วิกฤตผลไม้ไทย “ล้นตลาด-ปิดด่าน-ล้งต่างชาติรุกคืบ”

“จีนเปิด 4 ด่านนำเข้าผลไม้ไทยแล้วเตรียมความพร้อมล่วงหน้ารับมือการส่งออกผลไม้ฤดูการผลิตปี 2565 ชี้ปี 2564 มีการส่งออกผลไม้ไปจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการขอความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรไทย-จีน เพิ่มมาตรการความเข้มงวดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19เพื่อหวังให้ตัวเลขการส่งออกในปี 2565 เพิ่มมากขึ้นหากปัญหาด่านคลี่คลาย…..”

ตั้งแต่เกิดปัญหาด่านติดขัดรุนแรงในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมปีที่ผ่านมา จนสถานการณ์เริ่มดีขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการส่งออกให้ยึดแนวปฏิบัติการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพราะหากด่านจีนตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในตู้สินค้าจะส่งผลให้มีการปิดด่านทันที …. เสกสม แจ้งจิต ผู้สื่อข่าวสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 7 เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งผลออกไม้ไทย ปี 2564 แม้จะเผชิญปัญหาด่านติดจัดและตู้ขนส่งสินค้าขาดแคลนรวมทั้งค่าระวางเรือขึ้นสูงมาก แต่ไทยก็สามารถส่งออกผลไม้ไปจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์เพียง 11 เดือน ในปี 2564 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท รวมถึงการครองส่วนแบ่งในตลาดจีนเป็นอันดับหนึ่ง จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการขยายการส่งออกผลไม้ให้เพิ่มขึ้นจากปี 2564

เสกสม ยอมรับว่า ภาคตะวันออกถือเป็นพื้นที่ที่มีการทุเรียน100% จังหวัดที่ปลูกมากอันดับหนึ่ง คือจันทบุรี รองลงมาคือระยอง และตราด เนื่องจากลักษณะพื้นที่ของจังหวัดนี้ใกล้เคียงกัน ส่วนจันทบุรีจะปลูกทุเรียนกับมังคุดเป็นหลัก จากการพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่3จังหวัดที่มีการปลูกทุเรียน มังคุดเป็นสินค้าของภาคตะวันออก พบว่าเริ่มปลูกมากขึ้นในช่วง4-5ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของ สวพ.6 สำนักงานวิจัยและการเกษตร เขต6 ระบุ เดิมปี2564 มีการปลูกทุเรียนประมาณ 6 แสน แต่ปีนี้ผลผลิตทุเรียนทั้งภาคตะวันออก เพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งแสนสี่หมื่นไร่ สะท้อนว่าปีที่ผ่านมามีผลผลิตมากกว่า 6 แสนตัน ปีนี้ขยับเพิ่มเป็น 7 แสนสี่หมื่น นั่นหมายความว่า ผลผลิตเพิ่มสูงกว่าปีที่แล้ว ประมาณแสนสี่หมื่นตัน บ่งบอกถึงกำลังการส่งออกที่จะเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีผลผลิตจำนวนมากกว่า 6 แสนตัน แต่ทุเรียนจากภาคตะวันออกทั้งหมดถูกส่งไปขายที่จีนเกือบ 100% เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ที่จันทบุรีถือเป็นทุเรียนเกรดA คุณภาพดีทุกสายพันธุ์ ทั้งหมอนทอง และกระดุม จึงเป็นที่ต้องการของตลาดจีน

เปรียบเทียบจากราคาหน้าล้งปี 2564 ประมาณ 250 บาท /กิโลกรัม ปี 25665 ทุเรียน สายพันธุ์กระดุม ล็อตแรก 20 มีนาคมที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 280บาท /กิโลกรัม หลังจากนี้ควรเตรียมการส่งออกสายพันธุ์ที่จะทยอยตามมาทั้งสายพันธุ์ชะนี พวงมณี และหมอนทอง โดยสายพันธุ์ชะนี พวงมณี ภาคตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดจันบุรี -ตราด มีกำหนดตัดวันที่ 10 เมษายน หมายความว่าจากวันนี้จนถึงก่อนวันที่10 เมษายน หากใครตัดก่อนกำหนดต้องดำเนินการแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่เกษตร เพื่อเข้าไปตรวจสอบว่าผลผลิตได้ระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ เพื่อตัดปัญหาผลทุเรียนอ่อน

ขณะที่ทุเรียนสายพันธุ์หมอนทอง มีกำหนดตัดวันที่ 25 เมษายน จากวันนี้ ถึง 25เมษายน หากหมอนทองสวนไหนตัดก่อนถึงวันที่กำหนดเพื่อเร่งจำหน่วย ผู้บริโภคต้องช่วยกันสอดส่องดูแล หากเจอปัญหาทุเรียนอ่อน เนื่องจากหากทุกส่วนตัดออกมาพร้อมกัน ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาทุเรียนล้นตลาดได้ ดังนั้นการกำหนดวันตัด ถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาในเบื้องต้น ซึ่งทุเรียนสายพันธุ์กระดุมกำลังเป็นที่ต้องการของจีน

