“คุก” คือสถานที่ชดใช้ความผิดของของผู้ที่ถูกพิพากษาตัดสินลงโทษ หรือ “ผู้ต้องขัง” โดยหวังว่าพวกเขาจะสามารถสำนึกผิดและกลับตัวกลับใจกลายเป็นคนใหม่เมื่อพ้นโทษแล้ว แต่ในวันนี้คุกหรือเรือนจำที่พวกเขาอยู่นั้น กลายเป็นพื้นที่วิกฤติ จากข้อมูล สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) ระบุว่าประเทศไทยมีนักโทษมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และมีจำนวนสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเรือนจำที่มีผู้ต้องขังมากที่สุด อันดับ 1 คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้ต้องขัง 2.1 ล้านคน อันดับที่ 2 ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีจำนวนผู้ต้อง 1.6 ล้านคน อันดับที่ 3 ประเทศบราซิล 7.4 แสนคน อันดับที่ 4 ประเทศรัสเซีย 5.4 แสนคน และอันดับที่ 5 ประเทศอินเดีย 4.3 แสนคน
ทั้งนี้ เรือนจำทั่วประเทศไทยมีความสามารถในการผู้ต้องขังได้เพียง 1.2 แสนคน แต่จำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ 3.6 แสนคน ปัญหาจำนวนผู้ต้องขังเกินกว่าปริมาณที่รับได้สูงกว่า 2 เท่า ส่งผลให้เกิดความแออัดและการใช้ชีวิตกินนอนในแต่ละวันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง โดยใช้งบประมาณแผ่นดินที่สูงถึงปีละ 12,000 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นคือ “ปัญหาผู้ต้องขังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน” แม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะการมีสถานที่หลับนอน และอาหารการกินที่เหมาะสมถูกสุขอนามัย
ปัญหา “คนล้นคุก”
ทีมอาสาสมัครจากชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ) หรือ “ทีดีเจ” ได้นำข้อมูลตัวเลขผู้ต้องขังจากกรมราชทัณฑ์ ที่เผยแพร่เป็นโอเพ่นดาต้า จากเว็บไซต์ www.correct.go.th สรุปข้อมูลภาพรวมของผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนจำ สถานกักกันและทัณฑสถานทั่วประเทศ 143 แห่ง พบว่าข้อมูลวันที่ 1 กันยายน 2562 มีทั้งสิ้นจำนวน 364,598 คน แบ่งเป็นชาย 317,130 คน หญิง 47,468 คน และจากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี จาก 2557 – 2561 พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วมีผู้ต้องขังเด็ดขาดเพิ่มขึ้นเดือนละ 2,916 คน ขณะที่มีนักโทษระหว่างลดลงเฉลี่ยเดือนละ 52 คน
และถ้าเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลจาก
www.prisonstudies.org พบว่าเมื่อ 19 ปีที่แล้ว หรือปี 2543 ประเทศไทยมีนักโทษทั้งหมด 2.2 แสนคน แต่ในปี 2562 เพิ่มเป็น 3.6 แสน หรือเพิ่มถึงร้อยละ 63 ขณะที่พื้นที่เรือนจำไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 19 ปีที่แล้วมากนัก
จากการนำตัวเลขฐานข้อมูลเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง วันที่ 1 กันยายน 2562 มาวิเคราะห์ว่าพื้นที่ใดมีนักโทษเกินโดยสัดส่วนที่กำหนดไว้มากสุด พบ 5 อันดับแรกได้แก่
อันดับ 1 เรือนจำกลางปัตตานี รับนักโทษได้1,012 คน มีจำนวนนักโทษ 2,542 ความจุเกิน 1,530 คน (151 %)
อันดับ 2 เรือนจำอำเภอบึงกาฬ รับนักโทษได้ 754 คน มีนักโทษ 1,787 คน เกิน 1,033 คน (137 %)
อันดับ 3 เรือนจำกลางระยอง รับนักโทษได้ 3,353คน มีนักโทษ 7,647คน เกิน 4,294 คน (128 %)
อันดับ 4 ทัณฑสถานเปิดบ้านนาวง รับนักโทษได้ 198 คน มีนักโทษ 439 คน เกิน 241 คน (121%)
