20 พ.ย. 2564 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2564 หัวข้อ “สื่อไทยในวิกฤติโควิด-19 เข้าใจ เรียนรู้ ปรับตัว” โดยมีการเสวนาวิชาการเรื่อง “การนำเสนอข่าวของสื่่อในช่วงโควิด-19” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สามเสน กรุงเทพฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยThai Journalists Association” อีกช่องทาง
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบาย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีข่าวไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ช่วงปลายปี 2562 เวลานั้นสื่อมวลชนไทยยังมองว่าน่าจะเป็นเพียงข่าวต่างประเทศชิ้นเล็กๆ ไม่คิดว่าต่อมาจะลุกลามขยายตัวเป็นข่าวใหญ่ กระทั่งในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2563 ไทยพบผู้ติดเชื้อคนแรกเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ตามด้วยการพบผู้ติดเชื้อที่เป็นชาวไทยคนแรก เมื่อนั้นสื่อไทยก็เรื่มสนใจรายงานข่าวมากขึ้น ขณะที่ในเวลาเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขก็เริ่มประกาศเตือนไม่ให้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงการระบาด
กระทั่งวันที่ 30 ม.ค. 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อนั้นสื่อไทยก็เริ่มตืนตัวรายงานข่าวกันอย่างจริงจัง แต่ก็คงไม่ได้ตระหนักว่าจะยืดยาวมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งตนมีข้อสังเกต 2 เรื่องคือ 1.บทบาทการสื่อสารในภาวะวิกฤติ สื่ออาจไม่ได้คิดว่าต้องบริหารจัดการให้แตกต่างจากการนำเสนอข่าวในช่วงเวลาปกติอย่างไร แม้ว่าไทยจะเคยเผชิญสถานการณ์โรคระบาดมาแล้ว เช่น ซารส์ ไข้หวัดนก แต่โรคเหล่านี้อยู่ไม่นานก็หายไป จึงอาจจำไม่ได้ว่าตอนนั้นทำอะไรอย่างไร
2.สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ข่าวเกี่ยวกับโควิดกลบข่าวอื่นๆ ที่ดูแล้วไม่เป็นสาระต่อสังคมไปหมด เช่น ข่าวความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองหรือระหว่างชาวบ้านทั่วไป เพราะทุกสื่อพากันให้พื้นที่นำเสนอข่าวโควิดเป็นหลัก แต่ภาวะนี้ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคระบาดนั้นทำให้เกิดความตื่นตระหนก และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยภาวะ “ข้อมูลไหลล้น” คือมีข้อมูลถูกเผยแพร่เป็นจำนวนมากแต่ไม่รู้จะเชื่อข้อมูลใดได้บ้าง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเรียกร้องคุณภาพของการสื่อสารของสื่อมวลชน
“การบริหารข่าวในภาวะวิกฤติเรายึดหลัก 3 อย่าง 1.เราเสนอข่าวบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ครบถ้วนและมีความต่อเนื่อง 2.การนำเสนอข่าวจะต้องอยู่บนฐานของที่มาหรือแหล่งข่าวที่ชัดเจน ก็แปลว่าก่อนที่จะนำเสนอข่าวออกไป ต้องมีการตรวจสอบ ต้อง Double Check ว่าที่มาของข่าวนั้นน่าเชื่อถือเพียงใดหรือไม่ 3.เราจะไม่เสนอเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น เราจะต้องหาทางออกด้วย การเสนอทางออกเป็นประเด็นสำคัญ เป็นภาระหน้าที่ที่จำเป็นสำหรับการนำเสนอข่าวในช่วงโควิด” นายจักร์กฤษ กล่าว
