เขียนยังไง ให้อยู่ยืนยง “กิเลน -คอลัมน์นิสต์” รางวัลศรีบรูพา 2565

รายงานพิเศษ 

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน 

................................................

....ขอบข่ายงานข่าวตอนนี้มันกว้าง ต้องใช้หลัก”สุ จิ ปุ ลิ หัวใจของนักปราชญ์” -"สุ" ฟังและอ่านให้เยอะ โดยเฉพาะเรื่องที่ในหน้าที่งานข่าวที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง สอง "จิ"ฟัง-อ่านแล้วก็คิด สาม "ปุ"ข้องใจก็ถาม ข้องใจก็ตามหาข้อมูลสืบค้น สี่"ลิ" -เขียน ใช้หลักหัวใจนักปราชญ์สี่ข้อนี้ คุณจะไม่หลุดจากความเป็นนักข่าว นักเขียนชั้นยอดไปได้เลย....

ภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์

หนึ่งในคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์รายวัน-เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่มีชื่อเสียงมีคนรู้จักนามปากกา เป็นอันดับต้น ๆของประเทศไทย ย่อมมีชื่อของ "ประกิต หลิมสกุล หรือ กิเลน ประลองเชิง” คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ “ชักธงรบ หน้าสาม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ที่เขียนมาร่วม 25 ปี และยังมีประสบการณ์ในการเป็นนักข่าว-กองบรรณาธิการข่าวที่ผ่านการทำข่าวมาอย่างโชกโชน ซึ่งปัจจุบัน ในวัย 77 ปี  ก็ยังเขียนคอลัมน์ ชักธงรบ โบกสะบัดในโลกหนังสือตัวอักษรในไทยรัฐ  อย่างต่อเนื่องทุกวัน 

         สำหรับประวัติและเรื่องราวของ ประกิต คอลัมนิสต์ชื่อดังนามปากกา “กิเลน ประลองเชิง” ก่อนหน้านี้ ก็เป็นที่รู้จักในแวดวงสื่อ-นักข่าว-แวดวงการเมือง มายาวนาน ทั้งประวัติส่วนตัว ประวัติการทำข่าว เส้นทางการเป็นคนข่าว นักหนังสือพิมพ์ กว่าจะเป็นเขียนคอลัมน์ในไทยรัฐ แต่เมื่อสักช่วง พฤษภาคมที่ผ่านมา เรื่องราวของ กิเลน เริ่มมีคนถูกพูดถึงมากขึ้นหลัง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และกองทุนศรีบูรพา จัดงานวันนักเขียนประจำปี 2565 พร้อมมอบรางวัล ศรีบูรพา ปี 2565 ให้กับนักคิดนักเขียนที่มีผลงานอันทรงคุณค่า ที่ปีนี้ ประกาศยกย่อง ประกิต หลิมสกุล เจ้าของนามปากกา "กิเลน ประลองเชิง" เป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ 31 ประจำปี 2565

         กับการเขียนคอลัมน์ทุกๆวัน เขียนต่อเนื่องกันในไทยรัฐและก่อนหน้านี้ ก็เขียนและทำคอลัมน์แบบรายวัน ในหนังสือพิมพ์อีกบางฉบับที่เคยอยู่ก่อนหน้านี้ รวมเวลาก็ร่วม 30ปี จุดนี้ ทำให้หลายคนย่อมสงสัยว่า คอลัมนิสต์ อย่าง "กิเลน ประลองเชิง-ไทยรัฐ"  มีเทคนิควิธีการเขียน การหาข้อมูลอย่างไร มีหลักการคิดเรื่องที่จะนำมาเขียนแต่ละวันอย่างไร 

         "ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน"ไม่รอช้า  หลังนัดหมายพูดคุยกันที่สำนักงานไทยรัฐ เมื่อนั่งคุยกันแล้ว เราเลยถามเข้าประเด็นรัวๆ  

         -การเขียนคอลัมน์เกือบทุกวันในหนึ่งสัปดาห์มีวิธีการหาข้อมูลมาเขียนอย่างไร

         การเขียนงาน ที่แม้พื้นฐานจะอยู่สายการเมือง แต่ด้วยลักษณะการทำงาน ทำให้เราต้องรู้ทุกเรื่องเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง เรื่องเศรษฐกิจการเมือง กีฬา ก็ต้องติดตาม ข่าวต่างประเทศ หูก็ต้องคอยแว่วฟัง แล้วเอาทุกอย่างมาเขียนคอลัมน์หน้าสี่อย่างที่ทำปัจจุบัน 

         เราก็ต้องสดับตรับฟังแล้ววางความคิดให้ได้ว่าจะให้ไปทางไหน แต่ตอนนี้อายุมากขึ้น ก็ขอรู้เรื่องเดียว แต่จริงๆ ต้องรู้ทุกเรื่อง ข่าวทีวีการเมืองช่องสำคัญทุกช่อง ผมจะติดตามดูตลอด รวมถึงข่าวสารที่สำคัญต่างๆ แล้วหยิบเรื่องมาเขียน แต่ผมจะไม่ตัดสินใคร 

อย่างตอนช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมก็เดินเข้าไปทำข่าวทั้งฝ่ายนักศึกษา ฝ่ายซ้าย  และฝ่ายขวาเพราะนักข่าวบางหัว บางสำนัก  ไปทำข่าวอีกฝ่ายไม่ได้เลย แต่ผมเดินเข้าไปทำข่าวทั้งสองฝ่ายแบบเดินเข้าไปได้แบบลอยตัวอย่างกับปุยนุ่น เพราะเราเป็นกลาง ด้วยเพราะด้วยหน้าที่ของนักข่าว เขาสร้างเราให้มองสังคมอย่างเป็นกลางด้วยแว่นไม่มีสีตลอดมา ผมมีมิตรทุกสาขา ส่วนผมจะรักใครชอบใคร ผมรู้อยู่แก่ใจ แต่ผมเข้าข้างคนดี ความชอบธรรม ไม่เคยเผลอไปเข้าข้างใคร หากรู้ว่าใครโกง แม้จะคอยรักกันมาก่อน แต่พร้อมจะเกลียดมากมาย 

         ข้อแนะนำสำหรับเพื่อนพ้องน้องพี่ อาชีพนักข่าว ต้องเป็นสื่อกลาง เราพร้อมจะรัก จะชังใครได้ ถ้าเราเห็นด้วย แต่อย่าลืมหน้าที่ของตัวเอง ถ้าจะเป็นนักข่าวนักเขียนของจริง ต้องเป็นคนกลางให้ได้จริงๆ มองโลกอย่างเป็นธรรม เพราะตาที่มองโลกอย่างเป็นธรรม เข้าใจและเป็นกลาง จะมองเห็นความจริงแท้มากกว่าตาที่มีอคติที่มองแค่ข้างหนึ่งข้างใด 

         -การเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายวันแบบนี้ ที่ต้องเขียนแทบทุกวัน เขียนต่อเนื่อง การใช้เวลานานแค่ไหน ถึงจะเสร็จในแต่ละวัน?

