“ประตูปิด ชีวิตเปิด: โอกาสใหม่หลังเรือนจำ”

ก้าวแรกสู่อิสรภาพของศักดิ์ดา ชายวัย 48 ปี อดีตผู้ต้องขังคดียาเสพติด ตัดสินใจขึ้นรถเมล์เพื่อเดินทางมูลนิธิช่วยเหลือผู้กระทำผิดที่พ้นโทษ (บ้านพระพร) หวังเป็นที่พึ่งเริ่มต้นชีวิตใหม่ ระหว่างทางผ่านบ้านเพื่อนที่เขาเคยไปรับยาเสพติด ทำให้ลังเลเปลี่ยนใจจะลง“กำลังจะลงแต่ประตูปิดก่อน พาขึ้นไปทางด่วนเลย ถ้าเกิดไปเล่นยาตอนนั้นคงไม่มาถึงป่านนี้”

“นั่งคิดอยู่นานว่าจะลงดีไหม ปกติคนขับต้องถามว่าจะลงไหม แต่นี่เขาปิดประตูแล้วขับเลยไปเลย คิดว่าพระเจ้าคงนำทางมั้ง”

เส้นทางชีวิตของศักดิ์ดา หันหน้าเข้ายาเสพติดตั้งแต่อายุ 18 ปี ด้วยความอยากรู้อยากลองตามประสาวัยรุ่น แต่เขาไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นจะกลายเป็นสะพานเชื่อมให้เข้าสู่วังวนยาเสพติดแบบถาวร เปลี่ยนจากผู้เสพหน้าใหม่เป็นผู้ขาย ด้วยปัจจัยทางสภาพแวดล้อมของชีวิต

ในวัย 25 ปี ศักดิ์ดาก้าวขาเข้าคุกครั้งแรกในข้อหาค้ายาเสพติดโทษ 3 ปี 12 เดือน ตลอดเวลาในเรือนจำแทนที่ศักดิ์ดาจะได้ทักษะในการดำเนินชีวิต เขากลับได้ทักษะและคอนเนคชั่นใหม่ในการค้ายาเพิ่มขึ้น และกลายเป็นคนที่คิดการใหญ่ หาหนทางค้ายาหลังพ้นโทษ จากนั้นผ่านไปเพียง 2 เดือน ศักดิ์ดากลับเข้าสู่เรือนจำอีกครั้ง ฐานะนักโทษค้ายาเสพติดเหมือนเดิม อีก 3 ปี 9 เดือน การจองจำในครั้งนี้เหมือนศักดิ์ดาจะเริ่มคิดได้หลังได้ข่าวเพื่อนรักถูกวิสามัญ จึงเกิดความกลัวว่าตนจะพบจุดจบเช่นเดียวกัน

สองวันสุดท้ายก่อนพ้นโทษ ทางมูลนิธิบ้านพระพรได้เข้ามาอบรม ให้ความรู้ พร้อมกับมอบความหวังว่าจะช่วยเหลือผู้พ้นโทษหากไม่มีที่ไป ที่แห่งนี้จึงเป็นเสมือนบ้านหลังเดียวที่เขานึกถึงหลังพ้นโทษ

5 ก.พ. 62 ศักดิ์ดาอย่าพ้นโทษและก้าวขาออกมาเริ่มชีวิตใหม่นอกกรงขัง ได้เข้าไปอยู่บ้านพระพร ผ่านไปแค่ 2 เดือน ศักดิ์ดากลับคิดได้ว่าเส้นทางชีวิตที่ถูกต้องและยั่งยืน คือการประกอบอาชีพสุจริต เขาจึงเข้าโครงการลูกชิ้นทอด เพื่อยึดเป็นหลักเลี้ยงชีพ

เวลา 7 ปีในคุก ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของคนที่ทั้งชีวิตอยู่ในวงจรของยาเสพติดได้ แต่เวลา 3 เดือนในมูลนิธิบ้านพระพร สามารถเปลี่ยนได้ ปัจจัยสำคัญ ศักดิ์ดามองว่า ที่นี่มองทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และใช้วิธีการสอน ให้คำแนะนำ ต่างจากในเรือนจำ

“ในเรือนจำมันเป็นการบังคับ ยัดเยียด แต่ที่บ้านพระพรไม่บังคับ อยากทำก็ทำ จะสอนให้ อยากไปก็ไป”

การดูแลผู้กระทำผิดด้วยการบงการและบังคับดังที่เป็นอยู่ในเรือนจำ จึงอาจไม่ใช่คำตอบในการเปลี่ยนทัศนคติผู้พ้นโทษให้ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ

รายงานพิเศษจาก : การอบรมสื่อมวลชน “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ” จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย TIJ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อ ๑๖ - ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

1. นงนภัส พัฒน์แช่ม

2.ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์

3.คชรักษ์ แก้วสุราช

4.สมศักดิ์ ศรีชุ่ม

5.ณปภัช อินทร์น้อย

6.เกวลี ปลัดกอง

7.กฤติมา คลังมนตรี

8.ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม