ส่องสื่อมะกัน-อังกฤษ รอบปี 2022 หยุดงานประท้วง ต้านการกดขี่ ร้องปรับขึ้นค่าแรง

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

--------------------

ปี 2022 เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับใครหลายๆ คน จากพายุปัญหานานัปการที่ถาโถมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามรัสเซียที่ตอกย้ำให้สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกย่ำแย่ เกิดอัตราเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว ผู้คนต้องรับมือกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางความเสี่ยงต่อภัยการขาดแคลนอาหารที่มากขึ้น แต่ใครจะคิดว่าว่า สื่อมวลชนที่คอยเป็นกระบอกเสียงบอกเล่าปัญหาของผู้คน เรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมให้กับผู้ตกทุกข์ได้ยาก กลับกลายมาเป็นหนึ่งในคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้เสียเอง โดยในปีนี้ ปรากฏการลุกฮือและการหยุดงานประท้วงของเหล่าผู้สื่อข่าวจากทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เพื่อต่อต้านการกดขี่และเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาสมควรได้ โดยเฉพาะค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ท่ามกลางสภาวะที่ผู้คนต้องแบกรับค่าครองชีพที่โหดร้ายมากขึ้น

(REUTERS)

พนักงานของ New York Times และ NewsGuild สหภาพแรงงานของกลุ่มผู้สื่อข่าวและผู้ประกอบอาชีพด้านสื่อ หยุดงานประท้วงเมื่อวันที่ 8ธันวาคม เพื่อต่อต้านระบบการประเมินของบริษัทที่กีดกันชนกลุ่มน้อย พร้อมทั้งเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงและปรับฐานเงินเดือน

การชุมนุมครั้งใหญ่ที่มีนักข่าวลงนามเข้าร่วมมือการประท้วงเป็นเวลา 24ชั่วโมงอย่างน้อย 1,100 คนนี้ เกิดขึ้นที่หน้าทางเข้าบริเวณถนนหมายเลข 40 ของสํานักงานใหญ่ของ New York Times ใจกลางแมนฮัตตัน โดยผู้ประท้วงร่วมใจกันสวมชุดสีแดงและถือป้าย "New York Times Walks Out" และรับฟังการปราศรัยจากแกนนําสหภาพแรงงาน อย่าง นิโคล ฮันนา-โจนส์ และ ซูซาน เดอคาราวา หัวหน้าสหภาพ NewsGuild หลังผ่านช่วงเวลาแห่งควาทตึงเครียดในการเจรจากับบริษัทสื่อชื่อดังของสหรัฐ แต่กลับล้มเหลวจนเกิดเป็นการออกมาประท้วงดังกล่าวขึ้น

นิโคล ฮันนา-โจนส์ (AP)

ฮันนา-โจนส์ ซึ่งเป็นพนักงานของ New York Times คนหนึ่งที่เป็นที่จดจำมากที่สุด กล่าวต่อฟ๊อกซ์ นิวส์ ดิจิทัลว่า เป้าหมายในการหยุดงานประท้วงครั้งนี้คือการแสดงให้เห็นว่าเราสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพที่โต๊ะเจรจา ที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้ปรับเพิ่มเงินเดือนเป็นเวลาสองปี ขณะที่สมาชิกของสหภาพแรงงานประสบความลำบากในการทำงาน ใช้ชีวิต และหาเลี้ยงปากท้อง อีกทั้งยังตอกย้ำว่าความมั่นใจของเหล่าพนักงานต่อบริษัทค่อนข้างต่ำ หลังจากความล้มเหลวในการเจรจาเพื่อเรียกร้องสัญญาการทำงานที่เป็นธรรมมากขึ้นยาวนานถึง 20 เดือน 

ส่วนเดอคาราวา เชื่อว่าการประเมินพนักงานของ New York Times เลือกปฏิบัติต่อพนักงานผิวสี หลังจากที่ผู้สื่อสารข้อมูลเชิงลึกได้ตรวจสอบผลการประเมินภายในของบริษัทดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อดุลยพินิจในการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างให้สูงขึ้น ที่มักอ้างอิงและขึ้นอยู่กับผลการประเมินภายใน ดังนั้นพนักงานผิวสีจึงไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนตามสมควรดั่งที่เขารู้สึกว่าตนเองควรได้รับ

เดอคาราวาได้ผลักดันให้เกิดระบบที่มีการควบคุมให้ทุกคนได้รับการการันตีการเพิ่มเงินเดือนเป็นประจำทุกปี รู้สึกว่า New York Times ไม่ได้เจรจาอย่างจริงใจ 

