ข่าวปลอมยังคงระบาดหนักในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีการแชร์ข้อมูลในเฟสบุ๊คและในไลน์ทำให้คนเข้าใจผิด เกิดความเสียหาย สังคมตื่นตระหนก แม้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะออกมาชี้แจงแต่ปริมาณข่าวปลอมก็มีต่อเนื่อง ไม่เว้นแต่ละวัน
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact ประเทศไทย ประมวลภาพรวมเหตุการณ์ข่าวปลอมในปี 2564 ให้ทีมงานจุลสารราชดำเนินว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องข้อมูลโควิด-19 ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากปี 2563 แต่หนักกว่าปีที่แล้วเพราะเกี่ยวพันกับประเด็นวัคซีนเป็นหลักมีผลทำให้คนกลัวการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก
รองลงมา เป็นเฟคนิวส์เรื่องการเมือง แต่ก็ยังเกี่ยวพันกับสถานการณ์โควิดเพราะเป็นการจับผิด ดิสเครดิตรัฐมนตรีและกระทรวงที่เกี่ยวข้องว่าเป็นผู้ปล่อยข่าวไม่ถูกต้องเอง แม้แต่สื่อหลายสำนักกระทั่งไทยพีบีเอส ก็ยังถูกคำถามในการรายงานข่าวโควิด-19 เพราะแปลข่าวผิด ทั้งที่มันอาจเกิดขึ้นได้ แต่เนื่องจากคนอยู่ในสภาวะตื่นตระหนก
เรื่องโควิด-19เป็นแกนหลักของเรื่องที่มันเชื่อมโยงแล้วกระทบทุกวงการ แม้แต่วงการสื่อหรือรัฐบาลเอง หรือเรื่องวัคซีนเองก็เกี่ยวพันหลายเรื่องและเป็นนโยบายรัฐบาล นอกนั้นเป็นเรื่องทั่วไป โรคภัยไข้เจ็บ มะเร็ง ซึ่่งเป็นไฮไลท์ทุกปี ตั้งแต่เรื่องมะนาวโซดาฆ่าเชื้อโควิด-19 ล่าสุดเรื่องการแช่น้ำแข็ง สมุนไพร วิธีการรักษาโรคมะเร็งเป็นพื้นฐานมีทุกปี ข่าวลือ ที่เราพบบ่อยในประเทศ ซึ่งรูปแบบข่าวปลอมซับซ้อนมีทั้งปลอมธรรรมดา บางเรื่องมีอคติ มีทฤษฎีสมคบคิด เพราะเป็นประเด็นการเมือง ประเด็นสุขภาพ ประเด็นความเชื่อ ความกลัวของคน
สุภิญญา กล่าวว่า ตลอดปี 2564 เรื่องวัคซีนมีประเด็นโต้แย้งเยอะมากระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านว่า วัคซีนไม่พอ ทั้งโมเดอร์น่า ไฟเซอร์ แอสตร้าเซเนก้า คนตามข่าวก็ไม่รู้อะไรจริงอะไรเท็จ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความบกพร่องของภาครัฐในช่วงแรกที่ไม่พูดข้อมูลให้ชัดเจน การตื่นตัวของคนก็สูง มีบางเรื่องที่ปล่อยซ้ำจนสุดท้ายคนก็รู้แล้ว เช่น เทปเสียงของ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีแพทย์ศาสตร์ ศิริรราช ที่ขอให้ล็อคดาวน์ตัวเอง 14 วัน ถูกปล่อยวนถี่มาตั้งแต่ปีที่แล้ว 2563 จนถึงปี 2564 ทั้งที่ทุกสำนักข่าว ศูนย์ต้านข่าวลวงของภาครัฐ ชัวร์ก่อนแชร์ช่อง 9 แม้แต่สำนักข่าวต่างประเทศ AFP ที่มีแผนกตรวจสอบข่าวลวงก็ออกมาบอกว่า ไม่จริง
