ปรากฎการณ์ "หมอปลา" หรือ นายจีระพันธ์ เพชรขาว พร้อมทีมนักข่าวทีวีบุกตรวจสอบ หลวงปู่แสง ญาณวโร ที่สำนักสงฆ์พื้นที่บ้านดงสว่าง ต.โคกนาโก จ.ยโสธร เมื่อ 11 พ.ค. 2565 แต่เรื่องกลับแดงขึ้น เมื่อหมอปลายอมรับ มีการสร้างหลักฐานเพื่อจับผิดหลวงปู่แสงที่ป่วยอาการอัลไซเมอร์ด้วยการให้นักข่าวสาวในทีมปลอมตัวเพื่อให้หลวงปู่แสงจับเนื้อต้องตัว กลายเป็นบทเรียนสำคัญของวงการสื่อ สะท้อนปัญหาสื่อที่เน้นเรตติ้งไม่สนใจจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ จนสังคมวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง
ทีวีต้นสังกัดสื่อที่ร่วมอยู่ในทีมข่าวหมอปลาถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนักจนเกิดปรากฎการณ์การแสดงความรับผิดชอบเป็นลูกระนาด ช่องเวิร์คพอยท์ ถึงขั้นต้องไล่ออกผู้สื่อข่าวที่ลงทุนปลอมตัวไปล่อซื้อหลวงปู่แสง อมรินทร์ทีวี ช่อง 8 ช่อง 3 พักงานผู้สื่อข่าว 15 วัน ขณะที่ ช่องไทยรัฐทีวีพักงานผู้สื่อข่าว 7 วัน สื่อทีวีเหล่านี้ยังได้ตั้งกรรมการสอบ สอบสวนผู้เกี่ยวข้อง และหัวหน้างานที่รับผิดชอบดูแลนักข่าวในสายงาน
ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้อง สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องผู้รับผิดชอบกองบรรณาธิการ ให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบเนื้อหา และแนวทางการปฏิบัติของนักข่าวในสังกัด ไม่ส่งเสริมให้ละเมิดกฎหมายและจริยธรรมวิชาชีพ "ราชดำเนิน"สายตาคนนอกวงการสื่อวิพากษ์เรื่องนี้อย่างไรเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต
จตุรงค์ จงอาสา นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนา กล่าวกับ "ราชดำเนิน"ว่า ผลกระทบที่หนักสุดจากปราฏการณ์นี้เกิดกับองค์กรวิชาชีพสื่อ และตัวสื่อมวลชนเองเพราะถูกตั้งคำถามจากคนสองกลุ่ม คือ 1.ประชาชน ที่ถามหาจรรยาบรรณวิชาชีพที่ดีซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงมานาน 2. จาก กสทช. ถือเป็นการกระตุกหนวดกสทช.ชุดใหม่ที่อาจต้องเรียกไปลงดาบจัดการกับสื่อทีวีค่ายเหล่านั้น ดังนั้นต้องจับตาดูว่า องค์กรสื่อและสื่อจะจัดการกันเองอย่างไร
- สภาวิชาชีพต้องเลือกตั้ง บังคับใช้กติกาจริงจัง
"ผมในฐานะผู้สังเกตุการณ์ที่ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนเกือบ 10 ปี ทั้งประสานข้อมูลกับนักข่าวหลายสำนักรู้สึกเป็นห่วงเพราะเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง มันมีแรงกดดันและผลกระทบมากในเชิงวิชาชีพ คุณธรรมจริยธรรม ไปไกลถึงการตกงาน ถูกเลิกจ้าง ปัญหาปากท้อง รวมไปถึง อดีตนักข่าวคนนั้นต้องเปลี่ยนชื่อ นามสกุล ด้วยหรือไม่ เพราะตอนนี้ไม่ได้คุยกันเรื่องพระแล้วแต่เป็นเรื่องหลวงปู่แสงเอฟเฟคในระยะยาว"
