กองบก.จุลสารราชดำเนิน
---
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 มีวาระพิจารณาว่าจะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ตามคณะรัฐมนตรีเสนอมา แต่หลังอภิปรายยาวนาน 5 ชั่วโมง ก็ไม่สามารถลงมติได้เพราะปัญหาองค์ประชุม ทำให้ร่างกฎหมายยังค้างวาระการพิจารณา
“ราชดำเนิน” บันทึกคำอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาต่อจุดยืนร่างกฎหมายฉบับนี้ มีผู้อภิปราย สส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ สว. รวม 32 คน ในฝั่งสส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย มีเพียงฝั่ง สว.ที่สนับสนุนร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อ
พรรคเพื่อไทย- จุดยืนไม่เห็นด้วย
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย
“พรรคฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะรัฐกำลังควบคุมสื่อทั้งที่ รธน.ให้เสรีภาพสื่อ สิ่งที่กำลังจะเกิดตามมาคือ มีองค์กรซ้ำซ้อนไม่มีประโยชน์ เพราะองค์กรสื่อเขามีการกำกับอยู่แล้ว แต่องค์กรใหม่ตามร่างนี้จะเปิดทางให้รัฐสามารถล้วงลูก กำกับ แต่งตั้ง แทรกแซงผ่านสภาวิชาชีพได้ จึงไม่มีผลดีต่อองค์กรสื่อ มีแต่รัฐที่ได้ประโยชน์ ที่ห่วงที่สุดคือ การแทรกแซง ในบทเฉพาะกาล บอกว่า ในวาระแรก สภาวิชาชีพสื่อ จะปะกอบด้วยผู้แทนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผู้แทนที่ครม.เสนอมาเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา แล้วจะให้เราเชื่อใจอย่างไร กลไกที่จะเกิดขึ้นบริสุทธิ์ สุดท้ายเราจะมีองค์กรใหม่ที่บิดเบี้ยว
ไม่ว่า ใครจะเป็นรัฐบาลชุดหน้า จะมีประโยชน์ใดๆที่เราจะมาพิจารณา ผมจึงเห็นว่า นี่เป็นช่วงสมัยประชุมสภาเหลือแค่เดือนเศษ ต่อให้ร่างนี้ผ่านความเห็นชอบ ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา กฎหมายนี้มีหลายมาตรา ก็ไม่มีทางเสร็จทันสภาชุดนี้ ฉะนั้นขอให้รัฐบาลถอนร่าง เพื่อให้โอกาสกับประชาชนตัดสินผ่านการเลือกตั้งแล้วให้รัฐสภาชุดต่อไปตัดสินอีกครั้งว่าจะเอาหรือไม่ ถ้ารัฐบาลหน้ายังเป็นรัฐบาลนี้อยู่ ก็ให้เสนอมาใหม่ ไม่ใช่มาจั่วหัวไว้ก่อน แล้วสภาใหม่มารับเรื่องก็งง ว่าเรารับหลักการไปได้อย่างไร”
จิรายุ ห่วงทรัพย์ สส.กทม. พรรคเพื่อไทย
“ร่าง พรบ.สื่อจะดี ถ้าสมบูรณ์ แต่เท่าที่อ่าน ร่างของมันมาแบบไม่ชอบเท่าไร ถ้าถอนไปก่อนจะดีกว่า เพราะรากของมันมาจากยุค คสช. ที่ใช้อำนาจนิยม ไม่อยากให้สื่อด่าท่านผู้นำสื่อจะดี ไม่ดี สังคมจะให้คำตอบ ปัญหานิยามสื่อหลงยุค การตั้งสภาวิชาชีพสื่อใครจะตรวจสอบ เจตจำนงดี แต่ยัดไส้ปัญหาไว้ข้างใน กฎหมายฉบับนี้ "ไม่ตรงปก ไม่รู้กาลเทศะ" ขอให้ถอนไปทำประชาพิจารณ์มากกว่านี้ ทั้งสมาคม บก. สื่อภาคสนาม นักข่าวไปคุยกัน”
อนุรักษ์ บุญศล สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย
“สื่อที่มีสังกัด แทบไม่ได้รับผลกระทบจากร่าง พรบ.สื่อ แต่ที่น่าจะกระทบหนักแน่ๆ คือสื่อออนไลน์ รวมไปถึงผู้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อาจถูกรัฐใช้ควบคุมสื่อหรือไม่ จึงขอให้ถอนออกไป”
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย
“ เป็นเรื่องตกยุคล้าสมัย และเป็นภาพลวงตา สื่อในฐานะฐานันดรที่ 4 ของสังคม มีหน้าที่เสนอข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบข้อมูลให้สังคมได้รับรู้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ผิดฝาผิดตัว เพราะมีเรื่องจริยธรรมที่วัดกันยาก ตอนนี้มีกฎหมายควบคุมสื่อมวลชน 30 กว่าฉบับ ทำให้สื่อถูกดำเนินคดีจำนวนมาก กฎหมายนี้ออกมาควบคุมสื่อที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐโดยเฉพาะ ตามหลักนานาชาติวิเคราะห์ถึงการกำกับดูแลสื่อ ไว้ 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 การตั้งองค์กรดูแลตัวเอง ประเภทที่ 2 การกำกับดูแลร่วมกับรัฐ และ กฎหมายฉบับนี้อยู่ประเภทที่ 3 ที่ถูกควบคุมโดยรัฐ เพราะมีการบังคับ และทำเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการ เหมือนกับประเทศ ลาว เวียดนาม และจีน แล้วเราจะล้าหลังถึงขนาดนี้
หรือ เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่นายกฯ ไปให้การสนับสนุนพูดออกอากาศบอกว่าช่องทีวีช่องหนึ่งนั้นดี สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดการเลือกข้างและแตกแยกหรือไม่ เพราะถ้าปล่อยให้กฎหมายนี้ออกไปจะทำให้มีการดำเนินการกับสื่อที่อยู่ตรงข้ามหรือไม่เชียร์ท่าน ทั้งที่ ควรจะให้สื่อมีสิทธิเสรีภาพ และนำเสนอข้อมูลหลายด้าน”