อันดับ 5 เรือนจำจังหวัดตรังรับนักโทษได้ 1,405 คน มีนักโทษ 2,838 คน เกิน 1,433 คน (101%)
ส่วนเรือนจำที่ยังมีพื้นที่เหลือสามารถรับคนได้เพิ่ม 5 อันดับแรก คือ 1. เรือนจำคลองเปรม รับเพิ่มได้อีก 3,939 คน 2. สถานกักขังกลางจังหวัดลำปาง รับเพิ่มได้อีก 2,024 คน 3. เรือนจำพิเศษกรุงเทพ รับเพิ่มได้อีก 1,995 คน 4. ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง รับเพิ่มได้อีก 1,875 คน 5. ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา รับเพิ่มได้อีก 1,670 คน
ทั้งนี้ ทีมอาสาสมัครทีดีเจ ได้ค้นหาข้อมูลจำนวนนักโทษที่จัดเก็บในรูปแบบไฟล์แยกรายเดือนและรายปี รวมถึงรูปแบบอื่น ๆ จากข้อมูลเว็บไซด์กรมราชทัณฑ์ เพื่อมาจัดระเบียบ (Cleaning) ก่อนนำมาประมวลผล ทำให้พบว่าตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2561 มีการรับนักโทษมากกว่าการปล่อยตัวประมาณ ปีละ 1.3 เท่า หรือประมาณ 46,933 คนโดยเฉลี่ย และพบว่าผู้ต้องขังชายมีจำนวนร้อยละ 87 ผู้ต้องขังหญิงร้อยละ 13
ปัญหา “นักโทษติดซ้ำ”
จากการนำ โอเพ่น ดาต้า ของกรมราชทัณฑ์มาตรวจวิเคราะห์ ทำให้ทีมอาสาสมัครทีดีเจ พบว่าหนึ่ง ในปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักโทษในประเทศไทย คือ “ผู้ต้องขังกลับมาติดคุกซ้ำ” หลังจากได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว โดยมีจำนวนผู้ติดคุกซ้ำเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละประมาณ 10,000 คน
เช่น ปี 2556 มีนักโทษติดคุกซ้ำ 13,442 คน ต่อมา ปี 2557 มีนักโทษติดคุกซ้ำ 24,225 คน หมายถึงเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 10,783 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ส่วนปี 2558 มีผู้ติดคุกซ้ำ 35,335 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 11,110 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ขณะที่ข้อมูลปี 2559 มีผู้ติดคุกซ้ำ 49,481 คน
สรุปแล้วเรือนจำไทยมีนักโทษที่ติดคุกซ้ำเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ปีละ 12,013 คน
โดยกระบวนการสืบค้นข้อมูลนั้น โปรแกรมเมอร์และทีมนักข่าวอาสาสมัครของทีดีเจ ได้พยายามนำข้อมูลโอเพ่น ดาต้าจาก “ฐานข้อมูลผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำ” ของ เว็บไซด์กรมราชทัณฑ์
http://www.correct.go.th/recstats/index.php/th/searchGroup มาจัดระเบียบใหม่แบ่งแยกตามข้อมูลเพศ, อายุ, คดีที่ก่อ, โครงการที่เข้าร่วมก่อนได้รับการปล่อยตัว, ระยะเวลาการติดคุกจริง, ประเภทผู้ต้องขัง, กำหนดโทษ, สถานที่คุมขัง, สถานที่คุมขังก่อนปล่อยตัว และทำการสืบค้นข้อมูลตามปี และตัวเลขจำนวนการติดคุกซ้ำ เนื่องจากข้อมูลมีอยู่จำนวนมาก หากใช้วิธีสืบค้นข้อมูลด้วยการกดปุ่มดูละทีหัวข้อ จะต้องกดปุ่มค้นหาไม่ต่ำกว่า 1,200 ครั้ง และถ้าทำทุกหัวข้อ อาจต้องใช้วันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง เป็นเวลาต่อเนื่องถึง 25 วัน
โปรแกรมเมอร์จึงใช้วิธีการเขียนโค้ด (code) ผ่านโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์ดึงข้อมูลออกมาแทน โดยใช้กระบวนการเขียนโค้ดผ่านโปรแกรม Python และการ scrape website ของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลตัวเลขมาบรรจุลงในตารางที่ตั้งไว้ เช่น ตัวอย่างโค้ดที่ใช้มีดังนี้
เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดที่ต้องการแล้ว จากนั้นก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กัน ทำให้ได้ข้อค้นพบเบื้องต้นว่า
“นักโทษที่ได้รับโทษน้อยกว่า 1 ปี มีโอกาสติดคุกซ้ำมากกว่า นักโทษที่ได้รับโทษสูงกว่า 1 ปี”
และ
“คนที่ติดคุกเยอะที่สุดอยู่ในกลุ่มอายุ 30-40 ปี หรือเป็นช่วงวัยทำงาน”และยังพบว่า
กลุ่มอายุ 30 – 40 ปี คือกลุ่มที่มีอัตราการติดคุกซ้ำสูงสุดอีกด้วย
จากรายละเอียดข้อข้อมูลพบว่า คดีที่นำไปสู่การติดคุกซ้ำส่วนใหญ่มาจาก คดียาเสพติด คือร้อยละ 63 ซึ่งเยอะกว่าคดีอื่น ๆ ทั้งหมดรวมกัน
ปัญหา “โครงการเตรียมความพร้อมสู่สังคม”
นอกจากปัญหาความหนาแน่นคนล้นคุก และปัญหานักโทษติดซ้ำแล้ว ทีมอาสาสมัครทีดีเจยังค้นพบอีกว่า โครงการเตรียมความพร้อมนักโทษในเรือนจำให้กลับคืนสู่สังคม ที่มีข้อมูลทั้งหมด 8 โครงการนั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนัก เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้กลับมาติดคุกซ้ำอีก
ตัวอย่างตัวเลขข้อมูลปี 2559 มีจำนวนนักโทษทั้งหมดทั่วประเทศ 317,513 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 12,422 คน หรือร้อยละ 4 ที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว
จากการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของนักโทษ กลุ่มที่เคยเข้าโครงการฯก่อนปล่อยตัวในช่วง 5 ปี ย้อนหลัง พบว่ามีนักโทษกลุ่มนี้กลับมาติดคุกซ้ำด้วย โดยแยกรายละเอียดแต่ละโครงการได้ดังนี้
- โครงการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังเสพยาเสพติดในรูปแบบวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ด้วยกระบวนการลูกเสือ (ลูกเสือวิวัฒน์เพื่อพลังแผ่นดิน) ผู้ผ่านโครงการนี้และกลับมาติดคุกซ้ำในปี 2555 จำนวน 3 คน ปี 2556 จำนวน 22 คน 2557 จำนวน 94 คน ปี 2558 จำนวน 75 คน 2559 จำนวน 37 คน และ ปี 2560 จำนวน 76 คน
- โครงการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในรูปแบบชุมชนบำบัด ผู้ที่ผ่านโครงการนี้และกลับมาติดคุกซ้ำในปี 2555 จำนวน 58 คน ปี 2556 จำนวน 140 คน 2557 จำนวน 256 คน ปี 2558 จำนวน 221 คน 2559 จำนวน 273 คน และ ปี 2560 จำนวน 274 คน
- การบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจเยาวชนสมาชิกใครติดยายกมือขึ้นตามแนวทางพระราชดำริโครงการ TO BE NUMBER ONE ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ผู้ที่ผ่านโครงการนี้และกลับมาติดคุกซ้ำในปี 2555 จำนวน 408 คน ปี 2556 จำนวน 977 คน 2557 จำนวน 1,898 คน ปี 2558 จำนวน 2,308 คน 2559 จำนวน 2,378 คน และ ปี 2560 จำนวน 2,347 คน
- โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ หลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย(เรือนจำโครงสร้างเบา) ผู้ที่ผ่านโครงการนี้และกลับมาติดคุกซ้ำในปี 2555 จำนวน 0 คน ปี 2556 จำนวน 0 คน 2557 จำนวน 2 คน ปี 2558 จำนวน 1 คน 2559 จำนวน 3 คน และ ปี 2560 จำนวน 5 คน
- โครงการโปรแกรมเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทั้งทางร่างกายและจิตใจ แก่ผู้ต้องขังด้วยการอบรมศีลธรรมจริยธรรมทางศาสนา กิจกรรม ดนตรี กีฬา นันทนาการ ผู้ที่ผ่านโครงการนี้และกลับมาติดคุกซ้ำในปี 2555 จำนวน 38 คน ปี 2556 จำนวน 81 คน 2557 จำนวน 188 คน ปี 2558 จำนวน 212 คน 2559 จำนวน 237 คน และ ปี 2560 จำนวน 211 คน
- โครงการแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมให้เรือนจำดำเนินการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังตามความถนัด และความต้องการของผู้ต้องขังและตลาดแรงงาน ผู้ที่ผ่านโครงการนี้และกลับมาติดคุกซ้ำในปี 2555 จำนวน 30 คน ปี 2556 จำนวน 51 คน 2557 จำนวน 68 คน ปี 2558 จำนวน 72 คน 2559 จำนวน 99 คน และ ปี 2560 จำนวน 48 คน
- โครงการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังในลักษณะการจ้างแรงงาน ผู้ที่ผ่านโครงการนี้และกลับมาติดคุกซ้ำในปี 2555 จำนวน 5 คน ปี 2556 จำนวน 7 คน 2557 จำนวน 30 คน ปี 2558 จำนวน 37 คน 2559 จำนวน 47 คน และ ปี 2560 จำนวน 24 คน
- โครงการการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง ผู้ที่ผ่านโครงการนี้และกลับมาติดคุกซ้ำในปี 2555 จำนวน 10 คน ปี 2556 จำนวน 40 คน 2557 จำนวน 55 คน ปี 2558 จำนวน 77 คน 2559 จำนวน 78 คน และ ปี 2560 จำนวน 37 คน
ทั้งนี้ ทีมอาสาสมัครทีดีเจ พยายามค้นหาและสอบถามข้อมูลงบประมาณของแต่ละโครงการจากกรมราชทัณฑ์ปรากฏว่ามีการปฏิเสธการให้ข้อมูล และมีเพียงโครงการเดียวเท่านั้นที่เปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์
http://www.correct.go.th/?p=35542 โดยเป็นรายงานงบประมาณประจำปี 2561 ของ กรมราชทัณฑ์ ที่ระบุว่างบประมาณในส่วน “โครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย (เรือนจำโครงสร้างเบา)” ใช้งบประมาณ 36.7 ล้านบาท มีผู้ต้องขังเข้าโครงการ 46,378 คน เป็นเงินงบในงบประมาณ 27.1 ล้านบาท เงินนอกงบประมาณ 3.5 ล้านบาท และ งบกลาง 4.5 ล้านบาท และงบส่วนอื่นๆ
จากข้อมูลที่ทีมอาสาสมัคร ทีดีเจ ได้รวบรวมมาให้เห็นทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงปัญหาวิกฤตคนล้นคุกในประเทศไทย และปัญหานักโทษติดซ้ำ ซึ่งถือเป็นปัญหาสังคมที่ทุกฝ่ายควรจะช่วยกันเร่งแก้ไข แต่จากการที่ข้อมูลดาต้าไม่ได้รับการเปิดเผย มีการเลือกเปิดและปิดข้อมูลบางส่วน แม้จะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ก็ตาม จึงทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก ที่จะทำให้เห็นถึงต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างตรงจุด แต่ก็มีความเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มองปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ และสะท้อนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ
ทีมอาสาสมัครทีดีเจ มีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้เคยมีประสบการณ์เข้าออกเรือนจำหลายครั้ง พบว่าการกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย
"คุณเป็ด" อดีตผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ผู้มีประสบการณ์เป็นนักโทษติดซ้ำ เปิดเผยความรู้สึกให้ฟังว่า ครั้งแรกที่เข้าเรือนจำเป็นช่วงปี 2544 เพราะขายยาเสพติด อายุประมาณ 20-21 ปี โดนตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือนที่เรือนจำพิเศษธนบุรี บางบอน วันแรก ๆ ร้องไห้เพราะกลัวมาก แต่พอมีเพื่อนก็เปลี่ยนจากความกลัวเป็นความฮึกเหิม กลายเป็นแก๊งใหญ่ไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดอะไรเลย พอออกจากคุกมาสักพักหนึ่ง โดนคดีขายยาเสพติดอีกตอนปี 2555 เพราะครอบครัวเดือดร้อนต้องการใช้เงิน
