เข้าโหมดเลือกตั้ง นักข่าว”กกต.”เตรียมโชว์ของ  

รายงานพิเศษ 

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

ข่าวที่ กกต. เหมือนกับเป็น “ต้นน้ำ” ในการสถาปนาอำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด... สิ่งที่นักข่าวกกต.ต้องศึกษา ต้องมี ในการทำข่าวกกต.ต้องศึกษา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังมีระเบียบ กกต.ที่จะต้องศึกษา  

       ทิศทางหลักของข่าวสารประเทศไทยในตอนนี้ แน่นอนว่า ข่าวสารความเคลื่อนไหวเรื่อง"การเลือกตั้ง"คือหนึ่งในข่าวกระแสหลักที่สื่อมวลชน นำเสนออย่างต่อเนื่องเวลานี้ ทั้งความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและการเตรียมพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ของ"คณะกรรมการการเลือกตั้ง"หรือกกต.ที่จะเป็นองค์กรหลักที่จะมีอำนาจและบทบาทอย่างมากเมื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเต็มตัว

       จึงน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการทำงาน-ทำข่าวของนักข่าว-สื่อมวลชนประจำ"สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง"ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะในการนำเสนอข่าวสารการทำงานของกกต. 

       "ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" ได้พูดคุยกับ นักข่าวประจำสำนักงานกกต. ที่เป็นนักข่าวซึ่งไปทำข่าวที่กกต.อย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน รวมถึงนักข่าวซึ่งเคยปักหลักทำข่าวที่กกต.มาหลายปี และแม้ปัจจุบันอาจจะไม่ได้ไปตลอดทุกวัน แต่ก็ยังรับผิดชอบกับการดูแลข่าวกกต.ในภาพรวมอยู่ เพื่อทำให้เห็นภาพการทำงานของนักข่าวประจำกกต. ว่ามีรูปแบบการทำงานอย่างไร 

       เริ่มที่"ชัชดนัย ตันศิริ ผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ของไทยโพสต์" เล่าถึงการเข้ามาทำข่าวที่สำนักงานกกต.ว่า มาเป็นนักข่าวประจำสำนักงานกกต.ร่วมๆ เกือบหกปีแล้ว หลังจากเข้ามาสู่วงการนักข่าว ซึ่งก็เริ่มต้นที่ไทยโพสต์มาจนถึงปัจจุบัน โดยช่วงที่เข้ามาทำข่าวประจำสำนักงานกกต.เป็นเพราะทางออฟฟิศไทยโพสต์ โยกให้มาทำข่าวประจำสำนักงานกกต.เพื่อดูข่าว กกต.รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ส่วนใหญ่สำนักงานเหล่านี้ ก็จะตั้งอยู่ภายในศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ 

       ...อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปทำข่าวที่สำนักงานกกต.และองค์กรอิสระอื่นๆ ก่อนหน้านั้นทำข่าวอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลระยะสั้นๆ  โดยตอนที่เข้าไปทำข่าวที่สำนักงานกกต. ช่วงนั้น เป็นช่วงที่กำลังจะมีการทำ"ประชามติ"ถามความเห็นประชาชนทั่วประเทศต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ผ่านการทำประชามติ เมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 หลังจากเสร็จสิ้นการทำประชามติ จากนั้นก็ทำข่าวประจำกกต.มาต่อเนื่อง แต่พอดีช่วงที่เริ่มทำข่าวประจำสำนักงานกกต. เกิดเหตุการณ์ เสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 ทางออฟฟิศไทยโพสต์ ก็มอบหมายงานให้ไปทำข่าวที่ท้องสนามหลวง เพื่อทำข่าวเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ทำข่าว ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ที่ก็ทำข่าวอยู่ที่ท้องสนามหลวง หลายเดือนเหมือนกัน 

       ต่อมา ก็กลับมาทำข่าวที่สำนักงานกกต. อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน  โดยช่วงที่ผ่านมา ผ่านการทำข่าว การเลือกตั้งระดับชาติคือการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเช่น การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศเมื่อปี 2563  -การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ว่าการเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศเมื่อปี 2562 งานจะหนักและงานเยอะกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นค่อนข้างมาก 

