ถอดบทเรียน “ลูกประดู่” จากเหตุ “เรือหลวงสุโขทัย”

"สมรรถนะของกองทัพเรือไทยจะเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน และภูมิภาคนี้ แต่ไม่ว่าจะประเทศใดเมื่อเกิดเหตุ เมื่อออกรบ จะต้องมีเหตุการณ์อันตรายเผชิญอยู่ข้างหน้า แน่นอนว่าต้องนำมา สู่การถอดบทเรียน จำลองสถานการณ์ และแผนเผชิญเหตุ"

"ปรัชญา นงนุช" ผู้สื่อข่าวการเมือง-ทหาร สำนักข่าว SPACEBAR กล่าวในรายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงเหตุการณ์ “เรือหลวงสุโขทัย” อับปาง ว่า เรือหลวงสุโขทัย มีอายุ 35 ย่าง 36 ปี เป็นเรือรบที่ต่อจากสหรัฐอเมริกา ได้รับการติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ และระบบอำนวยการรบที่ทันสมัย มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูงพร้อมปฏิบัติการรบทั้ง 3 มิติ คือ การป้องกันภัยทางอากาศ-บนผิวน้ำ และการปราบเรือดำน้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ แต่ภารกิจหลัก คือ การปราบเรือดำน้ำ ลาดตระเวนตรวจการณ์ คุ้มกันกระบวนเรือ การสนับสนุนการยิงฝั่ง ซึ่งเรือหลวงที่จะมาทดแทน คือ เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ที่เป็นเรือที่มีสมรรถนะเดียวกัน

"ปรัชญา" มองว่า การที่เรือรบหายไปหนึ่งลำย่อมส่งผลต่ออัตรากำลังรบของกองทัพเรือว่า เพียงพอหรือไม่ และเป็นสิ่งที่กองทัพเรือรู้อยู่แล้ว เพราะตอนนี้เรือหลายลำของกองทัพเรืออายุงานมากกว่า 30 ปี และกำลังจะปลดประจำการ จึงอยู่ในสภาวะที่จะต้อง ปลดระวางเรือเก่า และหาเรือใหม่เข้ามาแทน ซึ่งกองทัพเรือก็ทำมาตลอด แต่ปัญหาสำคัญของกองทัพเรือต่างจากเหล่าทัพอื่น อย่างกองทัพอากาศ สามารถทยอยซื้อเครื่องบินได้ โดยไม่ต้องซื้อทีเดียวทั้งฝูงบิน หรือกองทัพบก สามารถทยอยซื้อรถถังได้ แต่กองทัพเรือ จะซื้อเรือลำหนึ่งราคากว่า 1,000 ล้าน ถึงเกือบ 10,000 ล้าน ไม่สามารถทยอยซื้อประกอบใด ส่วนประกอบหนึ่งได้ ดังนั้น เวลาจะซื้อเรือลำหนึ่งมูลค่างบประมาณสูง ทำให้ต้องผูกพันงบประมาณหลายปี

"ตั้งแต่กองทัพเรือมีโครงการเรือดำน้ำลำแรก ทำให้อยู่ในสภาวะงบประมาณตึงมือมาก จะขยับอะไรก็ลำบาก แต่ต้องทำตามภารกิจ เพื่อคงกำลังรบให้ได้ เพราะว่าเรือเก่าแล้ว ล่าสุดเรือดำน้ำลำแรกก็ถูกชะลอไปก่อน เพราะยังเคลียร์เรื่องเครื่องยนต์ไม่เสร็จ ต้องนำเงินก้อนนี้มาซื้อเรือใหม่ ซึ่งกองทัพเรือมองว่า น่าจะต่อเรือฟริเกตขึ้นอีกลำ 1 เรือดังกล่าวนี้ สามารถนำมาเสริมกำลังต่าง ๆ ได้ เพราะอีกประมาณ 2 ปี ก็จะมีการปลดระวางเรือออกไป เช่น เรือพุทธยอดฟ้า ซึ่ง “เรือฟริเกต” เป็นเรือที่รบได้หลายมิติ ในแง่ของสมรรถนะ จะเหนือกว่าเรือลำอื่นตอนนี้ มีเรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสิน มีระบบเกี่ยวกับอำนวยการรบ การปฏิบัติการทางอากาศ เรดาร์สำรวจอากาศ เรดาร์ควบคุมการบิน เรดาร์สำรวจพื้นน้ำ เรดาร์สำรวจเดินเรือทะเล ครบทุกมิติมีสมรรถนะที่ดี และมีศักยภาพทางด้านการรบเต็มที่" ปรัชญา กล่าว

"ปรัชญา" ยังได้เล่าย้อนถึงการอนุมัติการจัดซื้อเรือหลวงของกองทัพเรือ ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า มีการอนุมัติมา 1 ลำแล้ว คือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช และจะส่งมาที่ไทยแล้ว ก็จะยังเหลืออีก 1 ลำ ที่จะต้องมีการต่อเรือเพิ่ม ซึ่งพลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ระบุว่า จะผลักดันโครงการนี้ขึ้นมาใช้ เพราะไทยยังไม่ได้เรือดำน้ำตอนนี้ แต่ก็ต้องต่อเรือฟริเกตที่มีสมรรถนะปราบเรือดำน้ำขึ้นมาแทน กองทัพเรือ อาจจะปรับแผนใหม่ หลังจากเกิดเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัย

สำหรับเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางนี้ "ปรัชญา" อธิบายว่า นอกจากภารกิจในการค้นหาผู้สูญหายแล้ว ก็ยังคงมีภารกิจในการ "กู้เรือ" เพราะวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ธ.ค.) พบคราบน้ำมันลอยขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ แต่คาดว่า การกู้เรือ ต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือน เพราะต้องวางแผน และใช้เรือช่วยกู้ที่มีขนาดใหญ่ หรืออาจต้องใช้เรือจากต่างประเทศมาช่วย เพราะเรือรบหลวงขนาดลำใหญ่มาก และก่อนหน้านี้เรืออื่น ๆ ทั่วไป ที่ไม่ใช่เรือรบหลวง ก็ใช้ระยะเวลาร่วมเดือน เนื่องจาก ความลึกลงไปก้นอ่าวไทยอยู่ที่ประมาณ 40 เมตร ดังนั้น จึงไม่อาจยืนยันว่า ต้องใช้เวลานานเท่าใด แต่คาดว่าหลายเดือนแน่นอน

ส่วนการสืบหาข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการอับปาจากหลักฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะ "กล่องดำ" นั้น "ปรัชญา" ระบุว่า ผู้บัญชาการทหารเรือ ชี้แจงว่า เรือหลวงสุโขทัยนี้ อายุ 35- 36 ปี จึงยังไม่มีกล่องดำ แต่สิ่งที่จะสามารถสืบหาได้ข้อเท็จจริงได้ คือ สอบถามกำลังพลทุกคนที่อยู่ในเรือเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ เอกสารเกี่ยวกับเรือที่น่าสนใจ เช่น การออกคำสั่งเอกสารบันทึกการเดินเรือ และวิทยุคำสั่ง ที่มีการประสานกันระหว่างบนเรือกับฝั่ง ซึ่งอาจช่วยเป็นหลักฐานในการพิจารณาว่า การปฏิบัติการบนเรือก่อนจะเกิดเหตุอับปางเป็นอย่างไร รวมถึงข้อความทางไลน์ที่มีการเผยแพร่ หรือแม้แต่เอกสารทางการของท่าเรือ ที่บางสะพาน ควรจะถูกนำมาประกอบในการหาข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ทั้งหมด เพื่อหาความกระจ่างและข้อเท็จจริงต่อไป เพราะเหตุการณ์สูญเสียที่เกิดขึ้นผู้บังคับการเรือ ได้ระบุว่า เจอคลื่นสูง ซึ่งไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาตลอด 10 ปี ซึ่ง "ปรัชญา" ยอมรับว่า เราไม่รู้ว่าหน้างานจริง ๆ ว่า เป็นอย่างไร เห็นเพียงจากคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ออกมา และเห็นสภาพความโหดร้ายของทะเลที่คลื่นถาโถมสู่ตัวเรือ ในเวลานั้น จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจหน้างานว่าเป็นอย่างไร

“การหาข้อเท็จจริง ต้องดำเนินต่อไป เพื่อให้สังคมรับทราบ เป็นการถอดบทเรียนของกองทัพเรือ สิ่งที่สำคัญต่อมา คือ เยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยบนเรือและญาติ แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ เป็นบาดแผลในใจของคนบนเรือ และคนในกองทัพเรือ เพราะลูกประดู่สูญเสียไปจำนวนมาก สูญเสียเรือที่รักไป 1 ลำ ดังนั้น เหตุการณ์นี้ เชื่อว่า "กองทัพเรือ" จะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบไป แต่จะต้องหาความจริงออกมาต่อสังคมให้ได้ และเหตุการณ์นี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์เรือรบร่มในรอบ 70 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน สมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอดีต แต่ครั้งนี้ 70 กว่าปีผ่านมาเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คนในกองทัพเรือรู้สึกเศร้า และไม่คากคิดว่าจะเกิดขึ้น ต้องหาข้อเท็จจริงในเชิงเทคนิคว่า เกิดอะไรขึ้นเพื่อเป็นบทเรียน ป้องกัน และนำไปสู่การการฝึกในอนาคต ซึ่งกองทัพเรือ มีสมรรถนะของกองทัพเรือไทยจะเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน และภูมิภาคนี้ แต่ไม่ว่าจะประเทศใดเมื่อเกิดเหตุ เมื่อออกรบ จะต้องมีเหตุการณ์อันตรายเผชิญอยู่ข้างหน้า แน่นอนว่าต้องนำมา สู่การถอดบทเรียน จำลองสถานการณ์ และแผนเผชิญเหตุ” ปรัญา กล่าว

ติดตามรายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดย "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" ร่วมกับ "คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5"