"ความเป็นจริง Reporter หรือ Journalist คนละเรื่องกับ Content Creator เป้าหมาย คือตอบโจทยลูกค้า คนที่จ่ายเงินโฆษณาแต่ Reporter ตอบโจทย์สาธารณะ ข่าวที่จะรายงานต่อสังคมมีประโยชน์กับเขาหรือไม่"
บริบทของโลกและสังคมที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปวงการสื่อและการทำธุรกิจ ส่งผลให้หลายภาคส่วนต้องปรับตัว การเสพสื่อปัจจุบันที่เปลี่ยนมาสู่ยุค Nowlism ทำให้การทำงานของผู้สื่อข่าวต้องรวดเร็ว ทันสมัย และโดนใจ แต่ในบางครั้งการเข้าถึงสื่อได้มากขึ้น ก็สร้างความสับสนระหว่างคำว่า Reporter และ Content Creator ในสังคม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ถือเป็นหน่วยงานสำคัญ ที่จะดึงความเชื่อมั่นในฐานะวงการสื่อ และสร้างความเข้าใจให้กับสังคมรวมถึงผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่วงการ ให้เข้าใจความแตกต่างและสร้างผลงานที่มีคุณภาพ ภายใต้หลักจริยธรรม จรรยาบรรณ อย่างแท้จริง
สร้างความเข้าใจ Reporter กับ Content Creator
“วีระศักดิ์ พงศ์อักษร” บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น และ บรรณาธิการบริหารกรุงเทพธุรกิจ ฉายภาพตลอด 30 ปี ที่อยู่วงการสื่อในเครือเนชั่น ว่าตอนนี้นิยามของคำว่า สื่อมวลชน ของสังคมต่างไปเยอะ คนที่โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งสำนักข่าวเล็กๆ ทุกคนพร้อมที่จะถูกเรียกเป็นสื่อตลอดเวลา คำว่า Reporter กับ Content Creator คนในสังคมมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นอาชีพเดียวกัน ทำหน้าที่เดียวกัน แต่ความเป็นจริง Reporter หรือ Journalist คนละเรื่องกับ Content Creator แต่ตอนนี้มี Content Creator เต็มบ้านเต็มเมือง
“ถามว่าอันตรายหรือไม่ ก็อันตรายกับคนทำสื่อและสังคม เพราะ Content Creator เป้าหมาย คือตอบโจทย์ลูกค้า แต่ Reporter ตอบโจทย์สาธารณะ Reporter ถูกสอนว่าหากจะนำเสนออะไรออกสู่สังคม ต้องตั้งคำถามก่อนว่าคุณค่าของข่าวอยู่ตรงไหน ข่าวที่จะรายงานต่อสังคมมีประโยชน์กับเขาหรือไม่ ขณะที่ Content Creator ตอบโจทย์ลูกค้า คนที่จ่ายเงินโฆษณา แต่ตอนนี้รวมเป็นเรื่องเดียวกัน”
บริบทสังคมเปลี่ยน โลกเปลี่ยน สื่อเปลี่ยน สมาคมฯก็เปลี่ยน แต่ไม่รวดเร็วและเท่าทัน อาจเพราะมีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจ เป็นเรื่องของอาสาสมัครที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ความแรง การกระตุ้น จึงต่างกับองค์กรธุรกิจซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น หน้าที่ของสมาคมฯ ต้องดึงกระชากความรู้สึก ความเชื่อของสังคมกลับมาว่า Content Creator ไม่ใช่นักข่าว อาชีพนี้มีได้แต่อยู่ในฝั่งของ Marketing ฝ่ายขาย ไม่ใช่อยู่ในฝั่งกองบรรณาธิการ นี่เป็นภารกิจแรกที่สำคัญ ที่สมาคมฯ จะช่วงดึงรั้งไม่ให้หลุดจากกรอบ เหมือนว่าวที่ต้องคอยกำกับดึงให้เข้าที่เข้าทาง แต่พอไม่เท่าทันว่าวบางตัวอาจจะหลุดลอยไป
ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ต้องตั้งโจทย์และทำงานร่วมกับนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ ในการสอนลูกศิษย์ว่าจงภูมิใจกับ Journalist ภูมิใจในความเป็น Reporter ต้องกระชากตรงนี้ออกมาก่อน ก่อนที่สังคมจะเชื่ออะไรผิดๆ ซึ่งอันตรายกว่าเรื่องอื่นๆ นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการสร้างนักข่าว เพราะเขาจะเติบโตไปเรื่อยๆ นี่คือเรื่องใหญ่ เป็นโจทย์ความท้าทายที่ต้องให้ความสำคัญ
"สมาคมฯ ต้องดึงกระชากความรู้สึก ความเชื่อของสังคมกลับมาว่า Content Creator ไม่ใช่นักข่าว"
และทำงานร่วมกับนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ ในการสอนลูกศิษย์ว่าจงภูมิใจกับ Journalist ภูมิใจในความเป็น Reporter ก่อนที่สังคมจะเชื่ออะไรผิดๆ ซึ่งอันตรายกว่าเรื่องอื่นๆ นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการสร้างนักข่าว —
“ในฐานะเนชั่น กรุ๊ป เรามีความห่วงใย จึงเป็นที่มาของการปรับปรุง Nation Way ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องนี้ อย่างน้อยให้คนในเนชั่น 10 ยูนิต รู้ก่อนว่าหน้าที่คุณคืออะไร คุณคือ Reporter ห้ามแกว่งไปตามสังคมสื่อที่เปลี่ยนไป หรือสังคมที่อ้างว่าเป็นสำนักข่าวโดยไม่ได้ถามว่าคุณค่าของข่าวอยู่ตรงไหน นี่คือ สิ่งที่น่าห่วงใย”
เทคโนโลยีเปลี่ยน โลกเปลี่ยน ต้องตามให้ทัน
บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น และ บรรณาธิการบริหารกรุงเทพธุรกิจ เล่าย้อนกลับไปว่า เมื่อก่อนสมาคมฯ เป็นความคาดหวังมาก ใครได้เป็นนายกสมาคมฯ กรรมการ เลขาสมาคมฯ หรืออนุกรรมการ ฯ เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากมีส่วนร่วม นี่คือ สิ่งที่น่าสนใจ และทุกความเคลื่อนไหวของการเมือง ทุกประเด็นปัญหาหนังสือถูกผลกระทบ การเคลื่อนไหวองคาพยพของสมาคมฯแน่นมาก
ใน 10-15 ปี ที่ผ่านมา สื่อทำการกำกับดูแลแบบเดิม แต่เทคโนโลยี ธุรกิจ เปลี่ยนไปเยอะ ปัจจุบัน ยิ่งเทคโนโลยีด้านสื่อสารมวลชนพัฒนามากแค่ไหน ความเป็นสมาคมฯหรือองค์กรของสื่อก็ถูกมองข้ามไปเรื่อยๆ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เนื่องจากเราเป็นการกำกับกันเองไม่ได้มีบทลงโทษที่เข้มข้น เป็นเรื่องของสมาชิกที่พร้อมใจกันทำตามมติของสมาคมฯ ทำให้ความเด็ดขาดน้อยลง ดังนั้น ทุกอย่างที่ออกจากสมาคมฯจึงเหมือนเป็นแถลงการที่ไม่มีพลัง ไม่มีผลในทางปฏิบัติ มากนัก
