ทางแก้ปัญหา เมื่อ “ผู้พิทักษ์ป่า” ถูกตัดงบ

“เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่านอกจากออกจากสำนักงานแล้วเข้าป่าแล้ว เขาไม่เคยเห็นโลกใหม่ ๆไม่เคยได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ และอุปกรณ์ก็ล้าสมัย ฉะนั้นถ้าให้ความสำคัญในเรื่องนี้ก็มีโอกาสที่งานอนุรักษ์จะมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปมากกว่านี้”

​การทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าเปรียบเสมือนผู้ปิดทองหลังพระ เพราะมีภารกิจยิ่งใหญ่ต้องรับผิดชอบดูแลผืนป่าของประเทศมากกว่า 102,484,072 ไร่ ในขณะที่สังคมรับรู้การทำงานของพวกเขาไม่มากนัก กระทั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกตัดงบประมาณประจำปี 2565 ลงถึง 47% ส่งผลให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องเลิกจ้างเหมาเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าจำนวนหนึ่งทำให้เรื่องราวของพวกเขาถูกกล่าวถึงผ่านสื่อมากขึ้น

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลางจำนวน 251 ล้านบาท เพื่อจ้างเหมาเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ของกรมอุทยานฯ จำนวน 3,999 อัตรา ในอัตราจ้าง 9,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการจ้าง 7 เดือน ระหว่างมีนาคม-กันยายน 2565 หลังจากมีการปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่ลงประมาณ 1,731 คน ก่อนหน้านี้

​พิเชษฐ์ ชูรักษ์ บรรณาธิการสำนักข่าว iGreen ซึ่งเป็นสำนักข่าวออนไลน์ที่นำเสนอข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก บอกเล่าในรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า การทำหน้าที่ดูแลป่าของเจ้าหน้าที่อุทยานในขณะนี้เป็นปัญหาเรื่องของกำลังคนเป็นหลัก หากมีการปรับลดย่อมมีผลกระทบมากแน่นอน แต่ยังมีปัญหาในรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้แค่ทำหน้าที่ลาดตระเวนเพื่อเฝ้าป่าทั่วไป แต่เป็นการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ที่ต้องมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มีการบันทึกข้อมูล มีเครื่อง GPS กล้องดิจิทัล วิทยุสื่อสารติดตัวขณะเข้าป่า​เพื่อสำรวจพื้นที่ บันทึกร่องรอยว่ามีอะไรแปลกปลอมเข้ามา หรือมีอะไรหายไป มีคนเข้ามาลักลอบตัดไม้หรือล่าสัตว์หรือไม่ เพื่อนำบันทึกเหล่านั้นมาใช้ปรับปรุงการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ขณะออกพื้นที่ลาดตระเวนในแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่ต้องมีอาวุธในการป้องกันตัว โดยปืนที่ใช้อยู่คือปืนลูกซองยาว และปืน HK33 ซึ่งค่อนข้างโบราณมาก อีกทั้งมีกฎระเบียบในการใช้ปืน โดยเฉพาะกระสุนว่าใช้ได้เท่าไหร่ และ 1 ชุดลาดตระเวนก็ไม่ใช่ว่าจะมีปืนครบทุกคน เคยมีข่าวก่อนหน้านี้ว่าบางหน่วยใช้กระสุนไปแล้วเบิกเพิ่มไม่ได้ เพราะว่ามีโควต้าในการเบิก เมื่อเบิกไม่ได้ก็ต้องไปหาซื้อกันเอง

ประเด็นที่สำคัญเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างมืออาชีพ แต่เท่าที่ทราบมีการฝึกเพียงปีละ 7 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนและทหารมาช่วยฝึกให้ ซึ่งถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับเจ้าหน้าที่ด้านอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่ในลักษณะคล้ายกัน รวมทั้งในแง่กำลังคนถ้าเทียบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

