“เวทีนางงาม แรงบันดาลใจหญิงสาว สู่กลยุทธ์ซัพพอร์ตการตลาด”

“เวทีนางงามยังเป็นจุดเล็กๆของผู้หญิง  ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน  แม้อาจจะไม่กว้างเท่าในอดีต แต่เวทีนี้จึงยังมีคุณค่าเหมือนเดิม” 

เวทีนางงามหรือที่ใครหลายคนมักจะเรียกว่าเวทีขาอ่อน  เป็นหนึ่งในการประกวดที่ผู้หญิงหลายคนใฝ่ฝันอยากมีจุดเปลี่ยนในชีวิต นำตัวเองไปสู่วงการต่างๆทั้งอาชีพรายได้หน้าตาทางสังคม โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ได้เป็นตัวแทนประเทศไปชิงเงินและรางวัล พร้อมสายสะพายเวทีสาวงามระดับโลก มุมมองของ “ฤตภัทร์  ผิวระมน  ผู้สื่อข่าวไทยรัฐทีวี  ซึ่งเกาะติดทำข่าวสายบันเทิงมานับ10 ปี พูดคุยใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงการเจาะเบื้องหลังเวทีนางงาม ที่มากกว่ามาตรฐานความสวยว่า 

         นางงามจากที่เคยเป็นจุดใหญ่ ก็ถูกย่อยลงมา แต่ยังมีความสำคัญอยู่ และสามารถสร้างผลกระทบ ระดับโลกได้เสมอ เมื่อมีการแข่งขัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรนั้นๆว่าจะบริหาร กระแสเวทีนางงามในทิศทางไหน การประกวดในอดีต  กรรมการจะตัดสินผู้เข้าประกวดที่รูปร่างหน้าตา แต่ปัจจุบันเน้นเรื่องความรู้ ไหวพริบและสติปัญญา  บางคนโปรไฟล์ระดับเกียรตินิยมหรือพูดได้หลายภาษา   ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละเวทีว่ามีเกณฑ์การคัดเลือกนางงามอย่างไร

         “เวทีนางงามยังเป็นจุดเล็กๆของผู้หญิง ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน แม้อาจจะไม่กว้างเท่าในอดีต ที่นางงามบางคนคว้ามงกุฎระดับโลกมาแล้ว ทำอะไรคนก็สนใจ แต่ปัจจุบันเป็นคนธรรมดา ที่สามารถคว้ามงกุฎระดับประเทศหรือระดับโลกได้ เวทีนี้จึงยังมีคุณค่าเหมือนเดิม แต่อาจจะน้อยลง เพราะโลกเราถูกมองหลายส่วนมากขึ้น มีทั้งคนดังและเรื่องสังคมต่างๆมากมาย”

         เวทีมิสยูนิเวิร์สผู้เข้าประกวดต้องสวย  ส่วนการตอบคำถามเป็นเรื่องรอง  ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา นางงามแต่ละคนที่ได้รับตำแหน่ง อาจจะไม่สวยมาก แต่ฉลาดและสวยตามชาติพันธุ์  ซึ่งธีมที่เวทีมิสยูนิเวิร์ส อยากนำเสนอให้ทั่วโลกเห็น และหันกลับมามองผู้หญิง คือไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟค แต่สามารถเป็นผู้หญิงที่สวยและเก่งที่สุดในจักรวาลได้


         ขณะที่ความต่างของเวทีมิสแกรนด์ ซึ่งจัดประกวดไม่ถึง 10 ปี กลับได้รับกระแสความนิยมอย่างล้นหลาม  จะคัดเลือกนางงามจากความสวยและรูปร่างดี ทุกคนได้คำถามเดียวกันหมด แตกต่างกันที่มุมมอง กับคำตอบบนเวที จะออกมาละมุนละม่อมที่สุดอย่างไร แล้วชนะใจกรรมการด้วย จึงเป็นเรื่องยาก

         ซึ่งเมื่อมองไปที่ ณวัฒน์ อิสรไกรศีล เจ้าของเวทีมิสแกรนด์เป็นนักสู้ตัวยง แม้จะโดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลายเรื่อง แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่สร้างมาตลอด ทำให้เวทีดังกล่าวเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งในประเทศและระดับโลก  เพราะเคยประกาศว่าเวทีมิสแกรนด์ มองคู่แข่งอย่างมิสยูนิเวิร์ส ทำให้กระแสพุ่งเข้าหาเขา  เพราะกล้าพูดกล้าเสี่ยง ซึ่งผลงานของเขาก็พิสูจน์ตัวเองและบริหารกระแสเก่งมาก

