วันที่ 8 ต.ค. 2565 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับกรณีทีมข่าวของสำนักข่าว CNN ได้รุกล้ำเข้าไปในบริเวณเขตหวงห้ามของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู เพื่อทำการบันทึกภาพข่าวและเผยแพร่ออกอากาศ ทั้งที่บริเวณดังกล่าวเป็นจุดเกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่ได้กั้นพื้นที่และห้ามสื่อมวลชนอื่นๆเข้าไปด้านใน หรือที่เรียกว่า crime scene
ถึงแม้ทีมข่าวของ CNN จะระบุในคลิปที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ว่า การเข้าจุดเกิดเหตุของตน “ได้รับอนุญาตแล้ว” แต่มีรายงานข่าวจำนวนหนึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่มิได้อนุญาตให้ CNN หรือบุคคลภายนอกเข้าไปในจุดเกิดเหตุแต่อย่างใด
ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ จึงปรึกษาหารือกัน พร้อมสรุปเป็นความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้:
1. การปฏิบัติงานและนำเสนอข่าวของทีมข่าว CNN มีลักษณะที่ละเมิดหลักจริยธรรม ขาดการคำนึงถึงความเหมาะสม และสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการเลียนแบบจากสื่ออื่นๆ
จากการตรวจสอบเบื้องต้นได้พบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯอุทัยสวรรค์ ยังมีสถานะเป็นจุดเกิดเหตุอาชญากรรม มีการกั้นพื้นที่บริเวณโดยรอบอย่างชัดเจน การที่ทีมข่าว CNN เข้าพื้นที่ไปทำข่าวชิ้นดังกล่าว จึงเป็นการรุกล้ำเข้าจุดเกิดเหตุอาชญากรรม ซึ่งต่อให้ได้รับอนุญาตเข้าพื้นที่จริงตามที่ CNN กล่าวอ้าง ทีมข่าวก็ควรใช้วิจารณญาณว่าการเหยียบย่ำเข้าไปในจุดเกิดเหตุอาชญากรรมครั้งสำคัญเช่นนี้ พร้อมนำเอาอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปถ่ายทำข่าวจากพื้นที่ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ การเสนอข่าวของทีมข่าว CNN มีภาพและคลิปที่มีลักษณะอุจาดหวาดเสียว โดยไม่มีเหตุผลด้านประโยชน์สาธารณะอย่างชัดเจน อีกทั้งยังอาจสร้างความกระทบกระเทือนใจให้ผู้ชม โดยเฉพาะครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดของผู้สูญเสียในเหตุการณ์
อนึ่ง การกระทำของทีมข่าว CNN ยังเสี่ยงที่จะสร้างมาตรฐานที่อันตรายต่อจริยธรรมของบรรดาสื่อมวลชนอื่นๆที่ปักหลักทำข่าวอยู่ด้วย เนื่องจากผู้บริหารหรือบรรณาธิการของสำนักข่าว ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เมื่อเห็นการเข้าพื้นที่ของ CNN ก็อาจจะมีคำสั่งหรือกดดันให้ทีมข่าวของตนเองหาทางเอาภาพข่าวหรือเข้าพื้นที่ในลักษณะคล้ายกัน กลายเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะมีกรณีนักข่าวหรือช่างภาพละเมิดสิทธิ์หรือรุกล้ำพื้นที่ต้องห้าม เพื่อแข่งขันกันสร้างผลงาน
2. ทั้งต้นสังกัด CNN และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในพื้นที่เกิดเหตุ ต้องเร่งสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น และชี้แจงข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เป็นที่กระจ่างว่า มีการให้อนุญาต CNN เข้าพื้นที่จริงหรือไม่
หากมีการให้อนุญาตจริง ต้องมีคำตอบว่าใครเป็นผู้อนุญาต และให้อนุญาตด้วยเหตุผลอันใด แต่ถ้าหากไม่มีการอนุญาตจริงตามที่ CNN อ้าง ทางต้นสังกัด CNN ต้องชี้แจงว่าจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทยอย่างไร ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ก็ต้องตอบสังคมด้วยเช่นกันว่าเหตุใดจึงมีการปล่อยปละละเลยให้ทีมข่าวเข้าจุดเกิดเหตุโดยพลการ และจะมีการดำเนินการทางกฎหมายในกรณีนี้หรือไม่ อย่างไร
3. ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกสำนัก นำเอากรณีนี้มาเป็นอุทาหรณ์และถอดบทเรียนร่วมกัน ไม่เลียนแบบหรือแข่งขันกันให้ได้มาซึ่งข่าวหรือภาพในลักษณะคล้ายกัน
ท้ายสุดนี้ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ขอชื่นชมที่สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศส่วนใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่และรายงานข่าวเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อ พร้อมกับเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว รักษามาตรฐานการทำงานของตนสืบไป สำหรับกรณีส่วนน้อยที่การนำเสนอข่าวมีปัญหาเชิงจริยธรรมและได้ขออภัยไว้แล้ว ก็ขอเป็นกำลังใจให้แก้ไขปรับปรุงการทำงานและพิสูจน์ตนเองกับสังคมเช่นกัน
