เปิดที่มาที่ไปรวม “ต่างด้าว” เป็นประชากรแบ่งเขตเลือกตั้ง

การนำจำนวนบุคคล ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย มารวมคำนวณเป็นประชากร สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง กลายเป็นข้อถกเถียงของคนในสังคมเป็นวงกว้าง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงถึงการคำนวณจำนวนราษฎร ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 ว่า ยกที่มาตามความหมายของราษฎร จากกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร สำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะต้องรวมไปถึงบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย ซึ่งเป็นหลักการเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 2557 และ 2562

"มงคล บางประภา" ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่คร่ำหวอดอยู่ในสายข่าวการเมืองมาร่วม 30 ปี และเกาะติดความเคลื่อนไหวของ กกต.มาโดยตลอด ได้พูดคุยใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวที่กำลังจะมีขึ้นว่า กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. บัญญัติไว้ว่า ในการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่จะต้องรับผิดชอบต่อประชากรในแต่ละเขต ให้รับผิดชอบจำนวนคนที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ส.ส.จะต้องรับผิดชอบเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น เพราะคนไทยที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ที่ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่เป็นราษฎรในเขตนั้น ๆ ส.ส.ต้องรับผิดชอบด้วย ซึ่งโยงไปถึงคนต่างด้าวที่มาอยู่อาศัยถาวรในเขตพื้นที่นั้น ควรจะอยู่ในความดูแลของปัญหาที่ ส.ส.จะนำเสนอในเชิงนิติบัญญัติ ถึงสภา หรือติดตามปัญหาสาธารณูปโภคในพื้นที่ เพื่อรายงานต่อรัฐบาล ให้รัฐบาลแก้ไขหรือไม่ด้วย

"มงคล" ยังเห็นว่า ในความจริงแล้ว เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่เรียนกฎหมาย หรือทำงานกับกฎหมายเป็นประจำ ที่เวลาเขียนกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่ง แต่ว่า มีสิ่งที่เกิดขึ้นในกฎหมายก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว และสามารถใช้บางส่วนมาอ้างกับกฎหมายใหม่ ก็มักจะมีกฎหมายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กฎหมายอื่นที่ถูกโยง เข้ามาร่างด้วยอีกวัตถุประสงค์หนึ่ง ที่ตัวอย่างเห็นได้ชัด คือ กฎหมายทะเบียนราษฎร์ ซึ่งกำกับให้กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่รวบรวมจัดทำ เพื่อให้เกิดความชัดเจนของจำนวนประชากรแต่ละเขตพื้นที่ เพื่อผู้บริหารท้องถิ่น หรือรัฐบาล จะได้รู้ว่า การกระจายทรัพยากร ควรสมดุล กับจำนวนประชากรที่มีอยู่ในที่นั้นหรือไม่ รวมไปถึงวัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการด้วย ดังนั้น ทะเบียนราษฎร์ จึงรวมทุกคน ทั้งที่เป็นคนไทยโดยกำเนิด ,ทุกคนที่เป็นคนไทยแต่ไม่ใช่โดยกำเนิด อาจจะโอนสัญชาติหรือแต่งงานเข้ามา, คนต่างชาติที่เข้ามาทำงานแล้วได้รับใบอนุญาต, นักศึกษาที่เข้ามาอยู่ค่อนข้างถาวร ก็รวมเป็นจำนวนอยู่ในระบบทะเบียนราษฎร์ เพื่อให้เห็นสัดส่วนประชากรในแต่ละพื้นที่ด้วย

"เพราะฉะนั้น กฎหมายระหว่าง 2 เรื่องนี้ จึงมีความเหลื่อมกัน และอาจไม่สมบูรณ์ 100% ซึ่งประเด็นปัญหาที่ว่าแล้ว ส.ส.ต้องคำนวณเขตตามบุคคล ในทะเบียนราษฎร์ ซึ่งรวมถึงคนต่างด้าวด้วยหรือไม่ ถ้าแจกแจงกฎหมายทั้ง 2 ส่วนถึงวัตถุประสงค์ทางกฎหมายชัดเจน ก็จะรู้ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร แต่ปรากฏว่า เมื่อสังคมมีการถกเถียง ผมเข้าใจว่าเริ่มมีการมองอีกมุมหนึ่งออกมา โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับนักสิทธิมนุษยชน บอกว่า คุณไม่ดูแลคนต่างด้าวที่อยู่ในเมืองไทยได้หรือ เพราะการจัดสวัสดิการพื้นฐานบางอย่าง เช่น เรื่องรักษาพยาบาลปัจจุบัน เราดูแลคนต่างด้าวด้วย ฉะนั้น ส.ส.ต้องดูแลพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด รวมถึงครอบคลุมมนุษย์ทุกคน ที่อยู่ในเขตตัวเองไม่ใช่เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" มงคล กล่าว

