รายงานพิเศษ
โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน
------------------------
หลากหลายเรื่องที่กลุ่มผู้ทำสื่อแขนงต่างๆ อาจจะยังไม่รู้ หรือ เคยรับรู้ แต่หลงลืม กันไปบ้างแล้ว และนำมาซึ่งความเสียหายทั้งเรื่องของการสูญเสียเงินรายได้ และสูญเสียความน่าเชื่อถือ
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ “นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งสถานประกอบการผลิต นำเข้า จำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ ซึ่งในจำนวนนี้ จะหมายรวมทั้งสื่อที่มาจากผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นั้นๆ เอง และที่เป็นการโฆษณาผ่านในสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์อื่นๆ ทั้งนี้ ตามแผนปฏิบัติการประจำปีและการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สรุปดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดทั้งคดีโฆษณา ผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการ 1,792 คดี และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย 802 คดี รวม 2,594 คดี
นพ.สุรโชค บอกว่า มีการดำเนินการปราบปรามผู้ลักลอบผลิต นำเข้า ขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายร่วมกับหน่วยตำรวจสอบสวนกลาง บก.ปคบ. 122 คดี แถลงข่าว 32 ครั้ง โดยคดีที่สำคัญๆ เช่น ปฏิบัติการปูพรมจับร้านขายยาไม่มีเภสัชกรทั่วประเทศ การลักลอบผลิต/จำหน่ายชุดตรวจโควิด-19 ปลอม ลักลอบผลิตไส้กรอกใส่สารอันตราย ลักลอบนำเข้าและขายเครื่องสำอางปลอม แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกขายผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ ลักลอบนำเข้ายาโมลนูลพิราเวียร์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยากษัยเส้นปู่แดงใส่สารอันตราย และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลักลอบใส่วัตถุออกฤทธิ์ ฯลฯ รวมมูลค่าของกลาง 1,321,130,000ล้านบาท พร้อมย้ำว่า อย. จะตรวจสอบ เฝ้าระวังการโฆษณาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง โดยระบุอีกว่า หากผู้ใดมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถาม หรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 ได้
ปัจจุบันการตลาดออนไลน์ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้ธุรกิจต่างๆ เปิดการมองเห็นให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องอาศัย สื่อมวลชน (mass media) สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ สร้างการรับรู้ในคนหมู่มาก เพื่อปลดล็อกการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์
ขณะเดียวกัน สื่อเองจะต้องระมัดระวังในการส่งต่อข้อมูลสินค้าไปยังผู้บริโภค ป้องกันการกระทำที่เข้าข่าย ‘โฆษณาเสี่ยง’ ภายใต้ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ด้วย ฉะนั้น สื่ออาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง ต้องรู้ว่า “อะไรทำได้” หรือ “อะไรทำไม่ได้”
ทั้งนี้ เบื้องต้นมีคำแนะนำง่ายๆ จาก อย. ดังนี้
การโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และโซเชียลมีเดีย (Social media) ที่ประกอบด้วยข้อความ ภาพ เครื่องหมายที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจความหมายได้ผ่านสื่อต่างๆ โดยข้อคิดสำคัญของการโฆษณาสินค้าเพื่อสุขภาพ จะต้องมี ‘เครื่องหมาย อย. และเลขสารบบ 13 หลัก เลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ เลขที่จดแจ้ง 10 หลัก’
โดย อย. แบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งนี้ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการโฆษณามีผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้โฆษณา และผู้รับผิดชอบสื่อโฆษณา ซึ่ง อย.ได้แบ่งกฎหมายที่อนุญาตให้โฆษณาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.การใช้คำโฆษณาโดย ‘ต้องขออนุญาต’ ได้แก่ ยา เฉพาะยาสามัญประจำบ้าน อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเครื่องมือแพทย์
2.การใช้คำโฆษณาที่ ‘ไม่ต้องขออนุญาต’ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมาย ได้แก่ เครื่องสำอางและวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้าน
หลักการโฆษณาที่ ‘ถูกกฎหมาย’
1.ให้ข้อมูลทางวิชาการที่ครบถ้วน โดยไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า มีแหล่งอ้างอิงเชื่อถือได้
2.การโฆษณาที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า
3.เป็นไปตามสรรพคุณที่แท้จริง ไม่เกินจริงหรือเป็นเท็จ
ลักษณะโฆษณาที่ไม่ต้องขออนุญาต
1.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
2.สินค้าที่ได้รับรองผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มอก. ฮาลาล
3.ได้รับรางวัลโดยมีเอกสารยืนยัน
4.ข้อความว่า ไม่ใช้/ไม่เติม/ไม่แต่งกลิ่น ใหม่/สูตรใหม่ โฉมใหม่/ขนาดใหม่ เป็นต้น
5.มีหลักฐานการสำรวจยอดขายยืนยัน สามารถใช้คำว่า ยอดขายอันดับ 1 ยอดนิยม ได้
6.ข้อความว่า ‘เป็นที่ยอมรับทั่วโลก’ จะต้องมีหลักฐานแสดงการจำหน่ายไม่น้อยกว่า 15 ประเทศใน 3 ทวีป
7.ข้อความที่สามารถใช้ได้ เช่น อร่อย กลมกล่อม ต้องลอง เปรี้ยว หอม แซ่บ นัว รสจัดจ้าน แซ่บเวอร์ ละมุน เนื้อแน่น เต็มรส แสบเข้าเส้น เป็นต้น
โฆษณาที่ ‘อย.ไม่ปลื้ม’
1.ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณา เช่น ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ปาฏิหาริย์ วิเศษ เลิศที่สุด ยอดเยี่ยม สุดยอด ที่หนึ่ง เด็ดขาด หายห่วง หมดกังวล หรือ ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น
2.ข้อความที่สื่อถึงผลของการเปลี่ยนแปลงทางกายร่าย เช่น ลดคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเลือด ป้องกันโรคหัวใจ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยดับกลิ่นตัว เพิ่มความจำ เป็นต้น
3.ข้อความสื่อถึงสรรพคุณบำรุงกาม เช่น เสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ อาหารเสริมท่านชาย/หญิง เพิ่มขนาดหน้าอก กระชับช่องคลอด เป็นต้น
4.ข้อความสื่อถึงสรรพคุณบำรุงผิวพรรณและความงาม เช่น ลดริ้วรอย ลดสิว ขาวใสเด้ง กระชับรูขุมขน ชะลอความแก่ แก้ผมร่วง ท้าแดด กันแดด
5.ข้อความที่สื่อถึงการลดน้ำหนัก เช่น ลดความอ้วน ช่วยระบายท้อง สลายไขมัน บล็อก/เบิร์น การใช้ภาพสายวัด ภาพก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์ เพรียว สลิม ไม่โยโย่ เป็นต้น
ทั้งนี้ อย.ยังมีคำแนะนำที่ดีสำหรับสื่อมวลชนที่เป็นตัวกลางในการนำเสนอข่าวสาร รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ ว่า ต้องคำนึงถึงความถูกต้องทางด้าน “จรรยาบรรณวิชาชีพ” และ “ถูกต้องตามกฎหมาย” พร้อมทั้งปรึกษา อย.เพื่อความชัวร์และป้องกันการเสียค่าปรับ