ฝ่ายสิทธิ์ TJA หวั่น ภัยคุกคามแอพสอดแนม ‘เปกาซัส’ ลามถึงสื่อมวลชน

อุปนายกฝ่ายสิทธิ์ สมาคมนักข่าวฯ จี้ภาครัฐเร่งตรวจสอบ-ชี้แจงกรณีตรวจพบการใช้สปายแวร์ ‘เปกาซัส’ ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เตือนคนทำงานสื่อ อาจเสี่ยงติดร่างแหโดนสอดแนมตามไปด้วย

วันที่ 20 ก.ค. 2565 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา 3 องค์กรด้านสิทธิการใช้อินเตอร์เน็ตและความเป็นส่วนตัว ได้แถลงผลการตรวจสอบพบว่า โทรศัพท์มือถือของกลุ่มนักกิจกรรม นักวิชาการ เอ็นจีโอ นักการเมือง และผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมกว่า 30 คน ตกเป็นเป้าการโจมตีของ “เปกาซัส” (Pegasus) โปรแกรมจารกรรมหรือ “สปายแวร์” ขั้นสูงที่ผลิตโดยบริษัท NSO Group นับว่าเป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานการใช้สปายแวร์ดังกล่าวในประเทศไทย 

ต่อมาในวันที่ 19 ก.ค. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ณ รัฐสภา ว่า ตนทราบมาว่ามีการใช้ “เปกาซัส” จริงในคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและยาเสพติด แต่ปฏิเสธว่ากระทรวงของตนไม่ได้เป็นคนดูแลเรื่องนี้ 

ภาพงานแถลงข่าวเปิดเผยผลการสอบสวนการใช้โปรแกรม “เปกาซัส” สอดแนมกลุ่มนักวิชาการ นักกิจกรรมการเมือง และเอ็นจีโอในไทยอย่างน้อย 30 คน เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 (ภาพโดย AP)

นายธีรนัยระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะเปกาซัสมีศักยภาพในการสอดแนมสูง สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวบนโทรศัพท์มือถือได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ เสียงสนทนา ข้อความแชทในแอพพลิเคชั่นต่างๆ และเปิดกล้องกับไมโครโฟนบนโทรศัพท์ได้โดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว 

ถ้าหากภาครัฐหรือหน่วยงานความมั่นคง ติดตั้งเปกาซัสในโทรศัพท์มือถือของผู้เห็นต่างทางการเมือง ก็ย่อมสามารถดักฟังและเข้าถึงการสนทนาระหว่างผู้เห็นต่างดังกล่าว กับผู้สื่อข่าวที่โทรศัพท์สัมภาษณ์ในฐานะแหล่งข่าว ผู้สื่อข่าวที่ทำการสัมภาษณ์จึงอาจตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ถูกสอดแนม หรือถูกเพ่งเล็งจากหน่วยงานความมั่นคงไปด้วยโดยปริยาย

นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีกลุ่มบุคคลจำนวนเท่าใดบ้างในประเทศไทย ที่ตกเป็นเป้าการสอดแนมของโปรแกรมเปกาซัส นอกเหนือจากกลุ่มนักกิจกรรม-ผู้เห็นต่างจำนวน 30 ที่ระบุในรายงานของ 3 องค์กรด้านสิทธิอินเตอร์เน็ต และยังไม่แน่ชัดว่า มีผู้สื่อข่าว หรือคนทำงานด้านสื่อมวลชน ถูกติดตามและสอดแนมจากโปรแกรมเปกาซัสด้วยหรือไม่ 

“ถึงแม้บริษัทผู้ผลิตเปกาซัส ได้กล่าวย้ำมาตลอดว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีไว้สำหรับเฝ้าระวังผู้กระทำความผิดร้ายแรง เช่น กลุ่มก่อการร้ายหรือขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ แต่ในความเป็นจริง มีหลักฐานว่ารัฐบาลอำนาจนิยมในหลายประเทศใช้สปายแวร์ดังกล่าว ในการสอดแนมและติดตามกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐและสื่อมวลชนที่รายงานข่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทำให้น่ากังวลใจว่า โปรแกรมเปกาซัสในประเทศไทย มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในลักษณะเดียวกันบ้างหรือไม่” นายธีรนัยกล่าว

“ดังนั้น ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบการใช้เปกาซัสในประเทศไทย และชี้แจงต่อสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมาว่า มีกลุ่มบุคคลใดบ้างที่อยู่ภายใต้การสอดแนมของเปกาซัส, ใครเป็นผู้ควบคุมดูแลการใช้โปรแกรมดังกล่าว, และมีหลักการกำกับดูแลอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชน ตลอดจนป้องกันมิให้โปรแกรมเปกาซัสถูกใช้เป็นเครื่องมือที่มุ่งเป้าเฉพาะการสอดแนมผู้เห็นต่างจากรัฐเท่านั้น” 

ท้ายสุดนี้ นายธีรนัยแนะนำให้เพื่อนๆสื่อมวลชน ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านดิจิตัลต่างๆที่อาจจะกระทบต่อการทำงานและของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน จะได้ปรับตัวปรับพฤติกรรมการทำงานให้ทันยุคสมัย เพื่อปกป้องทั้งตนเองและแหล่งข่าว 

“ยกตัวอย่างเช่น ต้องประเมินความเสี่ยงเวลาโทรศัพท์สัมภาษณ์แหล่งข่าวที่อาจตกเป็นเป้าการสอดแนมจากหน่วยงานความมั่นคง ประเมินว่าสิ่งที่พูดคุยกับแหล่งข่าวทางโทรศัพท์ อาจถูกดักฟังและส่งผลกระทบต่อตัวผู้สื่อข่าว หรือแหล่งข่าวที่ให้สัมภาษณ์หรือไม่ เนื่องจากสื่อมวลชนมีหน้าที่ในการปกป้องสวัสดิภาพของแหล่งข่าวตามความเหมาะสมด้วย ซึ่งในส่วนของฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าวฯ จะพิจารณาจัดอบรมและกิจกรรมให้ความรู้สื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าวเร็วๆนี้ รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบในโอกาสถัดไป”

นายธีรนัยกล่าวปิดท้าย 

ลิงก์ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ “เปกาซัส”

แผ่หลักฐาน “เพกาซัส” สอดแนมไทย (ไทยพีบีเอส) 

'ชัยวุฒิ'รับ'เพกาซัส'ใช้สอดแนมงานมั่นคง-ยาเสพติด ดีอีเอสไม่มีอำนาจ (สำนักข่าวอิศรา)

รู้จัก ‘เปกาซัส’ สปายแวร์จากอิสราเอล ที่ขายให้รัฐบาล-หน่วยงานของรัฐเท่านั้น (มติชนออนไลน์)

ตรวจ สปายแวร์เพกาซัส (Pegasus) ในโทรศัพท์คุณ ง่ายๆแค่ 3 ขั้นตอน (สปริงนิวส์)