“เรียนรู้อดีตผ่านคดีเมาแล้วขับ สะท้อนวัฒนธรรมกิน-ดื่ม”

“การตื่นตัวของสังคมมีมากขึ้น  เพราะเราเรียนรู้อดีตที่ผ่านมา ไม่ปล่อยให้เหมือนคดีในอดีต  แต่ตัวคนที่กระทำผิด เรียนรู้เรื่องพวกนี้หรือไม่  ตรงนี้เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ  เพราะคนที่จะตอบเรื่องนี้ได้ ต้องเกี่ยวข้องโดยตรง” 

ธนนันท์ วงศ์วศวัฒน์ ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ช่อง 7 ให้มุมมองของคนข่าวอาชญากรรมว่า  ยังมีคดีเมาแล้วขับ ทั้งที่บทลงโทษของกฎหมายชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต  ที่กินดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เช่น  มีงานสังสรรค์ก็ต้องมีเครื่องดื่ม  หลังจากที่เราดื่มกินเสร็จ แต่เข้าใจว่าตัวเราเองขับรถกลับบ้านไหว  ทำให้ประคองสติไม่อยู่จึงเกิดอุบัติเหตุให้เห็นบ่อยครั้ง

            สิ่งที่ตำรวจหรือหลายหน่วยงานพยายามที่จะทำ ไม่ว่าเป็นการเพิ่มโทษตัดแต้ม ได้ผลหรือไม่ได้ผลในระดับหนึ่ง  แต่ไม่สามารถที่จะลดหรือแก้ปัญหาตรงนี้ให้เป็นศูนย์ได้  ตราบใดที่คนเรายังมีวิถีการใช้ชีวิตแบบเดิม ยังมีความสนุกสนานกันแบบเดิม  คิดว่าดื่มนิดหน่อยไม่เป็นไร เมานิดหน่อยแค่นี้เองเอาอยู่  ตราบใดที่ 2 - 3 คำนี้ยังเป็นแนวคิดหลัก ของคนส่วนใหญ่ก็ยังมีคดีเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ

            “พูดถึงเรื่องเมาแล้วขับ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากในบ้านเรา ซึ่งเคสลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและไม่ใช่ข่าวแรกๆที่เป็นข่าวดัง

            หากย้อนกลับไปเคสที่เป็นคดีความ มีผลต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วเราก็ติดตามกันจนลืม แล้วก็กลับมาติดตามใหม่ แล้วก็ลืมกันไปอีกรอบ เป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว  สะท้อนให้เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน” 

            หากเรียนรู้จากคดี เช่น กรณี “บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา” ขับรถเฟอร์รารี ชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ก.ย.55 หรือ กรณี “แพรวา” ขับรถเก๋งพุ่งชนรถตู้สาย ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยฯ มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ ในวันที่ 27 ธ.ค. 2553  

         เปรียบเทียบกับคดีของเสี่ยเบนซ์ ขับรถชนรถ พ.ต.ท.จตุพร หรือตี๋ งามสุวิชชากุล อายุ 48 ปี รอง ผกก. (สอบสวน) กก.2 บก.ป. และภรรยาเสียชีวิต ส่วนลูกสาวบาดเจ็บสาหัส ซึ่งจำเลยให้การสารภาพ และยินยอมเยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต เมื่อศาลพิพากษาออกมา ผลเลยกลายเป็นการรอลงอาญา ครอบครัวของผู้เสียชีวิตไม่สูญเปล่า และผู้ต้องหาก็ยังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้

             ล่าสุดเบนท์ลีย์ พุ่งชนท้ายรถมิตซูบิชิ ปาเจโร่ ที่ถูกชนเสียหลัก ไปชนรถดับเพลิง อปพร. 

ธนนันท์ เล่าวว่า เขาและทีมข่าวมีโอกาส Exclusive ลงไปพูดคุยกับสุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์เจ้าของรถเบนท์ลีย์ ที่แทบจะไม่ได้ยินการสนทนา ของผู้ต้องหาคนนี้เลย เพียงแต่มีการฟอลโล่และติดตามข่าวสารที่เกิดขึ้น คืนนั้นหากสุทัศน์ยอมรับผิดและเป่าแอลกอฮอล์  ซึ่งแพทย์ระบุว่าการตรวจวัด ด้วยการเป่าแอลกอฮอล์ได้ผลแม่นยำ ใกล้เคียงกับการเจาะเลือด

