เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ น.ส.ศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ ให้การต้อนรับ นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย น.ส.อุษา มีชารี กรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และคณะสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อหารือร่วมกัน เนื่องในการเข้าดำรงตำแหน่งของกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ภายใต้การนำของดร.วิเชียร
ในการนี้ได้สอบถามถึงความต่อเนื่องของข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างสมาคมนักข่าวฯ กับสภาทนายความฯ ซึ่งได้ลงนามล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยมีผล 2 ปีนั้น ดร.วิเชียรยืนยันว่าผลของข้อตกลงร่วมกันดังกล่าวยังมีอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการสภาทนายความชุดใหม่
จากนั้นได้มีการหารือเรื่องการนำเสนอข่าวผ่านผู้มีอิทธิพลทางความคิด (influencer) ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นทนายความและผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นทนายความ ซึ่งทางสภาทนายความเป็นห่วงในเรื่องของการทำผิดมรรยาททนายความ
"เรากำลังคุยกันในประเด็นมรรยาททนายความ กรณีทนายความหรือผู้อ้างตนเป็นทนายความไปเป็นinfluencer ของสื่อมวลชน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาบานปลายอยู่ หลายคนวิ่งมาเพื่อแถลงข่าวให้เป็นข่าว แล้วก็หายไปไม่ได้ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอย่างต่อเนื่องจริงจัง" นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษสภาทนายความกล่าวตอนหนึ่ง
"แม้แต่ทนายความส่วนหนึ่ง ยังไม่รู้ว่าการกระทำแบบไหนมันผิดมรรยาททนาย ทนายความรุ่นใหม่หลายคนยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันผิด ทางสภาทนายความจึงได้จัดอบรมเรื่องมรรยาททนายความขึ้นให้กับทนายความทั่วประเทศ และถ้าเป็นไปได้อยากจะร่วมจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับมรรยาททนายความให้กับสื่อมวลชนด้วย เพื่อเป็นการให้ความรู้และปรามตั้งแต่ต้นน้ำ " ดร.วิเชียร ชุบไทยสง นายกสภาทนายความกล่าว
ทั้งนี้เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้วได้มีข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ดังนี้
มีข้อเสนอในการหารือ
- สภาทนายความ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดอบรมความรู้เรื่องมรรยาททนายความแก่สื่อมวลชน
- สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเสนอการร่วมกันร่างแนวทางปฏิบัติการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
- สมาคมนักข่าวฯ เสนอให้สภาทนายความช่วยทำรายชื่อทนายความผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในคดีต่างๆ ที่พร้อมจะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เพื่อให้ผู้มีความรู้ด้านกฎหมายเฉพาะด้านจริงๆ เป็นผู้ให้ข่าวต่อสาธารณะ และเสนอให้มีช่องทางขอความช่วยเหลือทางทนายความเช่นกรณีให้การประกันตัวนักข่าวที่ถูกจับกุมในยามวิกาล
นอกจากนี้ยังเห็นพ้องให้มีการตั้งกลุ่มไลน์ 2 รูปแบบ
1. ผู้บริหารสื่อกับทนายความที่พร้อมจะให้ข่าวตามความชำนาญเฉพาะด้าน
2. กลุ่ม Line ที่สามารถให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายคดีกับนักข่าว