เสกสม เผยขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนว่าเนื้อทุเรียนสุกหรือไม่นั้นจะใช้วีธีการตรวจน้ำหนักเปอร์เซ็นต์แห้ง เช่นสายพันธุ์กระดุม เจ้าหน้าที่จะทำการผ่าทุเรียนเป็น 3 ส่วน จากนั้นเอาแต่ละส่วนแกะเนื้อออก นำไปทดสอบผ่านเครื่องมือที่เตรียมไว้ คือการปั่น เสร็จแล้วนำไปอบแห้ง ก่อนนำไปชั่งน้ำหนัก แบบนี้เรียกการกรวดน้ำหนักเปอร์เซ็นต์แห้ง ซึ่งสายพันธุ์กระดุมกำหนดไว้ต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกกว่า 27% สายพันธุ์ ชะนีมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 30% สายพันธุ์พวงมณีมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 30% และสายพันธุ์หมอนทองมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 32% นั่นหมายความว่าหากใครตัดทุเรียนก่อนกำหนดที่จังหวัดประกาศ เจ้าของสวนนั้นๆ ต้องมีการตรวจน้ำหนักแห้ง หากไม่ตรวจจะเกิดปัญหาทุเรียนอ่อน ซึ่งหากทุเรียนอ่อนเหล่านี้ถูกส่งจำหน่ายไปประเทศจีนจะเกิดผลกระทบใหญ่หลวงตามมาเป็นลูกโซ่

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด พบว่าก่อนหน้านี้ราคาทุเรียนภาตะวันออกไม่ได้สูงมาก แต่ปัจจุบันใครจะเชื่อว่าขณะนี้ราคาหน้าล้งอยู่ที่กิโลกรัมละ300แล้ว จึงทำให้ล้งทยอยเกิดขึ้นมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นล้งในรูปแบบเจ้าของเป็นคนไทยแต่คนจีนมาเช่าช่วง เพื่อทำธุรกิจในระยะสั้น 3-4 เดือนก็ปิดไป ส่วนล้งอีกรูปแบบเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทคนไทยกับคนจีนร่วมกันเปิดล้งเพื่อส่งออก ซึ่งล้งลักษณะนี้ไม่ค่อยเกิดปัญหาเพราะเปิดในนามของบริษัท ที่ปฏิบัติตามขั้นตอนทุกอย่างตามกติกาที่ไทยกำหนด เนื่องจากหากเกิดอะไรขึ้นอาจนำไปสู่การถูกยึดใบอนุญาตประกอบธุรกิจได้

ทั้งนี้จีนได้เปิด 4 ด่านหลักทั้งหมดแล้ว ได้แก่ ด่านโมฮาน บนเส้นทาง R2A ,ด่านโหย่วอี้กวน เปิดให้บริการปกติ แต่ยังจำกัดรถบรรทุกสินค้าเข้าด่านไม่เกิน 100 คัน เนื่องจากมาตรการโควิดที่เข้มงวด ซึ่งทางการไทยและเวียดนามได้ประสานงานกับจีนเพื่อให้เพิ่มปริมาณการปล่อยรถสินค้า ซึ่งได้ให้ทูตเกษตรไทยในปักกิ่ง และกว่างโจวเสนอจีนให้ใช้ในแนวทางเดียวกับด่านโมฮาน , ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านตงชิง กลับมาเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากปิดด่านเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมืองตงซิง

เสกสม สะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการ ต่างรู้สึกดีใจต่อแนวโน้มการกระจายผลผลิตที่ดีในอนาคต แต่ทั้งนี้เจ้าของสวนหรือผู้ประกอบการฝั่งไทย ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันโควิด-19 กำชับให้มีการพ่นฆ่าเชื้อตั้งแต่ต้นทางจากไทย ขณะที่เจ้าของล้งทุเรียน ต่างมีความเข้มงวดกับพนักงานทุกคน ทั้งคนสวน คนเก็บผลไม้ ที่ถูกบังคับให้ต้องอยู่ในสวนห้ามออกนอกพื้นที่เพื่อป้องกันการติดโควิด -19 ส่วนคนตัดและเข้าของสวนต้องมีการตรวจATK อยู่เป็นระยะ เนื่องจากจีนมีความเคร่งครัดในมาตรการซีโร่ หากพบสินค้ามีการปนเปื้อนหรือติดเชื้อโควิด-19 อาจนำไปสู่คำสั่งปิดด่านได้ทันที