องค์กรวิชาชีพสื่อ ที่ออกแถลงการณ์ให้สื่อ ถือว่า เพียงพอหรือไม่ในการกำกับกันเอง? .... จตุรงค์ กล่าวว่า องค์กรวิชาชีพสื่อไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนแอเหมือนองค์กรทนายความตอนนี้ สื่อโซเชียล เช่น วาสนา นาน่วม หรือ จอห์น วิญญู ที่ทำช่องของตัวเอง โดดเด่นมากกว่า องค์กรข่าว หรือ สื่อกระแสหลัก มันเป็นพื้นที่ของสื่อโซเชียลมากกว่าเหมือนคนรู้จักทนายโซเชียล เช่น ทนายเดชา มากกว่าองค์กรทนายความ
ทั้งนี้ องค์กรสื่อถ้าจะเข้มแข็ง มีระบบตรวจสอบที่ดี ผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก ไม่ใช่มาจากการสรรหากันเอง อย่าง สภาทนายความซึ่งจะมีการเลือกตั้งเร็วๆนี้ ผู้สมัครก็หาเสียง ประกาศนโยบายจะปรับปรุงองค์กรวิชาชีพให้ดีขึ้น สื่อก็ต้องเลือกตั้งหาคนมาบริหารจัดการปัญหา บังคับใช้กติกาอย่างจริงจัง อย่าเอาอำนาจไปผูกกับสื่อโซเชียลที่โด่งดังจนผู้คนต้องไปเคารพ เราอย่าไปยึดที่ตัวคน ต้องยึดที่องค์กร
- ฆ่าตัดตอนนักข่าว ไม่ให้ถึงบก.และองค์กร
มองอย่างไรที่สื่อต้นสังกัดตั้งกรรมการตรวจสอบนักข่าว บางช่องลงโทษไล่ออกนักข่าว? ....จตุรงค์ ตอบว่า "เรื่องนี้บก.ต้องรับผิดชอบอย่างหนีไม่พ้น จะมาบอกว่าไม่รู้แผนการทำข่าวของนักข่าวไม่ได้ ทางกลับกัน ถ้าเรื่องไม่แดงขึ้นมา กองบก.ก็คงเอาข่าวหมอปลาไปใช้แน่ อีกทั้งถ้า กสทช. ลงดาบก็คงไม่ลงที่นักข่าว แต่เขาจัดการ ระดับองค์กร เข้าใจว่า บก. กำลังปกป้องตัวเองแต่คุณไม่ควรปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น" "ผมว่าตอนนี้หลายช่องกำลังฆ่าตัดตอนนักข่าวตัวเอง คุณจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ฉันไม่รู้ไม่เกี่ยว เขาไปกับหมอปลาเองอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเวลาหมอปลาจะไป เขาก็จะโทรบอกนักข่าวที่สนิท บก.ก็ต้องรู้ ถึงอนุญาตให้ไป ผมยังได้ยินว่า บางช่องยังต้องซื้อข่าวจากช่องอื่นด้วยซ้ำเพราะไม่ได้ส่งนักข่าวตัวเองไป"
จตุรงค์ กล่าวว่า การที่มีนักข่าวสายหมอปลาไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมื่อมีนักข่าวสายทหารได้ เราก็คงต้องมีนักข่าวสายหมอผีได้ ส่วนตัวชื่นชมกลุ่มนักข่าวรุ่นเก่าๆ ในแต่ละองค์กรที่ทำงาน แต่ไม่แสดงตัวทั้งที่อยู่สังกัดใหญ่ต่างจากสมัยนี้นักข่าวลงพื้นที่ติดโลโก้ช่องตัวเองใหญ่โต
นักวิชาการด้านพุทธศาสนาผู้นี้ สรุปว่า ปรากฏการณ์ข่าวหมอปลากับหลวงปู่แสง คนที่บาดเจ็บมากที่สุด คือ สื่อ ไม่ใช่หมอปลา หรือ วงการสงฆ์ เพราะเรื่องปัญหาของสงฆ์เราได้รับการเรียนรู้ต่อเนื่อง แต่สื่อโดยเฉพาะสื่อผู้น้อยภาคสนาม การได้ทำข่าวหมอปลามาต่อเนื่อง เกิดกระแสดังขึ้นมา บางทีอาจหลงตัวเองแล้วลืมตัว ทำให้ลืมจรรยาบรรณที่เคยมีกำกับอยู่ในใจ ดังนั้น ต้องมานั่งทบทวนกันใหม่ว่า องค์กรสื่อ สภาวิชาชีพจะเอาอย่างไร จะเพิ่มอำนาจการตรวจสอบให้ตัวเอง หรือ ต้องมีการเลือกตั้งเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ความจริงองค์กรสื่อควรมีบทบาทต่อรองกับต้นสังกัดสื่อที่ตั้งคณะกรรมการสอบนักข่าว เพราะกรณีนี้ไม่ควรถึงขั้นไล่ออกนักข่าวคนดังกล่าว
- จาก "ลุงพล" ถึงช่องผีงมงาย ไม่ใช่สื่อเพื่อสังคม
รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโทพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หมอปลาและสื่อ ไม่ควรสร้างหลักฐานเท็จเสียเอง เพราะสื่อควรเป็นผู้รายงานความเป็นจริง ไม่ควรเข้าไปมีส่วนทำให้มีผลได้ผลเสีย ปัญหามาจากช่องทีวีปัจจุบันจะเล่นข่าวเอามันเพื่อสร้างเรตติ้ง มีไม่กี่ช่องที่ให้ความรู้กับประชาชน สื่อต้องทำหน้าที่ตรวจสอบให้ชัดเจน มีความเที่ยงธรรม ต้องคัดกรอง ไม่เอนเอียง ไม่ใช่มาเล่นเอง เป็นจรรยาบรรณทั่วไปของสื่อ
"ข่าวฉาวมีได้ไม่เป็นไรเพราะเป็นข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของคนไม่ดี และหลายครั้งก็ต้องยอมรับถ้าสื่อไม่เล่นข่าว คณะสงฆ์ก็ไม่ทำอะไร เพราะข่าวฉาว แพร่เร็ว ผมเห็นว่า ช่วงหลังหลายช่องรายงานข่าวฉาวประเภทนี้กันมาก โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ ข่าวลุงพล เป็นการสร้างข่าวละครมากกว่า จากนั้นทำให้สื่อหลายช่องหรือบางช่องก็เสนอแต่เรื่องผี แทนที่จะให้ความรู้คนเพราะถ้าคุณเป็นสื่อเพื่อสังคม ก็ต้องเชิญนักวิชาการให้ความรู้ว่ามันจริงเท็จแค่ไหน แต่กลับไปสร้างความงมงายในผลิตซ้ำความเชื่อมากขึ้น" รศ.ดนัย กล่าวถึงกรณีข่าวหมอปลาว่า ที่ผ่านมาหมอปลาพยายามหาคอนเท้นท์จุดขายของตัวเองเริ่มจากตรวจสอบ เปิดโปงวงการศาสนา การปราบผี ซึ่งเป็นมุมดี ไม่ค่อยมีใครกล้าเตะเพราะเป็นแดนสนธยาที่ถูกหมกใต้พรม
ทั้งนี้ หมอปลาเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนที่ไม่มีวิธีการเข้าถึงการแก้ปัญหาเหล่านี้ จึงได้อารมณ์มวลชน มีผลโหวตว่า คนคาดหวังหมอปลามากกว่า สำนักพุทธศาสนา แต่สิ่งเกิดขึ้นในการตรวจสอบหลวงปู่แสงเป็นดาบสองคม เพราะเมื่อเข้าไปโดยไม่รู้ลึกตื้นหนาบาง ไปใส่ความพระ ก็ผลิตภาพเสื่อมให้กับคนรับสารทำให้ศาสนาดูแย่ลง เพราะคนเสพสื่อ เสพไม่จบ เรื่องนี้ มหาเถรสมาคม ต้องตระหนักว่า มีอำนาจปกครอง ตรวจสอบสงฆ์อยู่แล้ว แต่ทำไมไม่ทำ ไปใส่เกียร์ว่าง เพราะไปมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ชวนนึกถึงกรณีตรวจสอบอดีตหลวงปู่เณรคำ ตอนนั้นเจ้าคณะต้องคืนรถเคมรี่ที่หลวงปู่เณรคำนำมาถวายเพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบ มันก็มีปัญหาทั้งสองฝ่ายทั้งสงฆ์และระบบตรวจสอบสงฆ์
"หมอปลาไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ชี้ถูกผิด แต่อยากทำ และก็ทำเกินเลย ไม่ว่า ท่าทีที่เข้าไป กิริยามารยาทที่พูดคุยก็ดูนักเลง ภาพอย่างนี้มันละเอียด เพราะตราบใดไม่มีหลักฐานชัดเจน หรือ แม้จะมีหลักฐานทั่วไป เราก็ต้องถือว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าศาลยังไม่ตัดสินออกมา อันนี้ก็ต้องระวัง การกระทำของหมอปลาจึงเป็นศาลเตี้ยไป และความที่ไม่รู้ พระธรรมวินัย บางเรื่องก็ไปกดดันให้พระสึกก็มีทั้งที่เรื่องยังไม่ถึงขั้นให้พระสึก เช่น กรณี พระที่กินหมูกะทะถือว่า ผิด แต่ไม่ถึงกับอาบัติ ยังไม่ขาดความเป็นพระ"
- สื่อควรเสนอให้ครบปาราชิก 4 ข้อ อย่ามัวแต่เน้นเรื่องสีกา
