เหลือเวลาไม่อีกกี่วันจะถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ซึ่งขณะนี้ผู้สมัครหลายกลุ่มการเมืองทั้งจากผู้สมัครอิสระ และพรรคการเมือง กำลังเร่งลงพื้นที่เพื่อหาเสียงสนาม กทม.ในโค้งสุดท้าย
การเลือกตั้งสนาม กทม.ครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งที่เป็นเดิมพันสูงทางการเมืองใน 2 แง่มุม ตั้งแต่การเว้นวรรคการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มานานถึง 9 ปี และเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีเวลาใกล้เคียงกับการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566
แน่นอนว่าผู้สมัครทุกกลุ่มการเมืองต้องระดมกำลังทุกสรรพสิ่ง เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งทุกสนามบนดินและใต้ดิน ไม่เว้นแต่การเสียงทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่มีกว่า 4.4 ล้านคน
ทว่าการเลือกตั้งสนาม กทม.ครั้งนี้หลายสำนักข่าวได้รายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะจากเฟซบุ๊ค แต่หลายครั้งกับเจอปรากฏการณ์ "ปฏิบัติการข่าวสาร(ไอโอ) กับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผู้สมัครทางการเมืองรายนั้น จนเป็นขบวนการอย่างผิดสังเกต
เห็นได้จากชื่อและโปรไฟล์ผู้ที่มาตอบคอมเม้นต์จะไม่ใช้รูปภาพแสดงตัวตนที่แท้จริง (อวตาร) ในเฟซบุ๊คส่วนตัว และจะมาโพสต์สนับสนุนหรือแสดงความเห็นเพื่อ "เบี่ยงเบน" ประเด็นให้ผู้สมัครรายนั้นหรือโจมตีผู้สมัครคนอื่น
ในเรื่องนี้ "พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์" บรรณาธิการอาวุโส The MATTER เล่ากับ "จุลสารราชดำเนิน" ให้ฟังว่า ในช่วงอีเว้นท์การเมืองใหญ่จะพบปฏิบัติการไอโอแบบนี้ โดยเฉพาะช่วงหลังการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 31 มี.ค.2565 และในช่วงก่อนสงกรานต์ที่พบว่า มีคอมเมนท์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นกลุ่มก้อนสนับสนุนผู้สมัคร ต่อมาในช่วงปลายเดือนเม.ย.เริ่มมีกระบวนการโจมตีผู้สมัครรายใดรายหนึ่งชัดเจนขึ้น ซึ่งขณะนั้นมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังจะเกิดในเพจ The Matter มากขึ้น และเห็นพฤติกรรมซ้ำๆกัน เป็นกลุ่มก้อนในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อสื่อสารอะไรที่คล้ายกันอย่างผิดปกติ
"พงศ์พิพัฒน์" บอกว่า อย่างที่เคยเห็นมาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยไอโอกลุ่มแรกจะมาพูด message เดียวกัน และจะไม่ตอบโต้แอคเคาท์คนอื่นเลย ส่วนไอโอกลุ่มที่สอง จะมีพฤติกรรมโจมตีผู้สมัครคนหนึ่ง และเมื่อกดไปดูโปรไฟล์จะแชร์โพสต์สนับสนุนผู้สมัครคนหนึ่งในทุกโพสต์ และไอโอกลุ่มที่สามมีพฤติกรรมโจมตีผู้สมัครคนเดียวกับไอโอกลุ่มที่สองเหมือนกัน แต่จะแชร์ข่าวสนับสนุนผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.อีกคน