ยุคโอมิครอน คนชินชา
หน่ายข่าวลวง อยากให้ทุกอย่างจบ
สุภิญญา กล่าวว่า ที่น่าสนใจ คือ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนรอบล่าสุด ดูเหมือนคนไทยจะไม่รู้สึกตื่นตัวเหมือนสถานการณ์โควิด-19 ทั่วไป สิ่งที่เห็นคือ คนแชร์ข่าวลวงประเภทนี้น้อยลง ยังไม่พบเห็นว่า มีการส่งต่อคลิปเสียงคณบดีศิริราชที่ให้ล็อคดาวน์ 14 วันอีกแล้ว ทั้งหมดอาจเป็นเพราะคนรู้อยู่แล้วว่า ข่าวนั้นไม่จริง หรือเหนื่อย ไม่อยากแชร์ให้ตื่นตระหนก เพราะอยากกลับไปใช้ชีวิตปกติแล้ว ต่อให้สายพันธุ์โอมิครอนน่ากลัวอย่างไร แม้เรายังไม่ศึกษาลึกก็ไม่กลัวมันแล้ว ยังเห็นคนทั่วไปก็อปข่าวถูกด้วยว่า โอมิครอนติดเร็ว แต่ยังไม่น่ากลัวเท่ากับสายพันธุ์เดลต้า เป็นข้อมูลกลางๆมาโทนนี้ ซึ่งถ้าเราสังเกตุจากเทรนด์ปีที่แล้วที่การระบาดใหม่ในช่วงแรกจนมาถึงรอบเดลต้า จะมีข่าวลวงเยอะมาก แล้วแชร์กันว่อนจนตื่นตระหนก
สิ่งที่เราค้นพบ คือ ข้อมูลที่ทำให้ตื่นตระหนกมีต้นทางจาก "ไลน์กลุ่ม" Cofact กวาดข้อมูลเปิดจากทวิตเตอร์ พันธ์ทิพย์ เฟสบุ๊ค หรือ ยูทูป เราตรวจสอบประเด็นโซดามะนาวรักษามะเร็ง ก็ไม่พบที่มาใครเป็นคนปล่อยข่าวนี้แต่กลับพบว่า สำนักข่าวต่างๆ มีข่าวออกมาแก้ไขเรื่องนี้เยอะมาก แต่ไม่มีต้นข่าวเรื่องนี้ในสื่อนั้นๆ หรือในพื้นที่เปิด เราก็คิดว่า มาจากไลน์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่สามารถหาข้อมูลมาได้เพราะเป็นข้อมูลปิด
ขณะเดียวกัน ข่าวลวงหลายข่าวเราพบว่า มีการแก้ข่าวในสื่อหลัก หรือ คนที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่ช่วยออกมาแก้ข่าว แต่กลับไม่พบต้นข่าวในพื้นที่แพลตฟอร์มนั้นๆ ซึ่งถือว่า เป็นการแก้ไม่ตรงจุด เพราะต้นข่าวลวงมันอยู่ในไลน์แล้วก็ส่งต่อวนไปวนมา คนในอยูในไลน์ก็ไม่ได้แก้ข่าว คนที่แก้ข่าวกลับไปอยู่อีกแพลตฟอร์มหนึ่ง อันนี้คือจุดที่ Cofact พบว่า ทำไมข่าวปลอมมันถึงวนอยู่ในไลน์อยู่ ทั้งที่มีการแก้ข่าวในแพลตฟอร์มอื่นแล้ว เราจึงพยายามทำไลน์แชตบอร์ดขึ้นมาเพื่อให้คนที่ใช้ไลน์อย่างเดียวสามารถตรวจสอบได้โดยตรง แต่สุดท้ายก็พบว่า คนก็ไม่อยากเช็คอยู่ในพื้นที่ของ Cofact ยังอยากส่งข่าวลวงต่ออยู่ดี
