“หัวใจการเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่ดีคือลงพื้นที่ ไม่ใช่อยู่บนห้องคอยงาช้างอย่างเดียว การลงพื้นที่เพื่อไปรับฟัง แล้วมาควบรวมกับนโยบาย แผน ทีมงานที่วางไว้ สามารถขับเคลื่อนให้เฟืองแต่ละพื้นที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขต เจ้าหน้าที่ไปจนถึงพี่ๆน้องๆฝ่ายรักษาความสะอาด เฟืองเหล่านี้จะมาขับเคลื่อนให้เฟืองใหญ่ และนโยบายขับเคลื่อนไปได้อย่างไร”
สถิติของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยมี ผู้ว่าราชการมาแล้ว 16 คน โดย 9 คน มาจากการแต่งตั้ง และ 7 คน มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ปรากฏการณ์ “ชัชชาติแลนด์สไลด์” ผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าที่นำโด่ง สะท้อนอะไร ธนัชพงศ์ คงสาย ผู้สื่อข่าว กรุงเทพธุรกิจ พูดในรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงองคาพยพของ กทม.กับ ผู้ว่าราชการกรุงเทพคนใหม่ คือ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ที่ได้รับความไว้วางใจ จากประชาชนมากที่สุด ถึง 1,386,215 คะแนน นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งมาว่า คุณชัชชาติลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ 2 ปี เริ่มมีประชาชนให้ความสนใจ
มีทั้งโพลและกระแสทางโซเชียลมีเดีย สะสมมาเรื่อยๆ พอมาถึงวันเลือกตั้งก็เป็นจุดพีค ที่คนกรุงเทพฯออกมาส่งสัญญาณชัดเจน ว่าต้องการให้คุณชัชชาติเป็นผู้ว่าฯกทม. ความจริงผู้ว่าฯกทม.แต่ละคน มีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน เพราะนโยบายต่างกัน แต่ผลลัพธ์จะเป็นตัวชี้วัดว่า วิธีการทำงานแบบไหน นำมาซึ่งผลลัพธ์ ที่แก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพได้
ผมทำข่าวเกาะติดกทม.มา 10 กว่าปี เป็นปรากฏการณ์แรกที่แปลกมาก เพราะสำนักงานเขตต่างๆ และหน่วยงานในกทม. ขยับขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นทางการ ของว่าที่ผู้ว่ากทม. ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านๆมา ผู้ที่ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เช่น คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน และหม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ รอ กกต.ประกาศ อย่างเป็นทางการก่อน จึงจะทำงานขับเคลื่อนตามนโยบายที่หาเสียงไว้
แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าหน่วยงาน และสำนักงานเขตต่างๆในกทม. ขานรับนโยบาย 214 ข้อ โดยทำงานเชิงรุกไปก่อนแล้ว อาทิ เขตบางขุนเทียน หลักสี่ บางซื่อ ทำงานไปพร้อมกับที่คุณชัชชาติ แม้กกต. ยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ แต่ผลการเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค. เหมือนกับเสียงคนกรุงเทพ 1.3 ล้าน เป็นสัญญาประชาคม ที่หน่วยงานในสังกัดกทม. จะต้องกระตือรือร้น การลงพื้นที่ของคุณชัชชาติ เท่าที่พยายามมอนิเตอร์ พูดคุยกับประชาชน เพื่อเก็บข้อมูลมาทำการบ้าน รวมกับข้อมูลของหน่วยงานที่มีอยู่ ผสมผสานกับการลงพื้นที่ ทำให้เห็นและเชื่อได้ว่า 214 นโยบายหลัก สามารถแตกย่อยไปได้อีก
