“ศาลรัฐธรรมนูญ และทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง คงตระหนักเรื่องนี้ ต้องหาข้อยุติ กรณีของพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่จะมีการประชุม สุดยอดผู้นำเอเปกในเดือนพฤศจิกายน”
ปรากฏการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค2 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ “นายกรัฐมนตรี” คอการเมืองหลายคนไม่แปลกใจ ที่ผลจะออกมาในรูปแบบนี้ ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี วิเคราะห์ ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า
เป็นครั้งแรกในช่วง 30 ปี ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยมีกรณีนี้มาก่อน แต่ลดความตึงเครียดไปได้มาก หากไม่สั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ ก็จะมีปัญหาตามมาทันที 1.กระแสสังคมจาก กลุ่มมวลชนต่างๆ ที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ก็จะยกระดับการเคลื่อนไหว แสดงสัญลักษณ์แสดงพลัง
2. ความชอบธรรม ในการทำหน้าที่ ช่วงที่เป็นสุญญากาศ ระหว่างรอคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ หากท่านไม่ถูกสั่งพัก ก็จะเกิดคำถามจากสังคมแน่นอน ว่าท่านปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างรอคำวินิจฉัยได้หรือไม่ แม้มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ จะบัญญัติไว้ ว่าไม่กระทบหรือเป็นโมฆะก็ตาม
“ศาลรัฐธรรมนูญ และทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง คงตระหนักเรื่องนี้ ต้องหาข้อยุติ กรณีของพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่จะมีการประชุม สุดยอดผู้นำเอเปกในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งผมตรวจสอบจากทุกฝ่ายแล้ว เขามั่นใจว่าถึงอย่างไร การวินิจฉัยเรื่องความชัดเจน กรณีของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องจบก่อนการประชุมเอเปก จะเริ่มขึ้น”
แต่ก็จะมีปัญหาอีกว่า ถ้าสมมุติภายใน 1 เดือนข้างหน้า จบแบบพล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็จะต้องไปซาวเสียงหานายกฯใหม่ ใช้เวลาเดือนกว่า แต่คิดว่าสภาคงจะหาทางออก ตั้งนายกฯตัวจริงขึ้นมาได้ ไม่เช่นนั้นจะติดปัญหา เรื่องการลงนามในสัญญา หรือข้อตกลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประชุมเอเปก
ส่วนการสรรหาตัวนายกฯคนใหม่ หากพล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ได้ไปต่อ ครม.ก็ต้องรักษาการ เพื่อบริหารบ้านเมือง ทั้งนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ แต่ตามปกติต้องทำอย่างรวดเร็ว โดยคุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ต้องเรียกประชุมร่วมรัฐสภา เพราะการเลือกนายกฯ ช่วง 5 ปีแรก รัฐธรรมนูญบังคับใช้ ให้ส.ว. ต้องมีส่วนร่วมโหวต ซาวเสียงหานายกฯคนใหม่ด้วย
โดยเลือกตามบัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองเสนอ ตั้งแต่ปี 2562 ก่อน ซึ่งตอนนี้เหลืออยู่5-6 คน คือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนนี้ยังเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์อยู่ แต่ไม่ได้เป็นส.ส. , คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย , คุณชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคด้านการตรวจสอบ กระบวนการยุติธรรมและอำนาจรัฐ พรรคเพื่อไทย
อีก 2 รายชื่อของพรรคเพื่อไทย คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ลาออก จากสมาชิก ไปอยู่พรรคไทยสร้างไทย , คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ล่าสุดระบุว่า ขอทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.ต่อไป มีคุณอนุทินคนเดียว ที่เป็นส.ส. ก็น่าจะได้รับการสนับสนุน จากพรรคการเมืองมากที่สุด เพราะภูมิใจไทย ไม่มีปัญหาการเมืองภายใน
ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถที่จะมาเสนอชื่อได้ เพราะถือว่าครบวาระ การดำรงตำแหน่ง 8 ปีไปแล้ว ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการนายกฯ ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี ก็จะไม่ถูกเลือกในรอบแรก ทั้งนี้ในการเลื่อนรายชื่อ มีเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถ้าเลือกรายชื่อ ที่อยู่ในบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้ ก็อาจจะต้องไปปลดล็อค เรื่องคนนอกบัญชี เพราะจะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ของ 2 สภา
“ถ้าเรามองในทางการเมือง ต้องทราบว่าส.ว. มีแนวทางที่จะสนับสนุน กลุ่ม 3 ป. หากเสนอชื่อคุณอนุทินหรือ คุณชัยเกษม ส.ว.อาจจะไม่เอาด้วยก็ได้ ถ้าไม่เอาด้วย เสียงก็จะเกินกึ่งหนึ่ง ของ 2 สภายาก เพราะเสียงเต็มคือ 750 เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 376 แต่ว่าตอนนี้เสียงจะขาดไปประมาณ 20 เสียง ก็จะอยู่ที่ประมาณ 360 กว่าๆ คงจะหาจำนวนนี้ยาก ถ้าส.ว. ไม่ได้สนับสนุน”
แต่ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ เช่น ไปซาวเสียงแล้ว ไม่มีใครเลือกหรือได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะ นำไปสู่ล็อคต่อไป คือ สมาชิกของ 2 สภา รวมชื่อกันให้เกินกึ่งหนึ่ง เพื่อไปยื่นต่อประธานสภา ของดใช้การเลือกของนายกฯ ที่มาจากชื่อ ในบัญชีพรรคการเมืองเท่านั้น
ถ้าได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ที่ว่าเข้าชื่อกันนี้ ไปส่งประธานสภาแล้ว ก็จะเรียกประชุมรัฐสภาอีกรอบ เพื่อยืนยันจะไปเลือกนายกฯนอกบัญชี ตรงนี้ต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ราวๆเกือบ 500 เสียง จาก 750 ซึ่งตอนนี้ เหลืออยู่ประมาณ 720 คน จะยากขึ้นอีก แต่ถ้าการเมืองเดินไปถึงจุดนั้น ก็ชัดเจนว่าคงจะมีนายกฯนอกบัญชี
ถ้ามีเสียงสนับสนุน ให้ใช้เสียงนายกฯนอกบัญชี เกือบ 500 เสียง 2 ใน 3 ในทางการเมืองก็ถือว่า ใช้นายกฯนอกบัญชี แล้วพอกลับมาโหวตอีกรอบ แต่ตอนเลือกนายกฯ จริงก็ใช้เสียงแค่ครึ่งหนึ่งคือ 360 ถึง 370 กว่าเสียง ฉะนั้นโอกาสที่จะเห็นนายกฯนอกบัญชี ก็มีเหมือนกัน
ตอนนี้พล.อ.ประวิตร ถูกแต่งตั้งให้ รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยอัตโนมัติ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาเมื่อปี 2562 เรียงลำดับไว้ว่า ถ้านายกฯปฏิบัติราชการไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ให้รองนายกฯที่เรียงลำดับมา 1-6 รักษาราชการแทน
ผมตรวจสอบ ข้อกฎหมายพบว่า รักษาราชการแทนนายกฯ ทำได้ทุกอย่าง เหมือนกับนายกฯ แต่การแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการที่สำคัญ รักษาราชการนายกฯ ต้องปรึกษานายกฯตัวจริงด้วย ฉะนั้นตรงนี้ก็จะเป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่างพี่น้อง 2 ป. ส่วนเรื่องของการตัดสินใจ ใช้งบประมาณปกติทั่วไป ที่ผ่านการพิจารณาของสภาแล้ว ไม่มีปัญหา
แต่มีเรื่องที่หลายฝ่าย กำลังจับตา คือ 1. โผแต่งตั้งโยกย้าย 2. การปรับครม. แม้คุณวิษณุ เครืองาม ยืนยันว่าปรับได้ แต่อาจมีเรื่องมารยาท และต้องเกี่ยวข้องกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะต้องมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และเกี่ยวข้องกับพรรคร่วมรัฐบาล
3. ยุบสภา แต่เชื่อว่าจะยังไม่มี เพราะตอนนี้กฎหมายลูก เลือกตั้ง 2 ฉบับ ยังอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ายุบตอนนี้ก็จะเป็น สุญญากาศทางการเมือง และกฎหมายเลือกตั้งส.ส. กับกฎหมายพรรคการเมือง โดนยื่นตีความอยู่
“แต่ในช่วง 6-7 เดือนสุดท้าย ของอายุรัฐบาล พรรคการเมือง ก็อยากจะสร้างผลงาน คงไม่ปล่อยให้ตำแหน่งว่าง พอตำแหน่งว่าง ก็ต้องตั้งคนเข้าไป ตอบแทนทางการเมือง คือ1.เพื่อกลุ่มก๊วนต่างๆ ของแต่ละพรรค 2. เพื่อสร้างผลงาน ในตำแหน่งหน้าที่ ชิงคะแนนนิยมในช่วงสุดท้าย ฉะนั้นโอกาสในการปรับครม. ก็อาจจะมี และไม่น่าจะมีปัญหาทางกฏหมายด้วย”
แต่ก็มีข้อจำกัดว่า ถ้าปรับครม.ในช่วงเดือน 2 เดือนนี้ แล้วปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ ครม.ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยอัตโนมัติเหมือนกัน เพราะถ้ามีการปรับครม. อาจจะอยู่ได้ไม่กี่วัน
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5