         ด้วยสไตล์การเขียนแบบกิเลน ต้องใช้เรื่องในอดีตมาเขียน เราเขียนมายี่สิบกว่าปี  บางเรื่องซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่วนหนังสือที่บ้านก็มีเยอะ มีทั้งคนส่งมาให้ เพราะอยากให้เขียนถึง และซื้อเองก็เยอะเพราะรัก ที่บ้านมีหนังสือมาก นับไม่ถ้วน จนวันนี้ล้าที่จะไปเปิดหนังสือ

 มุมใหญ่ในการเขียนเช่น หากวันนี้อยากจะด่าใครสักคน อยากจะชมใครสักคน กิเลน ไม่เคยชมตรงๆว่าเป็นคนดี แต่จะหาเรื่อง ที่มันมีทาง อ่านดีอ่านได้ กว่าจะได้แต่ละเรื่องเหนื่อยมาก หากเจอพล็อตแล้ว เรื่องเขียนจะกลายเป็นเรื่องเล็กเลย แต่ก็มีเหมือนกันบางทีหาไม่ได้จนนาทีสุดท้ายก็เล่านิทาน วันไหนเห็นเขียนแบบเล่านิทานให้รู้ไว้ด้วย กิเลน เริ่มจนแต้ม โดยการเล่านิทานมันเร็ว 40 นาทีเขียนเสร็จ แต่ก่อนจะถึง 40 นาที อ่านมาตั้งแต่เช้ายันเย็น นั่งอ่านหาเรื่องที่จะมาเขียน มากัดมาจิกมาติมาชมเขา เพราะชมคนตรง ๆหรือด่าตรงๆ ผมไม่เคยทำ 

         การได้มีโอกาสเขียนหน้าสามไทยรัฐ มันยิ่งใหญ่ในชีวิต การทำงานแต่ละวัน ตื่นมาแล้ว ก็เริ่มทำงาน ดูข่าวต่างๆ ที่มีมากมาย เพราะอย่างที่เคยบอกไว้หลายครั้ง สิ่งที่เขียนแต่ละวันแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง อย่างทีวี ก็ดูหลายช่อง คอยดูคนดำเนินรายการ ดูประเด็นว่าเขาซักถามประเด็นอะไร แล้วก็ฟังมันทุกอย่าง

 จนเมื่อจะเริ่มลงมือเขียนคอลัมน์ เหลือตะกอนอะไรมา ก็เริ่มนำไปสู่การเขียน โดยก่อนนอนแต่ละวัน  ก็จะอ่านหนังสือประกอบต่างๆ เพื่อดูว่าแล้ว วันรุ่งขึ้น จะเขียนอะไรต่อไป โดยมีธงนำ คือประเด็นเรื่องการเมือง    

สรุปแล้วมีชีวิตอยู่กับการติดตามข่าวตลอดทั้งวัน  ซึ่งการเขียน ถ้ามันไม่มีมุข จะเริ่มต้นไม่ได้ ทุรนทุรายมาก วันนี้หาเรื่องดีไม่ได้เลย คือเรื่องมันไม่ถึงที่จะเล่า 

         -หาข้อมูลจากพวกเว็บไซด์ โซเชียลมีเดีย มาช่วยในการเขียนหรือติดต่อสื่อสารอะไรหรือไม่?

         เนื่องจากอายุมากแล้ว เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกมิตรรักเจาะหาให้ช่วยเหลือ แต่ว่าเวลาพบปะใครไม่เคยแสวงหาอะไรจากใคร เอาประโยชน์จากใคร การพบคนร้อยคน เท่ากับผมมีนายร้อยคน ไม่ว่าเศรษฐีนายทุนหรือคนจน จึงขอปิดชีวิตตัวเอง ไม่ดูเว็บไซด์ ไม่อ่านอะไรเลย ก็มีคนให้ใช้โทรศัพท์แพง ก็บอกว่าส่งข้อความมาได้ ผมอ่านแต่ไม่ตอบ ด้วยเหตุผลเดียว ขอชีวิตบั้นปลายให้สงบ เพราะแค่หนังสือทุกเล่มที่บ้าน ทีวีที่อยากดูทุกช่อง สมองก็เต็มแล้ว ซึ่งก็ยอมรับว่ามันอาจจะขาดตรงนี้ เช่น บางทีบางประเทศเปลี่ยนชื่อวิธีการเขียนแล้ว ก็ให้คนที่้บ้านหาให้ในเว็บไซด์ 

         มีหลายเรื่องที่ผมเขียนเรื่องเกร็ดข้อมูลต่างๆ แบบ กิเลนถามกิเลน กิเลนก็ตอบกิเลน คอลัมน์ที่ผมเขียนในแบบของผม google บันทึกไว้หมด สิ่งที่ผมเขียนไว้ทุกวัน กลายเป็นข้อมูลดิบที่ google นำไปใช้ มันเท่ห์ เพราะผมมั่นใจว่าในเชิงข้อมูลเรื่องเล่า เสร็จผม

สรุปแล้วทุกคำถาม กิเลนมีคำตอบ ก็ภูมิใจว่า แม้หากตายไปแล้ว เนื้อหาในคอลัมน์ยังอยู่ในโซเชียลมีเดีย เพราะอย่างเรื่องความเห็นทางการเมือง หากผ่านไปสักหนึ่งปี สามปี หรือแค่สามเดือนคนก็อาจลืม แต่เรื่องที่ผมเขียนเล่าไว้ เป็นเรื่องที่ผมหามา ให้เขียนกลมกลืน มีเสียดสี มีชื่นชมบ้าง ก็คิดว่า ทางเลือกที่ทำมาน่าจะถูกแล้ว 

ประวัติ-เส้นทางชีวิต

กิเลน ประลองเชิง

         ก่อนหน้านี้ เว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์ เผยแพร่ประวัติ"ประกิต หลิมสกุล" โดยสรุป ว่าเกิดเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2488 ที่ริมคลองบางเรือหัก ต.ท้ายหาด ม.7 อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 

         

