ภารกิจร้อน รอพิสูจน์ฝีมือ 5 อรหันต์ กสทช.ชุดใหม่ หมดยุคใช้เสียงข้างมากลากไป

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

พูดอย่างตรงไปตรงมา ที่ผ่านมา กสทช.พยายามจะแบ่งเป็นเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย โดยนับคะแนนเสียงเป็นหลัก แต่ไม่เกิดภาพอนาคตร่วมกัน และมองปัญหาเป็นแบบเฉพาะหน้า เช่นบอกจะประมูลดาวเทียม ก็ประมูล สักพักก็มาล้มประมูล หรือบอกจะประมูลคลื่น  3500 MHz ในปีไหน แต่ต่อมาก็เลื่อนออกไป ทำนองนี้ มันไม่เกิดภาพที่แน่นอนชัดเจน ก็ไม่อยากให้มองแต่เรื่องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยยึดเสียงข้างมากอย่างเดียวก็พอแล้ว เพราะมันสะเปะสะปะ ภาคธุรกิจจะเตรียมตัวไม่ถูก

หลังที่ประชุม"ว่าที่กรรมการกสทช."หรือกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ประชุมกันนอกรอบเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ที่รัฐสภา เพื่อเลือกว่าที่กสทช.ด้วยกันเองห้าคนให้มีคนหนึ่งถูกเสนอชื่อเป็นประธานกสทช.คนใหม่ โดยที่ประชุมได้มีมติเลือก "ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์-ว่าที่กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค" เป็นประธานกสทช.คนใหม่       และขั้นตอนขณะนี้ก็คือ กำลังรอให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นำรายชื่อ ว่าที่ประธานกสทช.และกรรมการกสทช.อีกสี่คนส่งชื่อไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป 

            ทั้งนี้ ว่าที่กสทช.ชุดใหม่อีกสี่คนนอกเหนือจาก นพ.สรณ อดีตอาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว กรรมการอีกสี่คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค -ศ.พิรงรอง รามสูต  อดีตอาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย -ต่อพงศ์ เสลานนท์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตที่ปรึกษาประจํารองประธาน กสทช.-รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย อดีตผู้อํานวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

            ซึ่งหลังจากนี้เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกสทช.และกสทช.อีกสี่คนอย่างเป็นทางการแล้ว ต้องรอติดตามกันว่า กสทช.ชุดใหม่ ที่มีวาระการดำรงตำแหน่งนานถึง 7 ปี จะเข้าไปทำหน้าที่แทนกสทช.ชุดล่าสุดที่พ้นตำแหน่งไปหลังอยู่ในตำแหน่งมาร่วมสิบปี จะทำหน้าที่ในการ กำกับดูและกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่มีผลประโยชน์เป็นแสนล้านบาท ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนได้หรือไม่ หรือจะทำให้ กสทช.กลายเป็น"แดนสนธยา"ที่สังคมตรวจสอบการทำงานได้ยาก กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในเรื่องนี้

            บทบาทการทำงานของกสทช.ชุดใหม่ต่อจากนี้ มีมุมมอง-ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจที่ส่งผ่านไปถึง ประธานกสทช.-กสทช.ชุดใหม่ เริ่มต้นที่"นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา-อดีตกสทช.ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไปล่าสุด"ให้ความเห็นว่า ภารกิจที่กสทช.ชุดใหม่จะเข้าไปทำหากแบ่งออกเป็นงานด้านต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่ของกสทช. เช่นงานด้านวิทยุ ทางกสทช.ชุดใหม่จะต้องเข้าไปดูแลเรื่องการ"ประมูลคลื่นความถี่วิทยุธุรกิจ"ซึ่งโดยหลักจะเป็นคลื่นของบริษัทอสมท.เดิม และหมดสัญญาตามบทเฉพาะกาลจึงต้องจัดสรรด้วยวิธีการประมูล ขณะที่"คลื่นวิทยุชุมชน"ทั้งหลาย ที่ก่อนหน้านี้กสทช.ให้เป็นลักษณะการทดลองประกอบกิจการ ที่โดยหลักจะหมดไปพร้อมกับแผนแม่บทฯ คือจะต้องเอาคลื่นมาจัดสรรใหม่ภายในเดือนเมษายนปีนี้เช่นกัน 