​แม้ที่ผ่านมามักจะพูดกันว่า ภาครัฐช่วยเหลือคนเหล่านี้อยู่แล้วเวลาประสบเหตุ ผ่านกองทุนของกรมอุทยานฯและมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง แต่ในความจริงแล้วความสำคัญของงบประมาณ หรือความสำคัญในการอนุรักษ์กว้างกว่านั้น การช่วยเหลือหมายความว่า ถ้าเราตั้งใจให้มีการอนุรักษ์พื้นที่ป่าอย่างจริงจังก็ต้องพัฒนาศักยภาพคน เช่น การฝึก ต้องมีเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า อย่างเช่น นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยทำงานด้วย

เจ้าหน้าที่​ผู้พิทักษ์ป่าแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ลูกจ้างประจำ, พนักงานข้าราชการและพนักงานจ้างเหมา หรือเรียกว่าพนักงานทีโออาร์ (TOR) ซึ่งมีปัญหาอยู่ตอนนี้และต้องจ้างเหมาเพิ่มตามงบประมาณที่เพิ่งได้รับมา หน้าที่หลักคือลาดตระเวนพื้นที่ป่าอย่างน้อย 14-15 วัน แต่ไม่ใช่แค่ป้องกันและปราบปรามอย่างเดียว งานไฟป่าก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย เพราะช่วงปลายปีถึงต้นปีของทุกปีจะมีปัญหาเรื่องไฟป่าโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ

ข้อมูลของปี 2564 มีเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าอยู่ 20,000 กว่าคน กระจายอยู่ทั้งอุทยานทางบกและทางทะเล อุทยานมีอยู่ทั้งหมด 140 กว่าแห่ง แต่มีพนักงานอยู่ 20,000 กว่าคน พื้นที่ป่าทั้งหมดมีอยู่กว่า 102 ล้านไร่ ​แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2565 จำนวน 8,534 ล้านบาทจากปีก่อนหน้าได้รับอยู่ที่ 16,143 ล้านบาท หรือลดลง 47% ทำให้กรมอุทยานฯ ซึ่งรับผิดชอบเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าเป็นหลักถูกปรับลดงบไปด้วย

"ถือว่ากระทบรุนแรงใหญ่หลวงมาก เมื่อเทียบกับงบของกระทรวงอื่น ๆ แม้ว่ากรมอุทยานฯ จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเข้าใช้อุทยาน แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิดทำให้รายได้ส่วนนี้ลดลง และมีข้อจำกัดในการนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่าย แต่ก็เคยเบิกมาใช้จ้างเหมาผู้พิทักษ์ป่าก่อนหน้านี้ประมาณ 200 ล้านบาท"

การแก้ปัญหาการอนุรักษ์ป่าด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ เช่น ใช้โดรนในการปกป้องพื้นที่ป่าถือว่าตอบโจทย์ได้พอสมควร เพราะไม่สามารถใช้กำลังคนจำนวนมหาศาลได้ เท่าที่มีข้อมูลมีองค์กรไม่แสวงกำไรชื่อ Rainforest Connection (RFCx) ได้พัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยี AI ที่เรียกว่า Guardian ไปติดตั้งในป่า ให้เจ้าหน้าที่มอนิเตอร์ดูพื้นที่ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับฟังเสียงจากป่า เมื่อเกิดเหตุผิดปกติจะมีเสียงสัญญาณส่งเข้ามายังศูนย์ควบคุม ถ้าเสียงธรรมชาติปกติก็แปลว่าอาจจะไม่มีอะไร แต่ถ้ามีเสียงคนตัดไม้ เสียงเลื่อย เสียงปืน เจ้าหน้าที่ก็สามารถเคลื่อนที่เข้าพื้นที่ได้ทันเวลา เป็นการช่วยมอนิเตอร์และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ซึ่งมีการนำอุปกรณ์นี้ไปใช้อยู่ใน 22 ประเทศ


