แอมเนสตี้ฯ ห่วงสภาวะคุกล้นกระทบสิทธิผู้ต้องขัง แนะยึดหลักแมนเดลลา เชื่อสังคมให้โอกาส ช่วยแก้ปัญหาคนติดซ้ำ

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  กล่าวว่า   เบื้องต้นเห็นด้วยที่คนทำผิดต้องได้รับการลงโทษตามกระบวนการ แต่ถึงเขาจะเป็นผู้ต้องขังแต่เขาก็ยังต้องได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ซึ่งสถานการณ์คนล้นคุกในบ้านเรามีมานานถึงขั้นถูกทำไปเป็นหนังด้วยซ้ำ แต่ยิ่งผ่านมานานเท่าไหร่ปัญหายิ่งซับซ้อนและคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่ชื่อเสียงของประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พยายามที่จะเรียกร้อง ให้ทางราชทัณฑ์ นำข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมาปฏิบัติ ทั้งเรื่องความแออัด สุขภาวะ การเข้าถึงการรักษาพยาบาล การงดใช้โซ่ตรวน  พร้อมกับให้ความสำคัญเรื่องการจัดการปัญหาที่รากของปัญหาว่าทำไมคนถึงล้นคุก

“เรามองว่าการให้โอกาสทางสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งในการแก้ปัญหา เราลงโทษเพื่อไม่ให้เขากลับมากระทำผิดซ้ำ เราก็ต้องหาทางป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นไม่ให้เขาทำผิดซ้ำ หากเราไม่เปิดโอกาสให้เขา เขาก็ต้องกลับไปทำผิดอีกกลายเป็นวนลูป” นางปิยนุช กล่าว

นางปิยนุช กล่าวอีกว่า ภาวะในคุกที่มีสภาพคนล้นต้องนอนเบียดกันไม่ควรปล่อยให้เป็นปัญหาคาราคาซัง เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน  แม้ว่าในคุกจะไม่มีทางดีอยู่แล้วแต่การใช้ชีวิตก็ไม่ควรยากลำบากเกินไป ซึ่งสภาพคนล้นคุกต้องแก้ไขในหลายประเด็น หนึ่ง ป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม สองใช้หลักของแมนเดลา และสามมีกระบวนการจัดการนักโทษเช่นการพักโทษ หรือวิธีอื่น

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  กล่าวว่า เรื่องนักโทษกระทำผิดซ้ำนั้นต้องดูหลายปัจจัยทั้งเป็นคนกลุ่มไหน มีรายได้จำกัด ยากจนหรือไม่มีโอกาสเข้าสู่การประกอบอาชีพเหมือนกับคนอื่นหรือไม่ อีกด้านก็ต้องดูว่าภาครัฐติดตามหลังพ้นโทษอย่างไร ที่สำคัญคือสังคมเข้าใจและห่วงใยคนกลุ่มนี้แค่ไหนอย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการอบรมผู้ต้องขังของราชทัณฑ์ ที่ถูกตั้งคำถามว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่นั้นยังไม่แน่ใจว่ามีการประเมินกันในรายละเอียดอย่างไร แต่เป็นเรื่องดีที่มีโครงการ ซึ่งอาจต้องติดตามว่าอะไรเป็นช่องว่างที่ทำให้ผู้ต้องขังที่เข้าอบรมแล้วยังกลับมาติดซ้ำอีก ทั้งเรื่องของตัวนักโทษเอง หรือ การฝึกอาชีพที่ใช่แนวทางที่เขาต้องการหรือไม่ หรือชุมชนยอมรับหรือเปล่าเพราะบางครั้งแม้แต่ครอบครัวเองก็ยังไม่ยอมรับ

นางปิยนุช กล่าวว่า ด้วยสัดส่วนจำนวนผู้ต้องขังที่น้อยมากในการเข้าอบรมแต่ละโครงการ ซึ่งก็ต้องไปย้อนดูว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร มีบุคลากรเพียงพอหรือไม่ ถ้าศักยภาพไม่ต้องต้องไปดึงทรัพยากรจากที่ไหนมาเสริม และที่สำคัญคือเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญว่าเขาอยากให้โอกาสกับผู้ต้องขังจริงหรือไม่ โอกาสก็เป็นเรื่องสำคัญถ้าเขามีโอกาส เขาก็จะรู้ว่าตัวเองมีค่าและเริ่มต้นใหม่ได้ แต่หากถูกมองว่าไม่มีค่าเขาก็ไม่รู้จะเริ่มต้นใหม่ไปเพื่ออะไร