เมียนมาร์-ทวิตเตอร์-ยูเครน-โลกร้อน รวม 4 เรื่องเด่นวงการสื่อโลก 2022

โดย ธีรนัย จารุวัสตร์ 

อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน 

ผมได้รับเกียรติจากทีมงาน “จุลสารราชดำเนิน” มาเขียนสรุปปรากฏการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในวงการสื่อสากลตลอดปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายเรื่องราวทีเดียว คงจะยกมาเล่าตรงนี้ทั้งหมดไม่ไหวแน่ๆ จึงขอยกเรื่องเด่นๆมา 4 ประเด็นไว้เป็น “บทส่งท้าย” ปี 2022 ที่กำลังจะจากไปในไม่กี่วันนี้ครับ 

เสรีภาพสื่อเมียนมาร์ดิ่งเหว

A group of activists hold placards of Japanese citizen Toru Kubota, who is detained in Myanmar, during a rally in front of the Ministry of Foreign Affairs in Tokyo on July 31, 2022. (Photo by Philip FONG / AFP)

เริ่มจากเรื่อง “ใกล้บ้าน” กันก่อน นั่นคือสถานการณ์ของสื่อมวลชนในประเทศเมียนมาร์ หลังเหตุการณ์รัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว นำไปสู่การปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง ส่งผลให้เสรีภาพสื่อของเมียนมาร์ดิ่งเหวอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นวิกฤติที่ภาคประชาสังคมทั่วโลกกำลังจับตามองอย่างเป็นกังวล โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนของเรา 

รายงานจากกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิเสรีภาพระบุว่า มีคนทำงานด้านสื่อมวลชนในเมียนมาร์ถูกจับกุมหรือดำเนินคดีไปแล้วมากกว่า 140 คน ในจำนวนนี้กำลังถูกคุกขังอยู่ประมาณ 60 คน (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม) ทำให้เมียนมาร์ติดอันดับชาติที่จองจำนักข่าวอันดับต้นๆของโลก และยังไม่นับกรณีสื่อมวลชน 2 รายเสียชีวิตคาที่คุมขัง ขณะที่การเซนเซอร์ข่าว การริบหรือเพิกถอนใบอนุญาตสื่อ และการบีบบังคับหรือกดดันวิชาชีพสื่อในช่องทางอื่นๆ ดำเนินไปตลอดปี 2022 และยังไม่มีท่าทีว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็ววัน

ด้วยบรรยากาศความกลัวเหล่านี้ ทำให้สื่อมวลชนเมียนมาร์จำนวนหนึ่ง ต้องตัดสินใจข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทย เพื่อหลบหนีการจับกุมหรือประทุษร้ายต่อชีวิตจากรัฐบาลทหารเมียนมาร์ แต่ชะตากรรมของนักข่าวที่ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” ในประเทศไทยเหล่านี้ กลับมีสภาพเหมือนหนีเสือปะจระเข้ไปด้วยกลายๆ เพราะหลายคนยังไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน เสี่ยงที่จะโดนเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมดำเนินคดีและคุมขัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางการไทยควรพิจารณาว่าจะใช้แต่หลักนิติศาสตร์อย่างเดียว หรือจะนำเอาหลักมนุษยธรรมเข้ามาประยุกต์ใช้กับเรื่องนี้ด้วย

ทวิตเตอร์รังแตก

อีลอน มัสก์ (ภาพโดย AFP)

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า “เทสล่า” และธุรกิจด้านอวกาศ ประกาศว่าจะซื้อแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลกอย่าง “ทวิตเตอร์” มาเป็นของตัวเอง หลายคนยังสงสัยว่านายมัสก์อาจจะมีเจตนาปั่นกระแสให้เป็นข่าวตามที่ชอบทำบ่อยๆ แต่สุดท้ายก็ปรากฏว่านายมัสก์เอาจริง หลังจากปิดดีลเข้ากุมบังเหียนทวิตเตอร์ด้วยราคา 1.6 ล้านล้านบาทในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

แต่ปรากฏว่า การเข้าซื้อทวิตเตอร์ของมัสก์ กลับกลายเป็นการ “พลิกโอกาสให้เป็นวิกฤติ” เริ่มตั้งแต่การไล่ปลดผู้บริหารและพนักงานกันระนาว รวมถึงโปรแกรมเมอร์และคนดูแลระบบการทำงานที่สำคัญๆของทวิตเตอร์ ทำให้บริษัทขาดแคลนกำลังคนที่สำคัญแทบจะชั่วข้ามคืน ขณะที่สไตล์การบริหารแบบตามใจตนเองของมัสก์ วันนี้พูดอย่าง อีกวันพูดอีกอย่าง ก็ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและลูกค้าผู้ซื้อโฆษณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ความโกลาหลในทวิตเตอร์ยังกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนในหลายประเทศอีกด้วย เนื่องจากทวิตเตอร์เป็นเสมือนเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลข่าวสารที่สำคัญแห่งหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่านายมัสก์กำลังเดินหน้าให้ทวิตเตอร์กลายเป็น “แดนสนธยา” สำหรับเสรีภาพสื่อเสียอย่างนั้น ตั้งแต่การยุบทีมดูแลความปลอดภัยด้านเนื้อหา, การปลดโทษแบนให้บรรดานักการเมืองอเมริกันขวาจัดที่เคยมีประวัติเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลที่เป็นอันตราย และล่าสุดยังลามไปถึงการหว่านแหบล็อกบัญชีผู้ใช้ของสื่อมวลชนที่ทำข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจของนายมัสก์ ฯลฯ สร้างคำถามว่าทวิตเตอร์ในยุคการควบคุมของนายมัสก์ จะหน้าตาเป็นอย่างไรในปีข้างหน้า? 