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โควิด-19 เป็นเรื่องใหม่และมีความซับซ้อน สื่อโดยทั่วไปไม่มีข้อมูล ซึ่งสื่อต่างประเทศก็ไม่ต่างจากสื่อไทย จึงเกิดความสับสนในช่วงต้นของสถานการณ์และต้องทำความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในยุคที่เรียกว่า “Post Truth” หมายถึงยุคที่การอ้างอิงใดๆ ก็จะถูกตั้งคำถามว่า “จะเชื่อผู้เชี่ยวชาญคนไหนหรืองานวิจัยชิ้นใด” เพราะแต่ละคนมีชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน เมื่อประกอบกับข้อมูลจำนวนมากเป็นภาษาอังกฤษและเป็นศัพท์ทางการแพทย์ ก็ค้นหาก็ยิ่งทำได้ยาก
อีกทั้ง “โควิด-19 ยังกลายเป็นประเด็นทางการเมือง” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ทั้งที่เป็นการเมืองภายในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สถานการณ์โควิด-19 และการฉีดวัคซีน กลายเป็นการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเมืองระหว่างประเทศ ระหว่างชาติมหาอำนาจค่ายต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อข้อมูลข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ออกมา
ซึ่งการที่มีชุดข้อมูลออกมาหลากหลายเช่นนี้ หากเป็นสื่อที่มีความเป็นกลาง การนำเสนอข้อมูลก็จะมีความหลากหลายแล้วให้ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะเลือกเชื่อข้อมูลชุดใด แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าปัจจุบันสื่อนั้นก็เลือกข้าง และนั่นหมายถึงการเลือกชุดข้อมูลที่จะนำเสนอ โดยหากเป็นการนำเสนอแบบธรรมดาไม่ใส่ความคิดเห็นก็จะเป็นแบบหนึ่ง แต่หากใส่ความคิดเห็นเข้าไปผ่านการพาดหัวข่าวหรือการแปล ก็ยิ่งทำให้ประชาชนสับสน เพราะในช่วงสถานการณ์โควิด พบว่าคนต้องการข้อมูลข่าวสารมากกว่าช่วงเวลาปกติอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป็นยุคที่ไม่มีใครควบคุมข้อมูลข่าวสารได้ ข้อมูลใดที่ไม่ถูกนำเสนอในสื่อหลักก็อาจไปปรากฏในพื้นที่ออนไลน์ แต่ก็จะไปเกิดปัญหาอีกด้านหนึ่งคือเมื่อมีข้อมูลออกมาเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าข้อมูลใดสามารถเชื่อถือหรือหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ได้ ซึ่งหมายถึงข่าวปลอม (Fake News) หรือข่าวคลาดเคลื่อน (Disinformation) ประชาชนต้องมากรองข่าวเอง แต่พฤติกรรมของประชาชนในฐานะผู้บริโภคก็มักจะเลือกรับข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อของตนเองอีก และไม่รับข้อมูลอีกด้านแม้จะเป็นข้อเท็จจริงก็ตาม
อีกด้านหนึ่ง “ภาครัฐก็มีปัญหาการสื่อสารในภาวะวิกฤติเช่นกัน” โดยหากเปรียบเทียบกับการทำข้อสอบแล้วต้องได้เกรด F คือสอบตก เพราะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เช่น วันหนึ่งพูดอย่างหนึ่งพอวันรุ่งขึ้นก็กลับพูดอีกอย่าง หรือมีการใช้ถ้อยคำแบบวาทกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงความตื่นตระหนก คำถามคือแล้วความจริงอยู่ตรงไหน? มีแม้กระทั่งทำกราฟิกใช้สีอ่อนๆ แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อ หวังให้ประชาชนเห็นแล้วเบาใจได้บ้าง ก็มีคำถามว่าเราสามารถปฏิเสธความจริงได้หรือ?
นอกจากนี้ “องค์กรสื่อยังต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ” ซึ่งดำเนินต่อเนื่องตลอดช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากสื่อหลายสำนักต้องปิดตัวลง มีการเลิกจ้างพนักงาน ส่วนคนที่ยังมีงานทำอยู่ก็ต้องรับภาระงานเพิ่มมากขึ้น เมื่อประกอบกับสื่อนั้นให้ความสำคัญกับเรตติ้งเพราะมีผลกับเม็ดเงินที่องค์กรสื่อจะได้รับจากโฆษณา สื่อจึงมักเลือกนำเสนอข่าวแบบ “ดรามา” หมายถึงเรื่องราวที่เป็นประเด็นความขัดแย้ง หรือเรื่องราวชวนสะเทือนใจ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อที่ก็ชื่นชอบข่าวประเภทนี้อยู่แล้ว