กสทช.ต้องมาหาทางออกว่านอกจากประมูลคลื่นธุรกิจ แล้วในส่วนของ คลื่นวิทยุชุมชนต่างๆ ที่เคยทดลองประกอบกิจการแล้วหลังจากนี้ กสทช.จะให้เดินหน้าต่อไปอย่างไร 

...ส่วน"กิจการโทรทัศน์"ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะถึงตอนนี้ทุกอย่างลงตัวไปแล้วในเรื่องการจ่ายค่าคลื่น-ค่าโครงข่ายต่างๆ เพราะมีการใช้มาตรา 44 ในยุคคสช.ออกมาจัดการไปหมดแล้ว ที่เหลือตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจทีวีดิจิตอลเดินต่อไปได้หรือไม่อย่างไร และถ้าในอนาคต พอหมดใบอนุญาตแล้วจะต้องประมูลกันใหม่หรือไม่ และหากจะประมูลจะประมูลอย่างไร เพราะตอนนี้ธุรกิจทีวีดิจิตอลก็เริ่มเป็นช่วงขาลง 

            "นพ.ประวิทย์-อดีตกสทช."กล่าวต่อไปว่านอกจากนี้กสทช.จะต้องเข้าไปดูเรื่อง"ดาวเทียม"ในส่วนของวงโคจรดาวเทียม ที่เป็นหน้าที่ของกสทช.ในการรักษาวงโคจร แต่การรักษาวงโคจรต้องนำมาใช้ประโยชน์ด้วย ต้องไปดูว่ามีวงโคจรอันไหนที่จะครบกำหนดแล้วต้องยิงดาวเทียมหรือไม่อย่างไร ยกตัวอย่างก็เช่นกรณีการทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ทางกสทช.ชุดใหม่ก็ต้องไปเตรียมการในการจัดประมูล และหากรัฐบาลจะมีนโยบายจะยิงดาวเทียมเพื่อความมั่นคง ก็จะต้องมีการมาหารือร่วมกันกับกสทช.ว่าทำได้หรือไม่ได้ และทำแล้วมันจะคุ้มหรือไม่คุ้ม และจะจัดสรรด้วยวิธีไหนอย่างไร และสิ่งที่คาบเกี่ยวกับเรื่องดาวเทียมก็คือเรื่องของ"คลื่นโทรคมนาคม" เพราะดาวเทียมใช้คลื่น C-band คลื่นความถี่ย่าน 3500MHz ที่จะถูกนำมาจัดสรรเป็นคลื่น 5จี ตรงนี้ กสทช.ต้องไปดูว่าจะจัดสรรอย่างไรเพราะคลื่น C-band ยังเป็นทีวีดาวเทียมอยู่แล้วหากนำมาจัดสรรเป็นคลื่น5 จี มันจะรบกวนกันหรือไม่ เช่นใครใช้จานดำแล้วจะต้องเปลี่ยนจานรับสัญญาณหรือไม่ และหากเปลี่ยน จะต้องเปลี่ยนทั้งประเทศ ใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ใครจะรับภาระให้กับประชาชน ต้องเป็นเรื่องที่กสทช.จะต้องหารือกันว่านโยบายเรื่องคลื่น 3500MHzจะให้มีทีวีดาวเทียมอยู่หรือไม่ หรือจะไม่มี อย่างไรก็ตาม จะมีหรือไม่มี ก็ต้องมีค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ดาวเทียมแล้วใครจะรับผิดชอบ โดยก็ต้องจัดสรรคลื่น 5 จีให้กับกิจการโทรคมนาคมได้ ที่ก็อาจจะต้องไปดูว่าจะมีคลื่นอื่นหรือไม่ที่ยังค้างจากการประมูลเช่น คลื่น1800 MHz ยังพอมีเหลือหรือไม่ หรือว่าจะต้องไปจัดสรรคลื่นอื่นเพิ่มเติม กสทช.ก็ต้องไปดูต่อไป แต่ว่า ในสถานการณ์ยุคปัจจุบัน การจัดประมูลมันก็ค่อนข้างยากเพราะว่าภาคธุรกิจเองมีสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ก็อาจมีปัญหาเรื่องราคาในการประมูล 