ช่วงวัยที่มักจะแชร์ข่าวลวง สุภิญญา มองว่า พฤติกรรมของผู้ที่ช้ไลน์กลุ่มนี้จะอายุ 45-50 ปีขึ้นไป ตรงตามทฤษฎีว่าเป็นผู้สูงวัยหรือ GenX เยอะ กลุ่มนี้เขาจะแชร์เรื่องสุขภาพเพราะเป็นห่วงลูกหลาน เพื่อนฝูง หรือ บางทีคุยต้องการมีปฏิสัมพันธ์ ฉะนั้น ถ้าในไลน์กลุ่มจะเป็นผู้สูงวัย แต่ถ้าเป็นทวิตเตอร์ ก็มีปรากฎการณ์ข่าวลือ ข่าวลวง เยอะเช่นกัน แต่ข้อดีคือ ทวิตเตอร์มีพื้นที่ให้เกิดการโต้แย้งตลอดเวลา จึงมีการแก้ไขแต่ก็มีไม่น้อย ที่เขาไม่แก้ไข แต่เลือกที่จะเชื่อ
"ในไลน์เราเปรียบว่า เป็นคลัสเตอร์ของสเปรดเดอร์ คือ ถ้าเป็นข่าวการเมืองแล้ว นายกฯเป็นคนพูดก็จะเป็นคนดัง เราจะเรียกว่า เป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ เพราะถ้าพูดอะไรผิดคนจะรับรู้ทั้งวงการ แต่ข้อดี คนจะจับผิดกันง่ายในพื้นที่สาธารณะ แล้วจะมีการแก้ไขรวดเร็ว แต่ในไลน์กลุ่ม คนส่วนใหญ่ที่ใช้ไม่ได้เเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ เป็นคนธรรมดา แต่เขาจะเป็นคลัสเตอร์ของสเปรดเดอร์ เหมือนในโรงงานหรือชุมชน ร้านอาหาร แพร่ครั้งนึง ก็คุมยาก หากเทียบกับสถานการณ์โควิด-19 ถ้าไม่ทำบับเบิ้ลแอนด์ซิล เชื้อก็ยิ่งกระจายไปอีก เช่น ถ้าค้นพบผู้ติดเชื้อ 200 คน เราสามารถสั่งให้คุมทันที ในไลน์เช่นกัน หลักการเราก็ต้องห้ามส่งต่อข้อมูลลวงเหล่านั้นด้วย แต่ก็เข้าใจเรื่องข้อมูลข่าวสารมันหยุดไม่ได้ จึงทำให้คลัสเตอร์ของสเปรดเดอร์ในไลน์มีพลังมากอีกแบบ ไม่เหมือนสารนายกฯ เมื่อพูดผิด สามารถแก้ไขได้ทันที"
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคลัสเตอร์ในไลน์กลุ่มไม่ได้เป็นที่สาธารณะ ฉะนั้น มันจะไปเร็วแล้วแก้ยาก เรื่องที่่น่ากลัวคือ การหลอกลวงแชร์ลูกโซ่ ให้กู้ยืมเงิน ปัจจุบันมีคดีฟ้องร้องตำรวจกันมาก ในไลน์กลุ่มมันยกระดับจากเฟคนิวส์เป็นคดีอาญาชกรรมไซเบอร์ที่ลึกซึ้ง เพราะเป็นการหลอกลวงออนไลน์ มันไม่ได้ข่าว แต่เป็นความเชื่อใจของคนที่ใช้และรู้สึกน่าเชื่อถือที่จะลงทุน กู้ยืม
ในประเด็นการรับมือเฟคนิวส์ของหน่วยงานรัฐและเอกชน สุภิญญา มองว่า ในประเทศไทยตื่นตัวค่อนข้างมาก หน่วยงานรัฐลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้เยอะ มีศูนย์ต้านข่าวลวงของตัวเอง ในแง่ดีช่วยเตือนประชาชนได้มาก แต่ในแง่การเมืองอาจติดลบเพราะมันยากที่จะได้รับความเชื่อถือโดยเฉพาะถ้าทำเรื่องประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ในส่วนของข่าวลวงอื่นๆ หน่วยงานต่างๆ พยายามเตือนประชาชน เช่น เรื่องมะเร็ง ทุกโรงพยาบาล ทำเพจของตัวเอง มีอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยแก้ข่าว
