สิบปีชีวิตในเรือนจำกับความผิดที่ไม่ทันรู้ตัว 

เรื่องราวของหญิงสาวที่ชีวิตพลิกผันเข้าเรือนจำ เพราะคดียาเสพติดที่เธอบังเอิญเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เธอก็กลับมาได้ด้วยความรักของครอบครัว 

ภาพประกอบโดย 29xart

//////////////////////////////////////////////////////////

- พี่หนึ่ง(นามสมมติ) หญิงสาวจากอ่างทองอายุ 30 ปี จบการศึกษาชั้นประถม 6 เธอทำอาชีพช่างเสริมสวยอยู่ที่อยุธยา ด้วยความเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกสองคน อาชีพเสริมจึงเป็นสิ่งที่เธอมองหาเสมอ เพื่อหวังจุนเจือครอบครัว

-วันหนึ่งมีลูกค้าร้านเสริมสวยมาเสนออาชีพเก็บเงินกู้ อาชีพที่รายได้สูงได้เงินครั้งละ 2,000-3,000 บาท ทำเงินง่าย เธอมองว่าเป็นงานที่ทำอย่างถูกต้องและทำในที่แจ้งจึงไม่เฉลียวใจ หน้าที่ของเธอมีเพียงแค่ขี่มอเตอร์ไซค์คู่กายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ รับเงินตามบ้านที่ชายนิรนามในโทรศัพท์ระบุพิกัด ใส่ถุงเตรียมรอคนมารับ บางครั้งเธอก็ถูกขอให้โอนเงินเข้าบัญชีคนอื่นซึ่งเธอเชื่ออย่างสนิทใจว่าเป็นเจ้าหนี้

-แต่แล้ว 6 เดือนผ่านไปชีวิตของเธอก็ต้องเผชิญกับจุดพลิกผัน เธอถูกล่อซื้อ แล้วถูกตั้งข้อหาว่าเป็นส่วนหนึ่งกับขบวนการค้ายาเสพติด เธอถึงกับช็อกเมื่อทราบว่าคนที่เธอคิดว่าเป็นเจ้าหนี้ที่ปลายสาย แท้จริงเป็นพ่อค้ายาเสพติด ส่วนเงินที่เธอไปเก็บก็เป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาทั้งสิ้น

-ด้วยการศึกษาน้อยและไม่รู้เรื่องกฎหมาย เธอไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร มีเพียงทนายอาสาของศาลเท่านั้นที่แนะนำว่า จะสู้ก็ได้ แต่จากหลักฐานการเงินที่พบในร้านและความเชื่อมโยงทางการโอนเงินนั้นอาจทำให้หลุดจากคดียาก เธอตัดสินใจไม่สู้ สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยให้ความสำคัญกับหลักฐานมากกว่าเจตนาของผู้ถูกกล่าวหา

-เธอถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 28 ปี 6 เดือน และจำคุกจริงเป็นเวลา 10 ปี 7 เดือน โดยใช้ชีวิตอยู่ 3 ทัณฑสถาน ที่แรกระหว่างการพิจารณาคดีความที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะย้ายไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากถูกตัดสินด้วยโทษสูง จนกระทั่งเกิดเหตุน้ำท่วม หนึ่งจึงถูกย้ายไปอยู่เรือนจำราชบุรี (แดนหญิง) เป็นที่สุดท้ายและถูกปล่อยตัวที่นั่น

-ระหว่างอยู่ในเรือนจำ หนึ่งแทบจะไม่ได้ต่อติดกับลูกและญาติเลย เธอใช้ชีวิตตามลำพัง กินนอนอยู่กับเพื่อนร่วมเรือนจำด้วยความแออัด อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวด ทุกอย่างต้องปฏิบัติเป็นเวลา ตั้งแต่ตื่นนอน อาบน้ำ ทานอาหาร หรือทำกิจกรรมอื่นๆ แต่จากประสบการณ์ของหนึ่งมองว่าในเรือนจำไม่ใช่ที่ดัดนิสัยอย่างที่สังคมคาดหวัง “บางคนที่ดูเรียบร้อย กลับออกจากเรือนจำเป็น ‘ขาโจ๋’ ก็มีด้วยซ้ำ” เธอเล่า

-ก่อนที่จะถูกปล่อยตัว เธอเริ่มหาลู่ทางทำกินจากการฝึกอาชีพในเรือนจำ เธอลองฝึกอาชีพหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเย็บผ้าด้วยจักร ถักไหมพรม … แต่สุดท้ายมาลงเอยที่การดูไพ่ยิปซี เธอบอกว่าเธอหลงใหลการเรียนรู้ความลี้ลับของไพ่ยิปชี “หนูชอบความลับของลูกค้า เพราะลูกค้าบางคนซ่อนอะไรบางอย่างในใจ มันท้าทายดี”