รศ.ดนัย กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบของหมอปลาในกรณีต่างๆ ที่ผ่านมา ดูรอบคอบ เพราะมีการประสานกับฝ่ายปกครองตลอด แต่ปัญหาคือ หมอปลาเป็นใคร สิ่งสำคัญ หากจะตรวจสอบเรื่องสงฆ์ ต้องให้ความสำคัญกับคณะสงฆ์ก่อนไม่ใช่ตัดสินเองว่าถูกหรือผิด เพราะตัวหมอปลาเองไม่ได้มีอำนาจ ไม่ได้รู้เรื่องพระธรรมวินัย ส่วนสื่อที่ไปร่วมตรวจสอบ สังกัดช่องหมอปลา หรือไม่หรือหมอปลาทำช่องเองหรือไม่ ทุกอย่างจึงลักลั่นไปหมด
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่า น่าสนใจ ต่อไปนี้พระก็คงระวังมากขึ้นเลย แต่ถ้าอยากแก้ปัญหาสงฆ์ให้ยั่งยืน ชุมชนที่อยู่รอบวัดควรช่วยกันดูแลวัด เจ้าอาวาสเองก็มีหน้าที่โดยตรงเพราะมีอำนาจจากพระธรรมวินัย และ ตามกฎหมายสงฆ์ แต่ถ้าเจ้าอาวาสไม่กวดขัดก็จะเกิดปรากฎการณ์อย่างหมอปลาอย่างนี้ และก็จะมีหมอปลา 2 3 4 5 6 ไม่จบเพราะคอนเท้นท์น้ำเน่าพวกนี้ขายได้ เนื่องจากเกี่ยวกับการอาบัติ ปาราชิกในวงการสงฆ์ คนชอบเยอะ เป็นเรื่องสีกา เสพเมถุน ขายได้หมด จึงเกิดกรณีที่เป็นข่าว หลวงพ่อคาดผม พระกาโตะ หลวงปู่แสง
รศ.ดนัย เรียกร้องว่า หากสื่อจะเล่นข่าวฉาวในวงการสงฆ์ ควรเล่น กฎปาราชิก 4 ข้อที่ขาดจากความเป็นพระให้สังคมเข้าใจ ไม่ใช่มีแต่เรื่องสีกาอย่างเดียว 4 ข้อประกอบด้วย 1. เสพเมถุน มีเซ็กกับมนุษย์ สัตว์ 2.ลักทรัพย์ ข้อนี้ก็มี เช่น พระยักยอกเงินบริจาค 3. ฆ่ามนุษย์ 4. อวดอุตริ เพราะทุกวันนี้มีหลายปัญหาเช่น พระยักยอกบัญชี หรือ ยกย่องอิทธิฤทธิ์ปลุกเสกเลขยันต์ หลายสำนัก ลูกศิษย์เป็นคนดันเอง อย่างนี้สื่อไม่เล่นไปเล่นแต่ข่าวสีกา
"ปัญหาสงฆ์ภาพรวม ความจริงพระทำผิดวินัย เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะพระที่มาบวชไม่ใช่พระที่หลุดพ้นมีโอกาสทำผิดเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอระบบตรวจสอบไม่เกิดขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์หมอปลา ยิ่งปัจจุบัน มีโซเชียล สำนักพุทธก็ต้องมีคนคอยมอนิตเอร์ในทวิตเตอร์ พระเล่นติ๊กต๊อก ไม่เรียบร้อยผู้ใหญ่ต้องเรียกมาเตือน ถ้าระบบเราเรียบร้อยก็น่าจะช่วยให้พระประพฤติดี แต่ภาพรวมพระไมค่อยปกครองดูแลกัน"
โลกโซเชียลเติบโตเร็ว องค์กรสงฆ์ล้าหลัง เรื่องฉาววงการสงฆ์จึงปรากฎสู่สายตามากขึ้น? รศ.ดนัย กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ พรบ.สงฆ์ แทบไม่ได้แก้มาเกือบ 60 ปี ทั้งที่โลกเปลี่ยนไป ไม่รู้กี่เจนแล้ว ยุคนั้นมือถือยังไม่มี แต่ตอนนี้เทคโนโลยีกว้างไกล ควรปรับกฎหมายให้มันทันสมัย สื่อเองก็เร็วขึ้น เน้นเรตติ้ง ประชาชนทุกคนมีมือถือ เรื่องฉาวแบบนี้ก็แพร่เร็ว
"ที่จริงผมมองว่า ดี ที่เกิดเรื่องเหล่านี้ มันเป็นปรากฎการณ์ที่ชาวบ้านช่วยกันสอดส่องวัด เพียงแต่คณะสงฆ์ก็ต้องรับลูกให้ทันกับเทคโนโลยี คณะสงฆ์เขามีวิธีคิดว่า ถ้ามันมีเรื่องเสื่อมเสียที่เป็นปัญหาขึ้นมาก็ดี สังคมช่วยกันแก้ มันไม่ทำให้ศาสนาเสีย แต่ผมมองกลับการที่เราปลาอยคนชั่วมากัดกินศาสนา เราต้องรีบจัดการคนที่ไม่ดีออก ดีกว่าเราปกปิด หรือ หมักหมม คณะสงฆ์ต้องทำการบ้านเพิ่ม จะนอนอยู่เฉยๆ อย่างนี้ไม่ได้ ไม่งั้นก็จะเกิดอย่างกรณีหมอปลา รู้ธรรมะนิดๆหน่อยๆหรือของปลอมบ้างอ้างมาจัดการพระอย่างนี้ ซึ่งคณะสงฆ์เองควรตัดสิน หรือตั้งหน่วยงานกลางตุลาการของสงฆ์ มาทำหน้าที่ไต่สวนไม่ต้องใช้ เจ้าอาวาสหรือ เจ้าคณะมาตัดสิน ก็อาจจะทำให้มีความเป็นกลางได้"