สอดคล้องกับที่บิล เบเกอร์  หัวหน้าหน่วยของ NewsGuild วิจารณ์ภาวะผู้นำของ New York Times และเรียกร้องให้บริษัทตอบแทนพนักงาน ไม่ใช่เพราะแค่การยอมอ่อนข้อในอดีต แต่เพราะสิ่งที่พนักงานได้ทุ่มเททำงานให้กับบริษัทมาตลอดจนถึงปัจจุบัน หลังจากที่สถานการณ์ทางการเงินของสื่อชื่อดังแห่งนี้ดีขึ้นแล้ว

สเตซี่ คาวลีย์ นักข่าวการเงินของ New York Times ซึ่งเป็นคณะกรรมการการเจรจาของ NewsGuild เห็นว่า ค่าจ้างที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพ เป็นสองประเด็นที่สําคัญที่สุดสําหรับสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคน

ขณะที่ผู้บริหารของ New York Times ออกมาแสดงความไม่พอใจที่สหภาพแรงงานสื่อดังกล่าวไม่ต้องการที่จะเจรจากันแบบเจอตัว แต่ประสงค์ที่จะพูดคุยกันผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อให้สมาชิกทุกคนสามารถเข้าร่วมรับฟังและเป็นพยานในการเจรจาได้ โดยคาวลีย์กล่าวว่า การเจรจาไม่ควรที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นความลับและทุกคนมีสิทธิที่จะเห็นกระบวนการดังกล่าว

อย่างไรก็ดี คาวลีย์ กล่าวว่ายังไม่มีกำหนดการการเจรจาอื่นๆ จนกระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม แต่เธอยินดีที่จะพูดคุยกับริษัทตลอดเวลา “เราจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ต่อไปเพื่อบรรลุข้อตกลง หาก New York Times ยังคงล้มเลิกข้อเสนอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิงนั้น ฉันคิดว่าวันนี้คุณคงได้เห็นถึงพลังแห่งเจตจำนงร่วมของเราแล้ว”

ทั้งนี้ การประท้วงที่มีระยะเวลาถึงหนึ่งวันและมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คนในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นหนึ่งในการประท้วงของนักข่าวครั้งใหญ่ที่สุดของ New York Times แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่เหล่าพนักงานบริษัทข่าวยักษ์ใหญ่นี้ออกมารวมตัวประท้วง เพราะในอดีตนักข่าวของ New York Times เคยลุกฮือเรียกร้องสิทธิของตนเช่นกัน โดยการนัดหยุดงานในปี 1978 ถือเป็นครั้งสำคัญที่สุด ที่กินเวลายาวนาน 88 วันจนส่งผลทำให้การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ถูกขัดขวาง ต่อมาในปี  1981 เกิดการประท้วงหยุดงานที่กินเวลาน้อยกว่าหนึ่งวัน ล่าสุดในปี 2018 มีการหยุดงานช่วงสั้น ๆ เพื่อประท้วงการปลดพนักงานฝ่ายแก้ไขเนื้อความหนังสือพิมพ์ออกยกโต๊ะ

ขณะที่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน นักข่าวรอยเตอร์ในสหรัฐฯ ลงคะแนนเสียงอนุญาตให้สหภาพแรงงาน NewsGuild ที่เป็นตัวแทนของพนักงานจากสำนักข่าวดังกล่าวราว 300 คนในสหรัฐ ดำเนินการหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้นและผลประโยชน์อื่นๆ ได้

พนักงานบริษัทรอยเตอร์หยุดงานประท้วงเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม(NewsGuild)

ในการโหวตเมื่อวันที่ 3 และ 4 พฤศจิกายน พนักงานจำนวน 81% จากสหภาพแรงงานดังกล่าว ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้คณะกรรมาธิการการเจรจาของ NewsGuild สามารถเริ่มการประท้วงหยุดงาน “หากผู้ว่าจ้างยังคงเจรจาอย่างไม่เป็นธรรม” โดยที่ 80% ของคณะกรรมการดังกล่าวก็มีส่วนร่วมในการลงคะแนนเสียงครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 90% ของพนักงานบริษัทรอยเตอร์ที่เป็นสมาชิกของสหภาพนักข่าวนี้ได้ประท้วงหยุดงานเป็นเวลาหนึ่งวันที่สำนักงานต่างๆ ของรอยเตอร์ทั่วสหรัฐ นับเป็นการออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและความเป็นธรรมในการทำงานของเหล่าพนักงานรอยเตอร์เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

