิด-๑๙ ทั่วโลกมีการพิมพ์นามบัตรเอาไว้แจกกันเป็นปริมาณมหาศาลถึง ๒๗ ล้านใบต่อวัน หรือมากกว่า ๗ พันล้านใบต่อปี บัดนี้พฤติกรรมนั้นได้เปลี่ยนไป เป็นการแปะ QR code ไว้ให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถสแกนเพื่อเข้าถึงรายละเอียดสำคัญหรือข้อมูลการติดต่อต่างๆ ไว้ รวมทั้งวิธีให้เอาโทรศัพท์ของเขามาแตะเข้ากับของเรา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ต้องการระหว่างกัน ทั้งนี้เพราะการหยิบจับนามบัตรในยามที่โควิด-๑๙ กำลังระบาดเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง ทำให้นามบัตรหมดความจำเป็นลงไปในทันที *๗

ส่วนการที่ผู้คนต่างหันมานิยมเสพ Social Media หรือสื่อดิจิทัลกันมากขึ้นนั้นได้มีการวิเคราะห์กันว่า นอกจากความสะดวกสบายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มีการวิเคราะห์กันว่าน่าจะมาจากเหตุผลใหญ่ๆ ๒ ประการคือ

ประการหนึ่งน่าจะเนื่องมาจากว่า การที่อัลกอริธึ่ม (Algorithm : ชุดคำสั่ง) ของ Social Media ได้คัดกรองเอาสิ่งที่เราน่าจะสนใจ สิ่งที่เราน่าจะชอบ หรือสิ่งที่เราน่าจะเห็นด้วย มาวางไว้ตรงหน้าเราให้เราเสพเข้าไปทุกวันๆ และนี่แหละเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนอื่นรอบตัวเราคิดเหมือนกันหมด และนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า Confirmation Bias

Confirmation Bias (ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน ความคิดฝ่ายตน) คือการที่มนุษย์อย่างเราๆ มักจะมีแนวโน้มที่จะมองหา ตีความ และจดจำข้อมูลใหม่ๆ ที่มายืนยันสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้องอยู่แล้วนั้นมีอยู่จริง  และเมื่อนั้นสมองก็ไม่ต้องทำงานหนัก ไม่มีอะไรมาค้านกับเรา เราพร้อมที่จะตอกย้ำความเชื่อนั้นให้แน่นหนักกว่าเดิมได้ทันที 

Confirmation Bias นี่แหละ เป็นสาเหตุที่ทำให้เราติด Social Media กันหนึบหนับอย่างถอนตัวไม่ขึ้นทุกวันนี้ เหมือนการที่เราได้คุยกับใครสักคน แล้วคนนั้นก็พยักหน้าเออออห่อหมกไปกับเราหมดทุกอย่าง

เมื่อเจาะลึกลงไปในเรื่องการเสพข้อมูลข่าวสาร จันทร์เพ็ญ จันทนา กล่าวไว้ในบทความชื่อ "เมื่อคนไทยใช้โซเชี่ยลมีเดียเป็นแหล่งข้อมูลมากที่สุดในโลก" ว่า ผลจากการสำรวจของกลุ่มตัวอย่างพบว่า คนไทย และคนไนจีเรีย มีการใช้ Social Media เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารมากเป็นอับดับ ๑ ของโลก คืออยู่ที่ ๗๘ % รองลงมาได้แก่ประชาชนที่ประเทศเคนย่า แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย โคลัมเบีย เปรู กรีซ บัลกาเรีย เม็กซิโก  อาร์เจนติน่า อินโดนีเซีย ฮังการี่ อินเดีย บราซิล ตุรกี ตามลำดับซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาเช่นเดียวกับประเทศไทย *๒

รายละเอียดของรายงานนี้ระบุว่า นอกจากคนไทยจะใช้ Social Media เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารเป็นที่ ๑ ในโลกแล้ว คนไทยเรายังเชื่อข้อมูลข่าวสารจากแหล่งดังกล่าวอย่างมากเสียด้วย โดยคะแนนความเชื่อข่าวที่มาจาก Social Media ของคนไทยเป็นอันดับที่ ๒ ของโลก รองลงมาจากคนในประเทศเคนย่า ที่เชื่อข้อมูลข่าวสารจาก Social Media ถึง ๔๐ % ในขณะที่ค่าเฉลี่ยความเชื่อข่าวจาก Social Media ของคนทั้งโลกอยู่ที่ ๒๔ % 

ประการที่สองน่าจะเนื่องมาจากการเชื่อข้อมูลข่าวสารจาก Social Media เช่นนี้น่าจะเป็นเพราะวิสัยของมนุษย์ที่ตกอยู่ในสภาวะ FOMO (Fear Of Missing Out) หรือความกลัวที่จะตกข่าว (ตก Trend)  กลัวจะไม่ได้เป็นคนแรกๆ ที่บอกโลก ความกลัวนี้ปรากฏอยู่ตั้งแต่ระดับของ "ผู้ตั้งต้นส่งสาร" จึงส่งผลให้เกิดข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ หรือไต่สวนทวนความให้รอบคอบถึงข้อเท็จจริงและความเหมาะสม จนเกิดการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารผิดๆ และอันตราย (Infodemic) จำนวนมาก แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางทำให้ส่งผลร้ายหลายประการ ของข่าวลวงข่าวปลอมรวมทั้งข้อมูลเท็จ (Disinformation) ข้อมูลบิดเบือน (Misinformation) ที่มีเต็มไปหมด ในแพลตฟอร์มต่างๆ (Platform - หมายถึงพื้นฐาน แผน เวทีหรือโอกาสในการนำเสนอความคิดเห็นให้ผู้คนได้รับรู้)  เพียงเพื่อหวัง Rating หรือยอด Engagement โดยอาจลืมไปว่าสิ่งนั้นๆ ใช่คุณค่าที่ควรจะปรุงออกมาเผยแพร่ต่อสังคมหรือไม่ มีประโยชน์อะไร พฤติกรรมที่ละเลยต่อความรับผิดชอบเช่นนี้ได้เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ แต่แล้วกลับไม่มีการประกาศยอมรับผิดและแก้ข่าว คงกระทำเพียงลบข้อมูลเก่าทิ้ง แล้วโพสต์ของใหม่ลงไปแทนเท่านั้น นี่คือมหันตภัยบนโลกออนไลน์ที่น่ากลัวที่สุด