หมายเหตุ: สื่อมวลชนที่สนใจ สามารถศึกษาแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการรายงานข่าวเหตุกราดยิง-สังหารหมู่ ได้จากองค์กรและหน่วยงานต่างๆดังนี้
แนวทางรายงานข่าว ‘เหตุกราดยิง’ โดย ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูป สมาคมนักข่าวฯ
การนำเสนอข่าวคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงนักเรียน ครู และประชาชน โดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
Best practices for covering mass shootings โดย สถาบัน Poynter, สหรัฐอเมริกา
TJA Statement on CNN coverage of the mass killing in Nong Bua Lamphu
On 8 October 2022, the Thai Journalists Association’s Committee on Press Freedom and Media Reform has received numerous complaints from members of the public that CNN’s news crew in Nong Bua Lamphu province entered the site of a recent mass killing, which left 36 people dead, to film a footage that was later published on CNN website.
The venue was clearly designated as a crime scene, off-limit to the media and individuals unrelated to the ongoing investigation.
While CNN maintained that its news team “was allowed inside,” reports from local media quote multiple officials denying that any permission was given in the first place.
In the light of this incident, the Thai Journalists Association’s Committee on Press Freedom and Media Reform is issuing the following statement:
1. CNN’s conduct is unethical, insensitive and at the risk of encouraging ‘copycat’ behaviors from other media outlets.
Based on our preliminary inquiry, it was established that the childcare center where CNN’s news crew entered was in effect a clearly marked crime scene.
CNN’s action therefore amounts to an intrusion of a major crime scene, a seriously flawed decision that no professional media should have taken – even if a permission was indeed granted, the news crew and those responsible for their assignment should have exercised their judgment and refrained from entering a crime scene.
Images aired by CNN also contain graphic material without a clear appeal to public interest that may cause distress to the audience in a nation that very recently suffered a traumatic tragedy, especially among the families and loved ones of the victims.
Furthermore, CNN’s conduct risks setting a dangerous precedent for other media to pressure their staff members to secure similar exclusive scoops by all means possible, thus increasing the chance of further breaches to ethics and privacy in the community already shocked by the recent losses.
2. Both the CNN headquarters in the United States of America and relevant authorities at the crime scene in Nong Bua Lamphu must urgently investigate this incident and declare their findings to the public without delay.
Key questions that must be answered include whether CNN was indeed allowed to enter the venue. If so, who gave the permission and why? If no such permission was granted, CNN must clarify to the Thai public how it will seek to take responsibility for what happened, while the local authorities must also have their answers ready as to why the intrusion was made possible, and whether any legal action will be taken in this matter.
3. We call upon all media agencies to learn a collective lesson from this incident and refrain from imitating CNN’s conduct or competing with one another to secure news or images in ethically questionable manner.
Lastly, we’d like to convey our appreciation to a vast majority of Thai and foreign media outlets who have so far continued to uphold ethical standards and professional excellence in their coverage of this deadly tragedy that left our country in unspeakable pain.