         จุดพีคที่ทำให้เส้นกราฟของมิสแกรนด์พุ่งทะยาน คือ นางงามเวียดนาม เป็นที่นิยมของคนเวียดนามจำนวนมาก กระแสขายได้ทั้งในประเทศเวียดนามและเอเชีย  ซึ่งมีลักษณะคล้าย “อิงฟ้า วราหะ” มิสแกรนด์ของไทย ที่มีความเป็นซุปเปอร์สตาร์และดาราในตัวเอง  เมื่อได้ครอบครองมงกุฎและมีกระแสความนิยมเป็นจุดขาย ทุกอย่างจึงเสริมกันและกัน  ทำให้ทั่วโลกหันมามองเวทีมิสแกรนด์มากขึ้น


         ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า เสน่ห์ดึงดูดของเวทีประกวดนางงาม ทำให้ธุรกิจหลายอย่าง อยากจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุน เป็นช่องทางการตลาดอย่างหนึ่ง ที่ยิ่งสร้างกระแสทำให้หลายธุรกิจ อยากเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ของเวทีนางงามหรือสปอนเซอร์เดิม ที่เคยให้การสนับสนุนก็ไม่ลังเลที่จะสานต่อ 

         ล่าสุด แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์  ซื้อกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization) พร้อมลิขสิทธิ์ต่างๆ จาก IMG Worldwide ผู้ถือหุ้นเดิม ด้วยมูลค่า 800 ล้านบาท ต้องการประชาสัมพันธ์เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ให้ดังระดับโลกได้เร็วมากขึ้น       หากนำแบรนด์ มิสยูนิเวิร์สมาต่อยอดการตลาด  ในกลุ่มผลิตภัณฑ์JKN  เพื่อยกระดับภาพลักษณ์องค์กร เพราะถ้าเป็นแบรนด์สินค้าคนไทย  กว่าผลิตภัณฑ์จะโกอินเตอร์ที่อเมริกา ต้องทำการตลาดจำนวนมหาศาล  ขณะที่เขาเป็นนักธุรกิจมีเงิน สามารถซื้อลิขสิทธิ์ได้  แต่ไม่อิงเรื่องนางงามมากนัก  มอบหมายให้สหรัฐอเมริกาบริหารจัดการแทน และทำให้มิสยูนิเวอร์ส ถือแบรนด์ผลิตภัณฑ์ JKNได้ง่ายขึ้น


         “สำหรับเวทีมิสแกรนด์ สปอนเซอร์ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ใหม่ ที่มองว่า แฟนคลับของ “อิงฟ้า” หรือทีมของมิสแกรนด์ไทยแลนด์ มีศักยภาพและกำลังซื้อ ต้องมาถล่มซื้อสินค้าเขา จึงเป็นกลยุทธ์ในการซัพพอร์ตกันและกัน ทำให้คนรู้จักมากขึ้นถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาด และประชาสัมพันธ์ที่เพิ่มยอดขาย       แต่ทางด้านมุมของนักข่าว ที่เกาะติดข่าวเวทีการประกวดมาตลอด  ก็เห็นถึงความแตกต่าง และพัฒนาการของแต่ละเวที เมื่อนางงามที่ได้มงกุฎ ก็ต้องต่อยอดให้กับองค์กรตามแนวทางผู้จัดประกวด แต่สิ่งที่โดดเด่นขับเคลื่อนไปพร้อมกับ วงการนางงามคือ “กระแสโซเชียล” ที่ร่วมตัดสินทางอ้อม และมีผลกับวงการนางงามสูงมาก จนเกือบจะเป็นตัวหลัก หากผลออกมาไม่ถูกใจ หรือมีเหตุผลไม่มากพอ ก็จะเกิดกระแสดราม่าได้”  ฤตภัทร์ ให้มุมมองฤตภัทร์  ยังฝากทิ้งท้ายฝากถึงนักข่าวสายบันเทิงรุ่นใหม่ว่า การทำข่าวบันเทิงมีทั้งสนุก-มัน-แซ่บ-เผ็ดร้อน-ล้วง-ลึก ทุกคนพยายามที่จะหาตัวตน ให้เป็นที่รู้จักและจดจำ  ดังนั้นควรทำข่าวให้สมเหตุสมผลไม่จำเป็นต้องทำตัวดราม่า ให้โซเชียลโจมตีเพื่อมีแสงขึ้นมา ขอให้เป็นเราในแบบของเราดีกว่า และพยายามมีสติในการทำงาน เพราะทุกวันนี้ดาราไม่จำเป็น ต้องพึ่งพานักข่าวมากนัก เขามีทั้งแฟนคลับและช่องทางโซเชียล  ถ้านักข่าวทำอะไรพลาดไป  หน้าที่ของคุณอาจจะไม่ได้อยู่แบบทุกวันนี้ก็เป็นได้

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5