- จัดฉากคือ ทรยศวิชาชีพบก.หรือนักข่าวที่ต้องรับผิดชอบ
มุมมองคนในวงการสื่ออย่าง จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบาย ชไทยพีบีเอส โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวให้มุมมองน่าสนใจว่า หลายคนวิพากษ์ตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงลงโทษเพียงนักข่าว ขณะที่ บรรณาธิการ ชไม่มีส่วนที่ต้องรับผิด หรือแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้บ้างนี่คือความไม่เป็นธรรมสำหรับนักข่าวภาคสนามคนหนึ่งที่ต้องเสี่ยงภัย ไปอยู่หน้างาน เหนื่อยยากในการหาข่าว เพื่อเรทติ้งของสถานี สำหรับคนที่อยู่นอกวงการสื่อ คำถามเช่นนี้ เป็นเรื่องพอเข้าใจได้ และต้องขอบคุณหมอปลา และคนอื่นๆที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ หมอปลาอาจยืนยันว่า เป็นเพียงวานให้นักข่าวคนหนึ่งไปช่วยทำให้มีพยานหลักฐานแน่นหนามากขึ้น ในการจับผิดหลวงปู่แสง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในทางวิชาชีพสื่อ นี่คือความผิดขั้นร้ายแรง ในการได้มาซึ่งข่าว โดยไม่ถูกต้อง เที่ยงตรง "คนทำงานสื่อต้องหลีกเลี่ยงการจัดฉาก การสร้างตัวละครเลียนแบบของจริง ที่ไม่เป็นความจริง การละเลยหลักการขั้นพื้นฐาน ในการรายงานข่าวบนพื้นฐานข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน และรอบด้าน เสมือนอาบัติปาราชิกของพระสงฆ์ การได้มาซึ่งข่าวด้วยวิธีการอันไม่สุจริต ก็เท่ากับทรยศต่อความจริง ทรยศต่อผู้บริโภคข่าวสาร ความผิดเช่นนี้ หากบรรณาธิการได้รับทราบข้อมูลทั้งหมดแล้ว และได้นำเสนอออกไป ความผิดก็อยู่ที่บรรณาธิการ คนที่ต้องออกจากงานคือบรรณาธิการ ไม่ใช่นักข่าว"
อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุว่า คำถามต่อมา บรรณาธิการเป็นคนเลือกข่าว ไม่ใช่นักข่าว ดังนั้น คนเลือกข่าวจึงต้องรับผิดชอบ คำถามนี้เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณค่าข่าว และความสนใจของคนในขณะนั้น ข่าวนี้เป็น human interest อยู่ในกระแสขณะนั้น คนในระดับบรรณาธิการ ต้องรู้และประเมินได้ว่า เป็นข่าวที่ต้องนำเสนออยู่แล้ว การเลือกข่าว จากการประเมินคุณค่าข่าว กับการได้มาซึ่งข่าวโดยไม่สุจริต และขัดต่อหลักการทางวิชาชีพนั้น เป็นคนละเรื่อง คนละกรณีกัน
"เราไม่ต้องการที่จะกล่าวโทษ หรือหาคนผิดในเรื่องนี้ แต่ทุกฝ่ายก็ต้องเข้าใจ และเปิดใจยอมรับวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละอาชีพ สื่อทำงานอยู่บนพื้นฐานความเชื่อถือและไว้วางใจได้ หากเราทำงานด้วยคำถาม และข้อสงสัยแม้เพียงนิดเดียว เราก็ไม่สมควรเรียกตัวเองว่าสื่อมวลชนแล้ว" จักร์กฤษ ระบุ