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย
“กฎหมายนี้เพื่อจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างชัดเจน เป็นความพยายามของรัฐบาลเพื่อควบคุมสื่อไม่ให้นำเสนอข่าวที่เห็นต่างจากรัฐบาล ที่ผ่านมาหลายสมาคมข่าวออกแถลงข่าวคัดค้านกฎหมาย ที่น่ากังวล คือ เมื่อรับฟังจากปากของสื่อโดยตรง เป็นการนำงบประมาณมาให้จ่ายให้กับกรรมการสภาวิชาชีพเพื่อเป็นประโยชน์กับรัฐบาลและแทรกแซงจากรัฐ ถือเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่รัฐบาลนำมาให้กับสื่อ การได้เงินจากรัฐจะมีคำถามเรื่องความเป็นอิสระ และจะไม่เกิดแรงจูงใจในการพัฒนางาน ถือเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะต้องการเอาคนของรัฐบาลมากำกับสื่อ วันนี้การดูแลกำกับกันเองของสื่อนับว่าเข้มแข็ง และเป็นอิสระให้กับสื่อเอง”
ขจิตร ชัยนิคม สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย
“มันไม่ใช่ให้อิสระสื่อ แต่มันเป็นการตั้งองค์กรไปควบคุมสื่อ รัฐบาลอ้างว่า ออกตามรธน.มาตรา 35 ซึ่งเขียนไว้ว่า บุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือ การแสดงความเห็นตามจริยธรรมหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แต่รธน.กลัวรัฐบาลมาใช้อำนาจ จึงเขียนว่า การสั่งปิด นสพ. หรือสื่ออื่น เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพจะทำมิได้ คนที่เป็นรัฐบาลจะให้เงินสื่อกับเอกชนไม่ได้ เพราะเขากลัวรัฐบาลครอบงำสื่อ แล้วยังบอกว่า พนักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่สื่อย่อมมีเสรีภาพด้วย แต่ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้สนองตอบต่อรธน.มาตรา 35 รัฐบาลนี้ เคยคุกคามสื่อ ปิดสื่อ ทำลายสถานีวิทยุ นี่เป็นร่างกฎหมายที่สื่อไม่ได้รับรู้ด้วย และคัดค้าน และสื่อก็บอกว่า เรื่องนี้มุ่งควบคุมสื่อ
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ -พรรคเพื่อไทย
“พรรคฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะรัฐกำลังควบคุมสื่อทั้งที่ รธน.ให้เสรีภาพสื่อ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ มีองค์กรซ้ำซ้อนไม่มีประโยชน์ เพราะองค์กรสื่อเขามีการกำกับอยู่แล้ว แต่องค์กรใหม่ตามร่างนี้จะเปิดทางให้รัฐสามารถล้วงลูก กำกับ แต่งตั้ง แทรกแซงผ่านสภาวิชาชีพได้
พรรคประชาธิปัตย์ - จุดยืนไม่เห็นด้วย
มัลลิกา บุญมีตระกูล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
“แถลงการณ์องค์กรวิชาชีพสื่อคัดค้านร่าง พรบ.สื่อ เพราะมีปัญหาทั้งเรื่องที่มา กรรมการสภาวิชาชีพสื่อ การได้ทุนจากรัฐมาสนับสนุน รวมถึง กฎหมายนี้ถูกเขียนตั้งแต่นานแล้วเมื่อปี 2560 และค่อนข้างล้าหลัง ไม่ตรงบริบทสื่อที่เปลี่ยนไป เขียนตั้งแต่ติ๊กต็อกเกอร์หรือยูทูบเบอร์ยังไม่เป็นกระแสเท่ากับว่ากฎหมายนี้ล้าหลังไม่บริบทกับสังคมสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป
ขณะที่ในเรื่องของจริยธรรม จรรณยาบรรณ คุณธรรมต่างๆ มันมีการกำกับกันเองและมีการดูแลกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเห็นควรว่าเพียงแค่ส่งเสริมกลไกการขับเคลื่อนให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ควรมีการออกกฎหมายมาควบคุม ขอให้ถอนออกไป”
พิสิฐ ลี้อาธรรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
“ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ เป็นการเสนอที่ไม่จำเป็น ลิดรอนอิสรภาพสื่อ หวังเข้ามาจัดระเบียบ อีกทั้งซ้ำซ้อน เป็นภาระในการจัดสรรงบประมาณ มีการเสนอเงินเดือนหลักแสนให้กับคนในองค์กรนี้ วิธีการแบบนี้จะเกิดปัญหาเส้นสาย แบ่งบวก แบ่งฝ่าย เพราะมีผลประโยชน์เกิดขึ้นเหมือนกับองค์กรอื่นๆ ในไทย การตรวจสอบสื่อ เขาก็มีกฎหมายเด็ก กฎหมายอาญา เรื่องการเอาผิด มีการควบคุมโดยธรรมชาติ และสื่อมีองค์กรดูแลอยู่แล้ว อีกทั้ง องค์กรวิชาชีพสื่อได้ออกมาคัดค้าน ทั้งที่เขาก็มีส่วนในยกร่างกฎหมายนี้แต่แรก รัฐบาลต้องทบทวนกฎหมายนี้ใหม่ และต้องไม่แทรกแซงสื่อ”
องอาจ คล้ามไพบูลย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
“สื่อมีความกังวลหลายประเด็น เช่น คำว่า จริยธรรม ถูกตีความกว้างขวางมาก การวิจารณ์รัฐบาลอาจเป็นละเมิดจริยธรรมหรือไม่ การเสนอวิธีคิดใหม่ๆในโลกอนาคตอาจเป็นการละเมิดจริยธรรมหรือไม่ ถ้าไม่ตรงกับแนวคิดของผู้มีอำนาจ วันนี้ช่องทางสื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรายังออกกฎหมายลักษณะนี้อีกหรือ ตอนนี้สื่อเปิดกว้างสำหรับทุกสาขาอาชีพที่ใครๆก็เป็นได้ สื่อมีอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไป แตกต่างจากการออกกฎหมายที่ใช้กำกับวิชาชีพสื่ออื่นๆ สื่อกับวิชาชีพอื่น มีความแตกต่าง ฉะนั้น เราจะคิดในหลักเหตุผลเดียวกันมาใช้คงไม่ได้
