เจาะกลยุทธ์ปลุกเศรษฐกิจ ผ่าน “ของขวัญปีใหม่”

“ถ้าบอกว่าเป็นของขวัญปีใหม่ เหมือนมีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมมองว่าไม่มีถูกไม่มีผิด ถ้าใช้งบประมาณเกินตัวมากเกินไปอาจไม่ถูกต้อง เป็นประชานิยมแน่นอน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้วมาจัดเป็นแพ็กเกจ แล้วมาแถลงข่าวบอกเล่าให้ประชาชนก็ไม่ถือว่าผิดอะไร”

นโยบายของรัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ในยามที่สถานการณ์โควิด ยังแพร่ระบาดและยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ รัฐจำเป็นต้องเร่งให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเป็นหลัก และโดนใจประชาชน ซึ่งนโยบายประชานิยมกลายเป็น “กลยุทธ์” ที่ทุกรัฐบาลใช้เพื่อสร้างคะแนนนิยม โดยเฉพาะใกล้ส่งท้ายปีใหม่

นครินทร์ ศรีเลิศ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ-นโยบาย กรุงเทพธุรกิจ บอกเล่าใน “รายการช่วยกันคิด ทิศทางข่าว” ว่า มีสองส่วน คือ เรื่องของความมั่นใจต่อสถานการณ์และต่อรายได้ ขณะที่มาตรการรัฐเป็นตัวเสริม ว่าจะดีหรือไม่ดีและจะกระตุ้นได้ขนาดไหน หลายโครงการที่รัฐนำมาเป็นของขวัญปีใหม่ ความจริงแล้ว หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงต่างๆ หรือรัฐวิสาหกิจใต้สังกัดจัดทำโครงการลักษณะนี้อยู่แล้วทุกปี หรือบางอย่างเป็นนโยบายที่ต้องทำใหม่

จะถือว่าเป็นประเพณีก็ได้ เพราะทุกปีที่ผ่านมา เมื่อใกล้เทศกาลปีใหม่ นายกรัฐมนตรีจะสั่งการ ไปยังรัฐมนตรีทุกกระทรวงทำแพ็กเกจของขวัญ กระทรวงก็มอบหมายหน่วยงานในสังกัด นำมารวมกันเป็นแพ็กเกจ เพื่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) เห็นชอบในหลักการ หากเป็นโครงการใหม่ ก็ต้องไปทำรายละเอียดเพิ่ม ฉะนั้นของขวัญปีใหม่บางเรื่อง บอกว่าจะให้ช่วงนี้แต่จะไปมีผลต้นปีหน้า เช่น มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศ ( ซึ่งจะเสนอครม. พิจารณาภายในเดือน ธ.ค.2564 เพื่อให้มีผลในไตรมาส 1 ปี 2565 ) คงต้องรอดูว่าแพ็กเกจจะออกมาจูงใจขนาดไหน สัญญาณจะชัดไปถึงปีหน้า ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย จะถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกทางหนึ่ง

“อยากให้มองอย่างนี้ดีกว่าว่า รัฐบาลทำงานก็มีการแถลงผลงาน ถ้าจะบอกว่าแถลงผลงานปกติประจำปีก็จะไม่น่าฟังเท่าไหร่ คนก็อาจจะเบื่อ ก็อาจมาพูดกันว่ารัฐบาลจะมาประชาสัมพันธ์อะไร แต่ถ้าบอกว่าเป็นของขวัญปีใหม่ เหมือนมีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมมองว่าไม่มีถูกไม่มีผิด ถ้าใช้งบประมาณเกินตัวมากเกินไปอาจไม่ถูกต้อง เป็นประชานิยมแน่นอน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้วมาจัดเป็นแพ็กเกจ แล้วมาแถลงข่าวบอกเล่าให้ประชาชนก็ไม่ถือว่าผิดอะไร”

ปี 2565 ที่จะมาถึงนายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงต่างๆ ส่งการบ้านเป็นของขวัญปีใหม่ ในที่ประชุม ครม. 21 ธันวาคมนี้ ว่าเตรียมอะไรให้กับประชาชนบ้าง จัดเป็น แพ็กเกจ เช่น ค่าทางด่วนฟรีหลายเส้นทาง , ค่าเรือข้ามฟากฟรี เป็นการลดค่าของชีพ ความจริงแล้วสิ่งที่น่าสนใจปีนี้จะมีของขวัญปีใหม่พิเศษ เช่น คนที่อาจจะมองหารถคันใหม่ อยากให้จับตาดูแพ็กเกจ “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ Electric Vehicle (รถ EV) เพราะประเทศไทยให้ความสนใจในเรื่องของพลังงานสะอาด รัฐบาล กำลังจะนำเข้าที่ประชุมครม. และทำแพ็กเกจในการลดภาษี ทั้งภาษีสรรพสามิต , ภาษีนำเข้าแม้ไม่สูงมาก แต่อาจจะมีส่วนลดเพิ่มเติม ซึ่งตรงนี้ประชาชนที่จะซื้อรถปีหน้า ก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นควันพิษ ทำให้ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น