สมมุติว่าเรื่องโดนดำเนินคดีไปถึงชั้นศาลจริงๆ คิดว่าอย่างมากสุดเต็มที่ก็รอลงอาญา คุมประพฤติจบ แล้วชดใช้ค่าเสียหาย เรื่องก็จบไม่ยืดเยื้อไม่โดนตีจนเป็นข่าวมาถึงทุกวันนี้

หลายครั้งที่ผู้เสียหายเอง ถูกมองว่าเป็นคนดังมีชื่อเสียงอีกแล้ว  และเป็นคนมีฐานะอีกแล้ว ลักษณะคดีคล้ายกัน จะลงเอยเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะตำรวจยังไม่ได้แถลงข่าวออกมาชัดเจน อยู่ระหว่างการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดจะมีการแจ้งข้อกล่าวหานี้หรือไม่  ยังเป็นประเด็นที่จะต้องไปติดตามกันต่อ 

“ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ พอที่จะสะท้อนให้เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ถ้าเราเรียนรู้จากคดีของบอสอยู่วิทยา คดีของแพรวา เปรียบเทียบกับคดีของเสี่ยเบนซ์ มาถึงล่าสุดเสี่ยเบนซ์ลี่  ชี้ให้เห็นถึงการตื่นตัวของสังคมมากขึ้น  เพราะเราเรียนรู้อดีตที่ผ่านมา ไม่ปล่อยให้เหมือนคดีในอดีต  แต่ตัวคนที่กระทำผิด เรียนรู้เรื่องพวกนี้หรือไม่  ตรงนี้เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ  เพราะคนที่จะตอบเรื่องนี้ได้ ต้องเกี่ยวข้องโดยตรง” 

คนข่าวอาชญากรรมยังให้มุมมองว่า ในช่วงวินาทีแรกของการเกิดอุบัติเหตุ เขาเข้าใจว่าทุกคนมีพื้นฐานแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน  แต่หลังจากที่ตั้งสติได้แล้ว  ตรงจุดนั้นมากกว่าที่คุณจะตัดสินใจแบบไหน ถ้าตัดสินใจที่จะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย  ยอมรับสิ่งที่ทำผิด เรื่องก็จะจบลงอย่างรวดเร็ว  แต่ขณะเดียวกันสมมติว่าเลือกที่จะต่อสู้  คุณต้องมั่นใจว่าสิ่งที่คุณต่อสู้ จะทำให้คุณพ้นผิดได้จริงๆ...ซึ่งยากถ้าเปรียบเทียบกับสังคมสมัยนี้ที่มีโซเชียล  ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีภาพวงจรปิดแทบจะครอบคลุม ทั่วกรุงเทพมหานครก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน ที่จะพ้นผิดตรงจุดนี้ได้ 

“เท่าที่เคยติดตามทำข่าวเมาแล้วขับ การขับรถเร็วลดน้อยลงถ้าเทียบกับอดีต  ซึ่งมีอยู่ 3-4 ปัจจัย อาทิ  การตระหนักรู้ของสังคม สภาพถนน  สภาพการจราจร  พฤติกรรมของคนขับรถที่เปลี่ยนไป   ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดของ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ที่ระบุว่า ส่วนแบ่งค่าปรับที่ปกติตำรวจจะได้ ควรแบ่งให้ประชาชนที่ถ่ายคลิปมาด้วย  เพราะมีโซเชียลคนถึงได้ระมัดระวัง ในการขับขี่รถกันมากขึ้น สังคมตรวจสอบกันเอง  มีส่วนช่วยสำคัญมากที่ทำให้คดีต่างๆลดน้อยลงส่วนการทำหน้าที่ของสื่อ ต้องยึดหลักค้นหาข้อเท็จจริง ตั้งคำถามสิ่งที่เกิดขึ้นว่าจริงใช่หรือไม่  มีอะไรที่ดูผิดปกติหรือไม่ การให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการเตือนสติคนที่ขับรถ  ทุกวันนี้สื่อยังเสนอข่าวการประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน  เพราะต้องย้ำเตือนให้ทุกคนได้เห็นว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนยังมีอยู่ ความรุนแรงยังเกิดขึ้น ถ้าคุณยังนิ่งหรือเพิกเฉย ก็มีโอกาสที่เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวคุณเองหรือคนใกล้ตัว  ขณะเดียวกันสังคมต้องเรียนรู้ ตระหนักให้ความสำคัญด้วย เปรียบเสมือนเราพยายามที่จะรั้งเพื่อน เตือนเพื่อนแล้วก็ขัดทุกครั้งว่า เอาจริงหรือจะดื่มแล้วขับ  ถ้าชั่งใจคิดถึงผลได้-ผลเสีย  ยังไงปัญหานี้ก็ลดลง” 

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5