ที่สื่อวิตกกันมาก คือ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เขาคิดกังวลว่า นี่อาจเป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ โดยอ้างว่า ทำขัดจริยธรรมวิชาชีพ แต่ภูมิทัศน์ของสื่อขณะนี้แตกต่างจากอดีต ภาครัฐไม่สามารถจำกัดช่องทางการสื่อสารของประชาชนอีกต่อไป ปัจจุบันแวดวงสื่อ เรามีคนมีจริยธรรมที่ดี หรืออาจมีคนที่ไม่ประกอบอาชีพตามจริยธรรมที่ถูกต้อง แต่เขาก็มีกฎหมายมากมายมาควบคุม กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง แล้วถ้ามีการปฏิวัติก็มีคำสั่งประกาศอะไรอีกมากมาย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากในโลกยุคใหม่ แต่วันนี้เราทำกฎหมายที่คนในแวดวงสื่อเองรับไม่ได้ เราต้องตระหนักเสรีภาพของสื่อ คือ เสรีภาพของประชาชน”
พรรคก้าวไกล – จุดยืนไม่เห็นด้วย
ธีรัจชัย พันธุมาศ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
“ธรรมชาติสื่อตรวจสอบรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้น รัฐพึงหลีกเลี่ยงที่จะมากำกับสื่อ รธน.มาตรา 35 รองรับเสรีภาพสื่อไว้แล้ว มาตรา 5 กฎหมายนี้ สื่อไหนไม่มีศีลธรรมอันดี อาจถูกสั่งปิดได้ใช่หรือไม่ นี่มายัดไส้ใส่ไว้ไม่ถูกต้อง อีกประเด็น บรรดาแม่ค้าออนไลน์ สื่อสังคม ที่ไม่ได้แสวงหากำไร ก็ยังถูกควบคุมโดยกฎหมายฉบับนี้ มีการระบุให้มีตัวตนตามร่าง อย่างนี้ถูกต้องแล้วหรือ หรือสื่ออื่นที่ประชาชนเป็นสื่อได้ในตัว ไม่มีการพูดถึงในส่วนนี้ ร่างกฎหมายนี้ไม่ควรเป็นกฎหมายปฏิรูป ควรเข้าสภาปกติเพื่อให้มีการกลั่นกรอง”
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
“บทบาทของสื่อสำคัญต่อประชาธิปไตย ที่จะต้องสื่อสารข้อมูลครบถ้วนรอบด้านและเป็นจริง แต่ร่าง พรบ.สื่อ กลับกำหนดไว้ว่า เสรีภาพสื่อต้องไม่ขัดศีลธรรมอันดี ซึ่งความหมายไม่ชัดเจน ข้อมูลจาก freedom house สื่อไทยไม่มีเสรีภาพ กฎหมายนี้เน้นควบคุมมากกว่าส่งเสริม จึงไม่เห็นด้วย”
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม. พรรคก้าวไกล
“เมื่อสักครู่ผมเดินลงไปหาพี่น้องสื่อมวลชนรัฐสภา จึงจะขอสะท้อนเสียงจากใต้ถุนสภา จากการพูดคุย 30 นาที ได้ข้อมูลมากกว่าที่กฤษฎีกาไปฟังมา 1 คน จริยธรรมสามารถตีความได้หลากหลาย เป็นเรื่องแปลกที่คนคาดหวังจากสื่อมาก แต่ไม่มีใครทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้สื่อเลย ทุกคนรู้หรือไม่ว่า หลายครั้งที่ไปทำข่าว โดยเฉพาะข่าวการชุมนุม สื่อไม่กล้าห้อยป้ายว่าอยู่สำนักไหน แม้ว่าเขาอาจจะสนับสนุนการชุมนุม แต่ต้นสังกัดของเขาอยากได้อีกแบบหนึ่ง จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจ เพราะสื่อมีหมด ทั้งสื่อซ้าย สื่อขวา สื่อกลาง สื่อเสี้ยม สื่อตบทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสื่ออย่างไรก็ไม่ควรควบคุมเขา เพราะสังคมประชาธิปไตยมีฟรีสปีช เรื่องที่สำคัญกว่านี้คือเราต้องมองปัญหาให้ชัดเจน
งานนักข่าวลำบากมาก เงินเดือนน้อย โอทีไม่มี สวัสดิการให้ไปสมัครประกันสังคมเอง ไม่มีวันทำงานที่ชัดเจน จนทำให้เกิดข่าวเศร้าเหมือนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บางที่ทำงาน 5 ปี เงินเดือนขึ้นมา 500 บาท ถูกไม่ให้ตั้งสหภาพ เพื่อไม่ให้เรียกร้อง เมื่อปากท้องไม่ดี จริยธรรมไม่เกิด การจะทำให้นักข่าวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปากท้องและสวัสดิการต้องสมเหตุสมผล เมื่อสื่อดีขึ้น ประเทศไทยจะมีอนาคต ทุกคนจะได้รับรู้ความเห็นที่แท้จริง และถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนนำไปคิดต่อว่า จะตัดสินเหตุการณ์นั้นอย่างไร จนอาจจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ดังนั้น เมื่อร่างพ.ร.บ.นี้ไม่มีเรื่องที่ผมพูดมา ผมและพรรคก้าวไกลจึงไม่สามารถเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้"
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