การศึกษาทางธรรมได้ร่ำเรียนจนจบนักธรรมเอก ส่วนการศึกษาทางโลกจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งเติบใหญ่ ผ่านการใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชน โดยหลังเรียนจบ ป.4 จากโรงเรียนนิพัทธ์หริณสูตร์ (วัดประทุมคณาวาส) แล้ว ได้มาเรียนต่อชั้น ม.1 ที่โรงเรียนศรัทธาสมุทร และลาออกตอนอยู่ ม.2 ไปบวชเณรที่วัดเขาย้อย เพชรบุรี ก่อนมาอยู่วัดดาวดึงษ์ บางยี่ขัน ธนบุรี เรียนบาลีตอนบ่าย เรียนนักธรรมตรีตอนหัวค่ำที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ จากนั้นย้ายไปอยู่ที่วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม เรียนบาลีต่อ แต่ไม่จบ

         ปี 2505 ได้ไปบวชเรียนต่อจนจบนักธรรมเอก แล้วสึกจากสมณเพศออกไปหาประสบการณ์ชีวิต ด้วยการเป็นลูกเรืออวนลากทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ในช่วงนี้ "ประกิต หลิมสกุล" ได้สำแดงความสามารถในการแต่งกลอนประกวดส่งนิตยสารศรีสยาม

         ต่อมาชีวิตมีอันต้องพเนจรลงใต้ไปอยู่กับพี่ชายที่ จ.ยะลา จุดนี้เองที่ทำให้ประกิต ที่ขณะนั้นมีอายุ 25 ปี ได้เริ่มต้นเข้าสู่วงการน้ำหมึก เนื่องมาจากความที่ชอบอ่านหนังสือและเขียนหนังสือเป็น ประกอบกับเป็นคนขอบเขียนกลอน ปี 2513 จึงถูกชักชวนไปทำข่าวเป็นนักข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดยะลา ให้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ข่าวที่ประกิตส่งมาได้ขึ้นหน้า 1 ทุกวัน จนปี 2522 ประกิต เบนเข็มชีวิตตัวเองด้วยการย้ายมาอยู่ในชายคา "สีเขียว" นสพ.ไทยรัฐ รุ่นเดียวกับโรจน์ งามแม้น (เปลว สีเงิน) และชัย ราชวัตร ปี 2531 ได้เขียนคอลัมน์ "กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" ด้วยสำนวนจากปลายปากกาที่เขียนได้มีสีสันน่าสนใจเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่าน ต่อมาได้รับหน้าที่เขียนข่าวสังคมหน้า 4 ของไทยรัฐ ภายใต้นามปากกา "เหยี่ยวพญา"

         หลังเหตุการณ์หัวหน้าข่าวภูมิภาคไทยรัฐถูกยิงเสียชีวิต ได้ลาออกไปอยู่ นสพ.หลายฉบับ กระทั่งชีวิตหวนกลับมาอยู่ไทยรัฐอีกครั้งในตำแหน่งหัวหน้า "สกู๊ปข่าวหน้า 1" ในปี 2541 "โกวิท สีตลายัน" เจ้าของนามปากกา "มังกร ห้าเล็บ" ถึงแก่กรรม จึงได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่เขียนคอลัมน์แทน ใช้ชื่อคอลัมน์ว่า "ชักธงรบ" โดยเขียนคอลัมน์นี้มาจนถึงปัจจุบัน

         ก่อนหน้านี้เคยได้รับรางวัลจากผลงานนักข่าวและนักเขียนมาแล้วทั้ง รางวัลข่าวภาพยอดเยี่ยมจากสมาคมนักข่าวฯ และรางวัล ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล ปัจจุบัน "ประกิต หลิมสกุล" หรือ "กิเลน ประลองเชิง" นอกจากจะเป็นคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้ว ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายสราวุธ วัชรพล บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

         "ประกิต หลิมสกุล"เล่าเสริมประวัติตัวเองกับ”ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน”  โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ ความสนใจในเรื่องการอ่าน-การเขียน ที่ทำให้เป็น กิเลน ประลองเชิง ในทุกวันนี้ โดยบอกว่า ตอนบวชเณรที่วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ทำให้ได้อ่านหนังสือหลายอย่าง จึงมีใจรักในเรื่องการอ่านและการเขียน ซึ่งที่จังหวัดมีหนังสือพิมพ์ประจำจังหวัดออกทุกสิบห้าวัน ที่จะพิมพ์ขายหลังวันออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เรียกว่าหลังหวยออก ชื่อ "ข่าวแม่กลอง" มีเจ้าของหนังสือพิมพ์ชื่อปรีชา มาบวช เขาก็ได้ติดต่อให้เขียนหนังสือลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ก็เขียน ทั้งข่าวสังคม บทกลอนต่างๆ ก็ได้ฝึกเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 14-15 ปี จนปลัดจังหวัดมาขอดูตัวที่วัด ก็อยากบอกว่า กลอนสร้างนักเขียนมาหลายต่อหลายคนแล้ว 

          ต่อมาช่วงปี 2505 ก็เขียนกลอนไปลง คอลัมน์"ประกายเพชร"ที่เป็นคอลัมน์บทกลอนสองบทในไทยรัฐ ที่มีชื่อเสียงมาก เป็นคอลัมน์ท็อปฮิตระดับต้นๆ ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในรอบหลายสิบปีก่อนหน้านี้ ที่สร้างนักเขียนดังมากมายอย่างยิ่งยง สะเด็ดยาด ก็เขียนกลอนแล้วมาสมัครเป็นนักข่าวจนกลายเป็นคอลัมน์นิสต์ ซึ่งกลอนที่ถูกตีพิมพ์ในไทยรัฐสมัยนั้น หลายบทถูกนำไปอัดทำนองใส่เนื้อเป็นเพลงดังในอดีตหลายเพลง   ซึ่งคอลัมน์ประกายเพชร อยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ชื่อว่าหน้า"สวย-เพียบพูนด้วยเสน่ห์ -ฉลาดและแสนดี" ที่มีคอลัมน์ดังๆ มากมายเช่น "ศิราณีตอบปัญหาหัวใจ" ที่ฮิตมากตอนนั้น นอกจากนี้ ก็เขียนอีกหลายแห่งเช่น "สารเสรี"ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานอยู่แถวถนนราชดำเนิน 