"อย่าลืมว่าตำรวจ ทหารยังมีโอกาสได้ไปดูงานต่างประเทศ มีประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงาน มีการไปฝึกอบรมเทรนนิ่งต่าง ๆ มากมาย แต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าออกจากสำนักงานเข้าป่าแล้วเขาไม่เคยเห็นโลกใหม่ ๆ ไม่เคยได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ อุปกรณ์ก็ล้าสมัย ฉะนั้นถ้าให้ความสำคัญในเรื่องนี้ก็มีโอกาสที่งานอนุรักษ์จะมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปมากกว่านี้”

แต่จะฝากความรับผิดชอบ​การอนุรักษ์ป่า ไว้กับเจ้าหน้าที่อย่างเดียวไม่ได้ ทุกคนสามารถเป็นกลไกหนึ่ง ช่วยลดภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมได้ ไม่จำเป็นต้องไปเดินป่าเพื่อปกป้องดูแลป่า แต่เริ่มจากแยกขยะพลาสติกไม่ให้หลุดรอดไปกระทบกับสัตว์ เพราะข่าวที่ปรากฎพบว่าสัตว์ทะเลที่ตายหรือสัตว์ป่าที่ตาย เมื่อผ่าท้องออกมาก็มีขยะพลาสติก ฉะนั้นป่าคือลมหายใจของทุกคน อยู่ที่ว่าเราตระหนักกับมันหรือไม่ ผมเป็นนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม คิดว่าการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งเล็ก ๆ ในการช่วยเหลือสังคม เราต้องเข้าใจธรรมชาติเข้าใจกลไกของระบบนิเวศโดยรวมด้วย เช่น ไปเที่ยวป่าต้องไม่ทิ้งขยะ ไม่ส่งเสียงดังรบกวนสัตว์

อยากให้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้ายกระดับหน่วยพิทักษ์ป่าให้เป็นกรม หรือมีศักยภาพเทียบเท่าเหมือนบางหน่วย ของตำรวจ ทหาร อาจจะทำหน้าที่ได้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการ หรืออุปกรณ์ในการทำงาน เช่นเดียวกับตำรวจที่มีอุปกรณ์ทันสมัย มีสวัสดิการและเงินเดือน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มียศ ตำแหน่ง แต่เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าไม่มีใครรู้จัก คนที่เรียนจบไม่มีใครบอกเป้าหมายชีวิตว่าอยากไปเป็นผู้พิทักษ์ป่า

ขณะเดียวกันภายใต้โครงสร้างท้องถิ่นต้องมีส่วนช่วยสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ต้องให้ความรู้มากพอให้คนมีความตระหนักต่อการอนุรักษ์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันการลักลอบตัดไม้หรือล่าสัตว์ คนในชุมชนจะเป็นกำลังหนึ่งให้กับเจ้าหน้าที่ได้ อยู่ที่ว่ารัฐให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหนกับปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัญหาเชิงนโยบาย และที่อาจจะเป็นเรื่องยากก็คือการแก้ปัญหาปากท้อง ถ้าท้องอิ่มคนก็จะไม่เข้าป่าไปล่าสัตว์หรือตัดไม้ทำลายป่า

"วันนี้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกปี ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้น แต่น่าแปลกใจหรือไม่ ว่า ทำไมงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมกลับลดลง ทำไมบางหน่วยงานสามารถซื้อยุทโธปกรณ์ แค่หน่วยเดียว 10,000 กว่าล้าน ซึ่งมากกว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 กระทรวงด้วยซ้ำ ถ้าป่าลดลงทุกปีกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งกันดาร ไม่มีพื้นที่ป่าเราจะมีชีวิตกันแบบไหน ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญก็จะทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าดูด้อยค่า ไม่เท่เหมือนตำรวจ ทหาร ทั้งที่มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรป่าไม้ซึ่งถือเป็นความมั่นคงหนึ่งของประเทศ เขาควรที่จะได้รับสวัสดิการได้รับเกียรติได้รับศักดิ์ศรีมากกว่านี้ ลองคิดดูว่าถ้าไม่มีป่าเลย สัตว์ป่าหายไประบบนิเวศก็จะหายไปด้วย"

ติดตามรายการ​ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดยความร่วมมือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5