การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2566 เป็นครั้งที่ 27 นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน “คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ สถานีโทรทัศน์ TNN ช่อง 16” เล่าบรรยากาศการทำงานในวันสมัครรับเลือกตั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านทาง “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า
ไฮไลน์บรรยากาศในวันรับสมัคร คือ การช่วงชิงตัวหัวหน้าพรรคการเมือง หรือว่าที่นายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมือง ของสื่อต่างๆโดยเฉพาะโทรทัศน์ ไปออกรายการ ซึ่งต้องอาศัยความเก๋าและความเจ๋งของแต่ละสถานี ในการช่วงชิงมาออกรายการได้ก่อน ตามหลักคุณค่าข่าวถ้ามันใหม่มันสด ก็จะมีคุณค่าข่าวมากที่สุด
เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่เคยให้สัมภาษณ์พิเศษแบบไมล์เดี่ยวกับสื่อ โดยที่ไม่ได้มีการเตรียมสคริปต์มาก่อน ก็ย่อมเป็นที่จับจ้องของสื่อมวลชน ที่ช่วงชิงมาออกรายการพิเศษ เพื่อให้น้ำหนักข่าวมีคุณค่ามากที่สุด ซึ่งขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยืนรอ ที่จะเข้าไปในอาคารกีฬาเวศน์ สื่อจึงใช้ช่วงจังหวะที่รอ เชิญมาออกรายการพิเศษซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เดินมาให้สัมภาษณ์ ถือว่าเกินความคาดหมายมาก
บรรยากาศโดยรวมไม่ต่างกัน
บรรยากาศรับสมัครทั้ง 2 วัน โดยรวมคล้ายกัน แต่กระบวนการจะแตกต่างกัน แน่นอนว่าผู้สมัครทุกพรรคการเมือง อยากจะจับได้เลขตัวเดียว เพราะประชาชนจดจำง่ายเวลาหาเสียง ทำให้หลายพรรคการเมืองมารอกันตั้งแต่ตี 5 กว่า เพื่อจับเบอร์ ซึ่งกระบวนการจับเบอร์จึง มี 2 ขั้นตอน คือ ครั้งแรกจับเบอร์เพื่อจัดลำดับคิว และครั้งที่สอง จับหมายเลขประจำตัวจริงๆ ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ
ขณะที่หัวหน้าพรรคการเมือง , ว่าที่นายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค วนเวียนมาออกรายการที่แต่ละสถานีถ่ายทอดสดรอสัมภาษณ์ เพื่อนำเสนอนโยบายแนะนำผู้สมัคร และยุทธศาสตร์ของตัวเองในการเลือกตั้งครั้งนี้
รูปแบบ-วิธีเลือกตั้ง 66 ต่างจาก 62 มาก
การเลือกตั้งในปี 2566 กับปี 2562 แตกต่างกันมาก เพราะ ปี 2562 เป็นการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ใช้การคำนวณแบบระบบจัดสรรปันส่วน เอื้อให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก มีโอกาสเป็น ส.ส.มาก ถ้าได้รับการเลือกตั้ง 60,000 เสียง ก็มีสิทธิ์ได้เป็น ส.ส. แล้ว 1 คน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นระบบบัตร 2 ใบและจำนวนส.ส.แบบระบบบัญชีรายชื่อ ลดลงด้วย เพราะปี 2562 จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อมีจำนวน 150 รายชื่อ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ จำนวนบัญชีรายชื่อเหลือเพียง 100 คน
พอมาคำนวณสัดส่วนและจำนวนเสียง ที่พรรคการเมืองจะได้รับ จึงยากกว่าในอดีตมาก จากจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนต้องได้เกือบ 3 แสนคะแนน ครั้งนี้มีจำนวนพรรคการเมืองมาสมัครประมาณ 60 พรรค ตอนแรกคิดว่าจะมาสมัครน้อยกว่านี้ เพราะเงื่อนไขความยากมีมากขึ้นและสัดส่วนคะแนน ที่พรรคการเมืองจะได้รับก็มากขึ้น ตามระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป
“ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าประชาชนได้ตัวแทนดีไปทำหน้าที่ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ถ้าเลือกนักการเมืองที่เป็นนักการเมืองอาชีพ และมีคุณภาพประเทศก็ได้ประโยชน์ด้วย”
สื่อวางกรอบทำงานรับเลือกตั้งนับเดือน เพื่อให้ออกมาดีที่สุด
สำหรับสื่อต้องมาถึงสถานที่รับสมัครก่อนพรรคการเมือง เพื่อสำรวจความพร้อม ในเบื้องต้น ที่อาคารกีฬาเวศน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) บางสถานีวางแผนการทำงานล่วงหน้าเป็นเดือน เพราะมีรายการพิเศษนอกสถานที่ ต้องตกลงกันว่าจะตั้งจุดทำข่าวตรงไหน ใช้รถถ่ายทอดสดเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด โดยประสานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และฝ่ายสถานที่ของอาคารกีฬาเวศน์ 2
การทำงานของสื่อมวลชน ได้วางกรอบการทำงานรอบด้าน ต้องให้ความเห็นผู้สมัครทั้ง 2 ฝั่งบาลานซ์กัน ไม่ไปชี้ถูกชี้ผิดฝ่ายไหน อาศัยความเป็นมืออาชีพ ขณะที่ต้องจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ที่เกิดขึ้นกับแหล่งข่าวด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำข่าวช่วงเลือกตั้ง ความเห็นของสื่อมวลชน หรือการจัดลำดับวาระข่าวสาร จะมีผลกับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วย
ประชาชนต้องรู้เท่าทันสื่อ ทำตามกฎหมายเคร่งครัด
รวมถึงการเลือกนำเสนอประเด็นข่าว ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย หรือจะเลือกนำเสนอข่าวที่เร้าอารมณ์ ก็จะมีผลกับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วย ตรงนี้ก็ต้องเป็นความรู้เท่าทันสื่อ ของประชาชนด้วย จะบอกว่าเป็นการโยนภาระหน้าที่ ให้ประชาชนตรงนี้ก็ไม่ผิด ดังนั้นขอให้รับชมข่าวในช่วงนี้รอบด้าน เพราะจะทำให้มีข้อมูลจากหลายแหล่ง ประกอบการตัดสินใจ ก่อนที่จะไปใช้สิทธิ์
“สิ่งที่ดีที่สุดช่วงการเลือกตั้ง คือ ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง และอย่าลืมออกไปใช้สิทธิ์ เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม ถ้าเราเลือกคนไม่ดีคนสีเทา , คนสีดำไปทำหน้าที่ ก็จะไม่สามารถทำให้บ้านเมืองสุจริตเดินหน้าไปได้”
สังเกตว่าถ้าช่วงไหนอุณหภูมิการเมืองรุนแรง อารมณ์ของคนในสังคมก็จะรุนแรง ไปด้วย ฉะนั้นอยากให้ทุกคนมีสติ ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เพราะการเลือกตั้งคือการแข่งขันของพรรคการเมือง สุดท้ายแล้วเมื่อการเลือกตั้งจบ เราก็ต้องรับฟังเสียงข้างมาก แต่ต้องไม่ละเลยเสียงข้างน้อย และต้องกลับมารักกันเหมือนเดิม เพราะคนไทยเป็นพี่น้องกันต้องไม่แตกแยก
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5