ศึกรัสเซีย-ยูเครน

หญิงมีครรภ์ผู้หนึ่งได้รับบาดเจ็บ (ต่อมาเสียชีวิต) จากการทิ้งระเบิดใส่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ในเมือง Mariupol ประเทศยูเครน เมื่อเดือนมีนาคม 2022 (ภาพโดย AP) 

ถึงแม้สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ไม่ได้เป็นศึกแรกที่เกิดขึ้นในยุคโซเชียลมีเดียอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน (เพราะก่อนหน้านี้ก็มีสงครามกลางเมืองซีเรียและสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสให้เห็นกันมาแล้ว) แต่ก็เป็นสงครามระหว่างขั้วมหาอำนาจที่ปะทุขึ้นในห้วงเวลาที่ประชากรจำนวนมากของโลกมีช่องทางเข้าถึงสื่อและโซเชียลมีเดีย และเป็นที่ติดตามของผู้คนทั่วโลก ทั้งด้วยนัยยะทางการเมืองระหว่างประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และวิกฤติด้านมนุษยธรรม ที่เรียกได้ว่าใหญ่หลวงมากกว่าการสู้รบหลายๆสมรภูมิในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ 

สงครามดังกล่าว มาพร้อมกับปัญหาใหม่ๆที่ท้าทายต่อสื่อมวลชน โดยเฉพาะปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร (IO) ที่แม้ว่าทุกฝ่ายในสงครามรอบนี้มีส่วนทั้งหมด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตัวการสำคัญ” ในเรื่องนี้คือรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งได้พยายามบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับสงครามในยูเครน (ไม่ยอมเรียกว่า “สงคราม” ด้วยซ้ำ) และกลบเกลื่อนการละเมิดหลักมนุษยธรรมของกำลังพลรัสเซีนหลายครั้ง ผ่านการใช้โฆษณาชวนเชื่อในสังกัดของรัฐบาล เครือข่ายทฤษฎีสบคบคิดในโลกออนไลน์ และการกล่าวอ้างข้อมูลบิดเบือนย้ำๆ จนข้อมูลเหล่านี้บางส่วนก็ลุกลามมาปรากฏในการรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่งด้วย 

อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นโชคดีอยู่บ้างที่เราได้เห็นการทำงานของสื่อมืออาชีพหลายสำนัก ที่พยายามนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสงครามในยูเครนให้ประชาชนผู้เสพข่าวทั่วโลกได้รับทราบ สื่อจึงกลายเป็นสักขีพยานสำคัญที่ช่วยบันทึกเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่ชาวยูเครนในเมือง Bucha, ความหฤโหดของกองทัพรัสเซียในเมือง Mariupol, ไปจนถึงการโจมตีเป้าหมายพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้าทั่วประเทศยูเครน และการริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของชาวรัสเซีย นับเป็นตัวอย่างการใช้วิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อผดุงความจริง ที่วงการสื่อไทยควรศึกษาและนำเอามาปฏิบัติบ้าง 

วิกฤติสิ่งแวดล้อม

สภาพภัยแล้งในนครหนานชาง มณฑลเจียงซี ประเทศจีน เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 (ภาพโดย Reuters) 

การประชุม APEC ที่ประเทศไทยเพิ่งเป็นเจ้าภาพในปีนี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวคิด “เศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว” หรือ BCG ที่เราได้ยินกันเกร่อตามหน้าสื่อ แต่ดูเหมือนว่าสื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่ยังจะไม่เล็งเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง BCG กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) และไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร ยังคงมองว่าเป็นเรื่อง “ไกลตัว” หรือเป็น “ข่าวรอง” ที่ไม่ค่อยได้รับแอร์ไทม์เท่าไหร่

ทัศนคติดังกล่าว สวนทางกับสถาบันสื่อที่สำคัญๆในโลกสากล ที่มองสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงว่าเป็นวิกฤติสำคัญของทั้งแต่ละประเทศและทั้งประชาคมโลก อันเป็นข้อเท็จจริงที่วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยืนยันด้วยหลักฐาน ประกอบกับภัยธรรมชาติที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สื่อหลายแห่งหันมาให้ความสำคัญกับ “climate journalism” หรือวารสารศาสตร์ว่าด้วยสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการเกาะติดรายงานข่าวด้านนโยบายและการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาล, การกระตุ้นให้สังคมได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และรับมือกับภัยธรรมชาติต่างๆในอนาคตอันใกล้, ตลอดจนการร่วมมือกับวงการวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อผลิตข่าวเชิงคุณภาพที่ช่วยให้ความรู้กับประชาชน ฯลฯ 

เราจึงควรตั้งความหวังว่าปี 2023 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เราจะได้เห็นพัฒนาการของสื่อไทยในเรื่องนี้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะแต่ละปีที่ผ่านไปโดยไม่มีการแก้ไข คือวิกฤติที่รอวันจะปะทุขึ้นมาในวันที่สายเกินไปในที่สุด