“ กลุ่มที่คัดค้านอาจจะมองว่า ตรงนี้ทำได้หรือทำไม่ได้ เนื่องจากว่าพื้นที่หัวลำโพงจะมีเรื่องของผังเมืองในขณะนั้นเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ หากอนาคตจะมีการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่างๆ ก็ต้องมีการปรับแก้ผังเมืองให้เป็นพื้นที่สีแดง แต่ทั้งหลายทั้งปวงหากการรถไฟแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคม ต้องรู้ว่าการจะพัฒนาหัวลำโพงนั้นไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ หลังจากนี้จะแก้ผังเมืองต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี จึงต้องให้บริษัทมืออาชีพเข้ามาศึกษา จัดสรรพื้นที่120 กว่าไร่ว่ามีอะไรมากแค่ไหนเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่สีเขียวอย่างไร ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษาหลายปี แน่นอน …..”
กรณีประเด็นการใช้งานและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีรถไฟหัวลำโพง หลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลถึงเรื่องดังกล่าวกฤษณะพงศ์ พงศ์แสนยากร ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์ MCOT HD 30 ประจำกระทรวงคมนาคม ยอมรับว่าการเตรียมปรับเปลี่ยนการเดินรถมายังสถานีกลางบางซื่อ ก็เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของระบบคมนาคม โดยเฉพาะระบบราง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเดินรถไฟเข้ามาในเขตกรุงเทพชั้นใน แก้ไขปัญหาการจราจรแออัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเฉพาะจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์
แต่ทั้งนี้ต้องแบ่งชุดความคิดเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือเรื่องของการเดินรถเข้าสถานีหัวรถไฟในอนาคต และเรื่องของการพัฒนาพื้นที่เชิงพานิชจะเป็นไปทิศทางใด ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องการเดินรถเข้าสถานีหัวรถไฟ เป็นเรื่องที่มีมานานตั้งแต่สมัยการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เรื่องในอนาคตรถไฟทางไกลต่างๆ ไม่ควรเดินทางเข้ามาในเมือง ซึ่งปัจจุบันเส้นทางรถไฟมีจุดตัดทั้งหมด 7 จุด แต่ละวันมีขบวนรถไฟผ่านมากกว่า 800 ครั้ง หากรถไฟทางไกลเข้ามาในเมืองอาจจะเกิดปัญหาจราจรในเมือง ส่วนที่สองรถไฟของรฟท.ส่วนใหญ่ขณะนี้เป็นหัวรถจักรดีเซล ซึ่งก็มองในเรื่องการพัฒนามลภาวะสิ่งแวดล้อม จึงมีการพยายามเลี่ยงเอาหัวรถจักรดีเซลเข้ามาในเมือง และสามในส่วนนี้สถานีกลางบางซื่อ อันนี้เป็นชุดความคิดของคนที่เขาคิดว่าจำเป็น
ในอนาคตการรถไฟแห่งประเทศไทย อาจจะต้องมีแผนการลดขบวนรถเข้าหัวลำโพง ผมไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ ที่ผ่านมาการลงทุนเรื่องของสถานีกลางบางซื่อด้วยงบประมาณกว่าสามหมื่นสี่พันกว่าล้าน ก็น่าจะมีการใช้งานได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากว่ารถไฟชานเมืองต่างๆ ก็มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดสถานีกลางบางซื่อ โดยได้มีการประชุมแผนสุดท้ายจะทำการปรับลดขบวนรถไฟให้เหลือ 22 ขบวน ซึ่งแน่นอนมันก็รองรับคนเดินทางจากรถไฟชานเมืองเขามาในกรุงเทพฯ อยู่ประมาณหมื่นกว่าคน ตรงนี้ 22 ขบวนก็ยังต้องดำเนินการต่อไป
ส่วนอีกความคิดหนึ่งคือ เรื่องการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงในอนาคต หลายๆคนมองว่าในอนาคตเมื่อรถไฟทางไกลไม่ได้เข้ามาที่หัวลำโพงแล้ว จะทำอย่างไรเพื่อให้มีการใช้ทรัพย์สินของหัวลำโพงให้เกิดมูลค่า เกิดการกระจายรายได้ เนื่องจากที่ผ่านมาการทางรถไฟแห่งประเทศไทยขาดทุนเป็นแสนล้าน จึงต้องมีการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง ภายใต้การเสนอความคิดของบริษัทลูก สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟหัวลำโพงในอนาคตนั้น การรถไฟฯ ได้มีการตั้งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เพื่อบริหารที่ดินของการการรถไฟฯ ทุกแปลง โดยจากการประเมินรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณหัวลำโพงในอนาคต ระยะเวลา 30 ปี พบว่า จะมีรายได้เข้ามารวม 800,000 ล้านบาท โดยในปีแรกจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ของรถไฟที่ขาดทุนสะสมต่อเนื่องที่ประมาณ 150,000-160,000 ล้านบาท
ในวันที่ 14 ธันวาคมนี้สำนักข่าวไทย อสมท. จะมีการจัดเวทีพูดคุยเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กรณีเรื่องการเดินรถ ทิศทางการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ มาอยู่ในเวทีเดียวกัน และเสนอแนวความคิด โดยประชาชนที่รับฟังผ่านสำนักข่าวไทยมีความเห็นอย่างไรก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ การตั้งเวทีเสวนาครั้งนี้จะมีนักวิชาการจากหลากหลายสถาบัน รวมถึงอดีตผู้ว่าการทางรถไฟแห่งประเทศไทยมาแชร์ความคิดเห็น โดยเวทีนี้จะไม่มีการสรุปผลแต่จะสะท้อนปัญหา สะท้อนความคิดของแต่ละกลุ่มว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อคนที่จะจัดการเรื่องนี้ในอนาคต สามารถนำชุดความคิดเหล่านี้ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ และเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อการทางรถไฟแห่งประเทศไทยและผู้ใช้บริการ
นอกจากนี้ปี2561 มีไฮไลท์สำคัญหลังจากสถานีกลางบางซื่อได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเดินรถเสมือนจริงไปแล้ว แน่นอนว่าขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพงจะต้องเกิดขึ้น ประจวบเหมาะกับช่วงนี้สถานีกลางบางซื่อก่อสร้างเสร็จ หากจะถามว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไรกับการทางรถไฟแห่งประเทศไทยเนื่องจากว่า กระทรวงคมนาคมต้องเป็นหน่วยงานที่ทำแผนการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ ทั้งเรื่องการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการระบบเชื่อมต่ออย่างไร หากลงรถสถานีกลางบางซื่อ และสุดท้ายต้องมาใช้ระบบขนส่งประเภทอื่นจะกระทบต้นทุนค่าโดยสารและค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่
สุดท้ายแล้วคงต้องรอดูว่า “หัวลำโพง” หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กรุงเทพมหานครมายาวนานกว่า105 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการวางรากฐานการคมนาคมในประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 แต่นับจากนี้ หัวลำโพงต้องเปลี่ยนรางสู่บทบาทใหม่ไปในทิศทางไหน เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย วางแผนย้ายการให้บริการเส้นทางรถไฟเกือบทั้งหมดไปที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญกับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เพราะคนไทยมีความผูกพัน เราจะต้องช่วยกันดูแลเพื่อให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ทรงคุณค่า คนรุ่นหลังจะเกิดความเข้าใจและรับรู้ถึงคุณค่าของการอนุรักษ์และพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมายาวนาน