“ซีเซียม-137” สารกัมมันตรังสี การจัดการที่ไร้ระบบ”  

“บ้านเราเวลาพูดถึงข้อมูลภาคอุตสาหกรรม ค่อนข้างที่จะอ่อนไหว บอกว่าเป็นความลับหรือเป็นข้อมูลเฉพาะที่บริษัทเปิดเผยไม่ได้ หน่วยงานรัฐมีหน้าที่จะต้องเข้าไปแยกชั้นว่า ตรงไหนเปิดเผยได้ หรือเปิดเผยไม่ได้จริงหรือไม่ ควรที่จะรวมนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ตรงนี้เป็นทิศทางข่าวหนึ่งที่น่าตามติดให้เกิดเป็นระบบ”

“กมล สุกิน” บรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews วิเคราะห์ความเสี่ยง! สารวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าที่จังหวัดปราจีนบุรี ใน “รายการ"ช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า เท่าที่ดูข่าวเห็นว่ายังอยู่ในเชิงรับ มากกว่าเชิงรุกในการค้นหา และยังต้องพึ่งพาเบาะแสจากชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้มองว่าความเสี่ยงยังไม่ได้ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้รู้สึกแปลกใจและไม่แปลกใจ ที่แปลกใจ คือยังเกิดสถานการณ์เช่นนี้อีกหรือ ในมุมมองของคนทำสื่อถ้าเป็นสารกัมมันตรังสี ภาษาชาวบ้านคือเหมือนกับสารนิวเคลียร์ เพราะอยู่ในตระกูลเดียวกัน ไม่ใช่สารอันตรายระดับปกติ แต่อีกนิดเดียวระดับความรุนแรงของสารดังกล่าว ส่งผลเยอะกว่าสารเคมีทั่วไปที่มีอันตราย

ที่ไม่แปลกใจ คือ การหายไม่มีร่องรอย ขณะที่การแก้ปัญหา เหมือนต้องซื้อหวยรอถูกรางวัลที่ 1 ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรที่มั่นคง หรือแน่ใจได้ว่าทิศทางการจัดการเป็นอย่างไร หากย้อนดูความเคลื่อนไหว เรื่องการจัดการสารเคมีโดยเฉพาะสารกัมมันตรังสี แทบไม่มีข่าวออกมาเลยในช่วง 20 -30 ปี หรือตั้งแต่ที่บ้านเรารู้จักสารนิวเคลียร์หรือสารกัมมันตรังสี การไม่มีข่าวเป็นไปได้ว่า 1.ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี 2.ไม่ได้เป็นไปได้ด้วยดีและยังไม่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะ

กรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหาย จากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ไม่รู้ว่าหายได้อย่างไร ไม่มีร่องรอยให้ติดตามอย่างเป็นระบบ รู้แค่ว่าหายออกไปจากโรงงาน และเดาว่าน่าจะหลุดเข้าไปอยู่ตามแหล่งรับซื้อของเก่า ซึ่งในมุมสื่อรู้สึกว่าทำไมข้อมูลสำคัญ ที่จะติดตามสารกัมมันตรังสีมีน้อย หรืออยู่ในวงจำกัดและไม่มีข้อมูล ที่จะนำไปสู่ทางออกได้อย่างเป็นระบบ สิ่งดีที่สุดซึ่งหน่วยงานราชการพยายามทำคือปูพรม ไล่เช็คตามแหล่งรับซื้อของเก่า

“บ้านเราเวลาพูดถึงข้อมูลภาคอุตสาหกรรม ค่อนข้างที่จะอ่อนไหว บอกว่าเป็นความลับหรือเป็นข้อมูลเฉพาะ ที่บริษัทเปิดเผยไม่ได้ ตรงนี้หน่วยงานรัฐมีหน้าที่จะต้องเข้าไปแยกชั้น ว่าตรงไหนเปิดเผยได้หรือเปิดเผยไม่ได้จริงหรือไม่ ควรที่จะรวมนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ตรงนี้เป็นทิศทางข่าวหนึ่งที่น่าตามติดให้เกิดเป็นระบบ”