            "ยิ่งถ้ามีการควบรวมกิจการ ซึ่งก็เป็นภารกิจอีกอันของกสทช. ที่มีข่าวว่า ทางดีแทคกับทรูฯ จะควบรวมกิจการกัน ก็ต้องไปกำกับดูแลว่าจะอนุญาตให้ควบรวม หรือไม่ให้ควบรวม หรือหากควบรวมแล้วจะมีการกำหนดมาตราการเฉพาะหรือไม่ เพราะหากควบรวมสำเร็จ ก็จะส่งผลต่อความเข้มข้นในการแข่งขันเมื่อมีการประมูลเกิดขึ้นด้วย เพราะจากเดิมจะมีสามกิจการใหญ่คือ เอไอเอส- ดีแทค และกลุ่มทรู พอควบรวมหากทำได้ ก็จะเหลือแค่สองค่ายใหญ่คือ เอไอเอสกับทรูและดีแทคที่ควบรวมกัน ก็จะเกิดปัญหาใหญ่ว่าจะออกแบบการประมูลอย่างไรให้เกิดการแข่งขันกัน"

            

"นพ.ประวิทย์-อดีตกสทช."กล่าวต่อไปว่า ยกตัวอย่างหากออกแบบการประมูลออกมาแล้วมีคลื่นสองsource พอดี คนก็อาจครหาว่ามีการฮั้วหรือไม่ เพราะเท่ากับจะมีสองค่ายแล้วแบ่งเค้กกันพอดีสองชิ้น ตรงนี้ก็เป็นเรื่องการออกแบบการประมูล ก็จะเป็นปัญหาในอนาคตแล้วจริงๆ ในส่วนของผู้บริโภค เข้าใจว่าปัญหาหลักๆ ตอนนี้ก็คือเรื่องของ SMS คือพวก sms คิดเงินกับ sms หลอกลวง ตรงนี้ในส่วนของเรื่องร้องเรียนเรื่องโทรคมนาคม -กิจการกระจายเสียงโทรทัศน์ กสทช.ก็จะต้องมาจัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องใหญ่ มีร้องเรียนเยอะ มีผลกระทบวงกว้าง หากกสทช.จัดลำดับความสำคัญได้ ก็ต้องออกมาตราการเชิงนโยบาย อย่าง sms หลอกลวงประชาชน จะเข้าไปจัดการอย่างไร ไม่ใช่แค่บล็อกเป็นรายๆ แล้วคนที่ทำ ก็เปลี่ยนชื่อ แล้วก็เข้ามาทำอีกหลอกลวงกันใหม่ สิ่งเหล่านี้คืองานของกสทช.ชุดใหม่ในระยะยาว 

            ....สำหรับเรื่อง"สื่อ" กสทช.คงต้องไปดูเรื่องของเนื้อหา แต่ต้องบอกว่า กสทช.จะดูเรื่องเนื้อหาของสื่อได้ในส่วนที่เป็นโทรทัศน์กับวิทยุเท่านั้น ส่วน"สื่อออนไลน์"กสทช.ไม่มีอำนาจไปกำกับดูแลได้ แต่ที่กสทช.มีอำนาจอยู่ ก็ต้องดูว่าขอบเขตการกำกับดูแล จะอยู่แค่ไหนถึงจะเหมาะสม หากไปกำกับดูแลมากเกินไป จนกลายเป็นการปิดกลั้น

....ต้องบอกแบบตรงไปตรงมาว่า หากเราไปปิดกลั้นสื่อหลักพวกทีวี-วิทยุ  ตอนนี้มีสื่อดิจิตอล ผู้เสพสื่อก็จะไปเสพสื่อผ่านสื่อดิจิตอลอยู่ดี มันไม่ได้แก้ปัญหาได้ แต่ขณะเดียวกันหากไม่กำกับดูแล แล้วปล่อยเนื้อหาในการนำเสนอจนหมิ่นเหม่เกินไป ก็จะกลายเป็นปัญหาอีกแบบหนึ่งไปจนทำให้ภูมิทัศน์สื่อไม่ดีอยู่ดี   