         ....พื้นฐานวรรณกรรมเหล่านี้ตั้งแต่ตอนผมอายุ 13 ปี ส่งให้ผมมาเป็น กิเลน ประลองเชิง จนถึงทุกวันนี้ ก็สรุปว่าเขียนหนังสือมาทั้งชีวิต พื้นฐานกลอน ช่วยมาก ช่วยทำให้การเขียนงานต้องมีความประณีต เหมือนกับคุณจัดดอกไม้ ซึ่งผมก็เคยเรียนรู้การจัดดอกไม้ในงานศพตั้งแต่สมัยบวชเณร โดยการเขียนกลอน จะฝึกในเรื่อง ความประณีตในการตั้งประเด็น หยิบคำ แล้วก็เรียบเรียงมากเป็นกลอน-โคลง เป็นการฝึกในการเขียนหนังสือ

          อย่างปัจจุบัน หากวันไหนที่จนแต้ม คิดไม่ออก วันนี้ตัน เขียนไปแล้วอ่านแล้วรู้เลยว่า เขียนไม่ดี ต้องปรับแก้ ต้องมีการใช้ภาษา การเทน้ำหนักคำ ก็ได้พื้นฐานการเขียนกลอนมาช่วยได้เยอะในเรื่องการใช้คำ การใช้ความหมาย จากการเขียนกลอนมาช่วย 

         ส่วนเรื่องสั้น วรรณกรรมมีเขียนบ้าง โดยตอนทำข่าวที่จังหวัดยะลา มีปลัดจังหวัด เขาเห็นว่าเป็นนักข่าว มาขอให้เราช่วยเขียนเรื่องสั้น ลงในนิตยสารประจำจังหวัดชื่อ "ยะลาสาส์น"ก็เขียนวรรณกรรมเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตชื่อ"นาฎกรรมในเกลียวคลื่น"พอเขียนเสร็จส่งไป  ปลัดจังหวัดก็พูดฝากจ่าจังหวัดมาว่า เรื่องนี้"ประกิตไม่ได้เขียนเอง น่าจะลอกใครมา แต่จำไม่ได้ว่าลอกใคร" เราฟังเราก็โกรธ มีทิฐิ และตั้งใจว่าจะไม่เขียนเรื่องสั้นต่ออีกเลย ทั้งที่เราเขียนเอง 

         จนสิบกว่าปีต่อมา ผมถึงมารู้ว่ามีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ"เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก" ซึ่งเป็นเรื่องแรกของนักเขียนมหากาพย์คือ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ผู้เขียน "เหมืองแร่" ซึ่งเรื่อง เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก แหลมคมและภาษาที่ใช้ก็ยิ่งใหญ่ ผมอ่านแล้วก็ยอมรับว่า ตัวเองแค่นักข่าวธรรมดาเขียนเรื่อง นาฎกรรมในเกลียวคลื่นก็พื้นๆ 

         ผมเคยเจออาจิตน์ ผมถามเขาว่า ชีวิตนักเขียนอยู่ได้หรือ เขาตอบว่าอยู่ได้ ดูอย่าง ทมยันตี กฤษณา อโศกสิน ผมก็บอกพวกเขาเป็นระดับเทพ แต่อย่างผมกว่าจะสร้างชื่อได้ เรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิต ก็ถูกหาว่าไปก๊อปปี้เขามา 

         "สรุปว่า ชีวิตที่ผ่านมา ก็เขียนหนังสือ เขียนอะไรต่างๆ แล้วได้ลงหนังสือพิมพ์ตั้งแต่อายุ 13 ปี มาถึงวันนี้ ชีวิตก็เดินทางมาไกล"

          ..สไตล์การเขียนของผมจริงๆ อย่างที่เขียนในไทยรัฐปัจจุบัน จะสไตล์นักเขียนไม่ใช่นักข่าว เพราะก่อนจะมาเป็นคอลัมนิสต์แบบปัจจุบัน ทำข่าวมาหลายสิบปีโดยเฉพาะข่าวใหญ่ๆ ส่วนหากจะถามว่า ตอนเป็นนักข่าว ทำข่าวสายไหน ก็ต้องบอกว่า จริงๆพื้นฐานคือนักข่าวโรงพัก แต่การทำงานเราทำแบบนักข่าวเฉพาะกิจ ทำทุกเรื่องเวลามีเหตุขัดแย้งอะไรต่าง ๆมีสงครามก็ไป เช่นไปที่เบตง ยะลา พออยู่ยะลา มีเหตุการณ์ใหญ่ที่หนองคาย ก็ขึ้นเครื่องจากยะลาไปหนองคาย แล้วจากหนองคายก็ไปเชียงใหม่ จากเชียงใหม่ไปสกลนคร มีอะไรรบกันที่ไหน ก็ไปหมด ก็ขอให้เป็นข่าวใหญ่ เรื่องใหญ่สุด หรือเวลามีทหารปฏิวัติ  ก็ไปหมด เวลามีข่าวอะไร เราตั้งคำถามแบบคมๆ ไม่ถามเชยๆ จนแหล่งข่าว บางทียังจ้องหน้าเพราะถามบาดใจ ก็ทำข่าวทุกเรื่องที่ใหญ่ขอให้เป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง ซึ่งการทำหนังสือพิมพ์ ข่าวจะขึ้นหน้าหนึ่งได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ทำมาตลอด พอทำข่าวไปได้หลายปี ก็เริ่มเขียนคอลัมน์ ก็เริ่มจากเขียนคอลัมน์แทนคอลัมน์นิสต์ใหญ่ๆ ในยุคอดีตหลายคน  

         "คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา กิเลน ประลองเชิง"พูดกับเราว่า ชีวิตการเป็นนักข่าวและคนเขียนคอลัมน์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ทำและเขียนมาแล้วหลายแห่ง อย่างสมัยอยู่เดลินิวส์ มีทั้งคอลัมน์รายวัน คอลัมน์สุดสัปดาห์ช่วงเสาร์-อาทิตย์  ถ่ายภาพสารคดี และเรื่องประกอบ คอลัมน์อาหาร ทำสกู๊ปพิเศษอีกสัปดาห์ละสองชิ้น และอีกหลายอย่าง เรียกว่าทำงานหนักมาก แต่ก็ทุ่มเทกับทุกงานที่รับผิดชอบ แต่เพราะเป็นคนชอบเขียนหนังสือก็เลยสนุกกับงาน โดยสำนักพิมพ์ที่เคยอยู่มาก็เช่น เดลินิวส์ สยามโพสต์ ไทยรัฐ

