เปิดมุมมอง “นักข่าวยอดเยี่ยม” อุดจุดบอด “ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ”

“สถิติความรุนแรงทางเพศ มักจะเกิดเพราะไว้วางใจ คนในครอบครัว มากระทำต่างๆ หรือพฤติกรรมเลียนแบบ  จากข้อมูลข่าวสาร  ถ้าจะอุดจุดบอดตรงนี้  คนในครอบครัว  ต้องไม่ไว้ใจใคร  แม้จะเป็นคนใกล้ตัว ญาติพี่น้อง

.           

การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นปัญหาใหญ่ของสังคม ที่ไม่ควรมองเป็นเรื่องปกติ และไม่ควรเกิดขึ้น กับคนวัยไหน หรือเพศไหน  เพราะเป็นการสร้างบาดแผลและตราบาป ให้กับเหยื่อ

            อโนทัย สกุลทอง ผู้สื่อข่าว เนชั่นทีวี ได้รับรางวัล นักข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี 2564-2565 จากสมาคมนักข่าว อาชญากรรมแห่งประเทศไทย พูดคุยใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงมุมมอง “ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว” ว่า ทุกเคสส่วนหนึ่ง มาจากปัญหาสภาพสังคม ไม่น่าอยู่เท่าที่ควร บางคนตามสังคม ตามเพื่อนแล้วถูกก่อเหตุ  หรือเด็กไม่ได้รับการ ดูแลเอาใจใส่  และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม  

            บางครั้งเด็กมาจาก ครอบครัวไม่สมบูรณ์  พ่อแม่ไม่พร้อมที่จะดูแล  จึงนำไปฝากญาติพี่น้อง  ดังนั้นถ้าครอบครัวดูแลเอาใจใส่  ให้คำแนะนำและให้ความรู้ ลูกหลาน โดยบอกว่าสิ่งไหน ค่อนข้างอันตราย ไม่ควรไว้ใจใคร หรือเข้าไปในสถานที่ไหนกับใคร  ต้องรู้เท่าทันสังคมปัจจุบัน ให้มากขึ้นก็อาจจะช่วยได้

            “สถิติความรุนแรงทางเพศ มักจะเกิดเพราะไว้วางใจ คนในครอบครัว มากระทำต่างๆ หรือพฤติกรรมเลียนแบบ  จากข้อมูลข่าวสาร  ถ้าจะอุดจุดบอดตรงนี้  คนในครอบครัว  ต้องไม่ไว้ใจใคร  แม้จะเป็นคนใกล้ตัว ญาติพี่น้อง หากคนนั้นเป็นผู้ชาย อยู่กับบุตรหลานเรามาก จนเขารู้สึกว่าถ้าลอง ล่วงละเมิดดูจะเป็นอย่างไร  ดังนั้นต้องคอยสังเกตพฤติกรรม ไม่ควรไว้ใจมากเกินไป ลูกเป็นผู้หญิงเล็กๆ พ่อแม่ต้องดูแล ให้ดีเป็นพิเศษ” 

เท่าที่ไปทำข่าว หลายครั้งเขาจะไม่กระทำเหยื่อเลย แต่เริ่มจากลองสัมผัส เล้าโลมลูบไล้ก่อน  ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่กล้าไปฟ้องร้อง หรือไม่กล้าบอกครอบครัว  เพราะกลัวโดนดุ ก็เป็นสาเหตุที่เขา สามารถกระทำเหยื่อได้ ดังนั้นครอบครัวควรที่จะ เปิดใจรับฟังลูกให้มากขึ้น นักวิชาการบอกว่า  โทษกระทำชำเราแล้วหารชีวิต ในประเทศไทยน้อยมาก   สุดท้ายได้รับการลดโทษ เหลือถูกจำคุกตลอดชีวิต เพราะมีเรื่องสิทธิมนุษยชน  เข้ามาเกี่ยวข้อง  ส่วนตัวมองว่าถ้า กระทำชำเราแล้วถูกฆ่า โทษสูงสุดต้องประหารชีวิตเท่านั้น  การลดโทษต้องพิจารณา  ตามเกณฑ์ที่เขาควรจะได้รับ ว่าสมควรหรือไม่ เพราะมีให้เห็นเยอะมาก  คนที่ทำแบบนี้คิดว่า ถ้าทำผิดแล้วจะได้ลดโทษ  จึงไม่เกรงกลัวกฎหมาย ออกมาก่อเหตุซ้ำ  เป็นภัยต่อสังคม 

            ขณะเดียวกันเมื่อเกิดเหตุ บางคดีเป็นข่าวดังมาก แต่ตัดสินหรือพิพากษา ให้ได้รับโทษเสียงกลับไม่ดัง  จึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ไม่กลัวความผิด  อีกทั้งการพิจารณาคดี  ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร  ดังนั้นการเสนอข่าว ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นว่า ก่อเหตุและถูกจับกุมอย่างไร  ไปจนถึงศาลพิพากษา แล้วนำผลการตัดสินนั้น มาเป็นตัวอย่างการที่สื่อถูกมองว่า  เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา  ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมีทั้งสื่อโซเชียล และทีวีหลายช่อง แย่งชิงเรตติ้ง  กระหายข่าวมากเกินไป อยากได้ดราม่า  ถ้าร้องไห้ยิ่งดี  หรือสื่อส่งผลชี้นำสังคม  เป็นตัวอย่างให้กับคน ที่กำลังคิดเรื่องนี้ดูข่าว จึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ  ดังนั้นการควบคุมดูแลสื่อ ต้องมีบทลงโทษจริงจังชัดเจน  ก็จะทำให้สื่อนั้นๆปรับรูปแบบ  ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