ดังนั้นเนื้อหาของสื่อ กสทช.คงต้องดูในหลายมิติ เช่น มิติเรื่อง เสรีภาพ -ความมั่นคง -การรับรู้สิทธิข่าวสารของประชาชน แล้วกำกับดูแลให้เหมาะสม เพราะหากจะบอกว่าห้ามเสนอข่าวเลย จะกระทบกับธุรกิจแล้วสุดท้าย มันไม่มีประสิทธิภาพจริง เพราะสื่อดิจิตอลก็ยังออกอากาศในลักษณะเดียวกันนั้นได้อยู่ดี ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับฝ่ายสื่อในกสทช.ที่ต้องมาดูมิติในส่วนนี้ 

ภายใต้หลักคือให้มีการเสนอข้อเท็จจริงแต่ต้องไม่ทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังกัน เพราะตอนนี้สังคมขับเคลื่อนด้วยความเกลียด มีสื่ออะไรออกมา ก็มีการโจมตีกันไปมาโดยไม่เกิดข้อเสนอที่สร้างสรรค์ ก็อาจต้องให้มีการลดโทนด้านอารมณ์ แต่ให้เพิ่มการนำเสนอข้อเท็จจริงและทางออก นำเสนออนาคตร่วมกัน”

            “นพ.ประวิทย์-อดีตกสทช.”กล่าวด้วยว่า สำหรับงานด้านสำนักงานกสทช. ที่รอการเข้ามาของกสทช.ชุดใหม่ ก็คือ จะต้องมีการสรรหาเลือกเลขาธิการกสทช.คนใหม่ เพราะคนเดิมลาออกไปสองปีแล้ว (ฐากร ตัณฑสิทธิ์) ทางบอร์ดกสทช.ต้องมาตัดสินใจว่า จะรอให้ครบเจ็ดคนแล้วถึงค่อยสรรหาเลขาธิการกสทช.หรือกสทช.ที่มีอยู่ตอนนี้ห้าคน จะสรรหาเลยแล้วจะมีหลักเกณฑ์การสรรหาคัดเลือกอย่างไร 

            ...นอกจากนี้ ในส่วนของ "แผนโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือโทรคมนาคมโดยทั่วถึง"ที่จะหมดอายุในเดือนพฤษภาคมปี2565 นี้ กสทช.ชุดใหม่ ต้องทำแผนฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะต้องมีการกำหนดงบประมาณเพื่อไปเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเงินค่าธรรมเนียม USOจากผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการไม่อยากจ่ายมาก เขาจะเรียกร้องให้เก็บไม่แพง ทางกสทช.ชุดใหม่ต้องมาวิเคราะห์ว่าสภาพปัญหา การเข้าถึงโทรคมนาคมจริงๆ คืออะไร แล้วจะเพิ่มการเข้าถึงอย่างเท่าทันอย่างไร เช่น ตอนนี้ที่มีโรคระบาดโควิด จึงต้องมีการทำงานที่บ้าน หรือเรียนออนไลน์ เรียนทางไกล ทาง USO จะเข้าไปช่วยอย่างไร หรือแม้แต่เรื่องการแพทย์ทางไกล telemedicine ในช่วงมีผู้ป่วยโควิดเยอะ ตรงนี้ก็เป็นแผนงานที่ต้องอยู่ในUSO ที่กสทช.ชุดใหม่ต้องไปดูว่า เมื่อแผนงานUSO จะหมดในกลางปีนี้ แล้วแผนฉบับใหม่ จะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทางเทคโนโลยี -ภูมิสังคม -โรคระบาดอย่างไร

            เมื่อถามถึงในฐานะเคยเป็นกสทช.มาก่อนหลายปี สิ่งที่เคยเห็นว่าการทำงานของกสทช.มีปัญหา มีช่องว่างต่างๆ ในการทำงานช่วงที่ผ่านมาของกสทช.และจะฝากไปถึงกสทช.ชุดใหม่ให้เข้ามาอุดช่องโหว่การทำงานอย่างไร เรื่องนี้"นพ.ประวิทย์-อดีตกสทช."ให้ข้อมูลและความเห็นว่าก็อยากให้ กสทช.วิเคราะห์สถานการณ์แล้วมาสร้างภาพอนาคตร่วมกันว่าเป้าหมายคืออะไร เพราะกสทช.ชุดใหม่แต่ละคน ก็มาจากหลายสาขาที่เป็นเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพราะหากแต่ละคนดูแต่เฉพาะด้านความเชี่ยวชาญของตัวเองเช่นกฎหมายก็ดูแต่กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ก็จะดูแต่มุมเศรษฐศาสตร์ บางทีมันไม่สามารถขับเคลื่อนภาพใหญ่ได้ 

.....อยากฝากว่ากสทช.ชุดใหม่อาจต้องกำหนดวิสัยทัศน์ ฉากทัศน์ร่วมกันว่า อยากเห็นอะไรเกิดขึ้นกับวาระการทำงานของกสทช.ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น แล้วก็กำหนดเป็นแผนงานแล้วก็เดินไปด้วยกัน โดยวิเคราะห์ทั้งอนาคตว่าอะไรจะเข้ามาเช่นเทคโนโลยี และดูอดีตคือ ปัญหาอะไรบ้างในสายงานที่เป็นปัญหาใหญ่ๆแล้วยังแก้ไขไม่ได้ หากทำได้ ผมก็เชื่อว่าสังคมก็คงมีความยินดี 

            "อีกส่วนคือเรื่องการบริหารงานภายใน พูดอย่างตรงไปตรงมา ที่ผ่านมา กสทช.พยายามจะแบ่งเป็นเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย โดยพยายามนับคะแนนเสียงเป็นหลัก แต่ไม่เกิดภาพอนาคตร่วมกัน และมองปัญหาเป็นแบบเฉพาะหน้า เช่นบอกจะประมูลดาวเทียม ก็ประมูล สักพักก็มาล้มประมูลหรือบอกจะประมูล  3500 MHz ในปีไหน แต่มาก็เลื่อนออกไป ทำนองนี้ มันไม่เกิดภาพที่แน่นอนชัดเจน ก็ไม่อยากให้มองแต่เรื่องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยยึดเสียงข้างมากอย่างเดียวก็พอแล้ว เพราะมันสะเปะสะปะ แล้วภาคธุรกิจเขาจะเตรียมตัวไม่ถูก เพราะอย่างภาคธุรกิจเขาอยากรู้แผนการประมูลระยะยาว เช่นการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือการประมูลทีวีดิจิตอล หากหมดสัญญาแล้วกสทช.จะวางแผนต่อไปอย่างไร ช่องจะลดน้อยลงหรือไม่ หรือการประมูลคลื่นวิทยุ สิ่งเหล่านี้ กสทช.ต้องวางภาพให้ชัด เอกชนจะได้วางแผนการเข้าร่วมได้ถูก เช่นเดียวกันกับการประมูลดาวเทียมหรือเครือข่ายธุรกิจมือถือ ต้องมีแผนงานที่ชัดเจน"อดีตกสทช.กล่าวไว้

            ในตอนท้าย "นพ.ประวิทย์-อดีตกสทช."กล่าวฝากไปถึงกสทช.ชุดใหม่ว่า สิ่งที่อยากฝากกสทช.ชุดใหม่ที่ผมประเมินว่าเป็นคนมีฝีมือทุกคนเลย และผ่านประสบการณ์งานบริหารกันมามากมาย หากนำประสบการณ์เหล่านี้มาแล้วทำงานแบบรวมใจให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แล้วกำหนดภาพอนาคตร่วมกันของกรรมการ ผมว่ามันจะไปได้ดีกว่าสภาพก่อนหน้านี้ที่มีการแบ่งกัน มีการล็อบบี้เพื่อให้ได้เสียงข้างมากแล้วก็ ดันทุรังจะเดินกันไปโดยทำงานแบบไม่มีแผน มันก็สะเปะสะปะ จะประมูล 3 จี 4 จี 5 จี ปีไหน ก็แล้วแต่อยากจะจัดประมูล ทำให้เอกชนบางทีก็จ่ายราคาคลื่นต่ำไปบ้างหรือบางทีก็แพงเกิน มันไม่มีความสอดคล้อง ไม่มีความสม่ำเสมอ รวมถึงกสทช.ต้องอย่าพยายามเลือกปฏิบัติ ถ้าออกกติกามา ถ้าเป็นทุกช่องทุกสถานีหรือทุกค่ายมือถือ ก็จะต้องได้เหมือนๆกัน ไม่ใช่ว่าค่ายไหนได้เงื่อนไขที่ดีกว่าค่ายอื่น 