-หนึ่งประสบความสำเร็จกับการดูไพ่ยิปซีมาก ช่วงท้ายที่อยู่เรือนจำราชบุรีเธอได้ออกไปดูไพ่ให้คนที่แวะเวียนมาที่ ‘คุกคอฟ’ คาเฟ่ที่เรือนจำทำโครงการฝึกอาชีพก่อนพันโทษ รายได้การดูดวงคราวละ 69 บาท ทำให้เธอสะสมรายได้ตอบแทนต่อเดือน 9,000 กว่าบาท  เธอมองเห็นความหวังที่จะประกอบอาชีพหลังพ้นโทษตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

-หลังจากนั้นเธอก็ได้พักโทษ แต่กระบวนการยุติธรรมที่ต้องให้ญาติหรือครอบครัวลงชื่อรับรองในการก้าวสู่อิสระ แต่เพราะเธอจำที่อยู่ของญาติคนไหนไม่ได้ทำให้เธอต้องเสียเวลาไปถึง 10 เดือน เพราะเธอส่งจดหมายที่เต็มไปด้วยความคาดหวังที่จะได้ก้าวออกจากเรือนจำเพื่ออิสรภาพไปยังบ้านของเธอ บ้านที่ร้างไร้คนอยู่อาศัย 

-เมื่อต้องโทษกว่า 10 ปี บ้านเกิดของเธอกลายเป็นบ้านร้าง เหลือเพียงแค่เสาเรือนและฝาบ้าน นาน ๆ ทีญาติจะแวะเวียนเข้าไปดู จดหมายที่เธอส่งออกจากเรือนจำถึงบ้าน ตั้งแต่เดือนมกราคม แต่กว่าญาติจะเห็นก็ปาเข้าไปหลายเดือนแล้ว

-ในเดือนตุลาคม วันหนึ่งผู้คุมเชิญเธอเข้าไปพูดคุยเป็นการส่วนตัว เพราะมีจดหมายฉบับแรกมาถึงเธอนับตั้งแต่เข้าเรือนจำ แต่จดหมายดังกล่าวเต็มไปด้วยคำหยาบคาย เป็นจดหมายแสดงความห่วงใยจากป้าที่เพิ่งพบว่าหลานแท้ ๆ ที่หายไปกว่า 10 ปี หายไปเพราะต้องโทษจำคุกด้วยข้อหายาเสพติด เธอเล่าว่าแม้ครั้งแรกของจดหมายจะเต็มไปด้วยคำด่า แต่ก็ปนไปด้วยความห่วงใย และป้าคนนี้ก็เป็นคนมารับเธอออกจากเรือนจำด้วยตัวเอง 

-“ถึงผู้ต้องขังคนอื่นถ้าออกมาแล้วยังไม่รู้จะเดินทางไปไหนก็กลับไปตั้งตัวที่ครอบครัวเถอะเพราะคนที่รักเราจริงจะรอเราอยู่ที่นี่” เธอกล่าวย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ว่าเธอจะถูกป้าต่อว่าที่ทำความผิดจนถึงขั้นต้องติดคุก แต่ครอบครัวของเธอก็ยังคงสนับสนุนให้เธอเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ได้

- หนึ่งเริ่มต้นชีวิตด้วยการยืมมอเตอร์ไซค์คนในครอบครัวออกไปซื้อไพ่ ลงทุนกับเก้าอี้พลาสติกอันเล็ก ๆ ไปตั้งโต๊ะดูดวงที่ตลาด สั่งทำป้ายเล็ก ๆ ระบุว่าดูดวงตามคำแนะนำของผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา ไพ่หนึ่งสำรับที่ซื้อมาด้วยเงิน 2,000 บาท ถูกอ่านครั้งแล้วครั้งเล่า แลกกับเงินวันละ 100-300 บาท 

- เมื่อรายได้จากการดูดวงที่ตลาดไม่เพียงพอ เธอเริ่มยุทธการเชิงรุก ดูดวงให้เพื่อนฝูงแล้วโปรโมทแบบปากต่อปาก เธอเรียกตัวเองว่า “หมอกระเป๋า” หิ้วไพ่ไปดูตามบ้านคนมากหน้าหลายตา เริ่มได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่รายได้การดูดวงยังไม่เพียงพอในการดูแลเธอและลูกอีกสองคน เธอจึงมองหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมเพื่อเลี้ยงสามปากท้องให้อยู่รอด