"แม้ปัญหาข่าวลวงเยอะขึ้นและคนตื่นตัวแก้ปัญหาก็มีไม่น้อย แต่ความซับซ้อนของปัญหากลับมีมากขึ้น โดยเฉพาะการที่คนใช้ชีวิตกับโซเชียลมีเดียตลอดเวลา โอกาสที่จะถูกหลอกหรือส่งต่อข้อมูลผิดก็มากขึ้นเมื่อเทียบกับ 3-4 ปีที่แล้ว คนใช้ คนแชร์ ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียจะไม่เยอะขนาดนี้"
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหน่วยงานต่างๆมาช่วยกั้นตรวจสอบเฟคนิวส์ แต่สุภิญญามองว่า ยังไม่มากพอ สิ่งสำคัญคือ ยังขาด การช่วยเหลือจากองค์กร ไลน์ ที่ต้องมีบทบาทหลักในการเตือนประชาชนเรื่องข่าวลวงด้วย
"ข่าวลือ ข่าวลวง ถูกส่งต่อในไลน์มาก แต่การแก้ไขกลับไปอยู่ในเพจสื่อมวลชนกระแสหลัก และแพลทฟอร์มอื่นซึ่งไม่ได้ตรงกลุ่มที่ปล่อยข่าว ฉะนั้นข่าวลวงจึงแก้ยาก ในเมื่อไลน์มีฟังค์ชั่นข่าวด่วน ไลน์ทูเดย์ ที่สำคัญเขาสามารถตรวจสอบ จับพฤติกรรมข้อมูลที่ถูกส่งต่อจำนวนมากๆ ในไลน์ได้ ถ้าพบว่า เป็นข่าวลวง แล้วออกมาเตือนตรงในแพลทฟอร์มก็ช่วยสกัดข่าวปลอมได้มาก"
ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเห็นเฟสบุ๊คออกมาทำหน้าที่เตือนข่าวลวงเรื่องโควิด-19 ทวิตเตอร์ก็เริ่มขยับระดับหนึ่ง แต่เรายังไม่เห็นในส่วนของไลน์ที่จะตรวจสอบเรื่องนี้ ไลน์อาจแนะนำ Cofact หรือทำเองก็ได้ หรือ อาจจะให้ลิงก์ข่าวลวงเพื่อแนะนำผู้ใช้บริการไปตรวจสอบในศูนย์ต้านข่าวลวง หรือ อย. ก็จะช่วยได้มากขึ้น ยุคนี้ทุกคนใช้ชีวิตในแพลทฟอร์มต่างๆ มากขึ้น ถ้าแพลทฟอร์มไม่ช่วยมันก็เอาไม่อยู่ มันต้องไปแก้ในแพลทฟอร์มพื้นฐานถึงรับมือได้
ปี 2565 การเมืองเข้ม
สื่อต้องตรวจสอบเท่าเทียม
ทิศทางข่าวลวงในปี 2565 สุภิญญา คาดการณ์ว่า สถานการณ์การเมืองในปี 2565 จะเข้มข้น จะมีทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ใกล้การเลือกตั้งทั่วไป การชุมนุมที่อาจกลับมา ส่วนเรื่องโควิด-19 อาจซาลงบ้าง หลังปีใหม่จึงคิดว่า การเมืองจะกลับมาโดดเด่นอีกรอบ เช่น ที่เราเห็นปรากฏการณ์ของพี่เอ้ -สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กับ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ว่าที่ผู้สมัครชิงผู้ว่าฯกทม. ที่ใช้โซเชียลมีเดียเยอะมากแล้วมีโอกาสที่จะเกิดข่าวลวงที่ไม่ใช่เฟคนิวส์แต่อาจเป็น misinformation คือ มีจริงอยู่ส่วนหนึ่ง หรือ อาจมีไอโอของแต่ละฝ่ายทำเองเพื่อดิสเครดิตคนอื่น หรือ เพื่อเชียร์ตัวเอง