.... อย่างบางช่วง ทำหนังสือพิมพ์บางฉบับเขามีพื้นที่หน้ากลางสองหน้า ผมก็นั่งถอดเทปสัมภาษณ์พิเศษ เช่น ชวน หลีกภัยสมัยเป็นนายกฯ ก็ทำเสร็จออกมาได้เจ็ดหน้ากระดาษ ทำเสร็จก็ไปทำอีกหลายคอลัมน์ ก็เขียนหนังสือพิมพ์ทั้งวัน บางวันเขียนเป็นสิบหน้ากระดาษพิมพ์แล้วก็ต้องไปทำข่าวอีก อย่างบางวันขับรถไปรัฐสภา ไปทำข่าว แล้วก็กลับมาเขียนข่าวที่โรงพิมพ์ ได้พาดหัวหน้าสามมาสามเรื่อง เช่น ทำข่าวบ้านพักชวน หลีกภัยที่ซอยหมอเหล็ง ก็พาดหัว"บ้านนายกรัฐมนตรีที่จนที่สุดในโลก -ชวน หลีกภัย นายกที่จนที่สุดในโลก"กลายเป็นเรื่องดัง ตอนอยู่หนังสือพิมพ์บางฉบับ ทำทั้งหน้าหนึ่ง หน้าสาม  หน้าแปด หน้าเก้า ในหนังสือพิมพ์รายวันแบบวันต่อวัน 

         สมัยนั้นทำงานหนักมาก หากเทียบกับสมัยนี้ที่ผมเห็นการทำข่าวของคนยุคนี้อาจต้องใช้คนถึงห้าคนหรือสิบคนกระมัง มันเหนื่อยมาก บางทีก็มีขัดใจ กับหัวหน้าข่าว บก.ข่าวบ้าง เป็นระยะ จนบอกแบบนี้อยู่ไม่ได้แล้วลาออกดีกว่า 

         ...ตอนเป็นนักข่าวก็ได้เงินสองพันบาทและค่าเรื่องต่างๆ รวมแล้วก็ประมาณ 7-8 พันบาท ก็ทำงานหนักมาตลอดในสมัยเป็นนักข่าว ได้รับการฝึกให้เกิดความเชี่ยวกราก และก็ทำงานแบบสุจริต ไม่เคยมีชื่อเสียในเรื่องนิสัย ไม่มีเรื่องใต้โต๊ะ ไม่เอาชื่อตัวเองไปขายเพื่อเอาเงินตรา ไม่เคยทำมาตลอดชีวิตการเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์และคอลัมน์นิสต์ เพราะทั้งชีวิตมีแต่เงินเดือนกับค่าเรื่อง อย่างอยู่ไทยรัฐ เขาก็ให้บ้านและรถยนต์ หากไม่ให้ก็คงไม่เงินซื้อ 

ก่อนจะมาเป็นกิเลน ในวันนี้ 

         สำหรับเส้นทาง การเป็นคอลัมนิสต์หน้าสาม ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์ยอดขายอันดับหนึ่งของประเทศไทยในรอบหลายสิบปีที่ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ แม้หนังสือพิมพ์ทุกวันนี้เกือบทุกฉบับ ยอดขายตกลงไปจากเดิมมาก 

         "ประกิต-นักหนังสือพิมพ์อาวุโส"เล่าที่มาที่ไปของการเข้ามาเป็นคอลัมนิสต์ นามปากกา"กิเลน ประลองเชิง"ในชื่อคอลัมน์"ชักธงรบ"ในไทยรัฐให้ฟัง ที่มีรายละเอียด เกร็ดย่อย ที่น่าสนใจว่า  คอลัมน์ ชักธงรบ เขียนมาแล้ว 25 ปี ในไทยรัฐ โดยคอลัมน์แบบกิเลน ถูกทาบทามให้เขียนมาตั้งแต่สมัย โรจน์ งามแม้นหรือเปลว สีเงิน เป็นหัวหน้าข่าวอยู่ไทยรัฐ เขาบอกว่าจะให้ผมไปเขียนแทนพี่ โกวิท สีตลายัน คอลัมนิสต์นามปากกา  “มังกรห้าเล็บ”ผู้มีชื่อเสียงมากของไทยรัฐในอดีต  เพราะเขาเห็นว่าเขียนได้ เขาติดใจที่ผมเอาเรื่องประวัติศาสตร์ วรรณคดีต่างๆ มาเขียนโยงเหตุการณ์ต่างๆ แล้วมีการใส่สำนวนเสียดสี ในตอนจบ ผมก็ปฏิเสธเขาไป บอกว่าเขียนไม่ถึงพี่โกวิทเขา 

         ...คือเรื่องของการเขียน ผมถูกฝึกมาตั้งแต่อยู่หนังสือพิมพ์หัวสี เดลินิวส์ ไทยรัฐ คือจะเขียนแบบชาวบ้าน เลือกเรื่องที่ตรงใจชาวบ้าน เลือกเรื่องที่ทันสมัย 

         เรื่องการมาเขียนหน้าสามไทยรัฐ อย่างที่บอกตอนต้น มีอยู่ช่วงหนึ่ง ทางไทยรัฐ ต้องหาคนมาเขียนคอลัมน์แทน พีโกวิท ที่ผมก็ปฏิเสธไปตอนแรก ต่อมา คุณสราวุธ วัชรพล หัวหน้ากองบก.ไทยรัฐ มาคุยกับผมบอกว่าจะให้ลองไปเขียนแทน ผมก็บอกเขาว่า "จนตายไปชาติหน้าผมก็เขียนหนังสือแบบพี่โกวิทไม่ได้"ก็คือเราก็เจียมตัว ต่อมา  ไทยรัฐก็ไปนำคอลัมนิสต์คนอื่นมาเขียนแทน 

          จนเมื่อจะมาเขียนคอลัมน์ หน้า 3 ไทยรัฐ ผมจะต้องมารับผิดชอบเขียนหน้าสามแบบประจำเป็นจริงเป็นจัง ช่วงที่จะเข้าไปเขียน ผมก็คิดว่าจะเขียนลักษณะอย่างไรเพื่อสร้างทางของตัวเอง ซึ่งพื้นฐานของผมเป็นคนสนใจเรื่อง"พระเครื่อง"พอสนใจก็ต้องค้นคว้าหาประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์ช่วยบอกรากฐานในการพิสูจน์ว่าเป็นพระแท้หรือไม่ เพราะเรื่องพระเครื่องเป็นเรื่องที่เราชอบมาทั้งชีวิต 