NewsGuild กล่าวว่าได้ยื่นฟ้องรอยเตอร์ เรื่องการดำเนินงานที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน เนื่องจากบริษัทมีการต่อรองที่ไม่สุจริต หลังจากยกเลิกการเจรจาหลายครั้งด้วยการไม่ระบุวันที่สำหรับการพูดคุยให้แน่ชัด และยังไม่มีการขึ้นค่าจ้างให้แก่พนักงานของสหภาพแรงงานเป็นเวลาถึง 2 ปีซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูง ขณะที่ครอบครัว Thomson ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักข่าวชื่อดังดังกล่าวกลับขึ้นแท่นเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในแคนาดาด้วยทรัพย์สินส่วนตัวที่มูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ในเดือนเดียวกันนั้น หนังสือพิมพ์ Pittsburgh Post-Gazette ของสหรัฐก็ประสบกับการประท้วงหยุดของเหล่าพนักงานกว่า 100 คนจากสหภาพแรงงานถึง 5 แห่ง เพื่อต่อต้านการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานและเรียกร้องมีการปรับปรุงผลตอบแทนรวมถึงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น นับเป็นการประท้วงของภาคอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษของสหรัฐ

(News Paper Guild for Pittsburg)

การนัดหยุดงานประท้วงดังกล่าวปะทุตัวขึ้นในเดือนตุลาคม ภายหลัง Block Communications ของครอบครัว Block บริษัทแม่ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวตัดสิทธิ์ประกันสุขภาพสำหรับพนักงานเมื่อวันที่ 1ตุลาคมหลังจากปฏิเสธที่จะจ่ายเงินเพิ่มจำนวน 19 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ต่อพนักงานหนึ่งคน เพื่อรักษาความคุ้มครองที่มีอยู่ ซึ่งทำให้ฟางเส้นสุดท้ายของเหล่าพนักงานขาดสะบั้นจนเกิดเป็นการประท้วงขึ้นมา ขณะที่พนักงานของหนังสือพิมพ์ยังกล่าวว่า ตนทำงานโดยไม่มีสัญญาการจ้างงานมาเป็นเวลา 5 ปี และว่าพวกเขาไม่ได้รับการขึ้นค่าจ้างใดๆ เลยในรอบ 16 ปีที่ผ่านมานี้

การเจรจาของฝ่ายสภาพแรงงานและบริษัทหนังสือพิมพ์ดังกล่าวมีความคืบหน้าค่อนข้างน้อยอย่างไรก็ดีทั้งสองฝ่ายมีกำหนดที่จะเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ เพื่อการต่อรองที่มากขึ้น

ฝั่งสหราชอาณาจักรก็ปรากฏการณ์หยุดงานประท้วงของนักข่าวเช่นกันโดยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พนักงานของบริษัท Reach สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษ จำนวนประมาณ 1,150 คนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน The National Union of Journalists (NUJ) ได้หยุดงานประท้วงเป็นเวลา 24ชั่วโมงเพื่อต่อต้านนโยบายการขึ้นเงินเดือนด้วยอัตราเพียง 3% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจุนเจือเหล่าพนักงานที่ต้องรับมือกับวิกฤตค่าของชีพที่สูงขึ้นในประเทศ

(The National Union of Journalists)

การประท้วงดังกล่าวมีกำหนดที่จะดำเนินการเป็นเวลา 4 วันแต่การประท้วง 3 วันให้หลังต้องถูกยกเลิกเนื่องจากข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

อย่างไรก็ดีในเดือนต่อมา NUJ ประกาศว่าได้ยอมรับข้อเสนอค่าจ้างฉบับแก้ไขจาก Reach ที่จะนำไปสู่การเพิ่มเงินเดือนราว 14 - 44% สำหรับพนักงานกองบรรณาธิการจำนวนหลายคนของบริษัทแล้ว 

แม้ว่าความขัดแย้งของสื่อมวลชนกับบริษัทนายจ้างในบางแห่งจะสิ้นสุดลงไปได้เป็นการชั่วคราว แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายมุมโลกก็สะท้อนให้เห็นว่า สื่อมวลชนที่คอยเรียกร้องและเป็นปากเป็นเสียงในการปกป้องสิทธิผู้อื่นในสังคมทั่วโลก ก็ยังต้องเผชิญกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเสียเองอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

---------------------