“เมื่อก่อนยังมีการลงทุนทีมข่าวเจาะ ในเรื่องข่าวสืบสวน การทำข่าวสืบสวนยากการทำข่าวปกติทั่วไป การทำข่าวปกติทั่วไปคือเอาไมค์จ่อปาก ตั้งคำถามแหล่งข่าว คนนี้พูดอย่างนี้ นำเสนอข่าว จบ! แต่ทำข่าวเชิงสืบสวนต้องตั้งคำถามก่อนว่า จริงหรือ? มีใครได้-ใครเสีย? มันเกิดอะไรขึ้น? ต้องมีการไปขุดคุ้ยข้อมูลทังเอกสาร ตัวเลขต่างๆ มาประกอบ ซึ่งตรงนี้ต้องใช้คนจำนวนหนึ่ง และต้องใช้เงิน พอทั้งใช้คนและใช้เงิน องค์กรสื่อในภาวะที่ดิ้นเพื่อความอยู่รอด หลายๆ แห่งเลือกที่จะไม่ใช้ ไม่นำเสนอ เพราะตรงส่วนนี้คือต้นทุนที่ต้องลงทุน” ดร.มานะ กล่าว
นายนิรันดร์ เยาวภาร์ สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ กล่าวว่า โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่ต่างจากโรคระบาดครั้งก่อนๆ เช่น ซารส์ ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 เพราะสามารถระบาดได้ง่ายกว่าเนื่องจากผู้ติดเชื้อจำนวนมากมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ จึงยังสามารถเดินทางเคลื่อนย้ายไปที่ต่างๆ ซึ่งหมายถึงมีโอกาสแพร่เชื้อได้ นอกจากนี้ด้วยความเป็นโรคใหม่ไม่มีความรู้มาก่อน ข้อมูลจึงสับสน
เช่น ที่มาของเชื้อ ตอนแรกเข้าใจว่ามาจากค้างคาว ถึงขนาดมีการเผยแพร่ภาพคนกำลังกินซุปค้างคาวโดยอ้างว่าภาพนั้นถ่ายในประเทศจีน กระทั่งเจ้าของภาพต้องออกมาชี้แจงว่าจริงๆ แล้วเป็นภาพจากประเทศอื่น หรือช่องทางการติดต่อ ที่มีข้อถกเถียงว่าตกลงแล้วเชื้อโควิด-19 แพร่ผ่านสารคัดหลั่ง อาทิ น้ำมูก น้ำลาย หรือแพร่กระจายในอากาศกันแน่ เป็นต้น
ขณะที่เรื่องวัคซีน เข้าใจว่าสถานการณ์ในปี 2563 ที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ อาจทำให้ทางการไทยมองการจัดหาวัคซีนไว้เป็นเรื่องรอง กระทั่งมีการระบาดระลอก 2 ในช่วงต้นปี 2564 และตามด้วยระลอก 3 ในเดือน เม.ย. 2564 วัคซีนจึงกลายมาเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน อาทิ วัคซีนแอสตราเซเนกา ที่สั่งจองไว้ 60 ล้านโดส จะได้รับเมื่อใด
นอกจากนี้ ยังพบ “การใช้คำแบบผิดๆ” ของสื่อ เช่น “ล็อกดาวน์” ที่สื่อใช้รายงานข่าวรัฐบาลขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามพื้นที่ แต่ความหมายจริงๆ คือการห้ามเดินทางเคลื่อนย้าย “เคอร์ฟิว” สื่อใช้คำนี้รายงานข่าวรัฐบาลขอความร่วมมืองดออกจากเคหสถานในยามวิกาล ทั้งที่คำนี้จะใช้ได้เมื่อรัฐออกประกาศเป็นคำสั่งห้าม “วีไอพี” มีกรณีสื่อใช้คำนี้รายงานข่าวทหารอียิปต์มาแวะพักเปลี่ยนเครื่องบินที่ประเทศไทยแล้วออกไปเที่ยวห้าง ทั้งที่ทหารดังกล่าวเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการขยายความมากไปกว่าข้อมูลจากแหล่งข่าวต้นทาง
“เรามี Perception หรือการรับรู้ว่ารัฐบาลไทยจัดหาวัคซีนได้ห่วยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน พอเกิดกรณีชาวบ้านตะเข็บที่ จ.อุบลราชธานี หลงเข้าไปในชายแดนลาว นายอำเภอเขียนเป็นเอกสารว่าชาวบ้านเข้าไปจะได้ฉีดวัคซีน ซึ่งก็เป็นความเข้าใจผิด พอสื่อเราไปเห็นก็เอามาขยายความต่อทันทีว่าคนไทยที่หลงข้ามแดนเข้าไปจะได้ฉีดวัคซีน ก็ขยายความต่อไปอีกว่าต้องเป็นวัคซีน mRNA