การลงพื้นที่ของคุณชัชชาติทุกครั้ง ลงไป 1 ชุมชน บางทีอาจจะได้ถึง 4-5 นโยบายเลย ทั้งปัญหาปากท้อง ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิตต่างๆ แต่โหมดแรกคุณชัชชาติ พยายามเน้นพูดคุยกับชาวบ้านชุมชน ว่าเกิดปัญหาอะไรในจุดนี้ จะแก้ไขได้ตรงไหน และลงมาทำตรงไหน หลังจากที่กกต.ประกาศแล้ว จะขับเคลื่อนอะไรเป็นรูปธรรมจากการลงพื้นที่ไปแล้วได้บ้าง
“หัวใจการเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่ดีคือลงพื้นที่ ไม่ใช่อยู่บนห้องคอยงาช้างเพียงอย่างเดียว ลงพื้นที่เพื่อไปรับฟัง แล้วมาควบรวมกับนโยบาย , แผน , ทีมงานที่วางไว้ สามารถขับเคลื่อนให้เฟืองแต่ละพื้นที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขต เจ้าหน้าที่ ไปจนถึงพี่ๆน้องๆฝ่ายรักษาความสะอาด เฟืองเหล่านี้จะมาขับเคลื่อนให้เฟืองใหญ่และนโยบายขับเคลื่อนไปได้อย่างไร”
คุณชัชชาติและทีมงาน จะวางระยะการทำงานไว้ เป็นทีมฝ่ายบริหาร ทีมที่ปรึกษา แต่ทีมที่พิเศษขึ้นมา จะขับเคลื่อนนโยบายว่าที่ได้ทำไปแล้วมีอะไรบ้าง หรือนโยบายที่ยังทำไม่ทันมีอะไรบ้าง ทีมงานนี้จะมี road maps (แผนขั้นตอนดำเนินการ) ว่าตลอด 4 ปีต้องทำอะไร ซึ่งผมเชื่อว่าทีมงานชุดนี้ ทำงานภายใต้ความกดดันแน่นอน เพราะคนกรุงเทพฯที่เลือกเข้ามา ทุกคนก็ต้องคาดหวังว่านโยบายที่ประกาศ เป็นสัญญาประชาคมไปแล้ว
ครบ 4 ปีข้างหน้า สัญญาเหล่านี้ทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหมายถึงต้นทุนของคุณชัชชาติ ที่ได้หาเสียงไว้ทำได้หรือไม่ แรงกดดันจะไปอยู่ที่ทีมงานเหล่านี้ ว่าขับเคลื่อนนโยบายที่ได้ประกาศไว้แค่ไหน ผมเชื่อว่าคงมี road maps ระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว สิ่งไหนที่สามารถทำได้เลย หน่วยงานเดินหน้าไปเลย หรือทีมไหนอาจจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูล หรือทำโครงการขึ้นมา หรือระยะยาวต่อไปอาจจะเป็น Big project อะไรได้บ้าง
รวมทั้งนโยบายบางเรื่องของผู้บริหารคนก่อน หรือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ซึ่งทีมงานกทม.หรือรัฐบาลชุดเก่ามีโปรเจคอะไร ที่ทำ MOU หรือลงนามไปแล้ว แน่นอนว่าคนที่เป็นฝ่ายบริหารคนใหม่ ต้องสานต่อให้เสร็จสิ้น แม้ว่าเรื่องนั้นอาจอยู่ในข้อร้องเรียน ก็ต้องไปชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบนโยบายเหล่านั้น เช่น ก่อสร้างอุโมงค์จราจร ทำทางแยกถนนต่างๆ ที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองทำไว้ คุณชัชชาติก็ต้องมาสานต่อ เพราะเป็นโครงการที่ใช้เวลาเป็นปี
สิ่งเหล่านี้หน่วยงานต่างๆและหน่วยงานราชการ ขับเคลื่อนไปตามปกติ แต่สิ่งไหนที่คุณชัชชาติจะนำเข้ามา ตรงนี้เป็นโจทย์ข้อใหญ่ ที่คุณชัชชาติต้องพิสูจน์ตามที่หาเสียงไว้ จะวางผลงานเหล่านี้ออกมาในช่วงไหนอย่างไร เมื่อไหร่ บางอย่างที่คุณชัชชาติ มี Big project หรือโครงการต่างๆ ผู้ว่าฯกทม.คนต่อๆไปก็ต้องมาสานต่อ โครงการที่คุณชัชชาติได้ทำไปแล้วเช่นกัน ยกเว้นบางโครงการ ที่อยู่ในขั้นตอนตั้งตุ๊กตาไว้ ผู้ว่าฯกทม.หรือหัวหน้าหน่วยงาน ก็มีสิทธิ์ที่จะพับหรือรอไว้ก่อน
