สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดอบรม “พัฒนาศักยภาพสำนักข่าวขนาดเล็ก” ตอบโจทย์ปัญหาที่สื่ออิสระเผชิญ

การเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ทำให้การริเริ่มเกิดสื่อทำได้ง่ายขึ้น เกิดสื่อกระแสรอง สื่อทางเลือก หรือสื่อรากหญ้า ที่นำเสนอประเด็นต่างๆ ในพื้นที่มากมาย จนมีคำกล่าวว่า “ทุกวันนี้ใครก็เป็นสื่อได้” (จริงหรือ?) แต่อย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อขนาดเล็กก็ประสบปัญหา การขาดองค์ความรู้ในการทำงาน ขาดการฝึกฝน ไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร ตั้งคำถามกับตัวเองว่าที่ทำอยู่ใช่สื่อที่ถูกต้อง ที่ควรจะเป็นไหม ไปจนถึงจะเริ่มต้นอย่างไรดีในการทำข่าวเพื่อสื่อสารเปลี่ยนแปลงสังคม และจะอยู่รอดได้อย่างไรในระยะยาว เหล่านี้เป็นปัญหาที่สื่อขนาดเล็กเผชิญอย่างโดดเดี่ยว กระจัดกระจาย และคิดว่าตนเองคลำทางอยู่เพียงลำพัง

อนุกรรมการ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพ และการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ จากการจัดเวทีพบปะพูดคุยกับสื่อภาคพลเมืองเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงจับมือกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมด้วย มูลนิธิ Friedrich Naumann ประจำประเทศไทย สนับสนุนจัดอบรมเพื่อเสริมศักยภาพของสำนักข่าวขนาดเล็ก เมื่อวันที่ 16-18 กันยายนที่ผ่านมา ณ โรงแรม Siam@Siam ปทุมวัน กรุงเทพฯ

บรรยากาศในการอบรมเป็นไปอย่างเข้มข้นและเป็นกันเอง ผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด 25 คน หลากหลายช่วงวัยและที่มา มีทั้งช่างภาพ ช่างวีดีโอ นักเขียน นักข่าวทั้งมืออาชีพและอิสระ ช่วงอายุมีตั้งแต่อดีตคุณครูวัยเกษียณไปจนถึง ทั้งที่มาจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น กระบี่ เชียงใหม่ พะเยา เป็นต้น นับเป็นโอกาสให้คนต่างวัยต่างที่มา ได้มาปะทะสังสรรค์มุมมองความที่ทั้งเหมือนและต่าง ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิด และเรียนรู้จากกันและกัน

ทั้งหมดมีจุดร่วมกันคือ มีความสนใจอยากทำสื่อหรือสำนักข่าวขนาดเล็กของตนเอง ในประเด็นที่ตนสนใจ มีทั้งที่นักศึกษาจบใหม่หมาดที่เพิ่งก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์​ ช่างภาพที่อยากถ่ายทอดประสบการณ์ตนเองผ่านสื่อขนาดเล็ก นักข่าวท้องถิ่นที่กำลังต่อสู้กับการรุกล้ำที่ดินของนายทุน ช่างภาพมากประสบการณ์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อยากขยายช่องทางการสื่อสารข่าวใน tiktok และนักข่าวอาชีพที่กำลังหาลู่ทางทำสื่อของตนเอง ngos ที่สับสนระหว่างบทบาทที่ทับซ้อนของสำนักข่าวและภาคประชาสังคม ไปจนถึงนักศึกษาและนักกิจกรรมที่กำลังทำเพจเพื่อเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม ฯลฯ ต่างคนต่างมาพร้อมคำถามและข้อสงสัยจากประสบการณ์ของตัวเอง มาแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้น ทว่าก็สนุกสนานไปในเวลาเดียวกัน ชนิดที่เรียกว่า ได้เปิดโลกเลยก็ว่าได้

และนับเป็นครั้งแรกๆ ของสมาคมนักข่าวฯ ที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิก และไม่ได้เป็นนักข่าวอาชีพ เข้าร่วมอบรม

เปิดโลกวงการสื่อ: จุดยืนสื่อ? จริยธรรรมสื่อ?

เวิร์คชอปวันแรก เข้าสู่หมัดฮุคอย่างเข้มข้นว่าด้วยเนื้อหาเรื่องจุดยืน จริยธรรมสื่อ และหลักการบรรณาธิการเบื้องต้น เริ่มตั้งแต่เรื่องจุดยืนและจริยธรรมสื่อ ปมปัญหาที่ถกเถียงกันในวงกว้าง อย่างประเด็นเรื่อง Privacy vs Security, Hate Speech vs Free Speech ที่คนเป็นสื่อหรือกำลังจะเป็นสื่อจำเป็นต้องตรวจสอบมุมมองตนเองอย่างสม่ำเสมอ

เปิดด้วยการทำความรู้จัก จริยธรรมสื่อ Code of conduct จาก รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเรื่องหลักการพื้นฐานของจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อ ที่ต้องปกป้อง คุ้มครองเหยื่อและแหล่งข่าว เด็กและเยาวชน รู้สิทธิส่วนบุคคล มีเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังรู้จักกลไกการกำกับดูแลตัวเองของสื่อ จากคุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทั้งในเรื่องแนวคิด รูปแบบ ตรรกะ กำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน

ต่อด้วยเนื้อหาจัดเต็มเรื่อง “การบริหารสื่อเล็กและการควบคุมคุณภาพการทำงาน” จากพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์ The Matter เนื้อหาที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์การทำงานเน้นๆ ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมได้ตั้งคำถามกับตัวเอง กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ “เราเกิดมาทำไม?” การนิยามว่า “เราคือใคร” เพื่อที่นำไปสู่การสำรวจ จุดยืนขององค์กร เป้าหมายขององค์กร ตลอดจนเรื่องหลักคิดในการทำงาน วิธีการทำงาน จะทำงานอย่างไรเพื่อยืนระยะ และสร้างความน่าเชื่อถือจากคนอ่านได้

“เห่า หิว” ติดเครื่องมือ: การหารายได้ การยืนระยะ คุณภาพงานที่ควรจะเป็น

วันแรกได้คำตอบเรื่องจริยธรรมสื่อและหลักการทำงานบรรณาธิการเบื้องต้นไปแล้ว วันที่สองมาถึงคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า จะหล่อเลี้ยงตนเอง/องค์กร และหารายได้ได้อย่างไร ชวนทบทวนบทบาทหน้าที่ของสื่อทุกวันนี้ และจะทำอย่างไรให้สมดุลระหว่างอุดมการณ์กับรายได้ และโมเดลธุรกิจสื่อในทุกวันนี้ โดยผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ยังมี Master Class การเขียนขอทุนทำข่าว โดย วศินี พบูประภาพ อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ มาอธิบายเรื่องการเขียนขอทุน ทั้งรายชื่อแหล่งทุน วิธีการเขียน อุปสรรคทางภาษาต่างๆ อย่างละเอียดยิบชนิดผู้เข้าร่วมหลายคนก็สะท้อนว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่าสามารถขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศมาทำข่าวได้

ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจ จากประสบการณ์ของคนที่ทำงานมาก่อน ว่ากว่าจะถึงวันนี้ล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไรบ้าง และยืนระยะ สร้างความน่าเชื่อถือจากคนอ่าน แหล่งทุนและผู้สนับสนุนได้อย่างไร โดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อดีตบรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท ระวี ตะวันธรงค์ จากสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ ภานุมาศ สงวนวงศ์  ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thai New Pix งานนี้เหล่าช่างภาพยกถามกันอย่างคึกคัก

ตกบ่ายต่อด้วยเนื้อหาที่ต่อเนื่องจากวันแรก “การเขียนข่าวตามมาตรฐานสากล” โดย จาก ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล ผู้สื่อข่าวอาวุโส หัวหน้าทีมกรุงเทพฯ BBC Thai กับเรื่องการเขียนข่าว โครงสร้างข่าว ประเภทข่าว การเลือกประเด็น กระบวนการทำงาน ตลอดจนการตรวจสอบข้อมูล และการใช้ UGC (User Genarate Content)

เมื่อได้ติดเครื่องมือการทำงานพร้อมสรรพแล้ว ก็ต้องติดอาวุธทางกฎหมาย วันรุ่งขึ้นยังต่อด้วยหัวข้อ “ทำงานอย่างไรให้ห่างคุก” โดยมีอาจารย์คันธิรา ฉายาวงศ์ จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้ความรู้เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ การฟ้องปิดปาก (SLAPP) และเรื่องพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ตอนนี้

เรียกได้ว่าสามวัน เนื้อหาจัดหนักจัดเต็มครบเครื่อง ตอบทุกคำถามที่คนทำสื่อขนาดเล็กมีอยู่ในใจ มีช่วงถามตอบในทุกหัวข้อ ที่ผู้เข้าร่วมต่างยกมือถามตอบกันไม่ขาดสาย

เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วม

ก่อนแยกย้ายหลังจากเต็มอิ่มกันสามวัน ผู้เข้าร่วมหลายคนสะท้อนหลากหลาย แต่ก็มีจุดร่วมคือ รู้สึกว่าผู้เข้าร่วมการอบรมโดยสมาคมนักข่าวฯ มีความหลากหลายมาก และชอบที่รับสมัครไม่จำกัดอายุผู้เข้าร่วม ทั้งในมุมของผู้ที่เข้าร่วมกับสมาคมหลายครั้งสะท้อนว่า “ครั้งนี้ผู้เข้าร่วมมีความหลากหลายที่สุด ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนเยอะแยะ” และที่แน่ๆ ได้เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนของคนทำสื่อขนาดเล็ก ที่จากการเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ ก็ทำให้รู้ว่าแต่ละคนไม่ได้เผชิญอุปสรรคอย่างโดดเดี่ยว และได้จุดไฟให้เราความรู้ที่ได้ไปทำงานในแนวทางของตนเองต่อไป

ในขณะเดียวกันก็มีเสียงส่งมาว่า อยากให้มีโครงการต่อยอด เช่น การทำเว็บไซต์ การเขียนขอทุน เพิ่มมุมมองแหล่งทุน เกณฑ์ในการให้ทุน ฯลฯ ด้านวศินี พบูประภาพ ผู้จัดการโครงการ ยืนยันว่าจะมีรุ่นสองแน่นอน