“สัญญาณการเริ่มต้นการเลือกตั้งในปีหน้าแน่นอน จากนี้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือทำให้เปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปีหน้าแน่นอน”
.
ความเคลื่อนไหวของ ส.ส.ลาออก ย้ายพรรคการเมือง ช่วงโค้งสุดท้ายของปี “ญาณี ไหว้ครู” ผู้สื่อข่าว สายการเมือง (ประจำรัฐสภา) สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS พูดคุยไว้ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยกางปฏิทินเลือกตั้งมาก่อนหน้านี้ว่า อาจจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 หากสภาผู้แทนราษฎร ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ แต่หากนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภา การเลือกตั้งก็อาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น ซึ่งจะต้องจัดการเลือกตั้งไม่เกิน 45 วัน หลังยุบสภา ส่วนสาเหตุที่ ส.ส.ลาออกในช่วงนี้ ถือเป็นช่วงเวลาสุดท้าย ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระใน 2-3 เดือนข้างหน้า จึงเป็นเรื่องปกติของคนการเมือง ที่จะเปลี่ยนม้าเปิดหน้าหาเสียงกับพรรคการเมืองใหม่ เพราะกฎหมายการเลือกตั้งกำหนดว่า กรณียุบสภา การจัดเลือกตั้งต้องมีขึ้นภายใน 45 วัน คนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติและเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 30 วัน แต่หากรัฐบาลอยู่ครบวาระ ก็ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 -60 วัน และผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องเป็นสมาชิก สังกัดพรรคการเมืองอย่างน้อย 90 วัน จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ส.ส. เริ่มทยอยลาออกย้ายสังกัดพรรคการเมือง เพื่อหาเสียงในนามพรรคการเมืองใหม่ แต่ว่ายังมีเวลาเหลือในระยะปลอดภัยสำหรับผู้ที่จะย้ายพรรคการเมือง จะต้องเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ ก่อนวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้
“ญาณี” มองว่า การย้ายพรรคของ ส.ส.อาจเป็นการส่งสัญญาณเริ่มต้นว่า จะมีการเลือกตั้งในปีหน้าแน่นอน เพราะหากนับจากวันนี้ (18 ธ.ค.) ไปอีกราว 3 เดือน ก็จะครบวาระรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 และคาดว่า พลเอกประยุทธ์ น่าจะยุบสภาก่อนครบวาระอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือระหว่างวันที่ 15 - 22 มีนาคม 2566 ส่วนการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรระหว่างนี้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเช่นกัน ผู้ที่ยังอยู่พรรคการเมืองเดิม ก็เดินหน้าทำงานในสภาต่อไป แต่ใครมีข้อตกลงทางการเมืองกับพรรคการเมืองอื่น ก็จะต้องลาออกจากสมาชิกพรรคเดิม ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เป็น ส.ส.หมดลงไปด้วย เพื่อสมัครเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหม่ เปิดหน้าการเมืองกับพรรคการเมืองใหม่ และเตรียมพร้อมชนกับคู่แข่งในสนามเลือกตั้งปีหน้า
“สัญญาณการเริ่มต้นการเลือกตั้งในปีหน้าแน่นอน จากวันนี้ (18 ธ.ค.) ไปอีกราว 3 เดือน ก็จะครบวาระรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือทำให้เปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปีหน้าแน่นอน แต่คาดว่า พลเอกประยุทธ์ จะยุบสภาก่อนครบวาระอย่างน้อย 1 สัปดาห์ 15 – 22 มีนาคม 2566” ญาณี กล่าว
ส่วนที่พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.ย้ายไปร่วมสังกัดพรรคจำนวนมาก จะมีโอกาสหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น “ญาณี” ระบุว่า มีนักวิชาการประเมินไว้แล้วว่า เป็นการโชว์พลังดูด ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตั้งเป้าไว้ว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคภูมิใจไทย จะเป็นพรรคขั้วการเมืองหลักในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้จะไม่ได้เป็นพรรคอันดับ 1 แต่ก็จะเป็นพรรคคู่หลักของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะจับมือในหลังการเลือกตั้งด้วย
“ญาณี” ยังมองโอกาสของพรรคภูมิใจไทย ในสนามการเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังมี ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐไปสมัครเป็นสมาชิก เพื่อเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยว่า แม้ที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทย ไม่เคยมี ส.ส.กรุงเทพฯ มาก่อน แต่การย้ายพรรคของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ น่าจะเป็นการพูดคุยกัน ระหว่างแกนนำในพรรคภูมิใจไทยกับ “นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” อดีตแกนนำพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่กรุงเทพฯ และเชื่อว่า อีกไม่นานนายพุทธิพงษ์ ก็น่าจะเปิดตัว ร่วมงานการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย และจะเป็นคนนำพรรคภูมิใจไทย ลุยสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯด้วย จึงอาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของภูมิใจไทย ที่จะได้ ส.ส.ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างน้อย 1 ที่นั่ง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ ย้ายไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย แต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คะแนนเสียง ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนส่วนหนึ่ง ก็มาจากกระแสความนิยมของ “พลเอกประยุทธ์” ด้วย
เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตั้งเป้าหมายกวาดเก้าอี้ ส.ส.ในกรุงเทพฯด้วยนั้น “ญาณี” มองว่า ถือเป็นการแข่งขันกันทางการเมืองของขั้วในพรรคร่วมรัฐบาลเอง กับขั้วตรงกันข้ามอย่างพรรคฝ่ายค้าน ที่ยังคงจะต้องจับตาว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า 33 เขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ใครจะสามารถกวาดเก้าอี้ และใครจะสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่แต่ละพรรคการเมืองต้องแก้โจทย์นี้ให้ได้
“ญาณี” ยังมองการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติของ “พลเอกประยุทธ์”ว่า พลเอกประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีก 2 ปีตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้อง รีบประกาศตัวว่าจะร่วมงานการเมือง หรือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ และหากพลเอกประยุทธ์ จะย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติจริง คงต้องรอดูว่า จะเป็นแม่เหล็กดึง ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐไปได้อีกหรือไม่ เพราะหากดูกระแสนิยมของพลเอกประยุทธ์ แล้วแตกต่างจากอดีต เพราะผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ก็ยังมีคะแนนความนิยมใน นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย หรือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ที่บางสำนักสำรวจความเห็นฯ มีคะแนนขึ้นนำพลเอกประยุทธ์ ที่กระแสนิยมลดลง รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังต้องรับบทหนัก และท้าทาย ทั้งในพรรคเอง และนอกพรรค ที่ต้องแข่งขันกับพรรคการเมืองทั้งขั้วเดียวกัน และขั้วตรงข้าม ซึ่งก็เป็นโจทย์ใหญ่ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคฯ ว่า จะสามารถนำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปต่ออย่างไร
ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ หลังกติกาการเลือกตั้งเปลี่ยนกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยฐาน 100 นั้น “ญาณี” มองว่า พรรคขนาดกลาง อาจจะกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก มีแต่พรรคการเมืองขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีความนิยมเป็นต้นทุนทางการเมือง และจะได้คะแนนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนมากถึงจะได้ค่าสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก เพราะสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบใหม่ ทำให้ค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ที่แต่ละพรรคจะได้รับนั้น คะแนนสูงมาก พรรคการเมืองขนาดเล็กอาจจะสูญพันธุ์เลยก็ได้ ซึ่งหากจะนำคะแนนเลือกตั้งปี 2562 มาคำนวณ การที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน อาจจะต้องใช้คะแนนเสียง 1 : 35,0000 – 400,000 คน จึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน เหตุนี้ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก หาทางรอดของตัวเอง จึงเห็นปรากฎการณ์ที่ นายระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ พร้อมตัวแทน 5 พรรคการเมืองขนาดเล็กนอกสภาฯ ทั้งพรรคกรีน, พรรคไทยรวมไทย, พรรคไทยชนะ, พรรคไทยรุ่งโรจน์ และพรรคชาติรุ่งเรือง แถลงรวมตัวในนามกลุ่มอัมโน “ไม้ซีก งัดไม้ซุง” เพื่อร่วมมือขับเคลื่อนสู้ศึกเลือกตั้ง โดยประกาศตัวเป็นขั้วการเมืองทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งเป็นเทคนิคของพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย เพื่อหวังว่า จะกลับมามีพื้นที่ในสภาอีกครั้ง และคาดว่า ประมาณเดือนมกราคม จะมีพรรคการเมืองขนาดเล็กอื่นมาควบรวมอีกด้วย จึงเชื่อว่า จะประชุม และหารือกันว่า จะใช้ชื่อพรรคใหม่อย่างไร
“ญาณี” ยังพูดถึงกระแสข่าวเรื่องการรวมพรรคการเมือง ระหว่าง “พรรคไทยสร้างไทย” กับ “พรรคสร้างอนาคตไทย” ที่น่าจะปิดดีลแล้ว เพราะข้อเสนอของทั้ง 2 พรรคไม่ลงตัว จึงมีกระแสข่าวที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตจะ อาจไปจับมือทางการเมืองร่วมกับ “พรรคชาติพัฒนากล้า” ที่ควบรวมกับพรรคกล้าไปก่อนหน้านี้ โดยจะทำหน้าที่เป็น “กุนซือด้านเศรษฐกิจ” ให้พรรคชาติพัฒนากล้า
ทิศทางการเมืองที่ต้องจับตาหลังนี้ไป “ญาณี” บอกว่า นอกจากการแต่งตั้ง “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังจะต้องติดตาม มากลับมาเปิดตัวทางการเมืองของกลุ่มร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะพรรคเศรษฐกิจไทย ที่จะกลับมาร่วมงานทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็มี 2 ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจไทย กลับมายื่นใบสมัครนำร่องไว้ก่อนแล้ว ควบคู่ไปกับการสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐของ นายอันวาร์ สาและ อดีต ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ด้วย
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00 - 12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5