         ....อุปการะคุณที่ทำให้เกิดกิเลน ก็เพราะชอบพระเครื่อง พอชอบพระเครื่อง ที่มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ก็ต้องค้นคว้าประวัติศาสตร์ พอค้นคว้าไป ประวัติศาสตร์แต่ละเรื่องมันโยงไปหมด เลยอ่านประวัติศาสตร์โลก ประวัติศิลปะทั่่่วโลก ตอนแรกๆ ก็รู้แค่ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์เขมรทุกยุค จนเริ่มไปศึกษาประวัติศาสตร์กรีก -อียิปต์ -โรมัน เป็นต้น สรุปว่า สภาพแวดล้อมในชีวิตล้วนแต่ฉุดดึง ให้นั่งอ่านสารพัดเรื่อง ซึ่งจริงๆ แล้วผมก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรจริง แต่ผมจะรู้ทุกเรื่องไปหมด แล้วเรื่องเหล่านี้ก็ถูกนำไปใช้เป็นข้อเขียนของผม  เช่นแทนที่จะเล่าเรื่องอะไรตรงๆ ก็หยิบเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเล่า แล้วตอนจบ ก็ตวัดเล็กน้อย แต่สิ่งที่ได้ เรื่องที่ผมเลือกมา รับรองเจ๋ง 

         เพราะที่ผ่านมา ตั้งแต่เป็นนักข่าว ผมถูกฝึกมามากมายหลากหลาย อย่างสมัยเคยอยู่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เขาก็สอนให้ผมเป็นนักข่าวโรงพัก ก็ทำข่าวสายโรงพัก ทำข่าวตะเวนทั่วกรุงเทพมหานคร ทำข่าวกรมตำรวจ กองปราบปราม และเตรียมส่งไปทำข่าวสายศาล แต่พอดี เข้าไปทำงานในกองบก.เสียก่อนเพื่อเตรียมตัวเป็นคนเขียนหนังสือ คอลัมน์นิสต์

.... พอเริ่มมาเขียนคอลัมน์ ผมก็เขียนแนวมโนสาเร่ ไม่เขียนเรื่องการเมืองมหภาคเลย เพราะเรารู้ทางของตัวเอง หรืออย่างตอนเริ่มไปเขียนคอลัมน์สังคมในหน้าสี่ไทยรัฐที่ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ พอเข้าไปเขียน เราก็เจียมตัวว่าพื้นฐานอาจมีน้อยเมื่อเทียบกับคอลัมน์นิสต์หน้าสี่คนอื่นๆ ที่เขาเขียนอยู่ แม้แต่พื้นฐานจะมีน้อยแต่เราเป็นคนชอบเรียนรู้ ก็เลยเขียนได้ พอจะเข้ามาเขียนคอลัมน์หน้าสามไทยรัฐ นามปากกา กิเลน ประลองเชิง ตอนนั้น ก็ไม่มีใครเขียนแบบมังกร ห้าเล็บ ได้ ตอนนั้นพอดีว่า มีอยู่วันหนึ่งผมต้องเขียนแทนพี่เขา ผมก็คิดว่าจะเขียนอย่างไรดี ผมก็คิดว่าทางเดียวที่พอจะตามทางมังกรได้ ผมก็ต้องเอาเรื่องเก่าๆมาเขียน 

         พอดีตอนที่จะเขียนแทน ในวันนั้น พอดี ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคดีเนวิน ชิดชอบ ไม่มีความผิดในคดีหมิ่นประมาท (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 36/2542 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้สรุปว่า การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิพากษาให้คุณเนวิน มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 (4) ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้ไม่ต้องหลุดจากการเป็นรัฐมนตรี)

         ... ขณะนั้นสังคมก็วิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่ ผมก็นั่งคิดจนถึงห้าทุ่ม จะเขียนอะไรดี คิดหาแนวอยู่ ก็หลับไป พอตีสอง ตื่นขึ้นมา เดินจากห้องตัวเองมาเปิดตู้หนังสือที่อยู่ข้างๆ เดินไปหยิบหนังสือ "ศรีธนญชัย" เป็นเสภาศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง 

         ผมเริ่มต้นเขียนว่า ตอนเด็กผมเรียนเรื่องนิทานอีสป แต่ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญ นักกฎหมายปล่อยเนวิน ผมเล่าเรื่องเชียงเมี่ยง เสร็จ ก็ตบท้ายว่า ศรีธนญชัย เต็มบ้านเต็มเมือง ทำนองว่าด่าตั้งแต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นักกฎหมาย นักการเมือ เรื่องนี้คืองานเขียนชิ้นแรกของกิเลน อยู่ในหน้าสามไทยรัฐ โดยใช้ชื่อเรื่อง"วิชาศรีธนญชัย" พอเขียนออกมา ปรากฏว่า"มันปั้ง"คือมันเกรียวกราว จนคำว่าศรีธนญชัยถูกนำไปใช้กันมากช่วงนั้นเพราะต่างก็เยาะหยันศาลรัฐธรรมนูญ จนหลายคนนำคำนี้ไปใช้เช่นนายอานันท์ ปันยารชุน และสื่อหลายค่าย ไม่ใช่แค่ไทยรัฐ ก็นำคำนี้ไปใช้กันหลากหลาย มีบางสื่อก็ทำคอลัมน์เล็กๆ ขึ้นมาเขียนล้อมกรอบถึงผมว่า "กิเลน ประลองเชิง"เป็นใคร ตอนนั้นกระแสคำพูดศรีธนญชัย หนึ่งเดือนผ่านไปแล้ว ยังพูดกันไม่จบ อย่าง คุณสราวุธ หัวหน้ากองบก.ไทยรัฐ ที่ปั้นผมขึ้นมา ก็พูดชมผมเป็นการส่วนตัว บอกว่า"คุณแน่มาก"  จนผมต้องบอกชมเกินไปแล้ว ก็เพ้อๆ ไปธรรมดา 

         จนต่อมาเมื่อพี่โกวิท สีตลายัน จากไป ผมก็มาเขียนคอลัมน์แทนพี่เขา ก็เริ่มด้วยการเขียนเรื่อง"วิถีแห่งมังกร"ด้วยความคารวะ รำลึกและคิดถึงพี่โกวิท มังกรห้าเล็บ ที่ตอนเขียนก็น้ำตาไหล แล้วก็เริ่มใช้นามปากกา"กิเลน ประลองเชิง" ซึ่งช่วงแรกๆ ก็มีฟีดแบคพอสมควรว่าผมยังเขียนไม่ค่อยดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมังกรห้าเล็บ จนตอนนั้นใจก็เริ่มคิดว่าเออ ขนาดเพื่อนสนิทหลายคนก็บอกว่าผมเขียนห่วย บางคนก็บอกกับผมว่า"คอลัมน์หน้าสามไทยรัฐ ผมอ่านมาเป็นสิบปีแล้ว ทำใจไม่ได้ เขียนยังไง ก็ไม่มีทางเป็นเหมือนมังกรห้าเล็บ แต่ลีลาการเขียนของผม ถือหลักอย่างหนึ่งว่า ถ้าคิดเหมือนใคร กิเลน คิดเหมือนใคร กิเลน ไม่เขียน เป็นสิ่งที่อาจินต์ สอนผมไว้ 