ทั้งนี้ รูปแบบของเฟคนิวส์มีหลากหลาย ตั้งแต่ระดับเบา แซว ล้อเลียนกันซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันก็ได้ หรือ อาจจะเป็นเฟคข่าวที่ไม่จริง หรือ เป็นระดับที่มีข้อเท็จจริงอยู่ แต่นำเสนอไม่ครบ เมื่อมันเป็นเรื่องการเมืองก็จะตรวจสอบยาก จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่ตรวจสอบ มี 2 แบบ คือ ไม่ตรวจสอบเลย เช่น ศูนย์ต้านข่าวลวง ระยะหลังก็จะไม่ตรวจสอบข่าวการเมือง เพราะทำไปแล้วถูกถล่มเนื่องจากไม่เป็นกลางพอ ส่วนรายการชัวร์ก่อนแชร์ก็บอกไม่คนพอที่จะตรวจสอบข่าวลวงการเมือง
ปัญหาของข่าวลวงการเมืองในประเทศไทย ทุกคนอยากจะหาสำนักข่าวที่เชื่อใจได้ คล้ายๆ สำนักข่าว AFP ที่นั่นเขาขยายงานเพิ่มตั้งฝ่ายตรวจสอบข่าวปลอมในโซเชียลมีเดีย เขาลงทุนหาคนที่สามารถตรวจสอบรูป คลิป และจะทำสม่ำเสมอตรวจสอบทุกฝ่าย กระทั่งครั้งหนึ่งออกมาแก้ข่าวที่ดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาว่า นายกฯไทยไม่ยกมือ ระหว่างการประชุมเอเปคเพราะฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง แต่เอเอฟพีจตรวจสอบแล้วพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถูกดิสเครดิต
สุภิญญา กล่าวว่า สำหรับ Cofact ยังทำไม่ถึงขั้นตั้งสำนักข่าวขึ้นมาตรวจสอบเพราะเราไม่มีนักข่าว สิ่งที่เราทำได้ คือ มีพื้นที่คอยตรวจสอบประเด็นที่ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ถ้าเป็นข่าวซับซ้อนต้องอาศัยสำนักข่าวอื่นทำเพราะสำนักข่าวจะมีนักข่าวสายต่างๆ ที่เช็คได้โดยตรง มีบุคลากรที่จะเอาคลิปมาดู หรือ มีฝ่ายที่สามารถแปลภาษาอังกฤษได้ ซึ่งถ้าเป็นสำนักข่าวก็นึกถึงไทยพีบีเอส อสมท บางกอกโพสต์ เครือเนชั่น THE STANDARD The Matter เครือมติชน เป็นต้น แต่ที่น่าแปลกเราไม่ค่อยเห็นใครทำบทบาทแบบ AFP ที่ตรวจสอบทั้งสองฝ่าย เพิ่งเห็นเคสล่าสุด คือ "ดร.เอ้ สุชัชวีร์” ที่ระบุว่า ตัวเองเรียนกับหลานสายตรงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มติชนอีเมล์ไปถาม ดร.เฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้รับคำตอบว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ถ้าจะให้ดีต้องทำสม่ำเสมอทุกฝ่ายซึ่งความยากมันจะเป็นแบบนี้
"ถ้าไม่ได้ทำสม่ำเสมอก็จะเรียกความเชื่อถือได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่า AFP ทำทุกเรื่อง เขาเลือกทำบางประเด็นในเรื่องที่มีผลกระทบสูง หรือ คนเข้าใจผิดเยอะ แชร์ในโซเชียลมีเดียแล้วไม่มีการแก้ไขข่าว ซึ่ง AFP เขากล้าที่จะบอกว่าไม่จริง เพราะเขามีกระบวนการตรวจสอบที่เขามั่นใจ" สุภิญญา กล่าว