วันที่ 21 มี.ค. 2565 ที่ รร.วีโฮเทล บีทีเอสราชเทวี กรุงเทพฯ มีการจัดเสวนา “สัมพันธ์จีน-สหรัฐ : ผลกระทบต่อไทยและอาเซียน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมหลักสูตร “มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่ 4” โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก 1.สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย 2.บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ 4.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
ผศ.ดร.หลี่ เหริน เหลียง (Li Ren Liang) คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การจะเข้าใจประเทศจีน ก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมจีน เช่น ในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อต้นปี 2565 นั้น 1.จีนนั้นยึดถือคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา หมายถึงการมีนักกีฬาเป็นตัวตั้ง อาทิ อาหารที่เตรียมไว้ต้อนรับนักกีฬามีถึง 700 รายการ ครอบคลุมประชากรที่หลากหลายทางเชื้อชาติ-ศาสนา 2.จีนให้ความสำคัญกับสัจจะ พูดคำไหนคำนั้น จึงไม่มีการเลื่อนการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวออกไป แม้ก่อนหน้านั้นจะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม อีกทั้งเมื่อจัดแล้วยังต้องจัดให้ยิ่งใหญ่ด้วย แม้จะใช้งบประมาณมากแต่ก็ต้องทำเพื่อให้ผลงานออกมาดี
ขณะที่การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ จะมีการรายงานสถานการณ์ที่ผ่านมาในปี 2564 ของจีน กล่าวคือ GDP ขยายตัว 8.1% ส่วนในปี 2565 ตั้งเป้า GDP ขยายตัวไว้ที่ 5.5% อย่างไรก็ตาม จีนยังให้ความสำคัญกับมิติทางสังคม เช่น สาธารณสุข สวัสดิการสังคม การเพิ่มการจ้างงาน นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม อันเป็น Soft Power ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับค่านิยมทางการเมืองหรือนโยบายต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างไปจาก Hard Power ที่หมายถึงอำนาจด้านการทหาร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี โดย Soft Power ยังเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ซึ่งจีนให้ความสำคัญทั้งด้านช่องทาง ประสิทธิภาพและผลลัพธ์
ผศ.ดร.หลี่ กล่าวต่อไปว่า สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน มีทัศนะเกี่ยวกับ Soft Power ด้านวัฒนธรรม ว่า “ระบอบเป็นแกน” หมายถึง สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์จีนเป็นแกน “ดั้งเดิมแป็นราก” หมายถึง จีนมีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยาวนานกว่า 4-5 พันปีเป็นราก และ “ค่านิยมเป็นจิตวิญญาณ” หมายถึง ค่านิยมหลักในระบอบสังคมนิยมเป็นจิตวิญญาณของจีน
ทั้งนี้ วัฒนธรรมมีหลายระดับ และค่านิยมก็มีหลายระดับเช่นกัน ประกอบด้วย 24 คำในภาษาจีน แบ่งเป็น “ระดับบุคคล” คือ 1.รักชาติ 2.ทุ่มเท (ทำอะไรต้องเอาจริงเอาจัง เช่น เรียนหนังสือหรือทำงาน) 3.ซื่อสัตย์ 4.เป็นมิตร (คนเราเมื่อคบหากันก็ต้องมีความจริงใจต่อกัน)“ระดับสังคม” คือ 1.เสรีภาพ 2.เสมอภาค และ 3.เป็นธรรม (หลักนิติธรรม) และ “ระดับชาติ” คือ 1.ความมั่นคง 2.ประชาธิปไตย 3.อารยธรรม และ 4.ความปรองดอง
ในด้านนโยบายต่างประเทศนั้นจีนมีความเปลี่ยนแปลงพอสมควร นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศในปี 2523 สิ่งที่จีนต้องการคือภายในมีเสถียรภาพส่วนภายนอกมีสันติภาพ นโยบายต่างประเทศของจีนจึงเป็นไปตามสำนวน “ซ่อนคมในฝัก” ในนิยายแนวกำลังภายใน หมายถึงอดทนอดกลั้นไม่ลงมือทำอะไรเมื่อยังไม่ถึงเวลา แต่เมื่อเวลาผ่านไป จีนเติบโตมากขึ้น ทั้งความคาดหวังของจีนเอง และของนานาชาติต่อจีนในฐานะที่เป็นประเทศใหญ่ที่ต้องการให้จีนมีความรับผิดชอบมากขึ้น จึงเห็นว่าระยะหลังๆ จีนพยายามแสดงออกว่าเป็นประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อโลก