สำหรับหลักในการทำงาน  ส่วนตัวจะเน้นหาข้อเท็จจริง มากที่สุดจากทุกฝ่าย ก่อนที่จะมาเขียน  จะไม่ถามเหมือนไปบิ้วอารมณ์ ให้เขาร้องไห้ แต่จะเน้นว่าผู้เสียหาย  อยากเรียกร้องอะไร ให้ครอบครัวได้รับ ความเป็นธรรมมากที่สุด  ถ้าเขาร้องไห้เอง ก็เป็นเป็นความรู้สึก ของเขาที่ออกมาหลายเคส คดีการล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกระทำชำเรา หรือความรุนแรงในครอบครัว  หากผู้เสียหายยังมีชีวิตอยู่  ต้องสัมภาษณ์เหยื่อ  เป็นเด็กที่ถูกกระทำ อันดับแรก ต้องถามครอบครัวเขา  ว่ายินยอมหรือไม่  ที่ลูกหรือผู้เสียหายจะให้ข้อมูล ถ้ายินยอมก็ต้องถามเด็กด้วยว่า ยอมให้สัมภาษณ์หรือไม่  อยากเล่าอะไร  ใช้วิธีพูดคุยให้รู้สึกสนิทใจ ที่จะพูดกับเรา  ว่าจะได้รับความเป็นธรรม ได้รับความช่วยเหลือจริงๆ หลีกเลี่ยงสัมภาษณ์  ยิงคำถามทำร้ายจิตใจ 
สมมติเป็นข่าวใหญ่ 1 แพค  ต้องหาข้อเท็จจริง ทั้งฝั่งผู้เสียหาย และฝั่งผู้ต้องหา  รวมทั้งตำรวจ  เพื่อนำมาบาลานซ์กัน แต่ต้องคำนึงถึง ความรู้สึกฝั่งผู้เสียหาย หากกรณีผู้เสียหายเสียชีวิต ก็จะยิ่งกระทบจิตใจครอบครัว  การไปถามหรือหาคำตอบ ต้องไม่ทำร้ายหรือซ้ำเติมความรู้สึก

           
            “การทำงานของ นักข่าวสายอาชญากรรม มีเอกลักษณ์เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ต้องใช้เทคนิคทุกเคส  ในการหาข้อมูล  ที่แท้จริงเพื่อให้ได้ข่าว สัมภาษณ์ทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหา ส่วนจะตอบหรือไม่ ก็เป็นสิทธิ์ของเขา  แต่ต้องเป็นคำถามปลายเปิด  เพราะบางคนเป็นผู้ต้องหาคดีรุนแรง อาจจะอยากพูด อยากขอโทษ อยากสำนึกผิด เป็นครั้งสุดท้าย”


 ต้องมีเทคนิคแต่ละครั้ง ที่ทำให้เขารู้สึกอยากพูด  ในสิ่งที่สังคมอาจจะอยากรู้  ถึงสาเหตุที่ทำลงไป  บางคนอาจจะพูด ขอโทษออกมาก่อน  เราจะจับคำพูดลักษณะท่าทาง  ได้ว่าสิ่งที่เขาพูดออกมา สำนึกผิดจริง หรือถูกบังคับให้พูด หรือบางกรณีเขาไม่ตอบ ถ้าถามไปตรงๆ ก็อาจจะเป็นคำถามวงแตก จากเดิมที่เขาจะพูด ก็กลับไม่พูดและไม่ได้อะไรเลย
ก็จะเริ่มต้นด้วยการ ลองยิงคำถามไป แล้วดูสีหน้าท่าทาง  คำตอบกลับมาว่าอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง บางครั้งฝั่งผู้เสียหาย ก็อยากได้ยินคำพูดจากผู้ต้องหา บางเคสเห็นได้ชัดว่า กลุ่มครอบครัวผู้เสียหาย จะไปรอดูหน้า ผู้ต้องหาว่าจะพูดอะไร ทำไปทำไม เป็นการนำเสนอทั้ง 2 ฝั่ง อยากรู้ว่าสิ่งที่เขาทำไป  มีมูลเหตุหรือประเด็นอะไร  ทำไมต้องก่อเหตุ  รุนแรงในลักษณะนั้น
  ในสังคมเมือง ที่ต่างคนต่างอยู่ หากเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นมา บางพื้นที่ประชาชน เกิดความกลัว ไม่กล้าเข้าไปยุ่งหรือแจ้งเหตุ  แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัด  ครอบครัวชุมชน  รู้จักกันก็จะพูดคุย ดังนั้นการแก้ไขปัญหา สังคมเมืองจะต้องมี ผู้นำชุมชนที่เชื่อมสัมพันธ์กัน ในพื้นที่มากขึ้น  เพื่อไว้วางใจในการพูดคุย และมีน้ำใจร่วมใจกัน  ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ทางหนึ่ง

           

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 11.00-12.00 น. โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5