วันที่ 3 เมษายน 2565 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิ Friedrich Naumann ประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมที่ชื่อว่า “First Meet: พบปะนอกแนวปะทะ” เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรชีวิชาชีพสื่อ ผู้สื่อข่าวภาคสนามและผู้สื่อข่าวพลเมือง ซึ่งจัดขึ้น ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับและเปิดกิจกรรมตอนหนึ่งว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสมาคมนักข่าวฯ นักข่าวภาคสนามที่มีทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อพลเมือง หรือ สื่ออิสระ เพื่อลดปัญหาความเข้าใจผิดและการกระทบกระทั่งกันในพื้นที่การทำงานภาคสนาม พร้อมกันนี้สมาคมนักข่าวฯยังยินดีรับฟังข้อเสนอจากทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกิจกรรม “First Meet: พบปะนอกแนวปะทะ” เริ่มต้นด้วยกิจกรรม “Thinking Round” ซึ่งให้เวลาคนละ 2 นาทีในการแนะนำตัว และบอกเล่าถึงความภูมิใจในการทำงานสื่อมวลชนของตัวเอง โดยมีความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในรอบแรก อาทิ ภูมิใจที่ทำหน้าที่สื่อและช่วยหยุดความรุนแรงของสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ , ได้ทำหน้าสื่อมวลชนรายงานข่าวแล้วนำไปสู่ทางออกของการแก้ไขปัญหา ฯ
จากนั้น เป็นกิจกรรม 2-4-8 ที่ ให้ผู้เข้าร่วมฯ เริ่มต้นจับคู่กัน ระหว่างสื่อกระแสหลัก กับสื่อพลเมือง-สื่ออิสระ ผลัดเปลี่ยนกันบอกเล่า อุปสรรคปัญหาในการทำงานของกันและกัน จากนั้นก็ให้รวมกลุ่มเพิ่มจากคุย 2 คน เป็น 4 คน และ 8 คน เพื่อนำปัญหาของทุกคนมาหาทางออกเพื่อพรีเซนต์ในห้องสัมมนา ซึ่งสรุปได้
อาทิ ข้อเสนอถึงองค์กรวิชาชีพ ในเรื่องการออกปลอกแขนสื่อมวลชนในการทำข่าวการชุมนุม ที่ต้องการให้พิจารณาเพิ่มสื่อพลเมือง-สื่ออิสระให้ได้รับปลอกแขนด้วย รวมทั้งต้องการให้สมาคมนักข่าวฯมีการจัดอบรมให้ความรู้ในการทำข่าว
จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการทำกิจกรรมที่ชื่อ “World cafe” ซึ่งให้ผู้ร่วมกิจกรรมตั้งวงพูดคุยแบบแยกโต๊ะ โดยให้แต่ละโต๊ะมีผู้นำการสนทนาทำหน้าที่โฮสจดบันทึกข้อเสนอมุมมอง โดยทุกคนต้องสลับเปลี่ยนวงไปเรื่อยๆเมื่อมีการเปลี่ยนประเด็นคำถาม 3 คำถาม
คือ 1.มีความคิดเห็นอย่างไร กับ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ 2.สิ่งที่ต้องการเห็นในบทบาทชององค์กรสื่อต่อสื่อกระแสหลัก และสื่อพลเมือง และ3. ข้อเสนอในการทำกิจกรรมครั้งต่อไปของสมาคมนักข่าวฯ จากนั้นได้มีการส่งมอบความคิดเห็นและข้อเสนอทั้งหมดให้กับสมาคมนักข่าวฯ
ด้าน นางสาววศินี พบูประภาพ อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ เป็นผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ที่มาของโครงการดังกล่าวว่า “สื่อพลเมือง” (citizen journalists) มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในการรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมทางการเมืองที่ดำเนินมาตั้งแต่กลางปี 2563 ซึ่งวิธีการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การเผยแพร่ และการปฏิบัติงานในพื้นที่ มีความแตกต่างไปจาก “ผู้สื่อข่าวภาคสนาม” ที่มีสังกัดตามสำนักข่าว นับเป็นมิติใหม่ในภูมิทัศน์สื่อมวลชนไทย
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของสื่อทั้งสองประเภททำให้เกิดเป็นความไม่เข้าใจกัน หรือเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้งในการปิดกั้นกลุ่ม “สื่อพลเมือง” ไม่ให้เข้าพื้นที่หรือรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ อนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จึงเล็งเห็นความจำเป็นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สื่อข่าวพลเมืองและผู้สื่อข่าวภาคสนาม เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ปรึกษาหารือและสรุปปัญหาร่วมกัน ตลอดจนแบ่งปันประสบการณ์และความคิดเห็นต่างๆ เพื่อนำมาออกแบบแผนงานการอบรมเสริมสร้างทักษะการรายงานข่าวในสถานการณ์การชุมนุมนำหรับสื่อพลเมืองที่สนใจในอนาคต