“ตั้งแต่ปี 2561 มีคำหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของจีน ใช้คำนี้คิดว่าจะเหมาะสมที่สุดที่จะสรุปใจความนโยบายเนื้อหาของจีนได้ทั้งหมด นั่นก็คือที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เสนอขึ้นมา สร้างประชาคมร่วมอนาคตของมวลมนุษยชาติ ซึ่งอาจจะแปลว่าประชาคมร่วมอนาคต แต่ในภาษาจีนบางคนแปลความหมายไปตรงๆ ก็คือเป็นประชาคมร่วมชะตาของมวลมนุษยชาติ ก็คือทุกวันนี้อย่างที่เราเข้าใจ โลกมันแคบลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลกาภิวัตน์ อะไรก็แล้วแต่ แม้แต่สิ่งแวดล้อม เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มันย่อมกระทบไปทั่วโลก ฉะนั้นจีนก็เข้าใจบทบาทในส่วนนี้และประเทศอื่นก็คาดหวังจีนมีบทบาทส่วนนี้” ผศ.ดร.หลี่ กล่าว
รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จีนเป็นชาติที่มีอารยธรรมยาวนาน 4-5 พันปี ซึ่งสิ่งที่ต้องเข้าใจจีนคือ 1.มองตนเองว่าเคยเป็นศูนย์กลางอารยธรรมของโลก เห็นได้จากคำว่า “จงกั๋ว” หมายถึง อาณาจักรกลาง หรือคำว่า “เทียนเซี่ย” หรือทุกอย่างใต้ผืนฟ้านั้นอยู่ภายใต้อาณาจักรจีน จึงมีธรรมเนียมที่ดินแดนต่างๆ จะต้องมาส่งบรรณาการให้จักรพรรดิจีน แล้วจีนจะให้สิทธิทางการค้าเป็นการแสดงความเมตตา ซึ่งเป็นการกล่อมเกลาให้ยอมรับความเป็นใหญ่ของจีน
2.ความชอบธรรมมาจากความเป็นปึกแผ่น จีนมีคำว่า “เจิ้งถ่ง” หมายถึง ไม่มีผู้นำคนใดอ้างความชอบธรรมได้ตราบใดที่ไม่สามารถทำให้แผ่นดินรวมเป็นปึกแผ่น 3.ยังจดจำช่วงเวลาศตวรรษแห่งความอัปยศ หมายถึง ปี 2383-2492 เริ่มตั้งแต่จีนทำสงครามฝิ่นไปจนถึงสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงเวลาแห่งความอัปยศนี้ จีนมองว่าตนเองได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากชาติมหาอำนาจตะวันตก รวมถึงชาติตะวันออกอย่างญี่ปุ่น และยังคงเป็นปมในใจชาวจีนจนถึงปัจจุบัน แม้จะเชื่อว่าประเทศจีนมีศักยภาพพัฒนาเติบโตได้ก็ตาม ซึ่งผู้นำของจีนคาดหวังว่า ในปี 2592 ที่จะครบ 100 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชน ความรู้สึกดังกล่าวจะต้องจบลง
และ 4.ให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีบุคลิกภาพเหมาะสมกับการเป็นผู้นำ ซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิดแบบขงจื้อ ที่มีคำว่า “จวินจื่อ” หมายถึงบุคคลที่ได้รับการขัดเกลามาอย่างดีจนมีความพร้อม หรือก็คือความเชื่อเรื่องคุณลักษณะของตัวบุคคล ในขณะที่ความเชื่อเรื่องกลไกตรวจสอบผู้มีอำนาจ (Check & Balance) ยังไม่ได้รับความสำคัญในจีนมากนักเมื่อเทียบกับโลกตะวันตก
ทั้งนี้ ในปี 2565 จีนจะมีความท้าทาย 1.ความท้าทายภายใน คือการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ซึ่งคาดกันว่า สีจิ้นผิง น่าจะยังเป็นเลขาธิการพรรคต่อไปอีกสมัย หรือ 5 ปี โดยสมัชชาพรรคจะประชุมกันทุก 5 ปี ในปีคริสตศักราชที่ลงท้ายด้วย 2 และ 7 (เช่น ปีนี้คือ ค.ศ.2022) แต่การที่ สีจิ้นผิง จะเป็นผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานเป็นพิเศษ จากเดิมที่เคยมีธรรมเนียมอย่างไม่เป็นทางการ ว่าผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค หรือคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรค (โปลิตบูโร) ต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี และต่อมายังปรับลงเหลือ 68 ปี
