“ … สำหรับกิจกรรม First Meet: พบปะนอกแนวปะทะ เป็นกิจกรรมมาถูกออกแบบมาอย่างดี เพราะเราต้องการให้ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่ได้มองว่าใครมาจากสื่อใหญ่แล้วเสียงเค้าจะดังกว่า หรือสื่อเล็กจะมียอดไม่มากจะเสียงเงียบ อยากให้ทุกคนเท่ากัน ซึ่งงานนี้เราได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องออกแบบกระบวนการการพูดคุยมาร่วมวางแผนกิจกรรม การที่เราทุกคนมานั่งล้อมวงคุยกันเหมือนโต๊ะกลม สร้างบรรยากาศการรับฟัง เพื่อให้ทุกคนกล้าที่จะพูดความคิดของตัวเอง ว่าเขากำลังต้องการอะไร เสนอสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ บรรยากาศเป็นเก้าอี้กลมหมดเลย เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันและกันจริงๆ ….”
“ อย่างที่เราเห็นว่ายุคนี้เกิดสื่ออิสระเพิ่มมากขึ้น ทุกสื่อสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ขอแค่มีช่องทางเป็นของตัวเอง หลายคนสนใจมาจับงานข่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าการทำงานสื่อหลักสื่อพลเมืองพวกเราทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ควบคู่กันไป แต่ระยะหลังเหมือนต่างคนต่างรายงาน ไม่จำเป็นต้องมีการพูดคุยอะไร…. ” วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว workpointTODAY (อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย) เปิดใจเล่าถึงสาเหตุของการจัดกิจกรรมนี้ที่ชื่อว่า “First Meet: พบปะนอกแนวปะทะ” เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรชีวิชาชีพสื่อ ผู้สื่อข่าวภาคสนามและ “สื่อพลเมือง” ที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในการรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมทางการเมืองที่ดำเนินมาตั้งแต่กลางปี 2563 มันเป็นเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานสื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงการได้รับหรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า หากใครเป็นสื่อมวลชนก็ต้องมีสิทธิ์ในการเข้าไปติดตามหรือสังเกตการณ์ตามที่พลเมืองควรจะทำหรือไม่ แต่ภายใต้การทำหน้าที่สื่อมันมีเงื่อนไขนี้เข้ามาจากเจ้าหน้าที่ จึงทำให้เกิดคำถามว่าแบบนี้สื่อพลเมืองคือสื่อหลัก และสื่อหลักคือสื่อพลเมืองหรือไม่ ใครมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปบันทึกเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ต่างๆ
ทั้งนี้รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัย สื่อพลเมืองต้องการการปกป้องในฐานะสื่อทั่วไปอย่างเร่งด่วน เราต้องมาพูดคุยกัน แน่นอนในขณะที่อีกฝั่งอาจมองว่าสื่อพลเมืองนับเป็นสื่อหรือไม่ กิจกรรมFirst Meet จึงเป็นเหมือนเวทีเล็กๆที่เราจะมาแลกเปลี่ยนมุมมองของกันและกัน เพื่อหาแนวทางทำงานร่วมกันในอนาคต เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสมาคมนักข่าวฯ นักข่าวภาคสนามที่มีทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อพลเมือง หรือ สื่ออิสระ ลดปัญหาความเข้าใจผิดและการกระทบกระทั่งกันในพื้นที่การทำงานภาคสนาม
วศินี กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากหลายๆเหตุการณ์ เคยมีการแบ่งแยกการทำหน้าที่ของสื่อหลักสื่อรอง ทำให้ช่วงแรกกังวลว่าเป็นการสร้างกำแพงความไม่เข้าใจกันหรือไม่ แต่เมื่อเราเชิญให้สื่อพลเมืองและสื่ออิสระมาร่วมถอดบทเรียนเรื่องนี้ด้วยกัน รู้สึกดีใจเพราะมีการตอบรับที่ดี ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนให้ความสนใจมาร่วมพูดคุยในภูมิทัศสื่อแบบใหม่ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่เยอะขนาดนี้ ซึ่งถือเป็นสัญญานที่ดีมากๆ