       "ชัชดนัย-ผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ของไทยโพสต์"เล่าให้ฟังว่า สำหรับนักข่าว-สื่อมวลชนที่มาทำข่าวที่สำนักงานกกต.แบบมาประจำเกือบทุกวัน พบว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นักข่าวที่ประจำสำนักงานกกต.ลดน้อยลงกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 กับปัจจุบันในปี 2566 ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกไม่นาน เห็นได้ชัดว่า จำนวนนักข่าวลดลงไปจากเดิมมาก ทั้งที่ใกล้จะเลือกตั้งเหมือนกัน

       ...สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้นักข่าวที่มาทำข่าวประจำกกต.โดยเฉพาะที่เป็นนักข่าวประจำ ลดน้อยลงไป ก็เพราะเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจและบริบทของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เพราะอย่างที่ทราบกันว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรสื่อหลายแห่ง มีการปรับโครงสร้างการทำงาน ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆตามมาเช่น การเลิกจ้างพนักงาน-นักข่าว และหลายแห่งไม่มีการรับคนเพิ่ม เลยทำให้ จำนวนนักข่าวในภาคสนามหลายแห่งลดน้อยลง ก็ทำให้การส่งนักข่าวมาประจำที่สำนักงานกกต. ของแต่ละสำนักข่าว เลยลดน้อยลงไปด้วย  

       ..อย่างตอนก่อนการเลือกตั้งปี 2562 พบว่ามีนักข่าวประจำอยู่ร่วมสิบกว่าสังกัด แต่ปัจจุบันที่ก็กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเช่นกัน พบว่าเหลือแค่ประมาณแปดสำนัก และในแปดสำนัก บางส่วนก็ต้องไปประจำอยู่ที่สำนักงาน ต้องคอยเข้าออฟฟิศไปช่วยปิดข่าว รีไรท์ข่าว หรือต้องโยกไปทำข่าวที่อื่นด้วย ไม่ได้มาอยู่ป่ระจำสำนักงานกกต.แบบต่อเนื่องทุกวันเต็มเวลาเหมือนก่อนหน้านี้ จนตอนนี้บางช่วงก็มีนักข่าวมาทำข่าวที่สำนักงานกกต.แบบมาทุกวัน แค่ประมาณห้าสังกัดเท่านั้น 

       เว้นแต่ว่า หากเป็นช่วงสำคัญๆ เวลาสำนักงานกกต.มีประชุมเรื่องใหญ่ๆ หรือว่าการประชุมกกต.นัดสำคัญที่มีข่าวออกไปก่อน  ก็จะมีนักข่าวจากส่วนอื่น หรือสายเฉพาะกิจ จะได้รับมอบหมายจากสำนักงานต้นสังกัดให้มาทำข่าวที่สำนักงานกกต. ส่งผลให้มีนักข่าวมาทำข่าวที่กกต.มากขึ้นตามไปด้วย จนบางวัน ที่มีเรื่องสำคัญ-ข่าวสำคัญของกกต. พบว่ามีนักข่าวจากสายอื่น หรือทีมข่าวเฉพาะกิจ ที่มาทำข่าวที่สำนักงานกกต.เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คือมาร่วมๆ 15-20สำนัก แต่หากเป็นช่วงปกติ บางวันก็มีนักข่าวมาทำข่าวประจำสำนักงานกกต. เหลือแค่ประมาณห้าสำนักเท่านั้น 

       "มองว่า เมื่อมีการประกาศยุบสภาฯ และเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัว ข่าวในส่วนของกกต.จะมีมากขึ้น จะทำให้คาดว่าสื่อแต่ละแห่งก็จะส่งนักข่าว ทีมข่าวมาทำข่าวแบบมาประจำที่สำนักงานกกต.เยอะขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่เคยเห็นมาแล้ว จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และยิ่งหากเป็นวันเลือกตั้ง ก็มาร่วมๆ ห้าสิบคน อันนี้ยังไม่รวมทีมข่าวในส่วนอื่นๆ เช่นช่างภาพนิ่ง ช่างภาพโทรทัศน์ "

        "ชัชดนัย"ที่ผ่านการทำข่าวเลือกตั้งปี 2562 มาแล้ว รวมถึงการทำข่าวในส่วนอื่นๆ ของกกต. ให้ข้อมูลหลังถูกถามถึงว่า ลักษณะการหาข่าว การทำข่าว ของนักข่าวกกต.ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร โดยบอกว่า การหาข่าวกกต.ในยุคปัจจุบันที่เป็นกกต.ชุดที่ห้า ( อิทธิพร บุญประคอง เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน) หากเทียบกับช่วงคณะกรรมการกกต.ชุดที่สี่ (ศุภชัย สมเจริญ เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง )ที่อยู่ในช่วงยุคคสช. พบว่ากกต.ทั้งสองชุด มีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน 