พรรคก้าวไกลมีจุดยืนไม่รับร่างกฎหมายนี้เพราะเป็นร่างตั้งแต่สมัยคสช.ที่พยายามออกกฎหมายควบคุมสื่้อ โดยสปท. ตอนร่างถูกคัดค้านอย่างกว้างขวาง เพราะมีการตีทะเบียนควบคุมสื่อออนไลน์เล็กๆ ทั้งหลาย จนกระทั่งเรื่องนี้หายไป รัฐบาลนี้หลังการเลือกตั้งมีการตั้งคณะทำงานปฏิรูปสื่อ และมีคณะอนุกรรมการปฏิรูปสื่อ ผลการประชุม เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายปฏิรูปสื่อ แต่ขอให้กลไกส่งเสริมจัดการตามหลักจริยธรรมวิชาชีพที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มงวด แต่ผู้มีอำนาจไม่สนใจ เดินหน้าจัดทำกฎหมายเป็นร่างฉบับนี้ที่เราพิจารณากัน
ร่างพรบ.นี้เป็นเพียงมรดกบาปของ คสช. ที่มีคนพยายายามจะชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ผมจึงไม่แปลกใจ ถ้า สว.อยากลงมติสนับสนุนกฎหมายนี้ เพราะ 100 กว่าคนที่่นั่งเป็น สว. ก็มาจาก สปช. สปท. ทั้งนั้น แต่ก็
แต่เนื้อหาที่บอกให้ส่งเสริมจริยธรรม และเสรีภาพ แต่พอเปิดในร่าง มีคำว่า เสรีภาพ 5 คำ ขอยกตัวอย่างศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พอรับงบประมาณจากรัฐ ก็มีปัญหาเรื่องความเป็นกลางจริงๆ อย่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ในร่าง จะมีเงินกองทุน กสทช. อย่างน้อยปีละ 25 ล้านบาทที่สนับสนุนในการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้น ผู้จัดการกองทุนที่ให้งบสภาวิชาชีพสื่อจะนั่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ตัวแทนกองทุนไปนั่งเป็นกรรมการสรรหาสภาวิชาชีพฯ สรุปจาก 7 คน ที่เป็นกรรมการสรรหา มีภาครัฐแล้ว 3 คน กรรมการสภาวิชาชีพทั้ง 11 คนที่บอกว่า ให้กลุ่มวิชาชีพสื่อเลือกกันเองมีแค่ 5 คนเท่านั้นถือเป็นเสียงส่วนน้อย ที่เหลือ กรรมการสรรหาจิ้มเลือกเอา เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า กรรมการสภาที่เลือกโดยกลไกแบบนี้และรับงบประมาณจากรัฐด้วย จะวางตัวเป็นกลางไม่อยู่ใต้อำนาจรัฐ
สิ่งสำคัญ คำว่าจริยธรรม เราจะหมายความอย่างไร ตามมาตรฐานของร่างกฎหมายนี้เมื่อดูพบว่าคณะอนุกรรมการร่างพรบ.ฉบับนี้ ได้ตอบว่า จริยธรรม หมายถึงข้อปฏิบัติให้เกิดความสงบ เรียบร้อย โดยอิงกับหลักธรรม คำอธิบายแบบนี้คืออะไร คณะรัฐประหารที่ออกมาจับคนเห็นต่างเข้าคุก ก็ทำในนามความสงบเรียบร้อยทั้งนั้น
สิ่งที่รัฐต้องการจากพรบ.นี้คือ ต้องการมีส่วนร่วมในการเลือกคณะกรรมการที่จะมากำหนดว่า สื่ออะไรทำผิดหรือทำไม่ผิดเท่านั้นเอง ทั้งที่ปัจจุบันมีหลายกลไกที่กำกับสื่อให้ทำตามมาตรฐานจริยธรรม จรรยาบรรณ ไม่ว่าจะเป็นกลไกทางสังคม ทางกฎหมาย การกำกับกันเองที่มีอยู่แล้ว ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกเขาเน้นให้สื่อดูแล กำกับกันเอง ไม่มีประเทศไหนยอมให้รัฐเข้ามากำกับดูแล สุ่มเสี่ยงว่าประชาชนจะไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐได้
คำพอง เทพาคำ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
“ผมไม่รับหลักการร่างพรบ.จริยธรรมสื่อที่ซ่อนรูปมาแบบควบคุมสื่อ มันคือ มาตรา 17 หรือ ปร. 42 กฎหมายของเผด็จการในอดีตแปลงร่างมาหลอกหลอนสื่อและประชาชน ข้อความท้ายบางมาตรา บอกว่า ให้การทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปอย่างเหมาะสม ถามว่า การอวยรัฐบาล หรือ การวิพากษ์รัฐบาลตรงไปตรงมา หรือ เกี่ยวกับศีลธรรมอันดี ความรู้ ลางสังหรณ์ คำว่า อย่างเหมาะสมนี้ที่อ้างเพื่อไปควบคุมสื่อมวลชนหรือไม่”
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
“เราไม่รับหลักการกฎหมายนี้ เพราะไม่ได้คุ้มครองสื่ออย่างที่กล่าวอ้าง เมื่อเร็วๆ นี้ผู้นำประเทศ เดินเข้าไปทีวีเอกชนช่องหนึ่ง นั่นคือ การให้ทรัพย์สินอื่นทางอ้อมเพราะทำให้ช่องนั้นเรตติ้งมาทันที กฎหมายนี้ออกมาทำไม ถ้ามีผู้นำแบบนี้ แล้วในประเทศนี้จะคุ้มครองสื่อได้อย่างไร กฎหมายนี้ไม่ได้คุ้มครองสื่อ ตามมาตรา 77 ของรธน.เรื่องการรับฟังความเห็นการออกกฎหมาย กฤษฎีกาเปิดการรับฟังกฎหมายฉบับนี้ผ่านทางเว็บไซท์รวมเวลา 16 วัน แต่มีผู้แสดงความเห็นแค่ 1 คน แล้วอย่างนี้มาอ้างความเห็นประชาชนได้อย่างไร”
สมชาย ฝั่งชลจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
“จริยธรรมเป็นเรื่องที่สังคมต้องกล่อมเกลาด้วยตัวเอง ผมเคยเป็นสื่อ ถูกปิดหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่นครศรีธรรมราช เพราะเคยเป็นบก.ข่าว ตอนที่สุรชัย แซ่ด่าน ถูกประหารชีวิต ผมเอาคำพิพากษามาเผยแพร่ แต่กลับโดนปิดหนังสือพิมพ์
การพูดถึงจริยธรรม หรือ การคุมสื่อ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงคือ สิทธิเสรีภาพ รธน. แต่องค์กรที่จะเกิดใหม่นี้สุดท้ายจะเป็นองค์กรเสือกระกระดาษอีกแห่ง รัฐบาลหวังผลจะให้กฎหมายผ่านได้โดยใช้เสียง สว.