เมื่อกล่าวถึงการลบข้อมูลทิ้ง   มีตัวเลขที่น่าสนใจว่าในปี พศ. ๒๕๖๓ ที่ผ่านมามีผู้ใช้ Social Media ประเภท Twitter จำนวนไม่น้อย (ประเทศที่ใช้ Twitter มากที่สุดในโลก คือสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ ญี่ปุ่น และอินเดีย) ที่ตัดสินใจย้อนกลับไปอ่านข้อความที่ตนเองเคย tweet เอาไว้ในอดีตแล้วลบข้อความที่ไม่พึงประสงค์ที่ส่วนใหญ่เป็นคำหยาบออกไป หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านี้แล้ว ก็นับว่ามีคนอเมริกันที่กลับไปลบทวิตเตอร์ของตัวเองมากถึง ๒๐๕,๓๐๙,๗๘๖ ทวิต เพิ่มขึ้นถึงเกือบ ๑๔ % เลยทีเดียว ส่งผลให้ผู้ให้บริการ Twitter ต้องคิดค้นเครื่องมือช่วยลบที่เรียกว่า Twitter Deleter ออกมา เพราะไม่ได้มีเพียงคนอเมริกันเท่านั้นที่ชอบลบทวิตเตอร์ตัวเอง คนของประเทศที่ชอบลบทวิตเตอร์ตัวเองรองลงมาคือญี่ปุ่น โดยในปีที่ผ่านมา มีการลบไป ๑๑.๒๓ ล้านทวิต และอังกฤษ ๔.๑ ล้านทวิต เหตุที่กลับไปลบทวิตเตอร์ทิ้งมีหลายสาเหตุเช่น ต้องการรักษาภาพลักษณ์เมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้น หรือเมื่อได้รับข้อมูลใหม่ที่พิสูจน์แล้วว่าตนเองเข้าใจผิดที่ทวิตอะไรออกไปโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ *๓

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากบริษัท Line ประเทศไทยแจ้งว่ามีผู้ใช้บริการดูดวงชะตาราศรีในประเทศไทยทางไลน์วันละ ๓ ล้านคน โดยเฉพาะช่วงใกล้วันออกสลากกินแบ่งรัฐบาล

กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า Digital Disruption นั้น เป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสารจากสื่อดั้งเดิมไปเสพสื่อในแพลตฟอร์มใหม่ บนโลกออนไลน์ที่รวดเร็วและหลากหลายกว่าเดิม ประกอบกับภาพรวมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนา ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบมากขึ้น จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอีเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพบว่า ในปี พศ. ๒๕๖๒ คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต สูงถึง ๕๐.๑ ล้านคน ซึ่งคิดเป็น ๗๕.๓ % ของประชากรในประเทศไทยปีนั้น ที่มีจำนวน ๖๕.๕ ล้านคน แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี พศ. ๒๕๕๖ ที่มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง ๒๖.๑ ล้านคน นับได้ว่า ๖ ปีผ่านมา จำนวนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีสูงถึง ๑๑.๕ % และในปี พศ. ๒๕๖๓ คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๑ ชั่วโมง ๒๕ นาทีต่อวันหรือเกือบจะครึ่งวันทีเดียว จะเห็นว่าจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พศ. ๒๕๖๐ คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยเพียงวันละ ๖ ชั่วโมง ๓๕ นาทีต่อวันนับเป็นการเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ*๑๑

 โฆษณาหาย สื่อสิ่งพิมพ์หด

ด้วยเหตุนี้ เม็ดเงินโฆษณาซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของสื่อทุกประเภทจึงไปเพิ่มที่สื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่มากขึ้น ในขณะที่ค่าโสหุ้ยต่างๆ ในการทำสื่อสิ่งพิมพ์ต่างขยับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ากระดาษพิมพ์ (Newsprint) ค่าหมึกพิมพ์ ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า รวมทั้งค่าจ้างแรงงาน ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์อดทนกับภาวะขาดทุนต่อไปไม่ไหว จำเป็นต้องยุติกิจการหลังจากที่ได้พยายามแก้ปัญหาจนหมดหนทางแล้ว 

   ตลอดเวลา ๕-๖ ปีที่ผ่านมา นิตยสารที่เคยโด่งดังเป็นที่นิยมชมชอบของผู้อ่านทั้งประเทศในอดีต ทยอยกันหายจากแผงขายไปทีละฉบับสองฉบับ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์รายวันที่สายป่านไม่ยาวพอ 

เมื่อจำนวนจำหน่ายน้อยลงเพราะคนซื้อน้อยลง แผงขายหนังสือพิมพ์ค่อยๆ หายไป ผู้ลงโฆษณาก็เบือนหน้าหนี จึงจำเป็นต้องเลิกกิจการ แม้กระทั่งนิตยสารแจกฟรีบนรถไฟฟ้าหรือรถใต้ดินก็ยังอยู่ไม่ได้ เพราะมีคนอ่านน้อยลงเนื่องจากคนเดินทางน้อยลง โฆษณาถูกถอน ไม่มีทุนทำต่อไป *๖

จากการเก็บข้อมูลของบริษัทเดอะนีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) The Nielsen Company (Thailand) Ltd. เปิดเผยว่า เม็ดเงินรายได้จากการโฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ ได้มีอัตราการลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก ๑๕,๔๓๒ ล้านบาทในปี พศ. ๒๕๔๙ ลดลงมาเป็น ๑๒,๓๓๒ ล้านบาทในปี พศ. ๒๕๕๘ จนมาถึงเดือนมีนาคม พศ. ๒๕๖๔ ปรากฏว่างบประมาณโฆษณาที่สื่อสิ่งพิมพ์ได้รับคงเหลือเพียง ๒๗๗ ล้านบาท (ลดลง ๑๒ %) สถานีวิทยุได้ ๒๙๔ ล้านบาท (ลดลง ๑๑%) สถานีโทรทัศน์ได้ ๑๕,๗๐๑ ล้านบาท (ลดลง ๕ %) ในขณะที่สื่ออินเทอร์เน็ทหรือสื่อใหม่ได้รับเงินค่าโฆษณาเพิ่มสูงถึง ๑,๙๐๐ ล้านบาท (เพิ่มขึ้น ๒๐ %)

การที่มีผู้นิยมเสพสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นทำให้เม็ดเงินโฆษณาบนสื่อออนไลน์โตวันโตคืน คู่ขนานไปกับธุรกิจการซื้อขายของออนไลน์ หรือ E-Commerce ที่มีบทบาทมากขึ้น เพราะการขายของหน้าร้านหรือช่องทางออฟไลน์ (Off line) จำนวนมากต่างก็ได้รับผลกระทบจากการ       "ล๊อกดาวน์" (Lock Down) เพราะการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ไปชั่วระยะ ทำให้แบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ ต้องปรับตัว โยกเม็ดเงินไปทำตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง *๔

ความวิตกกังวลของคนทำสื่อสิ่งพิมพ์ ที่จำนวนจำหน่ายลดลงไปเรื่อยๆ นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ได้เกิดขึ้นทั้งโลกโดยเมื่อเดือนมิถุนายน พศ. ๒๕๖๔ นี้เอง บรรดาผู้แทนสื่อสิ่งพิมพ์รุ่นใหญ่ของหลายประเทศรวมทั้งผู้แทนจากสื่อดิจิทัลทั้งจาก ประเทศสหรัฐอเมริกา อัฟริกา ยุโรป เอเซีย และแปซิฟิคได้ไปประชุมปรับทุกข์กันที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลี ในหัวข้อประชุมที่น่าสนใจคือ "หนังสือพิมพ์จะยังอยู่ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้หรือไม่?"  เป็นคำถามที่ถูกตั้งโดยหนังสือพิมพ์ La Stampa ผู้เป็นเจ้าภาพ  หนึ่งในประเด็นที่พูดถึงกันมากก็คือการที่งบโฆษณาที่หนังสือพิมพ์ได้รับตกต่ำลงเป็นลำดับ จำนวนคนอ่านหนังสือพิมพ์ทั้งที่ซื้อตามแผงหรือที่บอกรับเป็นสมาชิกก็น้อยลง และทางเลือกใหม่ที่ผู้บริโภคเลือกคือหันไปอ่านข่าวฟรีบนเฟสบุค และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ 