       ..ยกตัวอย่างเช่น กกต.ชุดที่สี่ จะมีลักษณะการแบ่งงานที่ชัดเจนให้กับกกต.แต่ละคน เช่นนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งยุคดังกล่าว จะรับผิดชอบด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งหรือ นาย บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง อีกคน ก็จะรับผิดชอบด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ทำให้กกต.แต่ละคน ก็จะให้ข่าวในงานที่ตัวเองรับผิดชอบ และมีความเป็นอิสระ ซึ่งกกต.ชุดดังกล่าวเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่คสช.จะทำรัฐประหารเมื่อ22 พ.ค.  2557 ต่อมาเมื่อกกต.แต่ละคนแสดงบทบาทของตัวเอง เช่น นายสมชัย ที่ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ จนสุดท้าย ก็ถูกหัวหน้าคสช.(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)ใช้มาตรา 44 ปลดนายสมชัย ออกจากกกต. 

       ...เมื่อกกต.ชุดที่สี่ รูปแบบการทำงานและการให้สัมภาษณ์กับสื่อมีความเป็นอิสระ ทำให้การหาข่าวของสื่อประจำสำนักงานกกต.ก็หาข่าวต่างๆ จากตัวกรรมการกกต.และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสำนักงานกกต.โดยเฉพาะเลขาธิการ กกต. ได้ไม่ยากเกินไปนัก การให้สัมภาษณ์ของกกต.กับสื่อมวลชน เกิดขึ้นบ่อย แต่สำหรับกกต.ชุดปัจจุบัน ที่มีการเพิ่มจำนวนกกต.จากก่อนหน้านี้มีห้าคน เพิ่มมาเป็นเจ็ดคน พอกกต.ชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่ มีการเปลี่ยนรูปแบบสไตล์การทำงานใหม่ ไม่เหมือนกกต.ชุดก่อนหน้านี้ คือมีลักษณะการทำงานแบบ"บอร์ดบริหาร"มากขึ้น รวมถึงภารกิจต่างๆเช่น การสืบสวนสอบสวนต่างๆ ก็ไม่ได้ให้เป็นหน้าที่หลักของกกต.แต่ละคน แต่ให้เป็นหน้าที่หลักของฝ่ายบริหารในสำนักงานกกต.อย่างรองเลขาธิการกกต. ที่รับผิดชอบงานแต่ละด้าน ส่วนกกต.ก็มีหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องที่เสนอมา ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในประเด็นเรื่องต่างๆ ที่ส่งเข้ามา 

       ขณะเดียวกัน การให้ข่าวของกกต. กับสื่อมวลชน ก็พบว่าระยะหลัง กกต.ไล่ตั้งแต่ ประธานกกต. ก็ให้ข่าวกับสื่อน้อยลงจากตอนช่วงเข้าทำหน้าที่ใหม่ๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะหลังก่อนหน้านี้ มีกกต.บางคนให้สัมภาษณ์ในบางประเด็น แล้วเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา จนทำให้กกต.เลยเปลี่ยนรูปแบบวิธีการให้สัมภาษณ์ใหม่ โดยไม่ให้สัมภาษณ์เลย เว้นแต่จะเป็นงานบางลักษณะเช่น มีการสัมมนา หรือมีงานของกกต.แล้ว ประธานกกต.ต้องไปเปิดงาน หรือร่วมงาน พอเสร็จจากงาน ที่ก็จะต้องเจอกับสื่อที่มาดักรอทำข่าวและสัมภาษณ์ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็จะให้สัมภาษณ์ได้ หรืออย่างตัว "แสวง บุญมี เลขาธิการกกต."ก่อนหน้านี้้ สมัยเป็นรองเลขาธิการกกต. ก็จะเป็นแหล่งข่าวที่ให้ข่าวกับสื่อบ่อยครั้ง ที่อาจเพราะตอนนั้นยังไม่ใช่เลขาธิการกกต. แต่พอขึ้นมาเป็นเลขาธิการกกต.ทำให้การให้ข่าวกับสื่อ ก็เลยลดลงตามไปด้วย ที่อาจเป็นเพราะขึ้นมาทำหน้าที่ในระดับฝ่ายบริหารในสำนักงานกกต. อีกทั้งน่าจะเป็นเพราะพอเป็นเลขาธิการกกต. ต้องทำงานประสานใกล้ชิดกับกกต.ทั้งหมด เลยทำให้อาจมองว่า การให้สัมภาษณ์ต้องระวังมากขึ้นเพราะหากให้สัมภาษณ์อะไรไปด้วยการที่เป็นเลขาธิการกกต. ทำให้ หากแสดงความเห็นอะไรออกไปในเรื่องต่างๆ จะเกิดผลกระทบตามมาแน่นอน ก็เลยทำให้การให้ข่าวก็จะลดลงไปจากเดิมตอนสมัยยังไม่ได้เป็นเลขาธิการกกต.อย่างเห็นได้ชัด  

       "ชัชดนัย-ผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง"ให้ข้อมูลการทำงานของนักข่าวประจำสำนักงานกกต.อีกว่า การทำข่าวของนักข่าวประจำกกต. แน่นอนว่า หลักๆ เลย จะมีการติดตามประเด็นข่าวในแต่ละสถานการณ์ เช่นปัจจุบันที่เป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง การทำข่าวโทนหลักก็จะอยู่ที่ ประเด็นการเตรียมพร้อมของกกต.ในด้านต่างๆเช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ แล้วก็หาข่าวหาข้อมูลมานำเสนอเป็นข่าว หรือกรณีที่มีมุมมองปัญหาข้อกฎหมายที่แตกต่างกันในเรื่องการนำจำนวนราษฎร ที่ไม่ได้เป็นคนสัญชาติไทยมานับรวมเพื่อนำไปสู่การคิดเรื่องจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะมีในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ที่มีบางฝ่ายบอกว่า ไม่สามารถนำมานับรวมได้ ประเด็นเหล่านี้ นักข่าวประจำสำนักงานกกต. ต้องติดตามการทำข่าวในประเด็นดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกกต. เช่นไปสอบถามกกต.หรือเจ้าหน้าที่สำนักงานกกต.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เพื่อขอความเห็นหรือข้อมูลมานำเสนอเป็นข่าว เช่น ติดตามว่า เมื่อข้อคิดเห็นแตกต่างกันแล้วกกต.จะทำอย่างไร จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยหรือไม่ เป็นต้น 

       "ชัชดนัย"กล่าวย้ำว่า ลักษณะการทำข่าวของนักข่าวประจำกกต.อย่างที่บอกไป ก็จะเห็นได้ว่า การทำข่าวของนักข่าวประจำกกต. ไม่ได้แตกต่างจากนักข่าวสายอื่น เพราะนักข่าวต้องทำการบ้าน หาข้อมูลต่างๆ ในสายงานของตัวเอง อย่างเรื่องของ"กฎหมาย"และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานของนักข่าวการเมือง ไม่ใช่แค่นักข่าวสายกกต.แต่นักข่าวสายรัฐสภา ที่ทำข่าวด้านนิติบัญญัติหรือนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ก็ต้องทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องข้อกฎหมายต่างๆเช่นกัน อาทิเวลามีการเสนอร่างพรบ.ต่างๆ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็ทำให้นักข่าวก็ต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน โดยในส่วนของ การทำข่าวกกต. เวลามีใครให้สัมภาษณ์หรือเวลามีคนมายื่นร้องเรียนต่อกกต.ให้สอบสวนเรื่องต่างๆ แล้วบอกว่า ที่มายื่นกกต.เพราะคนที่ถูกร้องทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือทำผิดรัฐธรรมนูญมาตราใด เราก็จำมาตราที่อ้างดังกล่าวแล้วก็ไปเปิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจและนำมาเขียนประกอบข่าว เพื่อให้รู้ที่่มาที่ไปของข่าวนั้น 

       ส่วนเรื่องของ "ประกาศ-ระเบียบ"ที่กกต.ทำออกมาเพื่อรองรับการเลือกตั้ง ทางสำนักงานกกต.มีการเผยแพร่ไว้อยู่แล้วในเว็บไซต์ของสำนักงานกกต. ที่เปิดหาข้อมูลได้ตลอดเวลาว่ามีเนื้อหาอย่างไรบ้าง แต่จุดสำคัญคือ ตัวนักข่าวเองต้องทำความเข้าใจระเบียบ-ประกาศต่างๆ ของกกต.ว่ามีเนื้อหาสาระสำคัญคืออะไร โดยส่วนที่ยากคือต้องสรุปออกมาเป็นข่าวหรือลิสต์ประเด็นสำคัญออกมานำเสนอให้ประชาชนเข้าใจ ประชาชนอ่านแล้วรู้เรื่องได้ง่ายว่า ประเด็นหลักๆ ของประกาศกกต.ซึ่งช่วงที่ผ่านมา กกต. ออกมาหลายฉบับมีสาระสำคัญอะไรที่น่าสนใจ