         เมื่อถามถึงว่ามีหลักในการเขียนคอลัมน์อย่างไรบ้าง ?"ประกิต-คอลัมน์นิสต์ไทยรัฐ"บอกว่า การเขียนก็เกิดจากการอ่านเยอะ แล้วก็ใช้พื้นฐานความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะการเขียนเรียงความ ก็นำมาใช้ในการคิดคำขึ้นต้น-ลงท้ายได้หมด รวมถึงวิชาด้านกลอนก็นำมาใช้ได้เยอะ โดยเฉพาะหากเป็นงานด้านการเขียนข่าว การพาดหัว เรื่องการย่อความจะมีความสำคัญ ผมเป็นนักประหยัดคำที่สุด นี้คือคาถาในการทำงาน บางครั้ง ก็เคยถามตัวเองว่า เราเก่งหรือไม่เก่ง แล้วคนอ่านเขาอ่านเรารู้เรื่องไหม แต่เมื่อเขียนๆไปก็พบทางของตัวเองว่าอยากเขียนอะไรก็เขียน บางทีก็เขียนจับกระแส แต่หลักคือต้องเป๊ะในความคิด แต่ตอนหลังผมเห็นว่าคนเขียนแนวจับกระแสข่าวรายวัน คนเขียนกันเยอะแล้ว ก็เลยอยากเขียนอะไรก็เขียน วันนี้ก็เป็นแบบนี้ ตายก็ตายวันนี้ นี้ก็คือ 25 ปีแล้ว เขียนได้ยังไง 

ลิ้นกับฟัน คอลัมนิสต์กับนักการเมือง 

กับเรื่องเล่า อดีตนายกฯกับคนนสพ. 

         และแน่นอนที่สุด คอลัมนิสต์ที่การเขียนยังไง ก็ต้องพาดพิงนักการเมืองเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในการเขียนวิเคราะห์ เขียนวิพากษ์วิจารณ์การเมืองต่างๆ ซึ่งเรื่องคอลัมนิสต์กับนักการเมือง ก็มีเรื่องเล่าจาก"ประกิต"สอดแทรกเข้ามาในระหว่างสัมภาษณ์ครั้งนี้ที่เป็นเกร็ดที่น่าสนใจ โดยเล่าว่า เคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ที่มักมีปัญหากับสื่อมวลชนมาตลอดตั้งแต่สมัยยังไม่เป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็เคยแถลงว่าผมถูกสั่งมาว่าไม่ให้ยุ่งกับคนพวกนี้ (คอลัมนิสต์) จนเมื่อเขาเข้าไปแถลงนโยบายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา แล้วยาวไปถึงตอนตีสอง เขาก็ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมรัฐสภาตอนหนึ่งว่า “คอลัมนิสต์ที่เขียนหน้าสามที่ชอบเขียนเรื่องสามก๊ก” เช้าขึ้นมามีคนโทรศัพท์หาผมเต็มไปหมดบอกว่านายกฯท่านนั้นพูดถึงผมตอนตีสอง 

....ต่อมารัฐบาลชุดนั้นมีเรื่องกรณีการเซ็นใบอนุญาตน้ำตาล ผมก็เขียนว่าให้ระวังเป็นเบาหวาน ปรากฏว่า อดีตนายกรัฐมนตรีคนดังกล่าว ออกทีวีที่ออกประจำสัปดาห์ เขาก็อ่านคอลัมน์ผมตั้งแต่บรรทัดแรกจนจบทั้งคอลัมน์  อ่านจบแล้วก็ยกมือไหว้พระ แล้วบอกว่า"ผมขอสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า ผมทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจด้วยเหตุผล 1 2 3  ถ้าผมทุจริตคอรัปชั่นขอให้ผมฉิบหาย และเช่นเดียวกัน ถ้าผมสุจริตใจ ขอให้ไอ้คนเขียนคอลัมน์นี้และครอบครัวมัน ฉิบหายตายโหง" 

         ซึ่งอยากบอกว่า นักการเมืองบางคนชอบเล่นมุขกับการให้หนังสือพิมพ์ด่า แล้วโดดลอยขึ้นไปเพื่อเอาชนะคนด้วยเรื่องนี้ เพราะฝีปากดี จนบางช่วง ยังต้องมาบอกกับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ว่า ทำไมไม่ด่าผมบ้างไม่มีมุขเล่นเพราะนักการเมืองเขาคิดว่าการถูกด่า คือทำให้ตัวเองเป็นจุดสนใจแล้วเขาใช้เกมนี้จนทำให้ชนะเลือกตั้งมาแล้วในอดีต

         "อยากบอกว่าชีวิตคนทำหนังสือพิมพ์ คนเขียนคอลัมน์ เขียนไปแล้วไม่มีคนอ่านมันเฉาที่สุด มีคนชม คนด่า เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้ามีคนสาปแช่งระดับอดีตนายกรัฐมนตรีมันเป็นเกียรตินะ เพราะถามว่าเคยมีคอลัมนิสต์คนไหนในประเทศนี้ที่คนระดับนายกฯให้เกียรตินำไปนั่งอ่านทั้งคอลัมน์ในทีวี สำหรับผมถือเป็นเกียรติ เป็นฟีดแบคที่ต้องขอบใจเขา ผมรู้สึกโก้ เขาก็คงขอบใจผม ที่เขียนถึงเขา เพราะทำให้เขาได้แสดงฝีปาก"

                  -หากจะมีนักข่าว คนทำสื่อ อยากจะเขียนบทความ เขียนคอลัมน์ต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง จะมีอะไรแนะนำ?

         ขอบข่ายงานข่าวตอนนี้มันกว้าง ต้องใช้หลัก”สุ จิ ปุ ลิ หัวใจของนักปราชญ์” -"สุ" ฟังและอ่านให้เยอะ โดยเฉพาะเรื่องที่ในหน้าที่งานข่าวที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง สอง "จิ"ฟัง-อ่านแล้วก็คิด สาม "ปุ"ข้องใจก็ถาม ข้องใจก็ตามหาข้อมูลสืบค้น สี่"ลิ" เขียน ใช้หลักหัวใจนักปราชญ์สี่ข้อนี้ คุณจะไม่หลุดจากความเป็นนักข่าวนักเขียนชั้นยอดไปได้เลย

หนังสือคือชีวิต จิตใจฉัน 

กับนักเขียนในดวงใจ

         -เป็นคนอ่านเยอะขนาดนี้ แล้วมีนักเขียน หนังสือในดวงใจหรือไม่?

         อ่านเยอะ ที่ชอบก็อย่าง"เหมืองแร่"ของพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ แล้วก็มีอีกหลายเล่มเช่น จับตาย ของมนัส จรรยงค์รวมถึง พวกนิยายแปล ที่แปลโดยพิชัย รัตนประทีป ที่แปลของนักเขียนชื่อดังเช่น จอห์น สไตน์เบ็ค เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ กีย์ เดอ โมปัสซัง มีกี่เล่มผมก็ซื้อหมด เมื่อก่อน หนังสือทุกเล่ม ผมจะเขียนไว้ที่มุมปก "หนังสือคือชีวิต จิตใจฉัน" 

         ส่วนข้อเขียนของตัวเอง  ที่ถูกนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือขาย ก็มีอยู่บ้างเช่น เรื่องของผอ. กำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  ที่ผมเอาความคุ้นเคยที่เคยอยู่ไทยรัฐรอบแรก 14 ปี มาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งใช้เวลาสิบห้าวัน ชื่อว่า ชีวิตยิ่งกว่านิยาย ของกำพล วัชรพล" เล่มนี้พิมพ์ขายสองก๊อปปี้ ได้เงินมาเจ็ดหมื่นบาทในสมัยนั้น มีคนมาซื้อเอาไปทยอยลงทีละตอนได้ตอนละหนึ่งพันสี่ร้อยบาท และก็มีหนังสืออย่าง"ชักธงรบ 1 (ยารักษาเมือง)" ของสำนักพิมพ์openbooks และ"ชักธงธรรม"ของสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี เป็นต้น 

         "ประกิต-คอลัมนิสต์อาวุโสจากไทยรัฐ"ที่อยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มาหลายสิบปี พูดถึงสถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์-หนังสือพิมพ์ โดยบอกว่า ที่ผ่านมา ก็มีคนถามกันมากว่า หนังสือ-กระดาษ จะจบหรือยัง ผมก็เค้นคิด กับสราวุธ วัชรพลมายี่สิบปี พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยบอกกับผมว่า หนังสือกระดาษมันยังมี ผมเคยเปรียบเทียบว่า หลายปีก่อนหน้านี้เคยไปบุรีรัมย์ พบว่าไทยรัฐขายหมดไปแล้วสองร้อยเล่มร้านนั้น แต่หนังสือพิมพ์บางฉบับ มีทั้งร้านอยู่สองเล่ม ยังขายไม่ออกเลย ผมก็บอกคนในไทยรัฐว่า ขนาดหนังสือพิมพ์เล็กๆตอนนี้เขายังอยู่ได้เลย ดูแล้ว ไทยรัฐยังไงก็ไม่เจ๊ง เพราะหนังสือมันจะจำกัดตัวเองสำหรับคนที่มีรสนิยมแบบหนึ่ง อยู่ในหนังสือของผู้ดี เหมือนคนกินไวน์ ผมก็พยายามบอกสราวุธว่า ให้คอนโทรลหนังสือให้มันมีคุณภาพ ให้มีรสนิยมว่าคนต้องซื้อหนังสือไปใส่ตู้ หนังสือพิมพ์เราก็เช่นเดียวกัน มันจะเป็นทางเลือกหนึ่งของคนที่มีรสนิยมแบบหนึ่ง ซึ่งแม้จะเหลือลดน้อยลง แต่ก็จะเป็นทางเลือกเล็กๆ สักทางหนึ่ง แม้จะเล็กใหญ่แค่ไหน แต่จะไม่ใช่ทางเลือกในโซเชียลมีเดีย ในออนไลน์ ถ้าตั้งหลักให้ดี สิบปีก็ไม่เจ๊ง นี้เป็นคำพยากรณ์ 

         ถามปิดท้ายว่า ภูมิใจหรือไม่กับรางวัลศรีบูรพาที่ได้รับ ในฐานะคนทำหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ "ประกิต"บอกว่า ความที่อายุเยอะแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ตอนได้รางวัลก็ให้สัมภาษณ์สื่อไปว่า มหาโจรจื๋อ ถูกขงจื้อบุกขึ้นไปขอเจรจา ขอให้เป็นเจ้าเถอะ ทำให้เมือง 6-7 เมืองค้าขายไม่ได้ ขอให้มาเป็นอ๋อง มหาโจรจื๋อ  ตอบกลับไปว่า มึงอย่ามาหลอกกู คนอย่างกูหรือจะไม่รู้ว่า ชื่อเสียง ลาภ ยศ เหมือนเมฆหมอกที่ลอยผ่านหน้า มันฟุ้งมา สักพักก็ลอยหายไป อันนี้พูดจากใจจริง ไม่ได้เพ้อฝัน ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร แต่ก็ดีอย่างช่วยองค์กรที่กำลังเหงาๆ หนังสือพิมพ์คนอ่านน้อยลง จู่ๆ กิเลนที่เขียนมา 25 ปีมาได้รางวัล

         ตอนแรกที่รู้ว่าเขาให้รางวัล ผมก็งงเหมือนกัน เพราะผมก็ไม่มีฝั่ง ไม่ใช่ซ้าย ไม่ใช่ขวา ผมก็ถามเขาที่มาให้รางวัลว่า พอได้แล้ว ผมต้องทำตัวยังไง เพราะเห็นส่วนใหญ่ที่ได้จะเป็นสายฝั่งซ้าย ไม่มีคนให้หรืออย่างไร ที่พูดไม่ได้อะไร ก็รู้สึกขอบคุณและเป็นปลื้มในยามเหงาๆ แก่แล้วก็เอามาคุยได้ สารภาพก็ได้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ลงข่าวผมได้รางวัล ขึ้นหน้าหนึ่ง สราวุธ วัชรพล มากำกับการเขียนพาดหัว  ผมไม่กล้าอ่าน ตลอดชีวิตเคยแต่เขียนให้คนอื่นอ่าน เขียนมานับหมื่นเรื่อง ตลอดสี่สิบปีที่เป็นนักข่าวเขียนทุกวัน แต่พอเรื่องตัวเองเป็นข่าว ไม่กล้าอ่าน อันนี้ยืนยัน มันเขิน เพราะไม่ได้ยินดียินร้ายกับคำสรรเสริญเยินยออะไรแล้ว แก่จนรู้เท่าทันและเข้าใจมันแล้ว เพราะทุกอย่างมาแล้วก็ไป ก็ขอบใจเขาที่ให้รางวัลเรา