ที่ประชุมที่เมืองตูรินได้พูดถึงอนาคตของหนังสือพิมพ์ที่ผ่านระยะการเติบโต การลงทุน การขยายตัวการเข้าถึงผู้อ่าน จนกระทั่งมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เมื่อทุกคนสามารถป้อนเนื้อหาเชิงข่าวได้จนทำให้บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาสื่อดั้งเดิมต่างก็รู้สึกว่า สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะกลายเป็น "ตำนาน" โดยนายเจฟฟรี เพรสตั้น เบโซส์  ผู้บริหารของ "แอมะซอน" อีคอมเมิร์ซใหญที่สุดของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามามีบทบาทในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสท์บอกว่า สื่อในรูปแบบสิ่งพิมพ์จะยังคงอยู่ แต่จะมาในรูปโฉม  (Character) ใหม่โดยสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะเป็นสิ่ง Exotic หรือแปลกตา "ผมว่าอีก ๘ ปีข้างหน้าถ้าคุณไปบ้านเพื่อน และถ้าพวกเขามีหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษจริงๆ วางอยู่ คุณอาจะต้องพูดว่า ว้าว! ผมลองเปิดดูได้ไหม" ซึ่งนายเบโซส์ มองในทางธุรกิจว่ายุคอินเทอร์เน็ตกำลังมอบของขวัญที่น่าสนใจให้กับหนังสือพิมพ์ทุกฉบับบนโลกใบนี้

ในขณะที่บรรณาธิการบริหารของสื่อดิจิทัล Bild อันโด่งดังของเยอรมันมองการอ่านข่าวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียว่า "จนถึงวันนี้ ผมยังไม่เห็นหนทางอื่น เมื่อคนอ่านล้วนเป็นกลุ่มวัยรุ่น เป็นคนรุ่นใหม่ ดังนั้นสื่อเองต้องทำให้ชัดเจนว่า จะมีวิธีทำงานกับการผูกขาดของ Facebook อย่างไร มากกว่าจะเปิดสงครามกัน" ในขณะที่นายสึเนโอะ คิดะ ผู้บริหาร ของสำนักข่าวนิเคอิจากญี่ปุ่นมองว่า ตอนนี้ไม่จำเป็นที่จะมามองแต่ว่า โซเชียลมีเดียเป็นมิตรหรือศัตรูแต่เราควรใช้งานมันเท่าที่เราจะทำได้ในตอนนี้ "ผมก็อยากถามเหมือนกันว่า แล้ว Facebook จะยังคงมีอิทธิพลแบบนี้ต่อไปอีกใน ๑๐ ปีข้างหน้าหรือไม่" ส่วนนายไลโอเนล บาร์เบอร์  (Lionel Barber) บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชี่ยล ไทมส์ (Financial Times)ของอังกฤษ มองว่าต่อไปจะมีการแบ่งหมวดหมู่เรียกประเภทข่าวว่า "ข่าวด่วน" กับ "ข่าวช้า" และ "ข่าวช้า" นั้น ก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบ แต่เป็นความหมายของข่าว "เชิงลึก" นั่นเอง

สำหรับประเทศไทย สาวิตรี รินวงษ์ อ้างข้อมูลจากการสำรวจของ Kantar Group Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคระดับโลก กับ DAAT (Digital Advertising Association Thailand) ไว้ในบทความชื่อ  "เจาะงบโฆษณาดิจิทัล ๒๕๖๔ แบรนด์สินค้าจะเทเงินไหลไปสื่อไหน" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๔ ว่า ภาพรวมครึ่งปีแรก สื่อดิจิทัลโกยเงินค่าโฆษณาไปแล้ว ๑๑,๗๓๒ ล้านบาท และครึ่งปีหลัง ๒๕๖๔ ก็จะโตต่อ กวาดเม็ดเงินเพิ่มอีก ๑๑,๕๘๓ ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่ดีกว่าประมาณการจากเดิมที่ DAAT ประเมินว่า วิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ จะฉุดการเติบโตที่ ๐.๓ % เท่านั้น แต่เมื่อมีการล๊อกดาวน์เพราะโรคโควิด-๑๙ ระบาดหนัก คนอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัว ธุรกิจไม่สามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ได้ ผู้ขายสินค้าจึงต้องปรับตัว หันมาให้ความสำคัญกับสื่อดิจิทัลมากขึ้น ทำให้งบประมาณโฆษณาทางสื่อดิจิทัลเติบโตแบบก้าวกระโดด โดย Facebook ได้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุด รองลงมาคือ Youtube ตามด้วย Video online ตามลำดับ ซึ่งยิ่งโฆษณาทางสื่อดิจิทัลได้ประโยชน์มากขึ้นเท่าไร งบโฆษณาที่ทางสื่อดั้งเดิมจะได้รับก็เดินสวนทางลงเท่านั้น

มักจะมีคำถามว่า งบประมาณโฆษณาที่สื่อสิ่งพิมพ์ไทยได้รับจากรัฐบาลพอมีบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือพอจะมีบ้างแต่ไม่ถึงกับเป็นกำเป็นกอบ เนื่องจากมีระเบียบกฏเกณฑ์มากมายในการซื้อเนื้อที่หรือซื้อเวลาในการโฆษณา นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พศ. ๒๕๖๐) ยังได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕ วรรคห้า กล่าวถึงการซื้อโฆษณาว่า   "การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิใด้ หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้สื่อมวลชนในการโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบตามระยะเวลาที่กำหนด และประกาศให้ประชาชนทราบด้วย" ฉะนั้นสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์หรือวิทยุและโทรทัศน์จึงต้องพึ่งพารายได้ค่าโฆษณาจากเอกชนเป็นหลักเพื่อนำมาจุนเจือค่าใช้จ่ายในการผลิต  เมื่อต้องพึ่งพาอาศัยรายได้โฆษณาจากเอกชนเป็นหลัก สื่อมวลชนก็ต้องเอาใจผู้ลงโฆษณาโดยยอมลดหย่อนวินัยในการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพดังเช่นที่ได้มีกำหนดเรื่องจริยธรรมในการโฆณาสินค้าและบริการเอาไว้ว่า "ข้อความที่เป็นประกาศโฆษณาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ ต้องแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นประกาศโฆษณา จะแอบแฝงเป็นการเสนอข่าวมิได้" ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้ต้องแยกแยะให้เห็นชัดว่าเนื้อที่ตรงนี้หรือช่วงเวลานี้เป็นการโฆษณา ไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการเขียนชมโดยกองบรรณาธิการ เมื่อตกอยู่ในสภาวะที่สื่อสิ่งพิมพ์ "หิวโฆษณา" ก็จำเป็นต้องยอมละเมิดกฏจริยธรรมโดยไม่แยกแยะให้เห็นชัดเจน  สื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับก็เปิดคอลัมน์แนะนำสินค้าเอาดื้อๆ แล้วอ้างว่าข้อความนั้นๆ เป็น Advertorial     (เป็นคำผสมระว่างคำว่า Advertisement กับคำว่า Editorial ซึ่งพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสภา แปลว่า "บทความโฆษณา" โดยไม่ต้องบอกว่านี่เป็นการโฆษณา) ทำนองเดียวกันกับทางโทรทัศน์ซึ่งเดิมเคยมีความเข้มงวดเคร่งครัด ว่าไม่ยอมให้ผู้ประกาศข่าวของตนไปทำหน้าที่โฆษณาสินค้าหรือบริการด้วยเกรงจะเป็นการลดทอนความเชื่อถือในข่าวที่อ่าน บัดนี้ต่างพากันลืมข้อจำกัดเหล่านั้นไปเสียสิ้น