เขาบอกว่า หากประเมินอย่างตรงไปตรงมา ตามความเป็นไปได้ก็พอ ๆ กับ การถูกหวยรางวัลที่ 1 ถึงจะเจอสารตัวนี้ ซึ่งยังไม่ทราบความตั้งใจของคนที่นำสารไป แต่สภาพไม่ได้มีความพิเศษ เพราะวัสดุโลหะปิดสนิท คนรับซื้อของเก่าคงจะไม่มีเวลามานั่งดูฉลาก หรือดูรายละเอียด คงเห็นว่าเป็นก้อน ๆ น่าจะขายได้จึงรับมา หากมองในมุมที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะครอบครอง หรือถ้าตั้งใจตรงนี้น่ากลัว หมายความว่าคนที่นำไปรู้ว่าสารตัวนี้อันตราย แล้วนำไปใช้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่งหรือไม่

ที่สำคัญคือมีการใช้งานมาเกือบ 30 ปี ใกล้จะหมดอายุการใช้งานแล้ว ระบบจัดการใช้สารกัมมันตรังสีแบบนี้ เมื่อหมดอายุใช้งานแล้วจะต้อง นำอุปกรณ์ส่งไปกำจัดกากที่ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นขั้นตอนและเป็นระบบซึ่งราคาแพงมาก เพราะอยู่ที่ความยากของการจัดการ สารนิวเคลียร์หรือสารกัมมันตรังสี โดยพยายามทำให้มีพิษน้อยที่สุด ต้องคำนวณล่วงหน้าว่า จะเก็บสารก้อนนี้เอาไว้กี่ปี ขณะที่ระบบจัดการในบ้านเราที่ชัดเจนยังไม่มี ต้องนำเข้าไปอยู่ในศูนย์จัดการที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น

“สิ่งสำคัญที่ต้องมองจริงจัง คือ ใครเป็นเจ้าภาพในการจัดการ หรือรับผิดชอบหลัก กรณีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้ระดมหรือประสานจัดการเอง ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ในระบบจัดการ หากมีเหตุนิวเคลียร์หาย หรือเหตุกากกัมมันตรังสี คนที่รับผิดชอบหลัก ๆ คือผู้ว่าราชการจังหวัด ถามว่าท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือไม่ ระบบการจัดการของจังหวัด ในเรื่องเฉพาะเทคนิคแบบนี้ได้หรือไม่ ถ้าเรายอมรับระบบนี้ก็แปลว่า ต่อจากนี้ไปผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ต้องมีความรู้เชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องนิวเคลียร์ และควรจัดการอย่างถูกต้องด้วย นั่นแปลว่าคุณสมบัติของผู้ว่าก็จะเป็นซุปเปอร์ผู้ว่ามาก ๆ เลย”

ดึงโมเดลต่างประเทศจัดการเป็นระบบ

สารที่มีอันตรายเฉพาะ ควรมีการดูแลโดยหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ความเสี่ยงแรกที่จะเกิดขึ้นกับคนทั้งชุมชน และคนในโรงงานทั้งหมด ความเสี่ยงที่ 2 คือ คนทั้งนิคมอุตสาหกรรม 304 ทั้งหมด สิ่งที่ควรนึกถึงไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้าที่ของหาย อันตรายอยู่กลุ่มเดียว แต่เลยออกไปติดๆกันเป็นโรงงานทั้งหมด เพราะโรงไฟฟ้านี้ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม มีคนจำนวนมากที่มาทำงานและอาศัยอยู่รอบๆ ถัดมาคือคนทั้งอำเภอแล้วคนทั้งจังหวัด

เท่าที่ได้คุยกับนักวิชาการ มองว่าอันดับแรกต้องแยก ระดับความเสี่ยงของกลุ่ม แล้วนำเสนอมาตรการจัดการความเสี่ยงแต่ละกลุ่ม เพื่อประเมินว่าสารตัวนี้ควรถูกจัดการอย่างไร หากพบในโรงงานหรือพบนอกโรงงาน ขั้นตอน 1-2-3 ที่ตามมาคืออะไร จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่ดูแล เรื่องการใช้สารกัมมันตรังสีทั้งระบบในบ้านเรา เพราะรู้เรื่องสารดังกล่าวนี้ดีที่สุด ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานสนับสนุน ลำดับหลังๆที่จะเข้ามาดำเนินการ

