เมื่อมีข้อพิพาททางแพ่งหรือทางอาญาเกิดขึ้น ก่อนที่คดีที่จะเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลหรือก่อนมีคำพิพากษา จะมีกระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท ในชั้นพนักงานอัยการและชั้นศาล เพื่อให้คู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทกันเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งแก่คู่กรณีเอง และเป็นประโยชน์ต่อทางราชการที่คดีไม่ยืดเยื้อเสียเวลาและงบประมาณของของประเทศ แต่นอกจากการไกล่เกลี่ยดังกล่าวแล้ว ล่าสุดได้มีการนำกระบวนการไกล่เกลี่ยมาใช้ในคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่มากนัก และคดีอาญาบางประเภท โดยกำหนดเป็นกฎหมายกลาง คือ พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 และมีผลใช้บังคับ นับแต่วันถัดจากวันประกาศ เว้นแต่หมวด 3 การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา หมวด 4 การไกล่เกลี่ยคดีอาญา ในชั้นพนักงานสอบสวน หมวด 5 การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศ คือจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดย พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยนี้ มีคดีอาญาที่เข้าเงื่อนไข เช่น การลักทรัพย์, ข้อหาชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส บางคนที่ไม่ได้ทำผิดแต่อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่มีการชุลมุนทำร้ายร่างกาย, ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คดีเหล่านี้สามารถไกล่เกลี่ยได้ ซึ่งกฎหมายการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนี้ เป็นการนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง ที่มีทุนทรัพย์ไม่มากนัก และข้อพิพาททางอาญา บางประเภท มากำหนดเป็นกฎหมายกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐพนักงานสอบสวนหรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนใช้ในการยุติหรือระงับข้อพิพาทดังกล่าว แต่จะต้องคำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญ จึงไม่เพียงแต่ลดปัญหาความขัดแย้ง สร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข แต่ยังทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง เป็นการช่วยลดจำนวนผู้ต้องขัง ที่จะเข้าสู่เรือนจำ จะทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง เป็นการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก “ พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยนี้ จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถที่จะไกล่เกลี่ยยุติคดีได้เลย แต่จะมีการกำหนดข้อหาที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ไว้ในประกาศแนบท้าย เช่น ข้อหาลักทรัพย์ธรรมดา ซึ่งปัจจุบันนี้ปัญหาลักทรัพย์ สอดคล้องกับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความเครียด เรามักจะเห็นข่าวการลักทรัพย์ในร้านค้า เพราะความยากจน พนักงานทั้งหลายที่อยู่ตามร้าน ไม่ใช่เจ้าของร้านตัวจริง ดังนั้นนโยบายของบริษัทจะให้แจ้งตำรวจเพื่อส่งดำเนินคดี เมื่อตำรวจจับไป พนักงานสอบสวนที่ผ่านอบรมการไกล่เกลี่ยมา ก็สามารถไกล่เกลี่ยให้จบได้ ถ้าเห็นว่าคนที่มาลักทรัพย์ ไม่ใช่โจรโดยสันดาน หรือไม่ได้มีนิสัยเป็นคนร้าย เพราะบางคนไปนั่งคุยกัน ถึงจะรู้ว่าความยากจน ลักเอาของไปเลี้ยงลูกหรือบางรายขโมยยา เพื่อเอาไปให้คนป่วย เพราะไม่มีเงินพอจะซื้อได้ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการอบรมพนักงานสอบสวน ที่จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อให้มีความรู้ระดับหนึ่ง เพราะบางกรณีพนักงานสอบสวนจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บ้านของผู้กระทำผิด ใครมีความจำเป็นในลักษณะนี้ ก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ หากเจ้าของทรัพย์ซึ่งเป็นผู้เสียหายหรือผู้แทนบริษัทเห็นใจ สามารถที่จะไกล่เกลี่ยได้ เช่น จะชดใช้คืนตามราคาทรัพย์ทั้งหมด หรือจะไม่เอาความเลยก็ได้ ตำรวจก็จะสามารถไกล่เกลี่ยและปิดคดีเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้ “ในอดีตสังคมเคยนินทาตำรวจว่าเป่าสำนวนทิ้ง คือมีการจับแล้วปล่อยจับ ไม่เอาผิด แต่วันนี้กฎหมายไกลเกลี่ยนี้ผู้แทนหลายส่วน ตำรวจ ผู้แทนอัยการ ผู้แทนของรัฐ และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้มานั่งคุยกันว่าเรื่องการเป่าสำนวนทิ้ง เราเอาขึ้นมาบนโต๊ะเลย เอามาเจรจาไกล่เกลี่ย มีกติกาเป็นกฎหมายที่ชัดเจนว่าเรื่องไหนไกล่เกลี่ยได้ เรื่องไหนไกล่เกลี่ยไม่ได้ แล้วเอามาคุยกัน ซึ่งกฎหมายไกล่เกลี่ย ถือเป็นกฎหมายที่ให้โอกาสคน หากคนนั้นไม่ใช่คนร้ายโดยสันดาน ทำผิดเพราะจำเป็น สามารถที่จะไม่ต้องเข้าเรือนจำ ขอความเห็นใจ ขอโทษ และชดใช้ ขึ้นอยู่กับการไกล่เกลี่ยระหว่างสองฝ่าย ซึ่งคนที่ไม่ได้เป็นคนไม่ดีโดยตั้งใจ เขาก็จะเกิดความรู้สึกเข็ด และสิ่งเหล่านี้จะเป็นการคัดกรองคนส่วนหนึ่ง ที่จะขึ้นชั้นศาล หรือเข้าสู่เรือนจำ แต่การไกล่เกลี่ยนี้ก็ไม่ใช่ว่าทำซ้ำแล้วซ้ำอีกซ้ำซาก หากคุณเคยไปขโมยบอกว่าจน แต่ครั้งหน้าทำอีก ก็ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้” นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เราไม่ต้องการให้เขากลับมาทำผิดซ้ำอีก เราจะมีช่องทางให้เขามีงานทำ ช่วยในเรื่องของการหางานทำ คือเป็นการทำครบวงจร เพราะแค่ไกล่เกลี่ย แล้วปล่อยออกไป มันไม่จบ ต้นเหตุของปัญหามันไม่ได้แก้ การไกล่เกลี่ยเราแก้แค่ปัญหาแรกเท่านั้น คือเขาไม่ต้องเข้าเรือนจำ แต่การจะทำให้เขามีอาชีพ เพื่อมีรายได้ประทังชีวิตอย่างไรต่อไป นั่นคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เขาไม่กลับไปทำผิดอีก”