สำหรับทีมงานรองผู้ว่าฯกทม. มีชื่อที่ค่อนข้างแน่นอนแล้ว 1 คน คือ คุณจักรพันธ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่าฯกทม.และอดีตรองปลัดกทม. ส่วนทีมงานอื่นๆก็ยังเป็นแค่กระแสข่าว แต่คุณชัชชาติคงจะคัดสรรเรื่องการทำงาน ที่ทุกคนเป็นทีม กทม.ลงพื้นที่ได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องมาอยู่ในจุดเดียวกันก็ได้ ทั้งรองผู้ว่าฯและทีมที่ปรึกษา สามารถแยกไปทำหน้าที่เขตไหนได้ทั้งหมด เสมือนเป็นเหมือนคุณชัชชาติ 1-2-3-4
ส่วนผู้สื่อข่าวที่เกาะติดความเคลื่อนไหว การทำงานของกทม.ก็ทำงานเยอะอยู่แล้ว เพราะผู้ว่าฯแต่ละคนลงพื้นที่เยอะพอสมควร ตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วม ปี 2554 ผู้สื่อข่าวก็มาทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าเลิกงาน 5 ทุ่มทุกวัน เป็นเวลา 3 เดือน เราผ่านจุดตรงนั้นมาแล้ว มาถึงจุดนี้สิ่งที่จะทำกันต่อ คือ ตรวจสอบ เป็นปากเป็นเสียง และเป็นสื่อกลางที่จะนำปัญหา ของคนในพื้นที่เขตต่างๆ ผ่านเข้าไปให้กับทีมนโยบายของคุณชัชชาติ
มีเรื่องไหนที่ยังไม่ได้ทำ ยังมีเสียงสะท้อนออกมา เราเป็นสื่อกลางที่จะสะท้อนออกไป รวมไปถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบาย ว่าที่เคยประกาศไว้ 214 ข้อ ทำได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนกระจกส่องให้ ซึ่งคุณชัชชาติก็บอกว่าพร้อมที่จะรับฟัง เสียงที่ไม่เห็นด้วยอีกฝั่งต้องการอะไร มีกระจกอีกด้านหนึ่งตรงไหน เขาจะได้เห็นรอบด้านตามที่คนกรุงเทพฯคาดหวังไว้ ซึ่งผมดีใจที่น้องๆรุ่นใหม่ มีพลังค่อนข้างสูงที่จะทำงานสื่อสาร ในสิ่งที่เขาได้มาไปยังประชาชน แต่สิ่งหนึ่งที่เคยบอกน้องๆหลายคน และผมก็เคยได้รับจากพี่ๆที่สอนต่อกันมา คือ เรามีหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ว่าคุณจะชอบใครหรือไม่ชอบใคร ให้เก็บตรงนั้นไว้ในใจ
“หมวกของความเป็นสื่อมวลชนสำคัญที่สุด เราต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง เราทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อตรวจสอบหน่วยงาน ตรวจสอบงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน เรามีหน้าที่เป็นกระจก ที่บอกว่าสิ่งไหนยังไม่ได้ทำ สิ่งไหนที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน งบประมาณตรงนี้ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าหรือยัง หน้าที่ตรงนี้จะเหมือนกับ เป็นกระดูกสันหลัง ของคนในวงการสื่อ ที่จะทำหน้าที่ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม ต้องคิดว่าสิ่งเหล่านี้เด็กๆรุ่นใหม่มี แต่ผมอยากจะให้เพิ่มเติมสิ่งเหล่านี้ต่อไป แน่นอนว่ายังมีอะไรที่ต้องทำอีกมาก ตลอด 4 ปีนี้ กว่า 214 นโยบายที่ออกมา”
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5