ในต่างประเทศมีความชัดเจนในเรื่องการจัดการอย่างเป็นระบบ หากเกิดเหตุในลักษณะนี้ จะต้องทำอย่างไร , ใครรับผิดชอบ 1-2-3 , ใครมีหน้าที่ให้ข่าว เพราะข้อมูลในเรื่องนี้ต้องการความรู้ความเข้าใจเฉพาะ คนที่ให้ข่าวสารต่อสาธารณะ ต้องมีความรู้ความที่ถูกต้องด้วย ไม่ใช่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นแล้วก็นำออกมารายงาน ข้อมูลที่รายงานออกสู่สาธารณะก็ไม่ถูกจัดการ

หากสารถูกทิ้งน้ำ มีความเสี่ยงสูง

คำเตือนเดียวของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ คือ อย่าแกะ , อย่าทำลายตัวหอหุ้มของสาร ลองนึกดูว่าถ้าไปอยู่ในน้ำจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โอกาสเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นคือถูกกันเซาะโดยธรรมชาติจากกระแสน้ำ หรือลอยไปชนกับสิ่งที่อยู่ในน้ำ โอกาสความเสี่ยงขึ้นอยู่กับความแรงและความเร็วของกระแสน้ำ ลักษณะความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ มีส่วนทำให้เปลือกของสารโลหะ ที่มีลักษณะเฉพาะอาจจะถูกทำลายด้วยปัจจัยเฉพาะ

หรือหลุดลงไปในทะเล อาจจะมีความเป็นกรดเป็นด่าง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นแน่นอน สมมุติว่าสารนี้หลุดไปในแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วไปรออยู่แถวปากอ่าว โอกาสของความเสี่ยง และพื้นที่ความเสี่ยงก็กระจายไปออกไป ควบคุมยากเพราะไม่รู้ว่าลอยไปถึงไหน

ต่างชาติมีระบบจัดการชัดเจน ต่างจากไทย

ทั้งนี้ตามหลักการสากลที่ใช้ หากวัตถุอันตรายเกิดการเล็ดลอด ทำให้ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมมีความเสี่ยงเสียหาย คือ ผู้ก่อมลพิษซึ่งครอบครองเพื่อใช้งาน ควรรับผิดชอบ เป็นกลไกทางกฎหมาย การจ่ายค่าชดเชยอาจจะไม่ได้ระบุว่ากี่แสนกี่ล้าน แต่กฎหมายช่วยควบคุมในระดับหนึ่ง เช่น กฎหมายเขียนไว้ว่าต่อให้คุณครอบครอง สารกัมมันตรังสี 1 กรัม แต่ถ้าเกิดเหตุรั่วขึ้นมา คุณต้องจ่ายในราคาต่ำสุด 100 ล้าน อาจจะฟังดูมากเกินไป แต่กฎหมายเขียนไว้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้

สำหรับประเทศไทย ถ้าเกิดเหตุความเสียหายขึ้น ยังฟุ้งไม่เป็นทิศทาง คือ 1.ต้องจ่ายเท่าไหร่ 2.ใครต้องจ่ายบ้าง 3. ใครรับผิดชอบบ้างนอกเหนือจากโรงงาน ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ต้องรับผิดชอบในระดับหนึ่งด้วย เพราะกำกับไม่ดีทำให้เกิดเหตุได้ จึงเป็นความผิดของคนกำกับด้วย

กมล กล่าวทิ้งท้ายว่า เครือข่ายรณรงค์เรื่องสารเคมีและมลพิษ ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายสิ่งแวดล้อมที่ทำงานเรื่องสารเคมี พยายามผลักดันให้มีกฎหมาย เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเป็นอันดับแรก นั่นคือ “ร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูล การปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ” เพราะประเทศไทย ใช้สารกัมมันตรังสีเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อการแพทย์และอื่นๆอีกหลายกลุ่มจำนวนมาก

ติดตาม “รายการ"ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5