"มงคล" ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาการคำนวณจำนวนประชากรในเขตการเลือกตั้งด้วยการใช้ทะเบียนราษฎร์ มีตั้งแต่อดีต แต่เมื่อปี 2562 อาจเป็นเพราะกระทรวงมหาดไทย ใช้เครื่องหมายทางเครื่องมือ จึงไปใส่คอลัมน์เพิ่มเติมอันหนึ่งว่า ในทะเบียนราษฎร์ มีรายละเอียดของบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวจำนวนหนึ่ง และที่เป็นคนไทยจำนวนหนึ่ง และบุคคลที่เป็นคนไทย ก็นำมาแจกแจงได้ว่า คนไทยอายุ 18 ปีบริบูรณ์จนถึงวันเลือกตั้ง สามารถคำนวณผ่านคอมพิวเตอร์ได้ ถึงจะรู้ว่า กกต.นำไปบริหารจัดการว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละรอบปีนั้น มีจำนวนเท่าใด หากได้ตัวเลขมา ก็ต้องไปคำนวณเรื่องหน่วยเลือกตั้ง, บัตรเลือกตั้งที่จะนำมาใช้ แจกแจงทะเบียนราษฎร์ จึงคิดว่า กระทรวงมหาดไทยแจกแจงแบบนี้ดีแล้ว เพียงแต่ว่า เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ที่เพิ่งจะแยกคนที่อยู่อาศัยในทะเบียนราษฎร์ออกมา ระหว่างคนต่างด้าว กับคนไทย จึงกลายเป็นเหตุที่ดูแล้ว และคิดฝั่งเดียวว่า การเลือกตั้ง เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคนไทย ทำไมต้องมีคนต่างด้าวเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเกิดข้อขัดแย้ง

"มงคล" ยังกล่าวถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชน ในช่วงการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งด้วยว่า ได้ร่วมร่างต้นแบบ “แนวปฏิบัติการรายงานข่าวการเมืองกับการเลือกตั้ง” ที่เพิ่งจะแล้วเสร็จ ได้ไปที่เสนอต่อสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยคาดว่า ก่อนเลือกตั้งคงจะสามารถเผยแพร่ได้ ซึ่งนักวิชาชีพสื่อมวลชน และนักวิชาการ ก็มีการถกเถียงกันในรายละเอียดนาน และมีความละเอียดพอสมควร

“หลักสำคัญ ที่สังคมต้องแยกแยะให้ออก คือ ปัญหาการรายงานข่าว กับการเล่าข่าว เป็นคนละส่วนกัน ถ้าเล่าข่าว แสดงว่า ผู้เล่าใส่อคติ ความเชื่อ ความคิดเห็นของตัวเองได้ แต่การรายงานข่าว ต้องไม่มีสิ่งเหล่านี้ทั้งอคติ ความเชื่อ และความเห็น ซึ่งผมไม่ได้บอกว่า การเล่าข่าวเป็นสิ่งเลวร้าย แต่อยากจะให้ผู้ฟัง ฟังทั้ง 2 แบบ และแยกให้ถูก และคิดพิจารณาด้วยว่า การรายงานข่าว มีหลักความถูกต้องรอบด้าน ไม่อคติกับใคร ส่วนเล่าข่าวเป็นความคิดเห็นของผู้เล่า โดยผมเปรียบเทียบว่า ถ้าคุณกินเค็มมาก จืดมาก เผ็ดมาก คุณอร่อยปากก็จริง แต่วันหนึ่ง คุณจะรู้ว่า มันเสียสุขภาพ คุณต้องหันมากินจืดบ้าง” มงคล ระบุ

ส่วนการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในเรื่องดังกล่าวนั้น ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ บอกว่า ตามปกติ จะมีระยะเวลาการวินิจฉัยของศาล รวมไปถึงขั้นตอนการพิจารณา ทั้งวัตถุพยาน, บุคคลพยาน และข้อกฎหมาย ในกรณีการตีความคำว่า “ราษฎร” ในกฎหมายทะเบียนราษฎร์ มาประยุกต์ใช้กับกฎหมายเลือกตั้งนั้น "มงคล" เห็นว่า เป็นสิ่งที่แทบจะไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุพยาน หรือพยานบุคคล แต่เป็นการตีความเฉพาะข้อกฎหมาย สิ่งที่ข้อกฎหมายยังขาดอยู่ คือ เจตนารมณ์ในข้อกฎหมายเลือกตั้ง ที่อิงระเบียบ โยงเรื่องกฎหมายทะเบียนราษฎร์ มาใช้คำว่า "ราษฎร" ไม่ได้แยกว่า ในนั้นเป็นราษฎรตามทะเบียนราษฎร์ที่เป็นคนไทย หรือต่างชาติ ปัญหาอยู่แค่นั้นเอง

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดยความร่วมมือของ .สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" และ "คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5"