ความจริง รัฐไม่ต้องออกองค์กรใหม่มาอีก ให้เปลืองงบประมาณ เพราะตั้งค่าจ้างกรรมการเป็นแสนบาท ทั้งนั้น การทำหน้าที่ของสื่อ มีกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท สามารถฟ้องเรียกทางแพ่งได้ มีกฎหมายคอมพิวเตอร์ สามารถตามไปล้างผลาญความเห็นต่าง ปิดสื่อได้ รวมทั้งยังใช้มาตรา 116 ในกฎหมายอาญา หรือ มาตรา 112 ที่นำไปสู่วิกฤตความคิดขึ้นมา นี่ไม่พออีกเหรอ รัฐบาลพยายามสร้างกลไก ต้อนสื่อเข้าคอก คัดสรรคณะกรรมการเพื่อให้รัฐกำกับอยู่เบื้องหลังได้ สุดท้ายขอย้ำว่า กฎหมายที่มีอยู่แล้วมันเพียงพอต่อการควบคุมกำกับสื่อ เพียงแต่ให้หน่วยงานรัฐเคารพตามมาตรา 35 ของรธน. เคารพการแสดงความเห็นของสื่อ”
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร - พรรคก้าวไกล
"งานนักข่าวลำบากมาก เงินเดือนน้อย โอทีไม่มี สวัสดิการให้ไปสมัครประกันสังคมเอง ไม่มีวันทำงานที่ชัดเจน จนทำให้เกิดข่าวเศร้าเหมือนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บางที่ทำงาน 5 ปี เงินเดือนขึ้นมา 500 บาท ถูกไม่ให้ตั้งสหภาพ เพื่อไม่ให้เรียกร้อง เมื่อปากท้องไม่ดี จริยธรรมไม่เกิด การจะทำให้นักข่าวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปากท้องและสวัสดิการต้องสมเหตุสมผล"
พรรคพลังประชารัฐ - จุดยืนไม่ชัดเจน
วลัยพร รัตนเศรษฐ สส.พรรคพลังประชารัฐ
“ขอตั้งข้อสังเกตุกระบวนการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเปิดกว้างให้ได้รับฟังมากยิ่งขึ้น ยิ่งเป็นร่างพรบ.จริยธรรมสื่อ เราต้องฟังทั้งสื่อออนแอร์ ออนไลน์ และออนกราวด์ เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ไม่ว่าในชั้นกรรมาธิการ จะได้ฟังความเห็นที่ครบถ้วนและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะเป็นความมั่นคงของประเทศ”
พรรคภูมิใจไทย - จุดยืนไม่เห็นด้วย แต่ให้ปรับปรุง
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย
“มีหลายครั้งที่สื่อมีปัญหา เช่น เฟกนิวส์ หลอกลวง หรือบางสื่อทำตัวเป็นมาเฟียเรียกรับผลประโยชน์ คำถามคือร่าง พรบ.สื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นได้จริงหรือ แต่กฎหมายนี้ล้าสมัย วันนี้สื่อเปลี่ยนไปมากมาย นอกจากนี้ ยังให้งบมาจากรัฐอาจเปิดช่องครอบงำ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ถอนไปทบทวน แต่ถ้าต้องเดินหน้า ฝากคณะกรรมาธิการวิสามัญปรับแก้”
ฐิตินันท์ แสงนาค สส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย
“แม้ผมเป็น สส.ฝ่ายรัฐบาลแต่ก็ไม่เห็นด้วย กฎหมายนี้ดี แต่มาผิดที่ผิดเวลาและมาช้าเกินไป เนื้อหาเฉยเกินไป ไม่ทันยุค สื่อสมัยใหม่ ดิจิตัลมาเร็วมาก ไม่ใช่กฎหมายส่งเสริมจริยธรรม แต่เป็นการควบคุมสื่อ ดังนั้น ต้องเอากลับไปทบทวนใหม่ การชุมนุมปี 2553 ฝ่ายตรงข้ามผู้ชุมนุมมีสื่อของตัวเอง รายงานว่ามีกองกำลังติดอาวุธ ผู้ชุมนุมมีระเบิด ซุ่มยิง ฝั่งผู้ชุมนุม ผมก็อยู่ด้วย ก็มีสื่อรายงานว่า การชุมนุมไม่น่ากลัว มีอาหารทานฟรี แต่การเสนอข่าวที่ขัดแย้งกันสองมุมมอง ฉะนั้นทุกสื่อมีค่าย ไม่มีสื่อไหนเป็นกลาง ผมเห็นว่า กฎหมายนี้ฝ่ายมีอำนาจจะออกมาคุมอีกฝ่าย จึงเห็นว่า ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมออกกฎหมายฉบับนี้ เมื่อปรับปรุงแล้วถึงค่อยเสนอมาใหม่”
พรรคประชาชาติ – จุดยืนไม่เห็นด้วย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ
“ผมขอคัดค้าน กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูปประเทศ แม้ ครม.พยายามส่งมาให้เป็นกฎหมายปฏิรูปก็ตาม แต่เมื่อเลย 5 ปีแล้ว ครม.ก็ไม่มีหน้าที่ที่จะไปบิดเบือนรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญเราบัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 35 ส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้มีเสรีภาพในการเสนอข่าว การกำจัดหรือขจัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน การไปมีกฎหมายฉบับนี้ ยิ่งผิดรธน.ใหญ่ จะกระทำได้มีข้อยกเว้นประการเดียวคือในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม
เขาบอกว่า ความจริงปรากฏความชั่วร้ายจะหายไป วันนี้กฎหมายฉบับนี้กลัวความจริง เมื่อกลัวความจริงก็คือ กลัวสื่อสารมวลชนที่จะออกมาเผยแพร่ความจริง ความจริงเป็นอาวุธสำคัญที่สุดของประชาชน ลองไปดูแค่มาตรา 5 ที่เขียนไว้ เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ซึ่งมาตรา 5 เขาบอกว่า ‘ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมของสื่อ แต่การใช้เสรีภาพจะต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