ซึ่งในข้อเท็จจริงลาวเขามีวัคซีนหลายชนิด ทั้งซิโนฟาร์ม แอสตราเซเนกา สปุตนิกวี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่ได้มาจากการบริจาคจากประเทศมหาอำนาจและโครงการโคแว็กซ์ แต่เราอาจจะเห็นข่าวลาวได้รับบริจาควัคซีนจากสหรัฐฯ เป็นวัคซีนไฟเซอร์ แสนกว่าโหลขนส่งผ่านไทย ก็เป็นข่าวฮือฮา ก็อาจจะคิดว่า มีภาพจำว่าวัคซีนที่คนลาวฉีดส่วนใหญ่คือไฟเซอร์ แต่อันนี้ก็เป็นข้อผิดพลาด” นายนิรันดร์ กล่าว
นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงแรกๆ ไม่ค่อยมีผู้เชี่ยวชาญอยากให้ข้อมูลอะไรเนื่องจากเห็นว่าข้อมูลเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นข้อจำกัดในการทำงานของสื่อในเวลานั้น ขณะที่การตรวจสอบข่าวปลอม มีการรวมตัวของสื่อในต่างประเทศเพื่อร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยนเฉพาะ หรือ “Coronavirus Fact” นำมาสู่ข้อสรุปว่ามีข้อมูลเท็จอยู่มากมายที่สื่อต้องเตรียมการรับผิดชอบ แต่สำหรับสื่อไทยยังไม่มีการทุ่มเททรัพยากรขนาดนั้น
นอกจากนี้ สำหรับกรณีของประเทศไทย ยังมีข้อสังเกตว่า “ช่วงเวลาที่ว่างระหว่างหลังการระบาดระลอกแรกเบาบางลง (ประมาณเดือน ก.ค. 2563) จนถึงก่อนการระบาดระลอกที่ 2 จะเริ่มขึ้น (ประมาณเดือน ธ.ค. 2563) สื่อพลาดการทำหน้าที่อะไรบางอย่างไปหรือไม่?” ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะสื่อก็ต้องดิ้นรน แม้กระทั่งศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์เอง ในช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อระลอกแรกลดต่ำลงจนถึงวันที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ เหลือเพียงผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น ทีมงานก็ยังแจ้งว่าไม่ค่อยมีคนสนใจติดตามแล้ว อยากให้ไปตรวจสอบในเรื่องอื่นๆ บ้าง แต่ก็น่าคิดว่าหากสื่อจุดประเด็นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการป้องกัน เช่น การเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดน การระบาดระลอก 2 อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้
อนึ่ง “การที่สื่อจะนำข้อมูลมาประมวลผลก็เป็นข้อจำกัดเพราะแหล่งข้อมูลไม่นำเสนอแบบต่อเนื่อง” เช่น การเผยแพร่สถิติผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ช่วงหนึ่งมีการระบุทั้งอายุ อาชีพ โรคประจำตัว จังหวัด แต่ต่อมาข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกนำเสนออีก และน่าคิดต่อไปว่า การต้องรอข้อเท็จจริงที่ทั้งช้าและไม่แน่นอน กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้สื่อหันไปทำอย่างอื่นที่ไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงเป็นหลักหรือไม่
“เบื้องต้นประชาชนอาจจะมีความคาดหวังสูงมากกับสื่อ แล้วประชาชนยุคนี้เขาก็สู้กันเหมือนกันเรื่องของข้อเท็จจริง เวลาที่ใครส่งอะไรมาในกลุ่มไลน์ จะมีคนหนึ่งไปค้นแล้วก็เอามาสู้กัน เอาข้อเท็จจริงมาสู้กันในกลุ่มไลน์ แล้วถ้าเกิดข้อมูล-ข้อเท็จจริงนั้นมาจากสื่อ ก็จะมั่นใจมากที่จะเอาสื่อนั้นไปต่อสู้กัน ช่องนี้นำเสนอ สื่อนั้นนำเสนอ แต่ปรากฎว่าคนเจอปรากฏการณ์สื่อระดับใหญ่ๆ ก็พลาดพลั้งอยู่เรื่อยๆ
ซึ่งก็ทราบกันแล้วว่ามีหลายปัจจัยมาก สื่อก็คงไม่ตั้งใจจะพลาดพลั้ง มันก็เลยทำให้คนรู้สึกว่าสื่อพึ่งได้น้อยลง แทนที่จะได้ความรู้มากขึ้น มีหลักวิชาที่จะทำให้เขาอยู่ได้ ทุกๆ วันก็รับแต่ความตกใจ ความตื่นตระหนก ซึ่งสุดท้ายก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันจะนำมาซึ่งคนจำนวนหนึ่งปิดรับสื่อหรือเปล่า แล้วผลของการปิดรับสื่อของคนมันก็นำมาซึ่งปัญหาการที่ข้อมูลสำคัญไปไม่ถึง” พีรพล กล่าว