คนข่าวสายอาชญากรรมกับ “คดีน้องต่อ”  การทำงานเพื่อร่วมไขหลักฐานปริศนา 

“ได้ลองใช้จิตวิทยาในการพูดคุยกับแม่ของเด็ก ในฐานะแม่เหมือนกัน เพราะเราเป็นคุณแม่และก็อายุไล่เรียงกับน้องต่อ และก็ได้กอดเขาและบอกว่า อะไรที่ผิดพลาดไปแล้ว เราต้องยอมรับและพูดความจริง ถ้าเราหนี ๆ ให้ตายก็หนีไม่พ้น”

            

นี่เป็นหนึ่งในมุมมองของ “วิภาดา นิ่มทอง” ผู้สื่อข่าวรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งได้ลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์ เล่ารายละเอียดคดีและเบื้องหลังการทำงานของสื่อกับข้อมูลบางมุม ที่ไม่ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ กรณีข่าว “น้องต่อ” เด็กชายวัย 8 เดือน หายจากบ้านพักที่ จ.นครปฐม ครบ 1 เดือนเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมาในรายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า 

            ได้ตั้งข้อสงสัยว่า เด็ก 8 เดือน ไปไหนเองไม่ได้และหาอะไรกินเองไม่ได้ และคนใกล้ชิดน่าจะที่สุดรู้ดี จึงทำให้พุ่งเป้าไปที่ครอบครัวของทั้งฝ่ายพ่อและแม่เด็กรวมทั้งญาติ ว่าทำไมแม่ของเด็กไม่ยอมให้การตั้งแต่แรก 

ขณะเดียวกันยังได้คุยเรื่องข้อมูล ก็พบพิรุธบางอย่าง เช่น ไทม์ไลน์ของการเกิดเหตุ หลังแม่เด็กบอกว่าไปแจ้งความที่ป้อมตำรวจใกล้กับหมู่บ้าน แต่พอกลับจากแจ้งความตำรวจแล้ว ก็กลับมาที่บ้านโดยที่ไม่ได้ไปตามหาลูกเลย แต่มาล้างขวดนมและเก็บทำความสะอาดบ้าน ซึ่งผิดวิสัยเพราะถ้ารู้ว่าลูกหายไปก็ต้องรีบตามหาตัวก่อน

“เวลาทำข่าวอาชญากรรม ถ้าคนร้ายจะทิ้งหรือทำลายหลักฐาน หรือทำอะไรก็ตามที่ตำรวจหาได้ยาก และการทิ้งน้ำถือว่าง่ายที่สุด ตามหายากมากเพราะอยู่ในน้ำ เราก็คิดว่าทำไมถึงไม่มีการขุดคลอง หรือตามหาในน้ำกันอย่างจริงจัง จึงได้ประสานตำรวจพื้นที่ และพูดคุยกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเล่าให้ท่านฟังว่า เด็ก 8 เดือนไปไหนเองไม่ได้อยู่แล้ว ท่านจึงส่งชุดกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธร ภาค 7 ชุดสืบสวนเฉพาะกิจและชุดสืบสวนของท่าน ลงพื้นที่” 

ส่วนแม่ของเด็กก็ถูกสอบปากคำทุกวัน โดยโดนเข้าเครื่องจับเท็จ ซึ่งตัวเองก็มารอถามแต่ละวันมีอะไรยังไง แม่ของเด็กก็เห็นว่าเราไม่ได้นำสิ่งที่พูดคุยกันไปลงข่าว เขาจึงไว้เนื้อเชื่อใจ 

“วิภาดา” ยอมรับว่า การทำงานของตัวเองเมื่อได้ข้อมูลอะไรมา จะบอกกับตำรวจ เพื่อแลกเปลี่ยนกัน โดยในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนตำรวจก็พุ่งเป้าไปหลายอย่าง เช่น ตรวจกล้องวงจรปิด จุดไหนนักข่าวลงพื้นที่เป็นจุดอับ หรือเป็นจุดต้องสงสัย ส่วนนักข่าวที่มีโดรน หรืออุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ก็จะช่วยกันหาเบาะแสข้อมูล ร่วมกับตำรวจอีกทาง

            “ในการทำงานของตัวเอง ซึ่งเป็นนักข่าวสายอาชญากรรม ไม่ได้ชี้ผิดชี้ถูกว่าเขาเป็นผู้ต้องหาแต่เราอยากคุยกับเขาด้วยการเปิดใจเผื่อจะได้ประโยชน์ เราจึงไว้วางใจเขา แล้วเขาก็จะไว้วางใจเรา และในการทำข่าวเกี่ยวกับเด็กแบบนี้คนที่ช่วยค้นหาความจริงก็ควรเป็นผู้หญิงด้วย

“วิภาดา” เล่าถึงการสอบปากคำกรณีที่เป็นคดีเด็กและเยาวชน ควรให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้หญิงและนักจิตวิทยาหญิงสอบปากคำ ทำให้ได้ข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น ความจริงคดีนี้ที่ผ่านมาแม่ของเด็กถูกสอบสวนปากคำ โดยตำรวจผู้ชายมาก่อน ทำให้เกิดความกดดัน เครียดแล้วไม่ยอมบอกจึงไม่ได้ข้อมูล และอาจมีการตั้งธงหรือไม่ว่า แม่ของเด็กอาจทำพฤติกรรมไม่ดี เหมือนกับคลิปที่เห็นจากโทรศัพท์ของสามี ขณะที่แม่ของเด็กอายุยังน้อยจึงตอบว่าไม่รู้อย่างเดียว แต่สิ่งที่แม่ของเด็กบอกนักข่าวกับตำรวจและศาลกลับตรงกัน  

            ขณะที่นักสหวิทยา ที่มาสอบก็ไม่รู้เบื้องหลัง แต่นั่งสอบเป็นทางการ แม่ของเด็กจึงกลัวและไม่กล้าพูด ทำให้คดีเป็นแบบนี้มาเรื่อย ๆ ดังนั้นการสอบปากคำเด็กและเยาวชนสำคัญมาก ทั้งการพูดและใช้คำพูดอย่าไปตั้งธงว่าเขาจะเป็นคนไม่ดี ไม่อยากให้ตำรวจตั้งธงว่าคนนี้คือผู้ต้องหา อยากให้ใช้คำพูดกันดี ๆ เพื่อให้เขาอุ่นใจ แล้วเขาจะพูดออกมาเอง 

“สิ่งหนึ่งที่ตัวเองสัมผัสได้เวลาพูดคุย คือจะกอดและจับมือแม่ของเด็ก บอกเขาว่าพี่อยู่ข้าง ๆ ไม่เป็นไร เราต้องยอมรับความจริง”

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5