ร่างฉบับนี้เป็นความต้องการที่จะครอบงำประชาชน ต้องการมาขจัดผู้ที่เห็นต่าง และที่สำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่อาจจะมีการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในข้างหน้า เชื่อว่าถ้าสื่อสารมวลชนได้สื่อสารไปในช่องทางที่ถูกต้อง จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถจะปิดบังได้ จึงต้องปิดปากสื่อไว้ก่อน ในเรื่องของสื่อปัจจุบันเรายังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกมาย โดยเฉพาะกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กฎหมาย กสทช. ซึ่งหลายเรื่องก็จะมาเกี่ยวเนื่องและซ้ำซ้อนกัน วันนี้เหมือนเรากำลังจะมีโซ่ตรวนมัดมือมัดเท้าสื่อมวลชน เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นผมคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้นอกจากจะขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อความเจริญของประเทศ ที่สำคัญจะมาเป็นการปิดกั้นและเป็นการทำลายเสรีภาพของประชาชน ผมจึงไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้”
องอาจ คล้ามไพบูลย์ - พรรคประชาธิปัตย์
"ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้สื่อกังวลว่า นี่อาจเป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ โดยอ้างว่า ทำขัดจริยธรรมวิชาชีพ แต่ภูมิทัศน์ของสื่อขณะนี้แตกต่างจากอดีต ภาครัฐไม่สามารถจำกัดช่องทางการสื่อสารของประชาชนอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากในโลกยุคใหม่ สื่อกับวิชาชีพอื่นมีความแตกต่าง ฉะนั้น เราจะคิดในหลักเหตุผลเดียวกันมาใช้คงไม่ได้ ”
พรรคเสรีรวมไทย - จุดยืนไม่เห็นด้วย
นพ.เรวัต วิศรุตเวช สส.พรรคเสรีรวมไทย
“ผมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้เพราะร่างในช่วงบรรยากาศไม่ใช่ประชาธิปไตย มาจากสภาปฏิรูปที่แต่งตั้งโดยคสช. แล้วสภาปฏิรูปก็ไม่ได้ทำอะไรให้ประเทศ
มาตรา 6 บอกให้สภาวิชาชีพมีวัตถุประสงค์ให้ส่งเสริมเสรีภาพ ถ้าอย่างนั้น ไม่ต้องจัดตั้งองค์กรก็ได้ การที่เขามีสภาวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ เพราะเขาต้องกำหนดให้แพทย์ได้ทำตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ไม่ใช่ปกป้องผู้ปฏิบัติ ดังนั้น สื่อจึงไม่จำเป็นต้องมีสภาวิชาชีพสื่อ เพียงให้เสรีภาพสื่อ แค่อย่าใช้อำนาจรัฐรังแกสื่อก็พอแล้ว กฎหมายนี้ต้องการสร้างจริยธรรมที่ถูกใจผู้มีอำนาจรัฐใช่หรือไม่ คำว่า จริยธรรม มันถูกกำหนดไว้หลายความหมาย บางทีสื่อปฏิบัติถูก แต่ก็อาจไม่ถูกใจผู้มีอำนาจรัฐได้
มาตรฐานวิชาชีพสื่อจะกำหนดอย่างไร มันยาก ไม่เหมือนกับ วิชาชีพแพทย์ เช่น เป็นโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ กำหนดไว้เลยว่า จะต้องรักษาอย่างไร ถ้าไม่ทำตามจะอันตรายเพราะผ่านการศึกษาวิจัยมายาวนานจนกำหนดเป็นมาตรฐานได้ แต่มันจะแตกต่างจากวิชาชีพสื่อ ในทางการแพทย์ เราไม่จำเป็นต้องเขียนอะไรเพื่อปกป้องแพทย์ เว้นแต่เขาปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ”
พรรคพลังท้องถิ่นไทย - จุดยืนไม่เห็นด้วย
โกวิทย์ พวงงาม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย
“คำว่า ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เป็น 2 คำที่สำคัญ ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อเขามีและส่งเสริมกันเองอยู่แล้ว ตอนผมเป็นคณบดีสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ก็มีมาตรฐานควบคุมวิชาชีพและจริยธรรมเพื่อเป็นหลักในการควบคุมกันเอง
สังคมยุคใหม่มีการกำกับมากมาย ไม่ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชน การกำกับโดยสื่อสารต่างๆ ผมมีความเชื่อด้วยการกำกับด้วยตนเองและด้วยสมาคมของเขาเองดีแล้ว พรบ.นี้มีสภาวิชาชีพอยู่เหนือองค์กรวิชาชีพสื่อ และต้องมากำกับมาตรฐานวิชาชีพสื่อที่เขามีอยู่แล้วอีกหรือไม่ อีกประเด็นสำคัญ คือ การดูแลผู้ประกอบวิชาชีพ แต่กฎหมายไม่ได้เขียนอะไรไว้ในเรื่องค่าตอบแทนที่จะสร้างความมั่นคงกับ วิทยุ หนังสือพิมพ์ สื่อต่างๆ แล้ว คณะกรรมการจริยธรรมตามร่างกฎหมาย มีอำนาจมาก การตรวจสอบบอกว่า ถ้าอะไรไม่เป็นไปตามมาตรฐานจริธรรมก็จะมีบทลงโทษ แล้วอะไรคือ มาตรฐานนั้น”
พรรคชาติไทยพัฒนา - จุดยืนไม่เห็นด้วย
นิกร จำนง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา
“ตอนผมเป็นสมาชิก สปท.ปี 2560 ผมไม่เห็นด้วยกับเสนอกฎหมายนี้ วันนั้นสื่อก็ไม่เห็นด้วยกันหมด วันนี้ก็เหมือนกัน สื่อไม่เห็นด้วย เนื้อของร่างที่บอกให้สื่อดูแลกันเอง แต่ในร่างเป็นความพยายามเข้าควบคุมสื่อ ไม่ใช่ส่งเสริม ไม่ใช่ให้ดูแลกันเองเหมือนหลักการและชื่อร่างกฎหมาย
ร่างนี้ล็อค 3 ชั้น หรือ ไตรล็อค ล็อคจากรัฐ กสทช. และกฎหมายตัวนี้อีก พรบ.นี้ขัดรธน. มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพแสดงความเห็น การจำกัดเสรีภาพจะทำไม่ได้ แต่ร่างนี้เข้าไปจัดการการพูด การเขียนหรือไม่ มาตรา 35 สื่อมีเสรีภาพเสนอข่าวสารตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ แต่เราสร้างคณะกรรมการไปควบคุม การสอบถามความเห็นตามมาตรา 77 ของรธน. พบว่า สื่อไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ แล้วเราจะนับไปด้วยไหม เราต้องใช้ไตรลักษณ์รักษา รัฐ สื่อ และประชาชน ร่วมกันจัดทำร่างขึ้นใหม่ให้ยอมรับ สร้างหลักเกณฑ์ยอมรับทุกฝ่าย ต้องให้สื่อทำหน้าที่อิสระ มีองค์กรควบคุมดูแลกันเอง”