สื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่รอดอย่างไร

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้คำถามจึงมีว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่รอดหรือไม่ และนานเท่าไร 

คำตอบไม่ว่าจะเป็นของผู้ใดคงจะไม่ใช่สูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา เพราะเหตุปัจจัยไม่เหมือนกัน วิธีแก้ปัญหาที่แก้ได้สำเร็จที่หนึ่งจะนำไปใช้กับอีกที่หนึ่งคงจะไม่ได้ แต่ว่าอาจมีความได้เปรียบตรงที่สื่อสิ่งพิมพ์นั้น มีข่าวลวง ข่าวปลอม หรือข่าวผิด ข่าวบิดเบือนน้อยหรืออาจไม่มีเลยดังนั้น สื่อสิ่งพิมพ์จะต้องทำตัวให้เป็นที่ไว้วางใจ และเชื่อถือได้เพราะสื่อสิ่งพิมพ์มีเวลาตรวจสอบข่าวสารวันละหลายชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีเหตุปัจจัยที่พอจะเอื้อประโยชน์ได้อีกบ้างเช่น ยังมีคนเห็นว่าคุณค่าของการอ่านหนังสือจากกระดาษ มีภาษีดีกว่าการอ่านจากอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ โดยการอ่านหนังสือจากกระดาษมีแนวโน้มที่ผู้อ่านจะจดจำเรื่องราวและเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าการอ่านจากอุปกรณ์อีเลคทรอนิกส์ *๙

นอกจากนี้การที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ขณะนี้มีพลเมืองอายุเกิน ๖๐ ปีถึง ๑๑.๖ ล้านคนแล้ว ส่วนหนึ่งของผู้สูงอายุเหล่านี้ ที่เชื่อว่ายังมีจำนวนหนึ่งติดยึดอยู่กับการอ่านแบบดั้งเดิม คืออ่านหนังสือจากกระดาษ ทำให้จะยังคงมีตลาดขายสื่อสิ่งพิมพ์ได้อยู่บ้าง ไม่สิ้นหวังเสียเลยทีเดียว

Anne Mangen นักวิจัยผู้ศึกษา เกี่ยวกับประสิทธิภาพการอ่านหนังสือจากระบบดิจิทัลแห่งมหาวิทยาลัย Stavanger ประเทศนอรเวย์ พบว่าเมื่อให้นักอ่านกลุ่มตัวอย่างลองเรียงลำดับเหตุการณ์ ๑๔ ครั้งที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นที่พวกเขาอ่าน ปรากฎว่านักอ่านที่อ่านหนังสือเป็นรูปเล่มสามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่นักอ่านอีกกลุ่มหนึ่งไม่สามารถทำได้   Mangen ให้ข้อสังเกตุที่น่าสนใจว่า “เมื่อเราอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มกระดาษ เราจะรู้สึกได้ถึงเนื้อเรื่องที่ค่อยๆ ผ่านไปตามหน้ากระดาษที่เราเปลี่ยน ซึ่งทำให้เราติดตามเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นในหนังสือได้ดีกว่า นอกจากนี้ขนาดกระดาษที่เท่ากันพอดีของหนังสือ ยังทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย ว่าเราอ่านไปมากน้อยเท่าไรแล้ว และเนื้อเรื่องที่ยังเหลืออยู่มีอีกเท่าไรที่จะต้องอ่านต่อ เพราะฉะนั้นด้วยสัมผัสและความรู้สึกที่หาไม่ได้จากการอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ จึงทำให้การอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มเป็นวิธีการอ่านที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้เมื่อทดสอบภายหลังการเรียน กลุ่มนักเรียนตัวอย่างที่อ่านชีท (sheet) บันทึกบทเรียนแบบดั้งเดิม สามารถทำคะแนนได้สูงกว่ามาก” เมื่อเทียบกับนักเรียนที่อ่านหนังสือจากไฟล์ PDF (Portable Document Format) สรุปได้ว่าแม้ว่าโลกจะก้าวหน้าล้ำไปไกลแค่ไหน แต่บางสิ่งบางอย่างที่มีมาแต่ดั้งเดิม ล้วนมีคุณค่าในตัวเองเสมอ การอ่านหนังสือจากกระดาษก็เช่นกัน จากงานวิจัยของ Mangen ดังกล่าวแม้จะมิได้ถามความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างในประเทศอื่นหรือภูมิภาคอื่นก็พออนุมานได้ว่าไม่แตกต่างกันนัก จึงอยู่ที่คนทำสื่อสิ่งพิมพ์จะหยิบฉวยเอางานวิจัยนี้ไปปรับให้สอดคล้องกับการทำสื่อสิ่งพิมพ์ของตนเองได้เพียงไหนและอย่างไรต่อไปหรือไม่

สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ ส่งผลให้เกิดความยากลำบากแก่คนทำสื่อดั้งเดิมจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกงาน เพราะถูกเลิกจ้างและต้องหันไปทำอาชีพอื่น ในจำนวนอาชีพอื่นนั้นมีหลากหลายประเภทรวมทั้งไปมีอาชีพเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูบเบอร์ หรือติ๊กต๊อกเกอร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่บริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิคของตนเอง ว่ากันว่าการใช้งานแอปพลิเคชั่นไลน์ ถือเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยมมากที่สุดประเภทหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากความง่าย ความรวดเร็ว ฉับไว และไม่เสียค่าใช้จ่าย จนทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้แอปพลิเคชั่นไลน์สูงถึง ๔๗ ล้านคนจากจำนวนพลเมือง ๖๙.๗๑ ล้านคน

ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ส่วนการปรับตัวขององค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายการวางตลาดสิ่งพิมพ์ให้ถึงมือผู้อ่านอย่างรวดเร็วและสะดวกแล้ว ในการเสนอข่าวหรือบทความ จะต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ต้องนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์และประเทืองปัญญา งดเว้นการเสนอข่าวไร้สาระดังที่เคยปฏิบัติในสมัยก่อนเช่น เสนอข่าวพญานาคออกไข่ที่กำแพงเพชร เณรเหาะได้ หรือข่าวแม่ชีลอยน้ำที่กาญจนบุรี ข่าวจิ้งตก ๓  ขา วัวมี ๕ ขา หรือข่าวชาวบ้านแห่กันไปขอหวยจากจอมปลวกใกล้วันออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นต้น โดยหันมาเน้นการทำข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจังเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งจะต้องเป็นรายงานข่าวที่ลึกและกว้างไปกว่าข่าวสั้นๆ ที่ผู้คนทราบจาก Social Media มาแล้ว รวมทั้งไม่ใช่เรื่องที่คนทำเนื้อหาหรือคอนเทนท์ (Content) อยากทำแต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะชอบ โดยไม่สนใจว่าผู้เสพข่าวอยากเสพหรือไม่ ในขณะที่ผู้ประกอบอาชีพทำรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ ก็ต้องพบกับคู่แข่งทุกทิศทุกทางที่กำลังยื้อแย่งคนเสพไปอยู่ในกำมือของเขา ที่มีเทคโนโลยี่ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ 

ในการปรับตัวเพื่อสร้างเนื้อหา นักวิชาการสื่อสารมวลชนและนักวิชาชีพ ต่างพูดตรงกันว่า คนทำสื่อจะต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนด้วยหลักวิชา ว่ากลุ่มเป้าหมายผู้รับสารของเราคือใคร โดยมองให้ลึกลงไปถึงอายุ เพศ การศึกษา รวมทั้งวิถีการดำรงชีวิตว่าเขามีความรู้ความเข้าใจ หรือมีรสนิยมอย่างไร เพื่อจะนำไปสู่การสร้างเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่ม และที่สำคัญคือคนทำสื่อยังจะต้องไม่ลดทอนสถานภาพ หรือศักดิ์ศรีที่ที่มีผู้มอบให้ตั้งแต่โบราณกาลว่าเป็นผู้อยู่ในฐานันดรที่ ๔ ขณะเดียวกันก็คงต้องตั้งคำถามไปยังสถาบันการศึกษา ที่ผลิตบุคคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน ว่าวันนี้ทักษะและความรู้ที่มีในหลักสูตรของสถานศึกษานั้นๆ ยังเพียงพอที่จะให้คนที่เรียนสำเร็จมา นำไปใช้ทำงานกับสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัลได้หรือไม่ เพราะคงต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าองค์ความรู้เรื่องสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัล เป็นเรื่องใหม่มากๆ และยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าทำแบบไหนถึงจะประสบความสำเร็จ แต่ที่แน่ๆ คือวงการสื่อสารมวลชนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากคนทำงานในวงการนี้ยังทำอะไรเหมือนเดิมก็คงจะลำบาก เพราะผู้บริโภคได้เปลี่ยนพฤติกรรมไปมากแล้ว องค์การผู้ผลิตสื่อจะต้องยอมลงทุนในการนำเอาเทคโนโลยี Augmented Reality Technology คือเทคโนโลยีโลกเสมือน ที่ผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนที่สร้างขึ้นมา ผสานเข้าด้วยกันผ่านซอฟท์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ โดยเพียงแต่สแกน (scan) คิวอาร์โค้ด (QR Code) ลงไป ผู้อ่านก็สามารถมองเห็นภาพและเสียงของข่าวการแสดงมหกรรมดนตรี การชุมนุมทางการเมือง การแสดงปาฐกถาครั้งสำคัญฯลฯ เสมือนว่าผู้อ่านได้เข้าไปนั่งอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ นั้นๆ ซึ่งเทคโนโลยี AI ที่ว่านี้ไม่ได้มีความลึกล้ำไปกว่าหรือเช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีที่บริษัท Meta verse ประกาศว่ากำลังจะดำเนินการเมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๕๖๔

การทำหน้าที่เป็น "สุนัขเฝ้าบ้าน" นับเป็นพันธกิจอันสำคัญของสื่อสารมวลชน แม้ว่าองค์กรผู้ผลิตจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายและเพิ่มสมรรถนะ ความเพียรพยายามของผู้สื่อข่าวในการเสาะแสวงหาข่าวเช่นนี้ก็จำเป็นต้องทำ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกรายงานข่าวประเภทสืบสวนสอบสวนเพื่อให้รางวัลประจำปีที่เรียกว่า รางวัล "อิศรา อมันตกุล" ติดต่อกันมาเป็นเวลานานถึง ๕๐ ปี ปรากฏว่าหลายปีที่ผ่านมา มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดน้อยลงเรื่อยๆ จากที่เคยส่งเข้าประกวดประมาณ ๓๐ ชิ้นงานต่อปี ลดลงเหลือเพียง ๕ ถึง ๗ ชิ้นงาน จากหนังสือพิมพ์เพียง ๒ ฉบับเท่านั้น อีกทั้งข่าวที่ส่งเข้าประกวดนั้นกรรมการบางคนถึงกับบ่นออกมาดังๆ ว่า เนื้อหาและคุณภาพของข่าวที่ส่งเข้าประกวดไม่โดดเด่นและไม่เข้มข้นเหมือนอดีต จึงยังไม่มีคุณสมบัติสูงถึงขนาดที่จะได้รับรางวัลข่าวดีเด่นในการตัดสินรางวัลบางปี ซึ่งถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ *๑๔

นอกจากความอ่อนด้อยในการทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน (Watchdog) แล้ว พฤติกรรมประการหนึ่งที่ส่งผลทำให้ผู้อ่านเสื่อมความนิยม ก็คือการที่สื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับเสนอเรื่องราวข่าวสารที่ไร้สาระแถมยังใช้ภาษาไทยที่ผิดเพี้ยน ไม่อาจใช้เป็นโรงเรียนของสังคมตามที่บางฝ่ายคาดหวังไว้ได้ ข่าวหลายต่อหลายชิ้นก็ต่อเติมเสริมแต่ง ระบายสีให้เร้าใจตื่นเต้นจนเกินความจริงไปมาก พาคนอ่านเข้ารกเข้าพงรวมทั้งมีการละเมิดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ โดยไม่คิดว่าผู้อ่านจะรู้เท่าทัน และหลายข่าวก็ผิดพลาดไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้ แล้วอ้างว่าตรวจสอบไม่ทันเพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา ดังที่ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์และนักเขียนนักประพันธ์มีชื่อผู้ล่วงลับ ได้กล่าวไว้ว่า "..เรายังอยู่ในคติที่ว่าต้องทำให้ตื่นเต้นเพื่อขายหนังสือพิมพ์ให้ได้มาก ผมก็เกรงว่า ต่อไปความเชื่อถือที่มีต่อหนังสือพิมพ์จะหมดลงหรือเสื่อมลง...ในที่สุด เขียนอะไร พูดอะไร จะไม่มีคนเชื่อถือ" *๕

อย่างไรก็ตามในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน (Investigative Report)*๑๖ เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์นั้น ปรากฏว่าขณะนี้ทุกสังคมได้ให้ความสนใจอย่างมากสังเกตุได้จากความฮือฮาในการเปิดเผยเอกสารลับที่เรียกว่า Panama papersโดยเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ-International Consortium of Investigative Journalists) เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๙ เป็นเอกสารที่ได้มาจากสำนักงานกฏหมายและผู้ให้บริการวางแผนธุรกิจสัญชาติปานามาได้เปิดเผยว่า มีนักธุรกิจนักการเมืองจากหลายประเทศไปจดทะเบียนการจัดตั้งบริษัทธุรกิจของตนกับพวกไว้นอกประเทศตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือเพื่อฟอกเงิน ซึ่งการเปิดเผยครั้งนั้นทำให้นายซิกมันด์เดอ เดวิด กุนน์ล้อคสัน (Sigmundur Davíð Gunnlaugsson) นายกรัฐมนตรีประเทศไอซ์แลนด์ที่ไปจดทะเบียนตั้งบริษัทนอกประเทศตนเองเหมือนกัน ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งเพราะถูกกดดันทางการเมืองเพียงเวลา ๒ วันหลังจากการเปิดโปง ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ ICIJ เจ้าเก่าก็ได้เปิดเผยเอกสารที่มีนักการเมือง นักธุรกิจของหลายประเทศไปจดทะเบียนตั้งบริษัทนอกประเทศตนเอง (Off shore Company) อีก โดยเรียกชื่อเอกสารที่เปิดโปง ที่ใช้นักข่าวถึง ๔๐๐ คนจากองค์กรสื่อ ๑๐๗ องค์กรและจาก ๘๐ ประเทศมาร่วมมือกันทำงานนั้นว่าเป็น Pandora Papers (คำว่า Pandora มาจาก คำว่า pandora Box - เป็นชื่อกล่องแห่งความชั่วร้ายจากตำนานเทพปกรณัมของอารยธรรมกรีก) แพนโดร่าเพเพอร์สแฉว่า การที่พวกนักธุรกิจนักการเมืองหลั่งไหลกันไปจดทะเบียนตั้งบริษัทธุรกิจนอกประเทศตนเองที่เรียกกว่าเป็น Tax Haven Country เพื่อเลี่ยงภาษีหรือหากจะต้องเสียภาษีก็เสียแต่น้อยนั้น เมื่อมีการเปิดโปงขึ้นมาเช่นนี้ ปรากฏว่าได้ส่งผลให้กระเทือนไปทั้งโลก

นอกจากนี้การทำข่าวสืบสวนสอบสวนยังได้รับความสนใจจากคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลอันเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติที่สุดในโลกได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี พศ. ๒๕๖๔ ซึ่งประกาศที่กรุงออสโลประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ ได้แก่ Maria Ressa อายุ ๕๖ ปี บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสืบสวนสอบสวนชื่อ  Rappler News ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อ พศ. ๒๕๕๕ เว็บไซต์นี้ได้เสนอข่าวเชิงลึกขุดคุ้ยและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่นาย โรดรีโก โรอา ดูแตร์เต (Rodrigo Roa Duterte) เป็นประธานาธิบดีที่ทำสงครามกับยาเสพติดแต่ทำให้คนฟิลิปปินส์เสียชีวิตหลายพันคนเพราะถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเธอได้เปิดโปงการใช้อำนาจในทางที่ผิดและรุนแรงเกินเหตุจนเธอเองถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งคดีหมิ่นประมาทและคดีความผิดต่อความมั่นคง *๑๗

มาเรีย เรสซ่า ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ร่วมกับนาย Dmitry Muratov อายุ ๕๘ ปีชาวรัสเซีย ผู้เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Novaya Gazeta หนังสือพิมพ์ภายใต้การนำของเขา ได้ทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในรัสเซียติดต่อกันมาหลายปีภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ในช่วงเวลา๑๐ปีที่ผ่านมาคณะกรรมการพิทักษ์นักข่าว (CPJ-Committee to Protect Journalists) องค์กรเอกชนของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่ามีนักข่าวชาวรัสเซียไม่น้อยกว่า ๔๗ คนถูก "เก็บ" ไปอย่างไร้ร่องรอย

รางวัลอันทรงเกียรตินี้ปกติได้ตกแก่นักการเมืองหรือผู้รณรงค์เพื่อสันติภาพคนสำคัญเช่นเนลสัน แมนเดลล่า, บารัค โอบามา, มิฮาอิล กอร์บาชอฟ, อองซาน ซูจี, ทะไลลามะ, และเฮนรี่ คิสซินเจอร์ เป็นต้น โดยเมื่อปี พศ. ๒๕๖๓ ผู้ได้รับรางวัลนี้คือโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP-World Food Programme)

แอนเดอร์เซ่น (Berit Reiss Andersen) ประธานกรรมการรางวัลได้ประกาศยกย่องว่าบุคคลทั้งสอง คือนักข่าวสืบสวนสอบสวนชาวฟิลิปปินส์และนักข่าวขาวรัสเซีย ทั้งคู่ได้ใช้ความพยายามในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของประชาธิปไตยและการมีสันติภาพที่ยั่งยืน (for their efforts to safeguard freedom of expression, which is a precondition for democracy and lasting peace)

 การให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่สื่อมวลชนปีนี้ บรรดาสื่อมวลชนถือว่าเป็นชัยชนะร่วมกันของสื่อมวลชนทั่วทั้งโลก เพราะครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากที่นักข่าวเยอรมันชื่อ Carl von Ossietzky ได้รับรางวัลนี้เมื่อ พศ. ๒๔๗๘ จากรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนเปิดโปงเกี่ยวกับแผนการทางอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลเยอรมันขณะนั้น

กรณีศึกษาจากวอชิงตัน โพสท์ *๘

ในการแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่อาจนำมาเป็นกรณีศึกษาได้ คือกรณีของหนังสือพิมพ์ The Washington Post ที่สหรัฐอเมริกา กล่าวคือเมื่อประมาณ ๑๐ ปีมาแล้ว Disruptive Technology เริ่มสำแดงเดชทำเอาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ซวดเซ ก็มีคำเสนอขายกิจการแก่มหาเศรษฐีไฮเทคที่ร่ำรวยที่สุดในโลกคือนายเจฟฟรี เพรสตั้น เบโซส์ (Jeffrey Preston Bezos) ผู้บริหาร "แอมะซอน" (Amazon) เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และเขาก็ยอมควักกระเป๋า ๒๕๐ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซื้อ เดอะ วอชิงตันโพสท์ หนังสือพิมพ์เก่าแก่อายุ ๑๔๐ ปีฉบับนั้นทั้งๆ ที่เมื่อดีดลูกคิดอย่างไรก็ขาดทุน เพราะอุตสาหกรรมสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์กำลังเป็นธุรกิจขาลง โดนดิสรัพท์เต็มๆ จากเทคโนโลยีใหม่