"The Matter มีประสบการณ์เรื่องไอโอมานานตั้งแต่ปี 2562 ก็คุยกับทีมงานว่าจะจัดการอย่างไร เพราะ The Matter ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อบอกข้อมูลอย่างเดียว แต่เราอยากเป็นพื้นที่ให้คนมาถกเถียงกัน แต่กลับมีไอโอมาทำลายพื้นที่เหล่านี้ไป จนทำให้คนรำคาญและหนีออกไปจากเพจ The Matter เมื่อคุยกับทีมงานก็สรุปว่า เมื่อคนเหล่านี้ไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้มาแสดงความเห็นอย่างถกเถียง แต่แค่มาทำให้คนรำคาญและทำลายพื้นที่การถกเถียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จึงคิดว่าการแบนกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ขัดหลักการ free speech ที่เรายึดถือ"พงศ์พิพัฒน์ ระบุ
สำหรับผู้รับข้อมูลข่าวสาร เชื่อว่าทุกคนรับรู้เรื่องไอโอมากขึ้น แต่ก็มีอันตรายหากมีการไปตราหน้าคนที่เห็นต่างว่าเป็นไอโอซึ่งจะคิดว่าคนที่เห็นต่างจากเราเป็นไอโอไปหมดทุกคนไม่ได้ แต่ต้องไปดูโปรไฟล์ตั้งมาใหม่หรือไม่ ดูพฤติกรรมว่าเป็นธรรมชาติหรือเปล่า แล้วค่อยวินิจฉัยว่าเป็นไอโอหรือไม่ แต่ไม่ใช่จะใช้คำว่า "ไอโอ" ปิดปากคนที่เห็นต่างจากเรา
"ส่วนตัวรู้สึกว่าคนรู้เรื่องไอโอมากขึ้น แต่ว่าคนในวงการสื่อเองแต่ละที่ ยังไม่ตกผลึกว่าจะจัดการกับไอโอกลุ่มนี้อย่างไร เท่าที่เห็นบางเพจก็ปล่อยไปเลยจนสุดท้ายเราไม่ได้เห็นข้อมูลจากผู้ที่มาคอมเมนท์แบบมีสาระ หรือนำไปสู่การถกเถียงที่เป็นประโยชน์จริงๆ"พงศ์พิพัฒน์ ระบุ
ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และเลือกตั้งใหญ่จะเห็นสิ่งที่ไอโอจะปฏิการอะไรมากขึ้นกว่านี้หรือไม่ "พงศ์พิพัฒน์" เชื่อว่าจะมีปฏิบัติการไอโอเยอะขึ้นแน่นอน แต่ถ้าจะรู้ทันไอโอจะมี 2 ส่วน คือ 1.คนอ่านเริ่มรู้ทัน แต่ต้องวางกรอบให้ดีว่าคนที่เห็นต่างจากเราไม่ใช่ไอโอทั้งหมด 2.คนในวงการสื่อต้องหาจุดกึ่งกลางอะไรบางอย่างหรือเปล่าว่า จะจัดการกับไอโอเหล่านี้อย่างไรโดยที่คงความเป็นพื้นที่ free speech และทำให้พื้นที่ออนไลน์ยังเป็นพื้นที่นำไปสู่การถกเถียงจริงๆ ไม่ใช่การปั่นข้อความไร้สาระ
ขณะที่ "สุภชาติ เล็บนาค" บรรณาธิการบริหาร The Momentum บอกว่า ที่ผ่านมาได้เห็นปฏิบัติการไอโอมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงที่การเมืองร้อนแรง ไอโอจะเยอะขึ้นตามไปด้วย โดยหากเป็นช่วงสถานการณ์ม็อบชุมนุมจะมีไอโอของฝั่งรัฐบาลพอมาถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะเห็นชัดว่ามีการประลองกำลังของไอโอแต่ละฝ่าย สมมุติลงข่าวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คนหนึ่งไป จะมีไอโอผู้สมัครอีกคนหนึ่งเข้ามาคอมเมนท์ สังเกตได้จากรูปแบบการโพสต์ และแชร์ข่าวจากหน้าวอลล์ของตัวเองในเฟซบุ๊คที่เชียร์ผู้สมัครรายนี้ โดยมีชื่อที่คล้ายๆกัน รวมถึงใช้รูปใครก็ไม่รู้มาเป็นโปรไฟล์
"เท่าที่สังเกตจะมีไอโอผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 3-4 รายจะมีรูปแบบการโพสต์ของไอโอแต่ละยูสเซอร์เหมือนกันหมด และเป็นเฟซบุ๊คที่เพิ่งเปิดใหม่ตั้งขึ้นมาใช้ประลองกำลังกัน หรือโพสต์สนับสนุนผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.เบอร์นี้"สุภชาติ ระบุ
"สุภชาติ" บอกว่า ส่วนการจัดการเพจข่าวกับไอโอเหล่านี้ในช่วงแรกก็ปล่อย เพราะต้องถือว่าเขาไม่ได้ผิดกฎ หากไม่ละเมิดมาตรฐาน หรือไม่ได้ใช้คำหยาบคาย แต่ในช่วงหลังพบว่าไอโอเหล่านี้มีเยอะขึ้น และไม่ได้มีคอมเมนท์อย่างอื่นเลย จนทำให้เพจเป็นพื้นที่ของไอโอเพียงอย่างเดียวก็รู้สึกไม่โอเค ก็เริ่มมีการแบนแอคเคาท์ไอโอที่เห็นชัดไปพอสมควร
"ไอโอจะมี 2 อย่าง อย่างแรกจะเชียร์เบอร์นี้ๆ หากผู้รับสารพบเห็นอย่าไปสนใจ แต่อย่างที่สองจะมาเพื่อโจมตีผู้สมัครคนอื่นด้วยข้อมูลเท็จ จึงขอให้ผู้รับสารระวังทั้งผู้รับสารและผู้บริหารเพจข่าว เพราะยิ่งใกล้เลือกตั้งไอโอเหล่านี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ"สุภชาติ ระบุ
"สุภชาติ" เสนอว่า สำหรับภูมิคุ้มกันผู้รับข่าวสารต้องสังเกตความไม่ปกติจากไอโอว่ามีข้อความที่ล้ำเส้น หรือข้อความที่มนุษย์ปกติจะคอมเมนท์ ก็ให้เข้าไปดูหน้าเฟซบุ๊คไอโอว่าทำอะไรบ้าง นอกจากนี้ผู้รับข่าวสารจะอย่างไปหลงเชื่อกับการคอมเมนท์ของไอโอจนทำให้หวั่นไหวในข้อมูลนั้น แต่ต้องตรวจสอบจากช่องทางต่างๆ ว่าผู้สมัครที่ถูกไอโอพูดถึงเป็นอย่างนั้นหรือไม่
ส่วนยิ่งใกล้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือเลือกตั้งใหญ่ในปี 2556 จะทำให้คุณค่าของเพจข่าวกระทบจากปฏิบัติการไอโอหรือไม่"สุภชาติ" มองว่า ตอนนี้ทุกคนพยายามสู้ด้วยการปั่นไอของตัวเองให้มันเยอะ สะท้อนให้เห็นถึงจากสิ่งที่ไอโอมองว่า คนไทยเป็นคนเชื่อคนง่าย และไหลไปตามกระแสได้ง่าย จึงดูถูกด้วยการใช้ไอโอเพื่อทำให้รู้สึกว่าถ้าไอโอเชียร์ผู้สมัครคนไหน จะทำให้คนอื่นเชียร์ผู้สมัครคนนั้นตามไปด้วย
"ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้ที่มีไอโอจำนวนมาก สมมุติว่าชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ขึ้นมา ก็คงจะมีไอโอพวกนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าพูดตรงไปตรงมา คือใครที่ใช้ไอโอก็ไม่ใช่คนที่สุจริตใจ เพราะแค่นี้ยังพยายามปั่นข้อความ ปั่นกองเชียร์ โดยที่ไม่เป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเกิดจากการจัดตั้ง เพราะถ้าคุณจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. หรือมีตำแหน่งทางการเมืองในอนาคตจะใช้วิธีแบบนี้ไปตลอด และเราจะมีผู้ว่าฯกทม.ที่เป็นแบบนี้จริงหรือไม่"สุภชาติ ระบุ