''ผมอยากเป็นคนใหม่ ไม่ได้อยากเป็นคนไม่ดี แต่พอออกมาเจอสังคมภายนอก เขาเห็นว่าเราติดคุกมา เขาก็ไม่เอาหรอกนะแค่รอโอกาส ผมไม่อยากวนกลับไปอยู่ในเรือนจำอีก ผมเชื่อได้เลยว่าติดคุกรอบต่อไปของผม คงติดไม่ต่ำกว่า 20 - 30 ปี ผมคงตายในคุก ผมไม่อยากกลับไปอยู่วังวนแบบเดิมอีกแล้ว อยากได้โอกาส...ผมอยากได้แค่นั้น"
อ่านฉบับเต็ม : สัมภาษณ์เปิดใจคุณเป็ด
“ปิยนุช โคตรสาร” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะในคุกที่มีสภาพคนล้นต้องนอนเบียดกัน ไม่ควรปล่อยให้เป็นปัญหาคาราคาซัง เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แม้ว่าในคุกจะไม่มีทางดีอยู่แล้ว แต่การใช้ชีวิตก็ไม่ควรยากลำบากเกินไป ซึ่งสภาพคนล้นคุก ต้องแก้ไขในหลายประเด็น หนึ่ง ป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม สอง ใช้หลักของแมนเดลา และสาม มีกระบวนการจัดการนักโทษ เช่น การพักโทษ หรือ วิธีอื่น
อ่านฉบับเต็ม : สัมภาษณ์ แอมเนสตี้
“นัทธี จิตสว่าง” อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัญหาคนล้นคุก แม้จะแออัด แต่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าเราดูวิธีการปฏิบัติกรมราชทัณฑ์ ค่อนข้างดำเนินการได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลหลายเรื่อง
ซึ่งการแก้ปัญหาคนล้นคุก ทำได้ 2 ทาง คือ กรองคนเข้าเพื่อไม่ให้คนเข้าคุกมากขึ้น และกรองคนออก แต่ที่ผ่านมาทั้ง 2 ทางนี้ ยังทำได้ไม่เต็มที่ มีปัญหาหลายอย่าง ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาคนล้นคุกด้วยการสร้างคุกเพิ่มนั้น คงถือเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะวิธีการนี้ เป็นภาระเรื่องงบประมาณในการก่อสร้าง งบประมาณในการดูแลรักษา ตลอดจนเรื่องของการดูและนักโทษที่เพิ่มขึ้น แม้จะสร้างเพิ่มขึ้นอีก กี่แแห่ง ถ้ายังมีการเข้ามาอย่างนี้ ก็ยังต้องสร้างเพิ่มไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
อ่านฉบับเต็ม : สัมภาษณ์ นัทธี จิตสว่าง
“
สมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงนโยบายในการแก้ปัญหา "ผู้ต้องขังล้นคุก" ไว้ก่อนหน้านี้ว่า พยายามจะออกแบบวิธีการให้เกิดคงสมดุลระหว่างจำนวนนักโทษที่เข้าและออก เพื่อที่จะไม่ต้องสร้างเรือนจำใหม่ ให้มีพื้นที่เพียงพอในการคุมขัง โดยทางออกอาจจะเป็นเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ กำไลอีเอ็ม ซึ่งจะต้องทำภายใต้กรอบของกฎหมาย หรือการใช้เงินในกองทุนยุติธรรม เข้ามาช่วยประกันและปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขัง ระหว่างพิจารณาคดี โดยที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับการประกันจากกองทุนแล้ว 2,396 ราย นอกจากนี้จะเร่งผลักดันโครงการคืนคนดีสู่สังคม สร้างเขตอุตสาหกรรมในเรือนจำ และการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการเกษตร เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พ้นโทษ และเร่งรัดมาตรการจูงใจทางภาษี ด้วยการลดหย่อนภาษีให้นายจ้างและผู้ประกอบการ ที่จ้างงานผู้พ้นโทษ
นอกจากด้านนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ยังมีกฎหมายให้โอกาสคน ที่เข้ามาช่วยในการคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง คือ พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 และกำลังจะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ย.นี้
“โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระราชดำรระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เปิดเผยว่า กฎหมายตัวจะทำให้ปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก เพราะจะคัดกรองคนที่ยังไม่จำเป็นต้องเข้าเรือนจำออกไป เนื่องจากบางคนทำไปด้วยความยากจน ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยจะมีการกำหนดว่าคดีอาญาใดบ้างที่สามารถไกล่เกลี่ยได้
ส่วน พ.ร.บ.ตัวนี้ จะเป็นดาบสองคมหรือไม่นั้น ยืนยันว่ากฎหมายกำหนดกติกาในการไกล่เกลี่ยไว้แล้วว่าไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจ ต้องเป็นความยินยอมของคู่กรณี และการให้โอกาสจะมีแค่ครั้งเดียว หากยังกลับมาทำผิดซ้ำอีก จะไม่สามารถใช้ พ.ร.บ ตัวนี้ได้อีก
อ่านฉบับเต็ม : สัมภาษณ์ โกศลวัฒน์
“รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์” นักวิชาการอิสระ ประธานโครงการเรือนจำสุขภาวะ ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงมานานกว่า 10 ปี แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาคนล้นคุกในประเทศไทยว่า ความจริงแล้วปัญหานี้เกิดจากกฎหมายของไทย โดยเฉพาะกฎหมายยาเสพติด มีการกำหนดบทลงโทษให้ติดคุกไว้ค่อนข้างสูง แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมทำผิดหรือครอบครองโดยตรง แค่สมรู้ร่วมคิดก็ถูกตัดสินจำคุกไปด้วย
ส่วนวิธีแก้ “ปัญหาคนล้นคุก” นั้น ไม่ใช่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์โดยตรง เนื่องจากเป็นสถานที่รับผู้ต้องขังเท่านั้น แต่กรมราชทัณฑ์เองต้องรู้ข้อมูล รายละเอียดของผู้ต้องขังและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ควรสะท้อนให้เห็นว่าอาจมีหลายคนที่ไม่ควรติดคุก ต้องเสนอปัญหาเหล่านี้อย่างละเอียดให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาช่วยกันออกนโยบายแก้ไขเรื่องนี้
อ่านฉบับเต็ม : สัมภาษณ์ ดร.นภาภรณ์
ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย
ธนพล บางยี่ขัน
ดารินทร์ หอวัฒนกุล
ธนสาร พัวทวีพงศ์
พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท
กานต์ อุ่ยวิรัช
สราวุฒิ ศรีเพ็ชรสัย
แผนภูมิประกอบ
https://create.piktochart.com/output/41073117-tdj
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
https://www.prisonstudies.org/country/thailand
http://www.correct.go.th/rt103pdf/report_index.php
http://www.correct.go.th/rt103pdf/crowdedpdf.php?filena me=2019_2019-08-05
http://www.correct.go.th/rt103pdf/crowded_index.php
http://www.correct.go.th/recstats/index.php/th/searchGroup
https://drive.google.com/file/d/1j728lAr8XhtKxuxXNwjcbqcW_mYHjGRK/view
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/844367
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมราชทัณฑ์
กลุ่มงานพัฒนาระบบการพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์
ส่วนส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาจิตใจ กองพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์
ส่วนฝึกวิชาชีพและส่งเสริมทักษะการทำงาน กองพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/law136-220562-1.pdf (พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท)