อดีตอธิบดีราชทัณฑ์ แจง 2 แนวทางแก้ปัญหาคุกล้น ยันปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากล

นายนัทธี  จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  การแก้ปัญหาคนล้นคุกมีแนวทางแก้ปัญหาสองทางคือ 1. ไม่ให้คนเข้าคุกมากขึ้น ด้วยการกรองคนออกไปด้วยความรู้ด้านทัณฑวิทยาต่างๆ ไม่ให้คนที่ไม่ควรเข้าไปอยู่ในคุก หรือใช้วิธีดูแลควบคุมอื่นไม่ให้เขาไปสร้างความเดือดร้อนกับสังคม  เป็นไปตามหลักสากล ที่ไม่เอาโทษจำคุกไปใช้กับคดีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม  2.​เอาคนที่เข้าไปแล้วมากรองออกไปให้เร็วขึ้น เก็บเฉพาะคนร้ายๆ เอาไว้ ส่วนคนที่พัฒนาพฤตินิสัยได้แล้ว ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม  กลุ่มที่เจ็บป่วย ชรา เมื่อรับโทษระยะหนึ่ง  ก็ควรปรับให้มีการออกไป

อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมาในการคัดกรองขาเข้ามาในพื้นที่เรือนจำ ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ มีปัญหาหลายอย่าง  เราเคยได้ทำไปส่วนหนึ่งทั้งการคุมประพฤติ เอาคนทำผิดคดีเล็กน้อย ออกไปคุมประพฤติ แทนที่จะติดในเรือนจำแต่ก็ทำได้ส่วนหนึ่ง ​แต่ว่าในส่วนคัดกรองคนออกก็ยังไม่สามารถกรองคนออกไปได้มากขึ้น ​วิธีหนึ่งที่ทางฝ่ายบริหารทำได้ในการกรองคนออก คือ การพัก การลดวันพักโทษ  คนที่ทำผิดแล้วรับโทษระยะหนึ่ง และดูไม่เป็นอันตราย ก็สามารถได้รับการกรองออกมา แต่เรายังไม่ได้ทำอย่างนี้เต็มที่

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาคนล้นคุกด้วยการสร้างคุกเพิ่มเพิ่มนั้น คงถือเป็นทางเลือกสุดท้าย  เพราะวิธีการแก้ปัญหานี้เป็นภาระเรื่องงบประมาณในการก่อสร้าง ​งบประมาณในการดูแลรักษา

ตลอดจนเรื่องของการดูและนักโทษที่เพิ่มขึ้น แม้จะสร้างเพิ่มขึ้นอีก กี่แแห่ง ถ้ายังมีการเข้ามาอย่างนี้ ก็ยังต้องสร้างเพิ่มไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ สิ่งที่ดีที่สุด คือ กรองคนเข้าและกรองคนออก ​ส่วนการก่อสร้างอาจจำเป็น แต่ไม่ใช่รับนักโทษที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับเรือนจำหมดสภาพ ให้เหมาะสมกับการปฏิบัติต่อนกระทำผิด เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบัน หรือสร้างเรือนจำที่มีวัตถุประสงค์ในการคุมขังผู้ต้องขังมีลักษณะเฉพาะบางประเภท

นายนัทธี กล่าวว่า จำนวนนักโทษที่มากขึ้นจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าต้องนอนเบียดกันนั้น หากจะเรียกว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังไม่เชิง เพราะแม้บางเรือนจำจะมีนักโทษเกินความจุ แต่ประเด็นความจุของไทย กับต่างประเทศต่างกันเพราะความจุของต่างประเทศนับกับที่เตียง แต่ของไทยกำหนดไว้เป็นพื้นที่กี่ตางรางเมตรแบ่งเป็นล็อต มีหมอน ผ่าห่ม แม้จะมีนักโทษเพิ่มแต่เราสามารถมีพื้นที่สำหรับผู้ต้องขังได้เพียงแต่นอนในที่แคบลง

ทั้งนี้ ถ้าเราดูวิธีการปฏิบัติกรมราชทัณฑ์ค่อนข้างดำเนินการได้สองคล้องกับมาตรฐานสากลหลายเรื่อง หากไปดูจะเห็นว่าไม่ได้นอนเบียดก่ายกันอย่างที่เข้าใจ  แต่จำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นอาจกระทบเรื่องเรื่อง ห้องน้ำ ห้องส้วม ไปจนถึงที่รับประทานอาหาร ซึ่งต้องปรับให้กินเป็นรอบๆ อาบน้ำเป็นรอบ ​ซึ่งแม้จะแออัด แต่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายนัทธี ​กล่าวอีกว่า อัตราการกระทำผิดซ้ำของนักโทษจะคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คือ ปีแรก 15%  ปีที่สอง 22% และ ปีที่ 3 ประมาณ 30% กว่า อาจมีเปลี่ยนไปบ้างแต่ไม่มาก  คนที่ทำผิดซ้ำส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มเดิม ปล่อยตัวออกไปเขาก็จะทำผิดเหมือนเดิม ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่มีโอกาสเข้าไปโครงการอบรมแก้ไขจริงจังเพราะคุณสมบัติไม่เข้าข่ายอบรม บางคนไม่ประสงค์เข้ารับการอบรมไม่ยอมปรับปรุงตัวเอง ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะต้องใช้วิธีกันออกไปจากสังคมนานๆ ให้ความชราภาพ ทำลายศักยภาพเขา หรือไม่ก็ทำให้เขาหมดสภาพก่อนออกไปสู่สังคม

อย่างไรก็ตามส่วนที่มีนักโทษเข้าอบรมแต่ละโครงการ เป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนักโทษทั้งหมดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องความสมัครใจอีกส่วนเป็นเรื่อง​คุณสมบัติของนักโทษแต่ละคน ซึ่งการเข้าร่วมโครงต่างๆ ก่อนพ้นโทษนั้น ขึ้นกับความสมัครใจของผู้ต้องขัง ประกอบกับคุณสมบัติเบื้องต้น เช่น เหลือโทษอีกกี่เดือน รวมไปถึงว่าตั้งใจจะเอาความรู้ไปใช้หลังพ้นโทษอย่างไร

นายนัทธี กล่าวว่า จากจำนวนคนที่เข้าโครงการอบรมของราชทัณฑ์ แต่ยังกลับมาติดซ้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้นไม่สามารถไปสรุปได้ว่าโครงการเหล่านั้นไม่มีประสิทธิภาพ เพราะบางคนเลือกที่จะเข้าอบรมในบางโครงการเพียงเผื่อให้ได้เลื่อนชั้น ได้สิทธิ ซึ่งการเลือกคนที่เข้าอบรมก็จะพยายามเลือกจากคนมีความตั้งใจ บางคนรักดีก็จะเอาเอาดีได้จากการอบรม แต่คนที่เกเรการอบรมก็ยังแก้ไม่ได้ต้องใช้วิธีอื่นจัดการ

"ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเรื่องของประสิทธิภาพโครงการหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับคนที่เลือกเข้าไปอบรมด้วย การจะแก้ปัญหาให้ได้ผลดี วิธีการแก้ไขที่จะทำให้ได้ผล ต้องแยกปฏิบัติ คนไหนรักดี คิดดี ต้องให้โอกาสอบรมเต็มที่ ส่วนคนที่ไม่รักดีหรือคิดทำผิด ต้องเก็บไว้ในคุกนาน กันออกจากสังคม เพราะถ้าคนหนึ่งได้โอกาสออกไปแล้ว ไปก่อคดี 15 คดี ต่อปี หากอยู่ในคุก 15 คดีนั้น ก็จะไม่เกิดขึ้น" นายนัทธีกล่าว