เจ้าของแอมะซอนยอมรับว่า แว่บแรกที่นายโดนัลด์ เอ็ดเวิร์ด เกรแฮม (Donald Edward Graham) ทายาทเจ้าของ เดอะ วอชิงตัน โพสท์ ติดต่อขอให้เขาซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เมื่อ พศ. ๒๕๕๖ นั้น เขาลังเลใจไม่น้อยก่อนที่จะสนองตอบคำเสนอ เพราะประการแรกเขาไม่มีความรู้เรื่องหนังสือพิมพ์เลย และวิเคราะห์อย่างไรก็ไม่เห็นหนทางได้กำไร เพราะธุรกิจหนังสือพิมพ์ต้องแบกค่าใช้จ่ายมหาศาล ต้นทุนการผลิตก็สูงลิ่ว และใช้กำลังคนทำงานเยอะที่เต็มไปด้วยบุคลากรรุ่นเก่า หัวเก่า ขณะที่รายได้ลดลงฮวบฮาบ บวกลบคูณหารแล้ว เลือดคงไหลไม่หยุด เป็นคนละเรื่องกับการทำมาค้าขายบนโลกออนไลน์ที่เขาถนัด ซึ่งลงทุนน้อยแต่ธุรกิจโตเอาๆ  ปีละหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ 

แต่แล้วเจ้าของแอมะซอนก็ต้องเปลี่ยนใจ เมื่อนายเกรแฮม ชี้ทางสว่างให้กับเขาว่าเดอะวอชิงตัน โพสท์ ไม่ใช่เป็นเพียงหนังสือพิมพ์ที่เสนอข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่เดอะ วอชิงตัน โพสท์ เปรียบเสมือนสถาบันที่อยู่คู่กับสหรัฐอเมริกามายาวนานข้ามศตวรรษ ที่สำคัญไปกว่านั้นเดอะ วอชิงตัน โพสท์ ยังเป็นหนังสือพิมพ์ประจำเมืองหลวงของชาติมหาอำนาจโลกมีชื่อเสียงดีในด้านการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และมีบทบาทอันสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยด้วย

สำหรับนักธุรกิจผู้ปราดเปรื่องอย่างนายเจฟฟรี เพรสตั้น เบโซส์ เขาไม่ต้องการซื้อแค่สถาบันเพื่อต่อลมหายใจให้เดอะ วอชิงตัน โพสท์ อายุ ๑๔๐ ปีให้ตายช้าลง แต่เขาเชื่อว่า มันจะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจตะวันตกดินให้กลับมามีอนาคต และเมื่อเห็นโอกาสชนะมากกว่าแพ้ เขาจึงตัดสินใจซื้อทันที ในขณะที่อินเทอร์เน็ตกำลังทำลายความได้เปรียบทั้งมวลของหนังสือพิมพ์ยุคเก่าที่ เดอะวอชิงตัน โพสท์ซึ่งเคยมียอดพิมพ์สูงสุดถึงวันละ ๘๓๒,๓๓๒ ฉบับเมื่อปี พศ. ๒๕๓๖ ถูก Disrupt โดย Technology จนยอดพิมพ์จำหน่ายลดลงเหลือเพียงวันละ ๔๘๔,๓๘๕ ฉบับต่อวันในปี พศ. ๒๕๕๕ เมื่อเขาตกลงซื้อด้วยความหวังว่าอินเทอร์เน็ตจะเป็นประตูบานใหญ่มากๆ ที่เปิดให้คนทั้งโลกได้อ่านหนังสือพิมพ์

ยุทธศาสตร์การพลิกฟื้น เดอะ วอชิงตัน โพสท์ ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของเขาก็คือ การลบโมเดลธุรกิจแบบเก่า ที่พึ่งการหารายได้จากการโฆษณาและจากยอดขายหนังสือพิมพ์ เปลี่ยนมาเล่นกับจำนวน (Volume) เพื่อสร้างรายได้ล่วงหน้าไปก่อนโดยพยายามดึงให้ผู้อ่านเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกให้ได้มากที่สุดในทุกหนทาง และภายในเวลาอันไม่นานนักเขาก็ทำได้สำเร็จ 

เจ้าของแอมะซอนอีคอมเมิร์ซ สามารถพลิกฟื้น เดอะ วอชิงตัน โพสท์ จากรายรับที่เคยตกฮวบ ๔๔ % ตลอด ๖ ปีที่ผ่านมาและขาดทุนต่อเนื่องหลายร้อยล้านดอลล่าร์ กลับมาทำกำไรได้รวดเร็ว ด้วยการสร้างทีมงานเฉพาะกิจ เข้าไปปฏิวัติหนังสือพิมพ์เก่าแก่ฉบับนี้ โดยภารกิจแรกคือการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ทั้งเวปไซต์และแอปพลิเคชั่นมือถือ เพื่อสร้างซอฟท์แวร์ที่มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล (Big Data) อันเป็นอาวุธทรงพลังของธุรกิจยุคดิจิทัล ที่บอกพฤติกรรมของผู้บริโภคที่บอกรับเป็นสมาชิกของเขาได้หมด

ปัจจุบัน เดอะ วอชิงตัน โพสท์ ภายใต้ยุคของเจฟฟรี เพรสตั้น เบโซส์ มีรายได้หลักจากการเก็บค่าสมาชิกคนละ ๑๐๐ ดอลล่าร์ต่อปี มีคนสมัครเป็นสมาชิกกว่า ๑ ล้านราย เป็นการประกันว่ามีรายได้อยู่ในมือแล้วปีละ ๑๐๐ ล้านดอลล่าร์ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงรายได้จากโฆษณา การจัดสัมมนา จัดกิจกรรม (Event) ต่างๆ  ผนวกกับรายได้จากค่าสมาชิกหนังสือพิมพ์ในรูปเล่มปกติและรายได้จาก E-Newspaper (หนังสือพิมพ์อีเล็คทรอนิกส์) 

เดอะวอชิงตันโพสท์ยุคใหม่มีพนักงานกว่า ๗๐๐ คน หัวหอกสำคัญคือทีมวิศวกร ที่เขาเชื่อว่าเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุดในซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) ในการทำงานแต่ละวัน แม้ว่าเขาจะไม่เข้าไปก้าวก่ายในกองบรรณาธิการข่าวมากนัก แต่เขาก็แบ่งเวลามาประชุมกับผู้บริหารทุกสองสัปดาห์ และนัดประชุมใหญ่ปีละสองครั้งที่ซีแอตเทิล โดยถือคติว่า "เป้าหมาย มีไว้ให้พุ่งชน..จรวดกับหัวจรวดต้องมุ่งไปทิศทางเดียวกันถึงจะสำเร็จ"