กสทช.ต้องให้ความสำคัญ

เรื่อง”คุ้มครองผู้บริโภค”

            ด้านความเห็นจากตัวแทนองค์กรผู้บริโภค "บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค-อดีตสมาชิกวุฒิสภา" กล่าวว่า ต้องขอดูฝีมือการทำงานของกสทช.ชุดใหม่ก่อน ยังไม่อยากบอกว่าจะไปคาดหวังอะไรกับกรรมการทั้งห้าคน แต่สิ่งที่ภาคประชาสังคมคาดหวังมาตลอดก็คือหวังว่ากสทช.จะกำกับดูแลการให้บริการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยการออกมาตราการหรือนโยบายต่างๆ มาดูแลผู้บริโภค  ที่เราก็คาดหวังมาตลอด ตอนนี้ก็ต้องรอดูการทำงานก่อน แต่กสทช.ชุดก่อนหน้านี้ ก็มีบางคนเช่น นพ.ประวิทย์ หรือหมอลี่ แต่เขาก็เป็นแค่เสียงเดียว ก็สู้ไม่ได้เพราะกสทช.ใช้การลงมติของกรรมการ เขาไม่ได้สู้กันด้วยเหตุผล แต่ใช้เสียงข้างมากลากกันไป ตอนนี้เมื่อไม่มีหมอลี่แล้วก็ยังพอมีบางคนเช่น อาจารย์พิรงรอง ที่อาจดูแลในส่วนด้านผู้บริโภคได้ รวมถึง นายต่อพงษ์ ที่เป็นตัวแทนผู้บริโภค ก็ฝากความหวังไว้ แต่ไม่รู้จะหวังได้แค่ไหนกับกรรมการชุดใหม่

             " ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค"บอกว่าสิ่งที่อยากเห็นกสทช.เข้ามาดูแลเร่งด่วนเฉพาะหน้าก็คือเรื่อง"การเข้าถึงข้อมูล"เพราะตอนนี้ปล่อยให้เข้าถึงข้อมูลได้มากเกินไปโดยไม่มีการสแกนกลั่นกรองเลยโดยเฉพาะเด็กๆ เพราะตอนประมูลทีวีดิจิตอล เราก็เคยบอกกสทช.ชุดที่แล้วว่า เขาจะต้องมีหลักเกณฑ์เรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กในการเข้าถึงข้อมูล แต่เขาไม่ทำ ไม่สนใจ รวมถึงเรื่องการโฆษณาในสื่อวิทยุโทรทัศน์โดยเฉพาะทีวี ที่มีการโฆษณาเกินเวลาเกือบทั้งนั้น เมื่อก่อนนับจากสปอตโฆษณาแต่ตอนนี้โฆษณาทั้งรายการเลย ซึ่งที่ผ่านมา มองว่า กสทช.นิ่งดูดายมากเลย มาตีมึนว่าโฆษณาคือสปอต แต่ปัจจุบันมีโฆษณาแฝงทั้งรายการเลย ตอนนี้บ้านเมืองไปถึงไหนแล้ว กสทช.ยังมัวแต่โบราณอยู่ 

            หลังจากนี้ เมื่อ กสทช.ชุดใหม่ เข้าทำงานอย่างเป็นทางการแล้ว คงต้องรอดูการทำงานกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว นพ.สรณ ในฐานะประธานกสทช.และกรรมการคนอื่นอีกสี่คน จะทำหน้าที่กสทช.อย่างที่สังคมคาดหวังได้หรือไม่ เวลาและผลงาน จะเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญ