“การแก้ไขปัญหาจุดเดียว ไม่สามารถทำเป็นพลวัตได้ทั้งหมด จะต้องเชื่อมโยงนโยบายของผู้ว่าฯกทม. ในเรื่องที่ 1-2-3-4 ว่าจะแก้ไขปัญหาให้เป็นเชิงบูรณาการสอดคล้องกันอย่างไร ความจริงแล้วกำหนดระยะเวลาทำงาน 4 ปี ถือว่าไม่มาก ที่ผู้ว่าฯกทม.คนหนึ่งจะมาแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด”
ปี่กลองเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” ที่ผู้สมัครทั้งสังกัดพรรคการเมืองและอิสระ ต่างโหมโรงชูนโยบาย ขายไอเดีย จะเป็นความหวัง ให้ “คนกรุงเทพฯ” ที่ถูกมองว่า “เดาใจยาก” ได้หรือไม่ คอการเมืองต้องจับตาดูอย่างต่อเนื่อง และไปกาลงคะแนนให้คนที่รัก-พรรคที่ถูกใจ
ธนัชพงศ์ คงสาย ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งทำข่าวเกาะติดประจำ หน่วยงานกทม. 11 ปี วิเคราะห์ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึง สนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯ (ผว.กทม.) ว่า ตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ถูกโฟกัสพอสมควร เพราะเป็นท้องถิ่นพิเศษ เชื่อมโยงกับภาวะของคนเมืองหลวง นโยบายเศรษฐกิจต่างๆอยู่ในกทม.ทั้งหมด อีกนัยยะหนึ่งการเลือกตั้ง ผว.กทม.ในปี 2565 ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งสนามใหญ่ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า
หลายคนอาจใช้พื้นที่กรุงเทพฯ เป็นสะพานในการโปรโมทตัวเอง เตรียมพร้อมนำไปสู่การเลือกตั้งดังกล่าวด้วยหรือไม่ เพราะมีกลุ่มหนึ่งที่เปิดตัวเรื่อยๆมานาน ตั้งแต่ปี 2562-64 ได้ลงสมัครในวันที่ 31 มีนาคมด้วย หรือหลายคนที่สอบตกเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ครั้งนี้ อาจจะขยับไปลงเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็เป็นไปได้เหมือนกัน อย่างน้อยมีโปรไฟล์ว่าเคยลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มาแล้วในปี 2565
ผู้ว่าฯกทม. นอกจากจะได้ควบคุมบริหารจัดการพื้นที่ทั้งระบบ รวมทั้งสำนักต่างๆที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล , ข้าราชการ , งบประมาณของ กทม.ที่ได้บริหารอยู่ กว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้เห็นว่าใหญ่โตพอสมควร ในแง่ของตำแหน่งทางการเมือง ตัวเลขเงินเดือนของผู้ว่าฯกทม.อยู่ที่ 113,560 บาท ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง หากคิดเป็นตัวเลขกลมๆอยู่ที่ 5,400,000 กว่าบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย ถ้าเทียบกับ ส.ส.หรือนายกรัฐมนตรี ดังนั้นความสำคัญจึงไม่ใช่อยู่ที่ตัวเงินอย่างเดียว
ซึ่งสิ่งที่คนกรุงเทพฯต้องการให้เร่งแก้ไขและเป็นโจทย์ใหญ่มาก เพราะเชื่อมโยงจาก 10 - 20 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ด้วยความที่เมืองมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พื้นที่เท่าเดิม ทำให้ปัญหาที่เคยมีอยู่แล้วแก้ค่อนข้างยาก เช่น น้ำท่วม 10 ปีมาแล้วปัญหาอาจจะดีขึ้น ในแง่ของการระบายน้ำออก แต่จะทำให้น้ำท่วมหายไปได้ค่อนข้างยาก ด้วยโครงสร้างทางกายภาพของเมือง
ปัญหาการจราจรที่ปริมาณรถเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ถนนในกรุงเทพไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย อาจจะมีรถอีวีเข้ามาเพิ่ม บวกกับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของไทย ตอนนี้ถือว่าเติบโตกว่าเดิม แต่สุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็ยังใช้รถ หากจะให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้า แต่ค่ารถไฟฟ้ากับค่าครองชีพยังสวนทางกันตลอด
นอกจากนี้ยังมีเรื่องหาบเร่แผงลอย , คุณภาพชีวิต , ความเหลื่อมล้ำ ทุกปัญหา มีส่วนเชื่อมโยงกันทั้งหมด ต้องประสานกับหลายหน่วยงานเพราะคาบเกี่ยวกัน โดยกทม.เป็นทั้งเจ้าภาพหลักและมือประสาน ในฐานะดูแลเมืองเจ้าของพื้นที่ แต่ละหน่วยงานไม่สามารถแยกกันทำได้ ตรงนี้จะเป็นเครดิตของผู้ว่าฯกทม. นอกจากที่จะคิดนโยบายของตัวเองแล้ว ยังต้องเป็นมือประสาน 10 ทิศ เพื่อที่จะให้หน่วยงานใกล้เคียงทั้งหมด สามารถกำหนดนโยบายร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพตามที่มีการประกาศไว้
การจัดผังเมืองเพื่อรองรับการเติบโตของ กทม.ในอนาคต ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย หรือสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร มีแผนแม่บทในการกำหนดผังเมือง ในแต่ละช่วงปีอยู่แล้ว ส่วนการขยายพื้นที่เศรษฐกิจเป็นพื้นที่สีเขียวทำไม่ได้ เพราะโดยสัดส่วนการกำหนดผังเมืองถูกล็อกไว้ จึงเห็นคอนโดหรืออพาร์ทเม้นซึ่งเป็นพื้นที่แนวสูงมากขึ้น ทำให้คนกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เขตนั้นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ขยายไม่ได้ คือ สภาพถนนไม่ได้ขยายตามรถยังติดเหมือนเดิม
“การแก้ไขปัญหาจุดเดียว ไม่สามารถทำเป็นพลวัตได้ทั้งหมด จะต้องเชื่อมโยงนโยบายของผู้ว่าฯกทม. ในเรื่องที่ 1-2-3-4 ว่าจะแก้ไขปัญหาให้เป็นเชิงบูรณาการสอดคล้องกันอย่างไร ความจริงแล้วกำหนดระยะเวลาทำงาน 4 ปี ถือว่าไม่มาก ที่ผู้ว่าฯกทม.คนหนึ่งจะมาแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และไม่ใช่ปัญหาของกรุงเทพฯอย่างเดียว ในภาวะเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่หลายประเทศทั่วโลกก็เกิดภาวะแบบนี้ อยู่ที่ผู้นำเมืองจะเข้ามาบริหารจัดการ สร้างภาวะสมดุลย์ระหว่างเมืองใหม่กับเมืองเก่า ให้สามารถเดินไปด้วยกันแค่ไหน ปฎิเสธไม่ได้ว่าด้วยความเป็นเมืองหลวง คนก็ต้องเข้ามาอยู่อาศัย ทำมาหากิน แต่สิ่งไหนที่ผู้ว่าฯกทม.จะเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อให้ปัญหาทั้งหมดค่อยๆแก้ไขและเดินไปด้วยกันได้”
อยากให้ทุกคนไม่เฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพเท่านั้น สะท้อนสิ่งที่ต้องการว่าเดือดร้อน หรือไม่สะดวกสบายเรื่องไหน หากได้ผู้ว่าฯกทม.หลังวันที่ 22 พ.ค. ผมคิดว่าช่วงเวลานี้สำคัญมาก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ ถึงเวลาที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจังเสียที ยกตัวอย่างในขณะนี้ เรื่องของป้ายหาเสียง ถ้าใครมีนโยบายว่าจะติดป้ายหาเสียง ไม่บังวิสัยทัศน์ ผมคิดว่าสะท้อนวิธีคิด ของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ได้ว่า พื้นฐานที่จะเห็นแก่ส่วนรวมในการติดป้ายหาเสียงควรจะเป็นอย่างไร
สำหรับสเป็คพื้นฐานของคนที่ควรจะเป็นผู้ว่าฯกทม. คือ เปิดรับฟังความเห็นประชาชนอย่างแท้จริง เดินพูดคุยลงพื้นที่ใกล้ชิด เข้าไปฟังเสียงประชาชนว่า ปัญหาที่เขาอยากให้แก้ไขคืออะไร ควรกำหนดไทม์ไลน์ว่า ปัญหาที่คุณรับมาจะแก้ไขได้แค่ไหนอย่างไร เป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯอยากรู้ว่า ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ทำได้หรือไม่ ไม่ใช่เปิดรับฟังแค่เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือ ของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5