ทำข่าวเลือกตั้งระดับชาติ-ท้องถิ่น

แตกต่างกันอย่างไร-ความยากง่าย

       เมื่อถามถึงว่า ทำข่าวการเลือกตั้งมาทั้งการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 และการเลือกตั้งท้องถิ่นเช่นการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ทั่วประเทศ การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และส.ก. มีความแตกต่าง ความยากง่ายในการทำงานอย่างไร "ชัชดนัย-ผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง"สะท้อนให้ฟังว่า การทำข่าวการเลือกตั้งระดับชาติอย่างการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 จะมีความเข้มข้น ความยากในการทำข่าวมากกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างการเลือกตั้งท้องถิ่นเช่นการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ทั่วประเทศเมื่อปี 2563  นักข่าวประจำกกต. ก็จะจับตาผลการเลือกตั้งในจังหวัดที่สำคัญๆ หรือจังหวัดที่มีผู้สมัครที่เป็นคนดัง หรือเป็นพวกตัวเต็งลงสมัคร หรือจังหวัดที่มีการแข่งขันกันสูง ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดปทุมธานี คนที่ลงสมัคร ที่เป็นคนดังอย่าง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายตำรวจชื่อดังมาลงสมัครนายกฯอบจ.ปทุมธานี หรือการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ซึ่งแม้เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญ นักข่าวส่วนกลางจะให้ความสำคัญพอสมควรในการติดตามความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งแต่ละช่วง

         แต่หากเป็นกรณีการเลือกตั้งระดับชาติ มองว่า จะมีความสำคัญอย่างมาก นักข่าวต้องติดตามการทำข่าว การหาข้อมูล ทั้งตัวผู้สมัครที่น่าสนใจแต่ละจังหวัด ต้องดูความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต้นสังกัดในส่วนที่เกี่ยวโยงกับงานนักข่าวกกต. ต้องติดตามภาพรวมการแบ่งเขตเลือกตั้งของกกต.เช่นในการเลือกตั้งที่จะออกมาว่า กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไร มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว และเมื่อกกต.ประกาศแบ่งเขตออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว เป็นการทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองหรือไม่ ขณะเดียวกันในระดับจังหวัด ที่บางจังหวัดมีความน่าสนใจ หรือมีประเด็นข่าวอะไรเกิดขึ้น นักข่าวในส่วนกลางที่ดูแลรับผิดชอบข่าวกกต. ก็จะมีการเช็คข่าว หาข้อมูลเพิ่มเติมโดยการสัมภาษณ์ทางผอ.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดในประเด็นต่างๆที่น่าสนใจในพื้นที่เลือกตั้งแต่ละช่วง

       "ชัชดนัย-ผู้สื่อข่าวประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง"ยังกล่าวถึงเรื่องสำคัญของการทำข่าวกกต.อีกอย่างก็คือการทำข่าวการให้"ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง"กับผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ของกกต.ว่าเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับข่าวกกต.ซึ่งปกติ ในช่วงเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้งที่กกต.จะต้องรับรองผลการเลือกตั้ง ที่จะมีคนร้องเรียนเรื่องการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งไปที่สำนักงานกกต.ประจำจังหวัดและกกต.กลาง ในส่วนนี้ก็จะมีความเคลื่อนไหวออกมาตลอด เพราะกกต.มีการประชุมกันทุกสัปดาห์ เวลามีเรื่องพวกนี้เข้าที่ประชุมใหญ่กกต.ก็จะมีข่าวออกมาก่อน นักข่าวก็รอติดตามการทำข่าว เพราะแม้จะมีเอกสารข่าวจากสำนักงานกกต.ออกมา แต่ก็อาจจะไม่ได้มีรายละเอียดการพิจารณาเผยแพร่มากนัก  นักข่าวต้องหารายละเอียดเพิ่มเติมว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนไหน ถูกร้องเรียนเรื่องอะไรและกกต.ให้ใบอะไรกับผู้สมัคร  

       "ข่าวเกี่ยวกับกกต.หลังจากนี้ มองว่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะหลังมีการยุบสภาฯ"

        หลังจากนั้น กระบวนการต่างๆ ในการจัดเลือกตั้งก็จะเดินหน้าไปตามขั้นตอน เช่น การเปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศ และการให้พรรคการเมืองยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และพอรับสมัครเสร็จ ผู้สมัครและพรรคการเมืองลงพื้นที่หาเสียง ก็จะมีข่าวเรื่องการร้องเรียนว่าผู้สมัคร คู่แข่งขันในพื้นที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอะไรต่างๆ ไปที่สำนักงานกกต.ประจำจังหวัดและกกต.กลาง เพื่อขอให้กกต.เข้ามาตรวจสอบ ตัวนักข่าวก็ต้องติดตามประเด็นข่าวในส่วนนี้ แต่ที่จะหนักสุด ก็คงไม่พ้นการทำข่าววันหย่อนบัตรเลือกตั้ง

       จุดสำคัญก็คือการรายงานข่าวผลการเลือกตั้งว่าแต่ละจังหวัดผู้สมัครคนไหนได้คะแนนเท่าไหร่ ใครชนะเลือกตั้ง โดยปัญหาที่คาดว่าจะเจอคือการรายงานผลการนับคะแนนที่อาจไม่เรียลไทม์ร้อยเปอร์เซนต์ ผลการนับคะแนน หากติดตามจากหน้าหน่วยเลือกตั้งแต่ละพื้นที่น่าจะรู้ผลเร็วกว่าที่จะรอผลการนับคะแนนจากกกต.กลาง แต่ว่าในวันรุ่งขึ้นของการเลือกตั้ง คาดว่าผลคะแนนน่าจะชัดมากขึ้นว่าแต่ละจังหวัด ผู้สมัครคนไหนจากพรรคการเมืองใดที่คะแนนนำ ชนะการเลือกตั้ง และต่อจากนั้น ก็เป็นข่าวในส่วนของการรับรองผลการเลือกตั้ง ที่จะทำให้มีส.ส.เข้าไปทำงานในสภาฯเช่นไปโหวตเลือกประธานสภา โหวตเลือกนายกฯ แต่ว่าหลังจากนั้น ก็จะยังมีข่าวเลือกตั้งในส่วนอื่นๆ ตามมาอีกเช่น การให้ใบต่างๆของกกต.เช่นใบแดง หากพบหลักฐานการทุจริตเลือกตั้ง เป็นต้น

ประสบการณ์ ทำข่าวกกต.สามยุค 

อะไรคือสิ่งที่นักข่าว ต้องมีอยู่ในตัวเอง 

       ด้าน "ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ ผู้สื่อข่าวการเมือง จากประชาชาติธุรกิจ"อีกหนึ่งนักข่าวที่ทำข่าวประจำสำนักงานกกต.มาต่อเนื่อง เล่าถึงการทำงานข่าวที่สำนักงานกกต.ว่า มาเป็นนักข่าวประจำ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) เป็นที่แรกในฐานะนักข่าวของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 16 กันยายน  2550 ซึ่งเป็นกกต.ในยุคที่มี นายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธานกกต.   ตอนนั้นเป็นช่วงที่การเมืองค่อนข้างยุ่งเหยิง เพราะใกล้เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และเป็นช่วงที่ กกต.เตรียมการเลือกตั้ง 

       ...แม้จะเคยฝึกงานนักข่าวมา แต่ช่วงที่ฝึกงานประจำทำเนียบรัฐบาล กับ ที่รัฐสภา จึงยังไม่รู้จักองคาพยพใน กกต. เคยเห็นหน้าเพียงแค่ นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.เท่านั้นที่ออกข่าวบ่อยๆ จึงต้องเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างแบบเร่งรัดมาก แต่ยังโชคดีที่แหล่งข่าว กกต.ในยุคนั้นปรากฏตัวบ่อยๆ เนื่องจาก กกต.ต้องจัดอีเวนต์เตรียมการเลือกตั้ง จึงได้มีโอกาสทำความรู้จัก และแนะนำตัว 