-หลังจากนั้นเธอก็ได้รับเงินทุนจาก ป.ป.ส. จำนวน 20,000 บาท เธอนำมาทำร้านเสริมสวยแต่แล้วอาชีพนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะลูกค้าจำนวนมากบอกว่าราคาค่าบริการของเธอแพงเกินไป “ค่าตัดผม 50 บาท แพงเกินไป” ร้านเสริมสวยไม่ได้ให้ผลตอบแทนอย่างที่หวัง เคราะห์ยังซ้ำพัดพาโควิด-19 มาทำให้โอกาสในธุรกิจหายไปแทบจะทันที

-จากนั้นเธอเริ่มมองหารายได้ที่มั่นคง เธอพยายามหางานในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ แต่โควิด-19 ทำให้การจ้างงานทั้งอุตสาหกรรมชะลอตัวและด้วยอายุที่ล่วงเข้าวัย 42 ปี ยากที่จะหาบริษัทใดรับคนในวัยนี้เข้าทำงาน อาชีพที่พอหาได้คือเข้าสู่เส้นทางลูกจ้าง Sub-contract อาชีพหลักที่เธอทำอยู่ในปัจจุบัน ควบคู่กับอาชีพหมอดูในเวลาว่าง แต่เส้นทางนี้ยังไกลจากคำว่ามั่นคงเนื่องจากลูกกจ้าง sub-contract ยังเผชิญกับสภาวะเปราะบางต่อการเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้  

-เธอไม่คิดจะบอกเพื่อนร่วมงานว่าเธอเคยติดคุก เพราะเธอคิดว่าเพื่อนบางคนก็ไม่ได้สำคัญ แต่เธอก็อธิบายกับหัวหน้างานของเธอให้รู้ว่าเธอเป็นคนมีประวัติ ขณะเดียวกันเมื่อมีเพื่อนร่วมงานเล่นมุกตลกเกี่ยวกับการเข้าคุก เธอมักจะตอบทีเล่นทีจริงเสมอ “เวลามีคนพูดว่าเคยติดคุกเหรอ เราก็ตอบว่าเคย แต่เราก็จะบอกไปว่าเคยทำงานในเรือนจำโดยเป็นวิทยากรแล้วทุกคนก็หยุดถาม” 

- จาก 0 ถึง 10 ในวันที่ออกจากเรือนจำเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ หนึ่งบอกว่าตอนนี้ให้คะแนนชีวิตตัวเองอยู่ที่ 5 จากที่ไม่รับรู้ความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงของสังคมกว่า 10 ปี เธอต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ แผนชีวิตที่เคยตั้งใจวางไว้ในเรือนจำถูกปรับเปลี่ยนจากสภาพแวดล้อมใหม่ที่เธอเผชิญ และดิ้นรนเพื่อให้ทั้งใจและกายเข้มแข็งใช้ชีวิตต่อ จากประสบการณ์เหล่านี้เธอจึงมองว่าสำหรับคนที่พ้นโทษแล้วย่อมอยากได้การสนับสนุนการปรับตัวเข้าสู่สังคม และเงินทุนที่ทำให้ตั้งตัวต่อยอดเลี้ยงชีพในสังคมได้

-“อยากให้คนที่เพิ่งพ้นโทษออกมาได้รับเงินติดตัวสัก 2,000 ก็ยังดี เพื่อให้เขาออกมาตั้งตัวได้เพราะบางคนก็ไม่มีญาติและขอให้สังคมเปิดรับ” หนึ่งพูดข้อเสนอแนะเมื่อถูกถามว่าต้องการให้คนที่เพิ่งพ้นโทษได้รับการช่วยเหลือด้านใด

-แม้ว่าหนึ่งจะมีทักษะด้านช่างเสริมสวยติดตัวอยู่แล้ว อีกทั้งได้ฝึกทักษะการดูดวงไพ่ยิปซีมาจากข้างในเรือนจำ จนมีหลายทักษะที่สามารถสร้างรายได้ แต่การต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานกว่าสิบปี ก็ได้พรากหลายสิ่งหลายอย่างไปจากชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง โดยเฉพาะการเริ่มต้นหารายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ภายใต้สภาวะทางเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและไม่แน่นอน

รายงานพิเศษจาก : การอบรมสื่อมวลชน “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ” จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย TIJ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อ ๑๖ - ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

1.โยษิตา สินบัว

2.ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ

3.สุดารัตน์ พรมสีใหม่

4.ฉัตรลดา ตั้งใจ

5.ธนัท ชยพัทธฤทธี

6.วศินี พบูประภาพ

7.พิทักษ์ บุณย์