สำหรับ “First Meet: พบปะนอกแนวปะทะ” มีทั้งหมด 3 กิจกรรม เริ่มต้นกิจกรรม “Thinking Round” ให้เวลาคนละ 2 นาทีในการแนะนำตัว และบอกเล่าถึงความภูมิใจในการทำงานสื่อมวลชนของตัวเอง โดยมีความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในรอบแรก อาทิ ความภูมิใจที่ทำหน้าที่สื่อและช่วยหยุดความรุนแรงของสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ , ได้ทำหน้าสื่อมวลชนรายงานข่าวแล้วนำไปสู่ทางออกของการแก้ไขปัญหา ฯ ส่วนอีก 2 กิจกรรมเริ่มมาพูดคุยโดยให้ผู้เข้าร่วมฯ จับคู่กัน ระหว่างสื่อกระแสหลัก กับสื่อพลเมือง-สื่ออิสระ ผลัดเปลี่ยนกันบอกเล่า อุปสรรคปัญหาในการทำงานของกันและกัน ส่วนกิจกรรมที่ 3 คือมาออกแบบร่วมกันว่าการทำหน้าที่สื่อรูปแบบใหม่มีอะไรที่เราจะสามารถช่วยกันและอยากให้วงการสื่อเป็นไปในทิศทางไหน
วศินี ยังได้กล่าวถึง ปลายทางเราที่จะต่อยอดจากกิจกรรม ซึ่งจริงๆแล้วต้องมองภาพรวมเป็นเรื่องใหญ่ มันเหมือนการก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ หรือปัญหาใหญ่ๆเช่น ภาวะโลกร้อน เพราะการเปลี่ยนแปลงสื่อเป็นสิ่งใหญ่มากๆที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ตัวทุกคน เพราะการพูดเพียงครั้งเดียวมันไม่สามารถจัดระเบียบทุกอย่าให้งเข้าที่เข้าทางได้ แต่ทั้งนี้พลอยคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างน้อยหลังจบกิจกรรม “First Meet ” พวกเราไม่ใช่คนอื่นคนไกลอีกต่อไป ลดเรื่องของการตั้งกำแพงความรู้สึก กิจกรรมนี้มันเป็นตัวชำระล้างความคิดความรู้สึกเพื่อที่เราจะออกแบบกันใหม่ เราจะออกแบบมันอย่างไรเพื่อให้สื่อหลักและสื่ออิสระ หรือสื่อพลเมืองสามารถทำงานกันได้ อย่างไร้รอยต่อและช่วยส่งเสริมการทำงานของกันและกันคะ ซึ่งในแง่ของ“First Meet ” การเริ่มต้นพูดคุยก้าวแรกเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ในส่วนสื่ออิสระมองประเด็นการร่างพ.ร.บ. สื่อ เป็นอย่างไร เป็นอีกประเด็นที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในมุมของสื่อเล็กๆ ด้วยความที่ไม่ได้อยู่สำนักข่าวใหญ่เหมือนสื่อหลัก ที่ผ่านมาเขาไม่ได้ถูกตีกรอบด้วยข้อจำกัด หรือมาตรฐานความเป็นวิชาชีพแบบนั้น บางสำนักอาจเคร่งเครียด ในขณะที่สื่ออิสระจะมีความผ่อนคลายมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนแชร์ในมุมที่ว่าสื่ออิสระทำอะไรที่สังคมไม่ชอบใจนัก อย่างเช่นการละเมิดสิทธิ์แหล่งข่าวต่างๆเพื่อจะได้มาซึ่งข้อมูลของข่าว อันนี้เขาก็รู้สึกว่าเราต้องหาทางพูดคุยกันว่าเราจะสามารถช่วยกันตักเตือนสื่อด้วยกันเองอย่างไร
สรุปแล้วสิ่งที่ต้องการเห็นระหว่างสื่อกระแสหลักและสื่อพลเมือง คืออยากให้องค์กรสื่อเข้าไปมีบทบาทมากแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่เราพูดคุยกันหลากหลาย สิ่งที่สื่อพลเมืองควรได้รับการนิยามอะไรภายใต้องค์กรสื่อ อาจจะนิยามให้เป็นสถานะของสื่อพลเมือง หรือสื่ออิสระออกมา สำหรับฟรีแลนด์ เพื่อที่จะได้รับประโยชน์ในการคุ้มครองบางอย่าง ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่าควรได้รับความคุ้มครองเหมือนสื่อหลักที่อยู่ภายใต้สังกัดหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อพลเมือง ตามจริยธรรมสื่อควรได้รับสิทธิการทำข่าวตามเสรีภาพที่พวกเขาต้องการ
วศินี ได้ทิ้งท้ายถึงแผนการทำงานของสมาคมนักข่าวฯ ปีนี้ว่ามีแผนทั้งหมด4 แผน ซึ่งเป้าหลักคือเน้นเรื่องนักข่าวพลเมือง อยากให้มีการจัดกิจกรรมบ่อยๆ เพื่อยกระดับการทำงาน เพราะสื่อพลเมืองก็คือประชาชนทั่วไปที่มีกล้อง เมื่อเห็นเหตุการณ์อยู่ข้างหน้าต้องหยิบมาไลฟ์สดทันที อย่างน้อยต้องมีทักษะพื้นฐานของการทำหน้าที่สื่อภายใต้หลักจริยธรรมสื่อได้อย่างไร รวมถึงเทคนิคต่างๆทั้งการถ่ายและการตัดต่อวีดีโอ หลังจากนี้อยากให้สื่อหลักและสื่อพลเมืองได้แลกเปลี่ยนความคิดและการทำงานร่วมกัน เพราะบางอย่างสื่อพลเมืองอาจมีประสบการณ์ความรู้ในพื้นที่หรือประเด็นเจาะมากกว่าสื่อหลัก อีกทั้งสื่อพลเมือง ไม่มีข้อจำกัดทางเวลาเท่ากับสื่อหลัก ที่อาจจะต้องติดตามประเด็นข่าวอื่นๆ อาจจะต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้ทักษะการทำร่วมกัน