       "ณัฐวุฒิ-ประชาชาติธุรกิจ"กล่าวต่อไปว่า 10 กว่าปีที่แล้ว สำนักงาน กกต.ยังอยู่ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ ทุกๆ เช้าเวลา 09.30 น. พี่นักข่าวทีวี และวิทยุ จะดักสัมภาษณ์ กกต.ที่หน้าห้องประชุม พอแหล่งข่าวเดินออกจากลิฟต์นักข่าวก็จะรุมดักกัน จากนั้นก็จะมาช่วยกันแกะเทปสัมภาษณ์ เขียนข่าวสัมภาษณ์ พอตอนบ่ายพี่นักข่าวก็จะเดินหาข่าวตามชั้นต่างๆ แล้วกลับลงมาพิมพ์ข่าว รู้ตัวอีกทีก็เจอกันบนแผง   

       ...เมื่อถึงช่วงการเลือกตั้ง ก็มีประเด็นต่างๆ เข้ามาเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการร้องเรียน หลังเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 นักข่าวประจำกกต. ทำงานตั้งแต่เช้า กระทั่งถึงค่ำ เพราะ กกต.มักประชุมกันเช้า ถึงเย็นเพื่อพิจารณาสำนวนร้องคัดค้าน แล้วไปแจกใบเหลือง ใบแดงกันช่วงหัวค่ำ บางวันก็ปาไป 3 ทุ่ม 

       มีเหตุการณ์หนึ่งจำได้ว่า มีผู้สมัคร ส.ส.ที่ กกต.แจกใบแดง ขนชาวบ้านมาร้องไห้ด้านล่างตึก กางเตนท์นอนในตึกไม่ยอมกลับ เพราะเชื่อว่า กกต.ไม่ให้ความยุติธรรม เหตุการณ์นั้นทำให้เราได้รู้จักนักการเมืองชื่อ มณเฑียร สงฆ์ประชา กับ นันทนา สงฆ์ประชา ซึ่งอยู่พรรคมัชฌิมาธิปไตย สุดท้ายนำไปสู่การยุบพรรค 

       ส่วนปัจจุบัน แหล่งข่าวที่เคยรู้จักเริ่มเกษียณอายุราชการพอสมควร พี่ๆ พนักงาน กกต.ที่คุ้นเคยก็เริ่มจะมีตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น แต่กลายเป็นว่าการทำข่าวของ กกต.ยากขึ้น เพราะ กกต.ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่เพิ่มเป็น 7 คน ไม่ได้เปิดเผยตัวต่อสาธารณะเหมือนยุคก่อนๆ ส่วนใหญ่จะมอบหมายให้นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นคนชี้แจงกับสื่อมวลชน น้อยครั้งที่ กกต.คนอื่นๆ จะมาแถลงข่าวกับสื่อ แต่ยังดีที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ที่อยู่ใน กกต.มานานและรู้จักกับนักข่าวประจำ กกต.จะลงมาให้ข่าว หรือ นักข่าวสามารถโทรเช็คข่าวได้

       "ณัฐวุฒิ-ประชาชาติธุรกิจ"ถ่ายทอดเรื่องราวการทำข่าวของนักข่าวสายกกต.ไว้อีกว่า ส่วนตัวผ่านการทำข่าวของ กกต.มาแล้ว 3 ยุค ยุคแรกคือ ยุคอภิชาต สุขัคคานนท์  ยุคต่อมาคือ ยุคศุภชัย สมเจริญ ซึ่งยุคนี้ถือว่าใกล้ชิดกับนักข่าวมาก โดยเฉพาะ กกต.ที่ชื่อ สมชัย ศรีสุทธิพยากร และยุคปัจจุบัน ที่มี อิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน ซึ่งถือว่าห่างกับนักข่าวมาก  

       สำหรับการทำข่าว กกต.หลักๆ การทำข่าว กกต.ที่คนทั่วไปเห็นคือ นักข่าว กกต.จะมีบทบาทสำคัญช่วงเลือกตั้ง แต่จริงๆ แล้ว การทำข่าวช่วงก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งก็สำคัญมาก เพราะตอนก่อนเลือกตั้งก็ต้องมีการเตรียมเลือกตั้ง เช่น เรื่องการแบ่งเขต การรับสมัคร ส.ส. การรับรองการเป็นผู้สมัคร วันรับสมัคร 

       และยิ่งหนักกว่าคือช่วงหลังเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องมีการให้ใบเหลือง ใบแดง ยุคนี้มีใบดำ ใบส้ม ตามที่คนรู้จัก แต่เวลานักข่าวฟังการแถลงข่าว จากแหล่งข่าว เขาจะมีภาษาทางการที่บัญญัติอยู่ในกฎหมาย เช่น ใบแดง จะเรียกว่าเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ใบเหลือง คือ สั่งเลือกตั้งใหม่ และยังมี ประเด็นเรื่องการคิดคะแนน ส.ส.โดยเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ การรับรอง ส.ส.เข้าสภาฯ

       ข่าวที่ กกต. เหมือนกับเป็น “ต้นน้ำ” ในการสถาปนาอำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด ในยุคที่กฎหมายกำหนดให้ กกต.ต้องรับรองผลให้ครบร้อยละ 95 ภายใน 30 วัน เพื่อเปิดสภา ตอนเลือกตั้งปี 2550 ถือว่าเป็นงานที่หนักมาก แต่พอ ครบกำหนดเวลา งานต่างๆ ก็จะเบาขึ้นทันที ทั้งๆ ที่เมื่อวานงานยังหนักอยู่เลย  

 

       "ณัฐวุฒิ-ผู้สื่อข่าวสายการเมือง ประชาชาติธุรกิจ"ให้ทัศนะเรื่องการทำข่าวกกต.ว่า สิ่งที่นักข่าวกกต.ต้องศึกษา ต้องมี ในการทำข่าวกกต.ต้องศึกษา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังมีระเบียบ กกต.ที่จะต้องศึกษา  

       เหตุที่ต้องอ่านรัฐธรรมนูญ ก็เพราะกรอบการเลือกตั้ง ส.ส. กรอบการทำงานของ กกต.ร่มใหญ่อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่รายละเอียดปลีกย่อยจะอยู่ในกฎหมายลูก เช่น กกต.ต้องรับรองผลเลือกตั้งภายในกี่วัน รูปแบบการทำไพรมารี่โหวตของพรรคการเมืองจะทำอย่างไร กกต.มีอำนาจระงับเลือกตั้งได้ตอนไหนบ้าง  ในยุคก่อนที่จะมีสมาร์ทโฟน กกต.จะแจกหนังสือกฎหมายลูก ให้กับนักข่าว ตอนหลังเลือกตั้ง 2550 ยังต้องพกกฎหมายเลือกตั้ง 1 เล่ม และกฎหมายพรรคการเมืองอีก 1 เล่ม เพราะตอนนั้นมีประเด็นเรื่องการยุบพรรคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เวลาเขียนข่าวจะต้องเขียนมาตรากฎหมายประกอบ เช่น การยุบพรรค อยู่ในมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งความผิดที่เข้าองค์ประกอบยุบพรรค มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก ดังนั้น การศึกษากฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งจึงสำคัญมาก 

       วิธีการหาข่าวใน กกต. มีทั้งการแถลงข่าว เช่น การทำข่าวแถลง รวมถึงอาศัยความสนิทสนมกับแหล่งข่าว ที่รับผิดชอบกับข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูล หรือ รายละเอียดเกี่ยวกับกฎกติกา ต่างๆ ของการเลือกตั้ง เพื่อนำมาเขียนข่าว เช่น เรื่องปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งล่าสุด ของ กทม.ที่ออกมา 5 แบบ แต่ละแบบก็มีเปอร์เซ็นต์จำนวนประชากรต่อ 1 ส.ส. แต่ละเขตที่ต่างกันอย่างมาก แหล่งข่าวที่เราโทรไปสอบถามข้อมูลคือ อดีต กกต. รายหนึ่ง เพื่อสอบถามปัญหา ซึ่งในเวลาต่อมา แหล่งข่าวก็นำมาโพสต์เฟซบุ๊ก กระทั่ง กกต.กทม. ออกแบบเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมาอีก 3 แบบ รวม 8 แบบ หรือ อดีตเจ้าหน้าที่ กกต. บางรายหลังเกษียณอายุราชการ ก็ไปอยู่ตามพรรคการเมืองต่างๆ เราก็ยังสามารถสอบถามข้อมูล ความเคลื่อนไหวได้อีก  

       ทั้งหมดคือเรื่องราวการทำข่าวกกต.ผ่านการบอกเล่าของคนข่าว ประจำสำนักงานกกต.ที่ทำให้เห็นเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่านักข่าวประจำกกต.ทำงานอย่างไร ที่บอกได้เลยว่า ไม่ง่าย แต่ก็ท้าทายความสามารถในการทำข่าว อย่างมาก