แต่การอยู่ในอำนาจยาวนานของ สีจิ้นผิง ย่อมส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าว โดยเฉพาะประเด็นศตวรรษแห่งความอัปยศ และ สีจิ้นผิง จะได้รับความชอบธรรมและรวามนิยมในฐานะผู้กอบกู้ชาติ 2.ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ในมุมมองของจีน นับตั้งแต่หลังปี 2553 เป็นต้นมา จีนเห็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการปิดล้อมจีน ซึ่งจีนกังวลว่าตนเองยังมีประสบการณ์น้อยกว่าสหรัฐฯ ในการแข่งขันในเวทีโลก ทั้งนี้ การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังถึงขั้นมั่นคงและเติบโตเต็มที่ ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต ในทศวรรษ 1970 (ปี 2513-2522)
3.ความสัมพันธ์กับประเทศใกล้เคียงในทวิปเอเชีย เช่น ประเด็นไต้หวันและทะเลจีนใต้ จีนมองว่าเป็นเรื่องภายในและอยู่ในสายตาของจีน แต่ประเทศที่อยู่ใกล้จีนมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ และยิ่งจีนยึดมั่นแนวทางนี้มากเพียงใด หลายประเทศในเอเชียก็จะเปิดหรือกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากขึ้นเท่านั้น นั่นหมายถึงความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยิ่งสูงขึ้นด้วย และ 4.Soft Power จีนไม่สามารถบังคับโลกให้เชื่อในเรื่องเล่าของจีนได้ อย่างไรก็ตาม จีนยังมีหนทางชนะใจชาวต่างชาติ ซึ่งอยู่ที่การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมและบันเทิง และเปิดใจสื่อสารสองทางกับโลก
รศ.ดร.สิทธิพล กล่าวต่อไปว่า กรณีความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจจะมีช่วงที่ตึงเครียดมากๆ จนกระทั่งทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อาจถูกบีบให้ต้องแสดงจุดยืนบางอย่าง เช่น เรื่องทะเลจีนใต้หรือเรื่องไต้หวัน แต่คำถามที่ว่าควรเลือกข้างหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับคำถามที่ว่าจะแสดงจุดยืนบนหลักการที่แน่นอนหรือเปล่า ซึ่งหมายถึาควรแสดงจุดยืนบนหลักการอะไรบางอย่าง เช่น กรณีรัสเซียยกทัพบุกยูเครน หากยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอำนาจอธิปไตยถือว่ารัสเซียทำไม่ถูกต้อง
ดังนั้นในอนาคตหากเกิดข้อพิพาทระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ประเทศไทยควรที่จะวางตัวอยู่บนหลักการสำคัญ ซึ่งไทยเป็นประเทศขนาดกลางที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจหรือมีศักยภาพในการกล้าท้าทายเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ จีนหรือรัสเซีย จึงยิ่งจำเป็นต้องเน้นย้ำหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าความขัดแย้งจะเกิดขึ้นระหว่างมหาอำนาจ ประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ หลักการสำคัญคือเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและการเจรจาแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ เรื่องนี้ควรเป็นจุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศของไทย รวมถึงของอาเซียนด้วย ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนและมีศักภาพ ควรที่จะเป็นตัวกลางในการสร้างฉันทามติ (Consensus) ในหมู่ประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย
“อาจจะไม่ต้องเห็นพ้องต้องกันทั้ง 10 ประเทศก็ได้ แต่ประเทศที่เป็นแกนของอาเซียน เป็นประเทศที่เป็นผู้ก่อตั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ประเทศแกนๆ สัก 4-5 ประเทศ ถ้าผนึกรวมกันเป็นเสียงเดียวกัน ผมคิดว่าเป็นเสียงที่จะมีน้ำหนักพอที่จะทำให้ประเทศมหาอำนาจรับฟัง แล้วก็ควรที่จะใช้เวทีอาเซียน ซึ่งอาเซียนมี 10 ประเทศ แต่มันมีเวทีที่ขยายครอบคลุม (Cover) ประเทศผู้แสดงอื่นๆ เช่น ARF East Asia Forum มันสามารถเอาตัวแสดงเหล่านี้ที่มีปัญหาข้อพิพาทกัน ให้มาเจรจากันบนเวทีที่อาเซียนเป็นเจ้าภาพได้” รศ.ดร.สิทธิพล กล่าว
ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกายังคงมองจีนเป็นคู่แข่งสำคัญมากกว่าจะแสวงหาความร่วมมือกัน เพียงแต่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ โจ ไบเดน พยายามรื้อฟื้นบทบาทของสหรัฐฯ ต่อประชาคมโลกมากขึ้น ต่างจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ที่ลดบทบาทสหรัฐฯ ในประชาคมโลกลง
ไบเดนยังให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน แตกต่างจากทรัมป์ที่หลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องนี้เพราะอาจกระทบกับการค้า เนื่องจากทรัมป์ให้น้ำหนักประเด็นเศรษฐกิจอย่างมาก ถึงกระนั้น สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ก็ยังคงดำเนินต่อไป นอกจากนี้ นโยบายสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้นเนื่องจากเห็นจีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ไบเดนมาจากพรรคเดโมแครต ที่มีนโยบายเน้นการเจรจาต่อรอง ก็เป็นไปได้ที่อาจเปิดช่องไว้ในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้ตลอดเวลา
ดร.ประพีร์ กล่าวต่อไปถึงหลายประเด็นที่ต้องจับตามองสหรัฐฯ ในยุคของไบเดน อาทิ 1.ความมั่นคง จีนกับสหรัฐฯ ไม่น่าปะทะกันโดยตรง ซึ่งสหรัฐฯ จะใช้วิธีระดมความร่วมมือจากชาติพันธมิตรหากเกิดข้อพิพาทกับจีน เห็นได้จากสหรัฐฯ มีพันธมิตรหลายกลุ่ม เช่น Five Eyes คือสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดาและนิวซีแลนด์ , The Quad คือสหรัฐฯ อินเดีย ออสเตรเลียและญี่ปุ่น , AUKUS คือสหรัฐฯ อังกฤษและออสเตรเลีย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งมีการพูดถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการสร้างองค์กรที่คล้ายๆ กับสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในทวีปเอเชีย ตลอดจนสหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกต่อไป
2.สิทธิมนุษยชน สหรัฐฯ อาจใช้ประเด็นนี้กดดันจีน เห็นได้จากมาตรการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ของจีนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ชาวมุสลิมอุยกูร์ในเขตปกครองตนองซินเจียง ชาวฮ่องกง เป็นต้น แม้กระทั่งการแข่งขันกีฬาที่ควรเป็นเวทีสมานฉันท์มากที่สุด ก็ยังถูกหยิบยกมาใช้ในทางการเมือง กล่าวคือ แม้นักกีฬาจะยังแข่งขัน แต่สหรัฐฯ ไม่ส่งบุคคลระดับสูงไปร่วมในงานที่จีน
3.การค้า จากความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ต้องปกป้องผลประโยชน์ของตน เช่น หยิบยกเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการที่รัฐบาลเข้าไปสนับสนุนบริษัทเพื่อให้สามารถทำธุรกิจแบบทุ่มตลาด มาโจมตีจีน และจะดึงพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งยุโรปและเอเชียแปซิฟิกมาร่วมจัดการกับจีนด้านการค้าด้วย และ 4.เทคโนโลยี ที่สหรัฐฯ กังวลกับการเจริญเติบโตด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดของจีน
“ในสมัยของไบเดน เมื่อปีที่แล้ว (2564) ก็ได้มีการผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งออกมา กฎหมายฉบับนี้ดูเหมือนว่าเน้น (Focus) ไปที่จีนเลย เพราะกฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า Endless Frontier Act ภาษาไทยก็จะเป็นเรื่องของนวัตกรรมและการแข่งขัน ซึ่งตรงส่วนนี้เป็นการมองว่าสหรัฐอเมริกาต้องกลับเข้ามาเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีอีกครั้งหนึ่ง โดยการที่จะมีการทุ่มเงินแล้วก็ให้การสนับสนุนบริษัทอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูง หรืออย่างเรื่องของการผลิตอะไรต่างๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อะไรพวกนี้ อาจจะมีการทุ่มทั้งการศึกษา ค้นคว้าวิจัยต่งๆ เพื่อให้สหรัฐอเมริกาต้องกลับมาเป็นผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยี” ดร.ประพีร์ กล่าว