โครงการคนละครึ่งเป็นที่นิยมของประชาชน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง บอกยังไม่หมดโครงการ ฝ่ายนโยบายต้องชั่งน้ำหนัก เพราะเป็นโครงการที่ได้ผลทางเศรษฐกิจแน่นอน คนละครึ่งมีวัตถุประสงค์ในเรื่องของการพยุงการจับจ่ายใช้สอย เมื่อคลายล็อกดาวน์แล้ว การจับจ่ายใช้สอยการเดินทางของคนมากขึ้น เม็ดเงินตรงนี้ต้องใช้เงินกู้และเงินกูก็เหลือ 2.7 แสนล้านบาท ตอนนี้ก็ต้องคำนึงถึงเรื่อง “โอมิครอน” ด้วย เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในการที่จะต้องเตรียมนโยบายเรื่องของเงินไว้ อาจจะไม่สามารถนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั้งหมด

“ในเรื่องของการบริโภคเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราดู GDP ของประเทศทั้งหมด สัดส่วนประมาณ 75% เราใช้จ่ายกันเองในประเทศ ยิ่งมีโควิดอย่างนี้ นักท่องเที่ยวไม่ได้เดินทางมา เรื่องของการท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ผ่านมาเกิดภาวะช็อคเวลาเราล็อคดาวน์ กิจการบางอย่างหยุดไป คนก็ไม่กล้าใช้จ่ายและไม่มีรายได้ ฉะนั้นรัฐออกให้วันละ 150 เราออกเอง 150 ก็ใช้จ่ายไป มีเงินไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เป็นหลักแสนล้าน จาก 3-4 เฟดที่ทำมาก็ช่วยได้”

นอกจากนี้กระทรวงท่องเที่ยว เตรียมขอขยาย ระยะเวลาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟด 4” เป็นของขวัญปีใหม่ วงเงินที่จะขออนุมัติงบประมาณ 13,200 ล้านบาท เป็นการโฆษณาผลงานของรัฐ ขณะที่กระทรวงอุตสากรรม จะต่อโครงการ “ฟื้นสินเชื่อเพื่อฟื้นฟู” หรือปรับปรุงเอสเอ็มอี ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะบางทีมีสินเชื่ออยู่แล้วแต่เอสเอ็มอีบางรายยังเข้าไม่ถึงโครงการ หากช่วยผู้ประกอบการลดภาระของค่าใช้จ่ายต่างๆได้มากเท่าไหร่ หมายถึงว่าเขามีกำลังและมีสภาพคล่องเหลือ ที่จะไปพยุงการจ้างงานได้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการ เข้าไม่ถึงโครงการหรือโครงการยังไม่จูงใจพอ ที่จะที่จะให้เข้าถึง หรือบางโครงการมีคนจำนวนมาก รอการอนุมัตินาน

ภาคเอกชนเรียกร้องและรออยู่ แม้กระทั่งอีก 2 สัปดาห์สุดท้าย คือ “ช็อปดีมีคืน” หอการค้าและสภาอุตสาหกรรม บอกว่าอยากให้โครงการนี้กลับมา เพราะช็อปดีมีคืน ง่ายตรงที่ไปจับจ่ายใช้สอยแล้วนำใบเสร็จมาลดภาษี และการลดภาษีของแต่ละคนก็ได้สิทธิ์ตามขั้นบันไดที่ตัวเองเสียภาษี ขณะที่ “โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้” ออกแบบมาเพื่อที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่กลางปีมาจนถึงปลายปีนี้ แต่ว่ายังไม่ค่อยมีการจับจ่ายคึกคักเท่าไหร่ คงต้องรอดูการตัดสินใจของภาครัฐ จะมีมาตรการนี้ออกมาหรือไม่ เพราะข้อเรียกร้องมีมาแล้วว่ามาตรการลักษณะนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ สุดท้ายจะมีหรือไม่

ของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลให้ประชาชน จะทำให้ GDP โตขึ้นมาบ้างหรือไม่ เป็นเรื่องมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ แต่ในแง่ของผมที่ทำข่าวเศรษฐกิจ มองว่าการใช้จ่ายของคนเป็นเรื่องของความมั่นใจ ถ้าเราบอกว่าเรามั่นใจว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะดี เราก็จะกล้าใช้จ่ายมากขึ้น ปีหน้าเราอาจจะไม่ต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์ หรือขาดรายได้ ตัดเงินเดือน คนก็อาจจะมีความมั่นใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการลดค่าครองชีพ หมายความว่า ประชาชนได้รับการบรรเทาค่าใช้จ่ายบางส่วน มีเงินในกระเป๋ามากขึ้นก็อาจจะมีการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย

ติดตามรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ที่ เวลา 11.00-12.00 น.โดย ความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5