“เจาะกลโกงหลอกให้ลงทุน ภัยจากคนใกล้ตัว”  

“คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพลาด กับมิจฉาชีพที่โทรฯมาจากข้างนอก แต่มักจะพลาดกับคนรู้จัก ที่มาแนะนำ โดยเฉพาะคนใกล้ตัว เพราะคนที่ตั้งใจมาหลอก บางทีได้ค่านายหน้า

“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ดำเนินรายการโดย ณิชชนันทน์ แจ่มดวงและบัญชา จันทร์สมบูรณ์ จากสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองว่า ในยุคออนไลน์จะมี อินฟลูเอนเซอร์ ชักชวนลงทุนหลายรูปแบบ โดยให้พิธีกรดังๆมาโปรโมทธุรกิจ  เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ  จึงเป็นช่องทางของการหลอกลวง และชักชวนให้ออมเงิน โดยให้ผลตอบแทนสูง 

            กรณีหลอกให้ร่วมทำธุรกิจ เช่น ผลิตเอทีเค โดยเฉพาะในช่วงที่โควิดกำลังระบาด และรัฐมีนโยบาย ให้ตรวจเอทีเคอย่างเคร่งครัด  ทำให้ขายได้ราคาดีแน่นอน จึงเป็นช่องโหว่ของมิจฉาชีพ มีผู้เสียหายบางราย ถึง10 ล้านและ100 ล้านบาท , หลอกลงทุนฟาร์มเห็ด  ซึ่งปัจจุบันยังจับตัวไม่ได้

            หลอกให้รักแล้วลวงลงทุน  เป็นพัฒนาการของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์  โดยสร้างโปรไฟล์ปลอมทางแอปพลิเคชันหาคู่ , ขายอุปกรณ์การแพทย์ แล้วถ่ายรูปโรงงานปลอม หรือถ่ายรูปกับหมอ และพยาบาลที่มีชื่อเสียง , หลอกลงทุนโควต้าสลาก อ้างว่ารู้จักผู้ใหญ่ , หลอกลงทุนขายจิวเวอรี่-สินค้าแบรนด์เนม

            กรณีคริปโตเคอร์เรนซี  เป็นการลงทุน ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่  มูลค่าความเสียหายถึง 1,000 ล้านบาท แค่เพียงนำเงินมาฝากแล้ว เมื่อเทรดได้กำไร ก็จะโอนเงินให้  ,  การชักชวนไปลงทุน หุ้นดาวโจนส์ของต่างประเทศ  โดยบอกว่าให้ผลตอบแทน 200 -300%ของเงินลงทุนทั้งหมด ผู้เสียหายลงทุนไป 17 ครั้งรวมเป็นเงิน 206 ล้านบาท 

            ล่าสุดกรณี FOREX 3D ของดาราสาวและพวก  ที่อ้างนำเงินลงทุน ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน เงินตราสกุลต่างๆ และการันตีรายได้ กลับคืนมาสูง 60-80% ซึ่งมูลค่าความเสียหาย อยู่ที่ประมาณ 2,500 ล้านบาท มีคนดังเอี่ยวเพียบ และคดีนัตตี้ นัทธมณ ยูทูปเบอร์ดัง ถูกกล่าวหา ในคดีโกงเทรดพันล้าน ซึ่งมีผู้เสียหายหลาย 10 ราย รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท

            ความจริงแล้วเป็นกลโกงเดิมๆ คือ เปิดเพจ , ใช้โลโก้ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และให้คนเข้าใจผิด โดยที่ประชาชนไม่รู้  แอบอ้างคนมีชื่อเสียง ในแวดวงการเงินจำนวนมาก  หลายคนที่ขึ้นชื่อว่าเก่ง ในเรื่องของการลงทุน ก็ถูกนำไปแอบอ้าง
            มีการทำอินโฟกราฟฟิกที่สวยงาม ดูน่าเชื่อถือชวนลงทุน ผลตอบแทนสูง เริ่มต้นด้วยเงินจำนวนไม่มาก  ใช้เอกสารปลอม หากเงินออกไปต่างประเทศแล้ว  แทบจะสิ้นหวังในการติดตาม

            “คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพลาด กับมิจฉาชีพที่โทรฯมาจากข้างนอก แต่มักจะพลาดกับคนรู้จัก ที่มาแนะนำ โดยเฉพาะคนใกล้ตัว หรือเพื่อนแนะนำต่อมาอีกที  เราจะไว้ใจและถูกหลอก  เพราะคนที่ตั้งใจมาหลอก บางทีได้ค่านายหน้า” 

            พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการ ปราบปรามการกระทำความผิด อาชญากรรมทางเทคโนโลยี  ระบุว่า แม้บริษัทที่ไปจดทะเบียน กับสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ไว้แล้ว บอกว่าจะลงทุน ทำธุรกิจเกี่ยวกับเงินสกุลดิจิตอล หรือบิทคอยน์ แต่เมื่อไปตรวจสอบ พบความผิดปกติ ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อย่างน้อย 10 บริษัท  

            ให้ข้อมูลกับประชาชน ผ่านสำนักข่าวต่างๆ จำนวนมาก จึงประสาน 10 บริษัทดังกล่าว ให้ ก.ล.ต.ตรวจสอบ ที่มาของเงินเข้า-ออก ว่าไม่ชอบมาพากลหรือไม่  เป็นเหมืองบิทคอยน์ทิพย์หรือไม่  แม้ว่าจดกับ ก.ล.ต. อยู่ในตลาดหุ้น ยังเป็นมิจฉาชีพได้            ในส่วนของก.ล.ต. มีแอพพลิเคชั่น ที่ผู้สนใจลงทุน สามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง และรวบรวมรายชื่อ ผู้ให้บริการในตลาดทุน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของตลาดหลักทรัพย์  ทุกคนสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้  
            ก.ล.ต.ยังมีห้องที่เข้าไปเรียนฟรี เพื่อให้คนที่ไม่มี  ความรู้พื้นฐานเรียนได้  และยังมีบทความให้อ่าน มีคลิปวิดีโอ โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ มาบรรยายและเข้าใจง่าย   หากจะลงทุนอะไร  ควรต้องศึกษาให้รู้  อย่างจริงจัง และควรดูว่าแต่ละผลิตภัณฑ์ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรด้วย 
            สำหรับสื่อ ซึ่งทำหน้าที่ “หมาเฝ้าบ้าน” คงต้องเห่าเตือนดังๆ หวังว่าเจ้าหน้าที่รัฐ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จะมีมาตรการช่วยกันดูแล ขณะที่ประชาชนก็ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาด้วยเช่นกัน
          

 ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5