สมาชิกวุฒิสภา - จุดยืนสนับสนุน
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา
“กฎหมายนี้ออกมาปิดหูปิดตาปิดปากสื่อมวลชนอย่างที่มีการพูดกันจริงหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่า การที่กฎหมายออกมาแสดงว่าบ้านเมืองและสังคมมีปัญหาจึงต้องการให้มีกติกาเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ ยืนยันว่า มีสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อย่างสุจริต แต่ก็มีสื่อบางส่วนที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เสียดสีด่าทอใส่ร้ายฝ่ายหนึ่ง เข้าใจว่ากฎหมายก็ช่วยอะไรมากไม่ได้ แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่เห็นว่าส่วนใดที่ปิดกั้นปิดปากควบคุมสื่อมวลชนมีแต่ตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลสื่อมวลชน ส่วนบทลงโทษก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะรุนแรง เพียงแต่เป็นกฎหมายที่จัดระเบียบให้สื่อได้รับประโยชน์ ยืนยันว่าไม่ได้เข้าข้างรัฐบาลที่เสนอกฎหมาย แต่มองโลกแห่งความเป็นจริง แต่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนและต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริงด้วยซึ่งหากจะต้องมีร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องฟังเสียงของสื่อมวลชน”
สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา
"ผมเห็นด้วยกับร่างกฎหมายของ ครม. ฉบับนี้ เพราะเมื่อประเทศเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง กระบวนการยุติธรรม และสื่อเองก็ต้องปฏิรูปตัวเองด้วยเพราะข้อถกเถียงเกิดตั้งแต่เขาเข้าร่วมการปฏิรูปสื่อก่อนที่เขาจะได้ร่วมกระบวนการปฏิรูปสื่อก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าเราควรมีการดูแลปกป้องสื่ออย่างไร ขณะนั้นจึงมีการเขียนในรัฐธรรมนูญ 2540 ต่อเนื่องมาจนฉบับ 2560
การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนชัดเจนมาก แต่สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่นั้นต้องมีความรับผิดชอบและคุ้มครองผู้รับสารด้วยเช่นกัน ถ้าสื่อขาดความรับผิดชอบ ขาดจรรณาบรรณสังคมก็ได้รับสารที่เป็นพิษเป็นภัยเกิดวิกฤติการเมืองหลายครั้งก็เพราะสื่อ วันนี้มีทั้งสื่อแท้และสื่อเทียมเกิดขึ้นมากมาย ผมเห็นความเป็นสื่อที่เทียมก็เยอะนักการเมืองบางคนอยากเป็นสื่อก็มี คนที่ทำหน้าที่ชุมนุมในม็อบก็เป็นสื่อ ผู้ที่อยากเป็นคนขายตรงขายหวยออนไลน์ขายของมิจฉาชีพก็เป็นสื่อ ทำให้เกิดความสับสนมาก
สิ่งที่เกิดขึ้นคือการรวมตัวของสมาคมนักข่าว สภาการหนังสือพิมพ์เป็นการรวมตัวโดยสมัครใจ หลายครั้งที่เขาเป็นกรรมการพิจารณาเรื่องที่ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามสื่อจากรัฐหรือเอกชนสั่งไม่ให้ทำข่าว แต่ก็รับเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมาว่าสื่อคุกคามประชาชนทำตามอำเภอใจ การจะลงโทษก็ทำได้แค่ตำหนิตักเตือนแต่พอจะลงความเห็นองค์กรสื่อก็ลาออกจากสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อทำให้มาตรฐานจริยธรรมสื่อถูกตั้งคำถามกลายเป็นเสือกระดาษทุกวันนี้
หนึ่งในข้อเรียกร้องของพี่น้องที่ออกมาชุมนุมไม่ว่าจะเสื้อเหลืองเสื้อแดงเสื้อหลากสี พันธมิตร กปปส รวมถึงเกิดวิกฤติการเมืองทั้งหมดนี้เรียกร้องการปฏิรูปสื่อ แม้ว่าบางคนอาจจะมองว่าอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วก็พอก็ไม่เป็นจริงเพราะผ่านมากกว่ายี่สิบปีจำเป็นต้องมีทั้งการส่งเสริมจริยธรรมและสร้างมาตรฐานวิชาชีพสื่อเพื่อแยกสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่แทนประชาชนไม่ให้ทำตามอำเภอใจและต้องรับผิดชอบต่อสังคมต่อชาติบ้านเมือง
ร่างกฎหมายฉบับนี้อาจไม่ได้สมบูรณ์ตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์คัดค้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้สื่อมีปัญหาเรื่องจริยธรรมสื่อจริงๆ เราควรมีกฎหมายดูแลกำกับกัน ที่ทนายความหรือแพทย์ก็มีกฎหมายกำกับดูแล แล้วทำไมสื่อถึงจะไม่ต้องมีถ้าดูแลกันเองได้เหมือนสากล สื่อบางสื่อแยกตัวออกมาเป็นเจ้าของเพจทำอะไรก็ได้สร้างความรุ่งเรืองร่ำรวยมากมายเป็นสื่อเทียมก็มาก แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีเสียงคัดค้าน
ในการรับฟังความคิดเห็นของกฤษฎีกาที่ได้จากองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ สำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการพิเศษ บุคลากรสื่ออาวุโส เห็นว่าหลายเรื่องในกฎหมายก็เป็นข้อดีเช่น ต้องเอาเงินจาก กสทช. มา 25 ล้านบาทก็ไม่ได้สามารถครอบงำองค์กรวิชาชีพสื่อได้เพราะเป็นการบังคับเอามา และในโครงสร้างกรรมการเป็นการเลือกกันเองที่มีองค์ประกอบจากตัวแทนส่วนต่างๆ มาดูแลทั้งสื่อและประชาชนในการออกมาตรฐานจริยธรรม เรื่องร้องเรียนแล้วก็มีโทษในการตักเตือน ตำหนิต่อที่สาธารณะ ส่วนคดีอื่นๆ ก็ว่ากันในทางแพ่งและอาญาต่อไป
--
มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา
“ผมพร้อมเห็นชอบกฎหมายนี้แม้อาจไม่เห็นด้วยกับร่างเท่าไร แต่อยากให้มีการพิจารณาจากหลายฝ่ายให้มากกว่านี้ คำถาม คือ กฎหมายนี้จะเป็นกลไกควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลได้หรือไม่ โครงสร้างของคณะกรรมการสภาวิชาชีพ จะเป็นตัวชี้วัดความหลากหลาย และจะสร้างมาตรฐานวิชาชีพได้จริงหรือไม่ อยากให้รัฐบาลคิด มันสามารถสร้างหลักประกันคุ้มครองเสรีภาพของสื่อและของประชาชนจริงหรือไม่ ซึ่งผมเองไม่มั่นใจ แต่ผมไม่ได้เห็นว่า เป็นกฎหมายเลวร้ายอะไร”
--
นิพนธ์ นาคสมภพ สมาชิกวุฒิสภา
“ในฐานะที่ผมทำงานสื่อมา 50 ปี เคยเป็นนายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมประเทศ 4 สมัย ขอสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ที่ใช้เวลาเดินทาง 15 ปี กฎหมายนี้ได้แยกสิทธิเสรีภาพของสื่อวิชาชีพออกจากสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของบุคคลด้วยจริยธรรมวิชาชีพของสื่อ สื่อต้องเสนอข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง เป็นธรรม คนที่เป็นสื่อโดยสุจริตไม่ต้องกลัว สื่อที่ผิดศีลธรรมนั่นแหละที่ต้องกลัว เพราะกฎหมายนี้กำหนดโทษอย่างมาก การภาคทัณฑ์ การประฌาม แต่ไม่มีการลงโทษจำคุก ปรับ แต่กฎหมายนี้ต้องรับฟังความเห็นของสื่อเพื่อปรับปรุงแก้ไขบางมาตรา”
พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา
“ผมรักน้องๆ สื่อ ผมทำงานร่วมกับสื่อในอดีต ผมเข้าใจสื่อ เพราะเขาไม่ได้ข่าวมาเขียนก็ลำบาก อย่างไรก็ตาม ขอเปรียบเหรียญมีสองด้าน ดีและไม่ดี สื่อ 99% เป็นสื่อดี อาจจะ 0.1%ไม่ดี ก็เหมือนตำรวจก็มีเหมือนกัน กฎหมายนี้มีส่วนดีหลายมาตรา เช่น มีการสนับสนุน เรื่องเงินเดือน มีสำนักงาน มีเงินอุดหนุนที่ให้กับสื่อ ผมอยากให้มีกฎหมายดีๆ คุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพทุกสาขาอาชีพอยู่อย่างมีความสุข
สรุปสื่อ เป็นองค์กรสำคัญสูงสุด สามารถชี้นำด้านดีหรือไม่ดี ถ้ากฎหมายออกมามีข้อบกพร่องก็ไปปรับปรุงแก้ไขได้ ท้ายสุดเขาว่ากันว่า ตำรวจกลัวสื่อ สื่อกลัวนักเลง นักเลงกลัวตำรวจ มันก็จะวนเวียน แต่ผมเป็นตำรวจคนหนึ่งไม่ได้กลัวสื่อเพราะไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ฉะนั้นสื่อไม่ต้องกังวล ทำหน้าที่ของท่าน เราก็พร้อมสนับสนุนสื่อดีๆ ทุกคนไม่ว่ารัฐบาลไหนก็พยายามทำหน้าที่ดูแลสื่อมวลชนอย่างดี”
สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา
"วันนี้มีทั้งสื่อแท้และสื่อเทียมเกิดขึ้นมากมาย ผมเห็นความเป็นสื่อที่เทียมก็เยอะนักการเมืองบางคนอยากเป็นสื่อก็มี คนที่ทำหน้าที่ชุมนุมในม็อบก็เป็นสื่อ ผู้ที่อยากเป็นคนขายตรงขายหวยออนไลน์ขายของมิจฉาชีพก็เป็นสื่อ ทำให้เกิดความสับสนมาก"
--
รัฐบาลชี้แจง
ธนากร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
“สิ่งที่ทุกคนมีความกังวลและเป็นประเด็นหลัก คือ รัฐบาลจะไปกำกับหรือแทรกแซงสื่อนั้น ขอยืนยันไม่เคยแทรกแซงสื่อและสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะในอดีตผมเคยเป็นสื่อมวลชนมาก่อน แม้จะเป็นระยะเวลาช่วงสั้น ๆ แต่ก็เข้าใจวิถีชีวิตการทำงานของพี่น้องสื่อมวลชนเป็นอย่างดี
ดังนั้น จะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงกำกับดูแลสื่อเหมือนที่ทุกคนเข้าใจ แต่จะเป็นการส่งเสริมในเรื่องจริยธรรมและการมีกลไกในการทำงานของสื่อมวลชนที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารไปยังพี่น้องประชาชน โดยสื่อมวลชนตามร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องเป็นสื่อที่เป็นช่องทางในการนำเสนอข่าวสารไปยังประชาชน ไม่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ
อาทิผู้ทำเพจ Facebook Twitter ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีทราบเรื่องดีเพราะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีถึง 4 ครั้งและจะเป็นดุลพินิจของสมาชิกฯ ที่จะรับหลักการหรือไม่ รัฐบาลได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว หากที่ประชุมรับหลักการก็สามารถแก้ไขในประเด็นต่าง ๆ ที่สมาชิกฯ มีความห่วงใยได้”
นิกร จำนง - พรรคชาติไทยพัฒนา
"ร่างนี้ล็อค 3 ชั้น หรือ ไตรล็อค ล็อคจากรัฐ กสทช. และกฎหมายตัวนี้อีก พรบ.นี้ขัดรธน. มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพแสดงความเห็น การจำกัดเสรีภาพจะทำไม่ได้ แต่ร่างนี้เข้าไปจัดการการพูด การเขียน เราต้องใช้ไตรลักษณ์รักษา รัฐ สื่อ และประชาชน สร้างหลักเกณฑ์ยอมรับทุกฝ่าย ต้องให้สื่อทำหน้าที่อิสระ มีองค์กรควบคุมดูแลกันเอง”