ด้านรองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สื่อสังคมออนไลน์คือแพลตฟอร์มที่คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเยอะที่สุด ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊คจะเห็นปฏิบัติการไอโอ ซึ่งเข้าไปอยู่ในคอมเมนท์จากทั้งคนเชียร์หรือต่อต้าน แต่เห็นการเชียร์จะเยอะกว่าซึ่งต้องบอกว่า ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่ก็เกืดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในลักษณะจ้างบริษัทพีอาร์ แล้วบริษัทก็ไปจ้างคนต่อเพื่อสร้างกองทัพเข้าไปคอมเมนท์ลักษณะนี้ โดยผลที่เกิดขึ้นเมื่อไปอยู่ในโซเซียลมีเดียก็จะ lead agenda วิธิคิดของคนได้
รองศาสตราจารย์พิจิตรา บอกว่าในโซเชียลมีเดียขณะนี้คนมักเข้ามาอ่านคอมเมนท์มากกว่า โดยคอมเมนท์จะ lead ประเด็นให้คอมเมนท์ที่ตามมามีการพูดถึงต่อกัน ซึ่งพวกไอโอถูกสร้างมาแบบไม่เป็นธรรมชาติ เป็นแอคเคาท์ปลอม แต่เราก็สามารถสังเกตไอโอได้ง่ายว่าคอมเมนท์อะไรที่ไม่เป็นธรรมชาติ หากคลิกไปที่แอคเคาท์นั้นจะเห็นว่าผู้ติดตามจะมีน้อย แอคเคาท์อาจมีเลขกำกับ หรืออาจโพสต์รูปซ้ำกับอีกแอคเคาท์หนึ่งด้วย ทำให้รู้ได้ว่าเป็นปฏิบัติการไอโอ
รองศาสตราจารย์พิจิตรา ระบุว่า นอกจากนี้ในเรื่องไอโออาจกระทบความคิดเห็นสาธารณะเหมือนกัน หากคนไม่รู้เท่าทันจะเชื่อในสิ่งที่ไอโอพวกนี้โพสต์ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการเบี่ยงเบนความเห็นสาธารณะที่ไม่จริง และนำประเด็นที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงจากไอโอ แต่เชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่รู้ทันว่าพวกนี้เป็นไอโอ แต่การปฏิบัติการที่เป็นระบบจะมีผลในระยะสั้นต่อการรับข้อมูลข่าวสารในช่วงใกล้เลือกตั้ง เพื่อตัดสินใจโหวตทางการเมืองมากแค่ไหน
"ในช่วงเลือกตั้งถ้ามีกลุ่มที่จะเชื่ออย่างไรก็เปลี่ยนเขาไม่ได้ที่จะชอบผู้สมัครคนนี้ หรือคนที่เกลียดผู้สมัครคนนี้อย่างไรก็คงเกลียด ปฏิบัติการไอโอก็ไม่มีผลต่อเขาเลย แต่สิ่งที่ไอโอมีผลต่อคนที่ยังไม่ตัดสินใจทางการเมือง หรือเรียกว่ากลุ่มสวิงโหวตซึ่งเชื่อว่ามีผลต่อการตัดสินใจหากไอโอมาโพสต์เยอะๆ จนทำให้คอนเทนท์นั้นพุ่งขึ้นมาได้ง่าย"รองศาสตราจารย์พิจิตรา ระบุ
รองศาสตราจารย์พิจิตรา เสนอว่า ในเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) อาจร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อมอนิเตอร์ดูว่ามีกระบวนการจากผู้สมัครที่มีทีมพีอาร์มาสร้างไอโอ และหาเสียงอย่างผิดกฎ กกต.หรือไม่ ส่วนในเรื่องไอโอตามเพจข่าว หากสำนักข่าวใดยังเดินบนหลักการที่ถูกต้องก็ไม่ต้องกังวล แต่ต้องระวังไอโอที่ย้ายตั้งตัวเองเป็นสำนักข่าวหากมีคอนเทนท์เฟคนิวส์ตัวนักข่าวต้องระมัดระวังตรงนี้เช่นกัน