ตัวอย่างแห่งความสำเร็จดังที่เจฟฟรี เพรสตั้น เบโซส์ เข้าไปฟื้นฟูเดอะ วอชิงตัน โพสท์ น่าจะลองเอามาปรับดูให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำอื่นๆอีก เช่นคำแนะนำจากหนังสือ The New Media: What everyone Needs to Know (2016) ซึ่งได้อ้างความเห็นของ Leonard Downie Jr. และ Robert G. Kaiser ที่แสดงทรรศนะไว้ในหนังสือชื่อ The News About the News (2002) ว่า "สื่อสารมวลชนที่ดีที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ วารสาร โทรทัศน์ วิทยุ หรืออินเทอร์เน็ต สร้างคุณภาพให้กับคนอเมริกันโดยการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน และความสำนึกของการมีส่วนร่วมในโลกที่กว้างขึ้น สื่อมวลชนที่ดีทำให้เกิดความเป็นไปได้ ในเรื่องความร่วมมือของพลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของสังคมที่มีอารยะ พลเมืองจะไม่สามารถทำงานร่วมกันในชุมชนได้ หากไม่มีข้อมูลร่วมกันเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมต่างๆ สื่อสารมวลชนที่ดีจึงควรทำหน้าที่ให้ข้อมูล ตรวจสอบ อธิบาย ตีความ สร้างความเข้าใจ ทำการสืบสวนและเปิดเผยเรื่องราวและที่สำคัญคือการค้นหาความจริง" 

ดังนั้นไม่ว่าสื่อมวลชนในยุคดิจิทัลจะมีการผลิตออกมาในรูปแบบอย่างไร ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความหมายของคำว่า "สื่อสารมวลชนที่ดี" ไปได้ คุณค่าของข่าวสารที่ประกอบด้วย ความถูกต้อง ความเที่ยงธรรม การเปิดกว้าง ความเป็นอิสระจากอำนาจและอุดมการณ์ มีความโปร่งใสในเรื่องแหล่งที่มา วิธีการหาข่าว การแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อการนำเสนอ ควบคู่ไปกับการใช้เสรีภาพและการนำเสนอที่ต้องมุ่งประโยชน์สาธารณะยังมีความสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ คำแนะนำดังกล่าวเน้นว่า   "ความตกต่ำและการเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องที่สังคมทั่วไปควรจะวิตกกังวล การตกต่ำของหนังสือพิมพ์ เกิดจากการพุ่งขึ้นมามีบทบาทของสื่อดิจิทัลจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจเพราะรายได้จากโฆษณาหายไป ต้นทุนการผลิตและจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น ส่วนยอดขายก็ตกลงอย่างมาก ความวิตกกังวลต่อการตกต่ำของหนังสือพิมพ์อยู่ที่ว่า สังคมประชาธิปไตยนั้นต้องอาศัยสื่อมวลชนที่ดี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข่าวสารที่สมบูรณ์และหลากหลาย"

การคงอยู่หรือดับสูญของสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ได้หมายความเพียงแค่การหายไปของธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์ทางการตลาดเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อระบบความรู้ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เช่นถ้าหากผู้คนอ่านหนังสือกันน้อยหรืออ่านแต่ข้อความสั้นๆ เมื่อต้องอภิปรายหรือถกเถียงปัญหากันก็จะใช้แต่ความรู้สึกส่วนตนมาออกความเห็นแทนที่การออกความเห็นด้วยความรู้ เพราะฉะนั้นหากสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้การจัดการความรู้ในรูปแบบใหม่อย่างเหมาะสม และเท่าทัน เช่นจะต้องมีเป้าหมายในการปรับตัว ที่ชัดเจน สินค้าที่ส่งมอบให้กับลูกค้าต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีคุณค่า องค์กรผู้ผลิตสื่อจะต้องมีแผนปฏิบัติการที่ผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจจนเกิดความรู้สึกร่วมกัน เพื่อจูงใจให้อ่านหนังสือกันมากขึ้น และร่วมมือกัน ทำงานตามแผนงานอย่างแข็งขัน ซึ่งถ้าใครปรับตัวทันกระแส Media Disrupt ก็จะช่วยให้สื่อสิ่งพิมพ์มีที่ยืนอยู่ในโลก Digital ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง.

……………..                   

อ้างอิง

๑.โกสินทร์ รัตนประเสริฐ, สิ่งแรกในสยาม กันยายน ๒๕๕๕

๒. จันทร์เพ็ญ จันทนา, กรุงเทพธุรกิจ, เมื่อคนไทยใช้ โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งข่าวมาก 

   ที่สุดในโลก, ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔

๓. จิตต์สุภา ฉิน, "ลบทวิต ปรับภาพลักษณ์บนโซเชี่ยล" มติชนสัปดาห์

๔. จักรกฤษณ์  ศิริริน,มติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ ๒๑๔๖ วันที่๑-๗ ตุลาคม ๒๕๖๔

๕. มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, นักหนังสือพิมพ์ชื่อ คึกฤทธิ์.

๖.ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง, ปีใหม่มา สื่อเก่าจะไปหรือเปล่า,นิตยสาร   a Day.

 ๗. การสิ้นสุดของสรรพสิ่ง, ปริญญา ตรีน้อยใส, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๒๑๔๒ วันที่ ๓

      -๙ กันยายน ๒๕๖๔ .

๘. บทสนทนาเรื่อง "ชีวิตหนังสือพิมพ์ ในสังคมก้มหน้า" ระหว่างศาสตราจารย ดร. ผไท

                ชิต เอกจริยากร ราชบัณฑิต ประธานสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง กับ นาย มานิจ    

                 สุขสมจิตร ภาคีสมาชิกประเภทวิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์

๙. ปรีดี บุญซื่อ, การล่มสลายที่รวดเร็วของสื่อสิ่งพิมพ์ คุณค่าสื่อสารมวลชนที่ดีจะ

      เปลี่ยนไปหรือไม่,ไทยพับลิก้า.

๑๐. ประยุทธ สิทธิพันธ์, ประวัติการทำหนังสือพิมพ์ในเมืองไทย

๑๑. รายงานผลการสำรวจ   พฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี๒๕๖๓ 

     สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 

๑๒. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุกัญญา สุดบรรทัด, ความลึกลับของสื่อสังคม (The 

    Mystery of Social Media)

๑๓. สยาม ประสิทธิศิริกุล,ถ้าคนพร้อม ดิจิทัลทรานสเฟอร์มย่อมเกิด Future Trend, ๕ 

      กันยายน ๒๕๖๔

๑๔. สื่อไทยในวิกฤติโควิด-๑๙, วารสาร  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่ง

      ประเทศไทย ๒๕๖๔.

๑๕. อวสานสิ่งพิมพ์, ทีมข่าวจุดประกาย, นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓

๑๖. TCIJ-Thai Civil Right and Investigative Journalism, พฤหัสบดี ๑๙ สิงหาคม     

     ๒๕๖๔

๑๗. https://www.thaipost.net/mail/detail 119169 และ Facebook ของ Prangtip 

      Daorueng.

     ……..