ความท้าทายถัดมา คือ เทคโนโลยีสื่อเปลี่ยนไป กระทบองค์กรสื่อต่างๆ รวมถึงสมาคมฯ ปัจจุบันกลายเป็นว่า สิ่งที่ดีที่สุดในการตรวจสอบของแต่ละสื่อ คือ คนอ่าน เพราะยิ่งสื่อพัฒนามากขึ้นการเข้าถึงการตรวจสอบ ข้อเสนอแนะตรงไปที่สื่อ ทำให้เขารู้เลยว่าเขาต้องทำอะไร ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องมีสมาคมฯ นี่คืออีกสองความท้าทายใหญ่ที่สมาคมฯต้องให้ความสำคัญ การมีสมาคมวิชาชีพเป็นเรื่องถูกต้อง แต่จะแก้ปัญหา 2 โจทย์ใหญ่อย่างไร เป็นความท้าทายและเป็นตัวดิสรัปสมาคมฯ หากยังไม่ปรับปรุง
ดังนั้น สมาคมฯต้องตอบโจทย์ 2 ข้อนี้ให้ได้ คือ การคิดรูปแบบการกำกับดูแล อาจจะต้องมีในเรื่องของแรงจูงใจเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเราไม่ใช้หลักกฎหมาย แต่จะมีหลักอะไรที่จะจูงใจเขาได้ เพิ่มคุณภาพของเขา เพิ่มความอยู่รอดขององค์กรสื่อที่มีความท้าทายมากขึ้น
อีกหนึ่งข้อสังเกต คือ การส่งบทความเข้าประกวดในรอบ 10 ปี หายไปอย่างน่าตกใจ จากที่เมื่อก่อนแต่ละคนแย่งกันส่ง เป็นดัชนีชี้นำว่าการมีส่วนร่วมหรือใส่ใจกับองค์กรสื่อลดน้อยลงมากน้อยแค่ไหน คนไม่ได้มีความภูมิใจกับรางวัลของสมาคมฯ ไม่ใช่แค่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่เป็นทุกสมาคม นี่คือสิ่งที่น่ากลัว เมื่อเป็นแบบนี้ต้องหันกลับมามองว่าเกิดอะไรขึ้น ในมุมมอง คือ เรายังจริงจังกับปัญหาที่เผชิญตรงนี้ไม่พอ
นักข่าวรุ่นใหม่ ตอบโจทย์ ยุค Nowlism
ท้ายนี้ “วีรศักดิ์” กล่าวว่า อยากให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในวงการนี้มากขึ้น เมื่อก่อนเด็กใหม่ๆ จบมามีความภูมิใจที่จะเป็นผู้สื่อข่าว มันตอบโจทย์ทั้งความภูมิใจและมองว่าเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้ แต่ช่วงหลัง มีเรื่องของเทคโนโลยี การหารายได้ไม่จำเป็นต้องมาเป็นนักข่าว แต่มีช่องทางอาชีพอื่นๆ มากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ในการเข้าสู่อาชีพสื่อน้อยลง
"พฤติกรรม Nowlism บวกกับ Content is King ต้องใช้ทักษะแบบคนรุ่นใหม่ เพื่อให้สิ่งที่เล่าเรื่องตอบโจทย์และเข้ากับยุค Nowlism โดยตรงถัดมาคือ ต้องคิดถึงการสื่อสาร เล่าเรื่องอิงกับฐานข้อมูลเพราะเราทำธุรกิจขายความน่าเชื่อถือ ดังนั้น Data Journalist เป็นอาชีพหนึ่งที่หากแต่ละสื่อมีคนที่ทำด้านนี้มากขึ้น จะช่วยในแง่ของข้อมูลที่มีน้ำหนัก เป็นข่าวสารเพื่อการตัดสินใจให้คนได้มากกว่าแค่การ Report เพราะบางเรื่องเป็นฐานข้อมูลในการต่อยอด ทำธุรกิจ อ้างอิงในการดำเนินชีวิต”
“ฝากถึงคนรุ่นใหม่ อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ดีอาชีพหนึ่ง หากใครอยากมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางอนาคตให้กับรุ่นตัวเองและคนรุ่นหลังก็ถือเป็นอาชีพที่น่าภูมิใจ ปัจจุบัน อาชีพสื่อมวลชน ถือเป็น Career Path ที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ และที่สำคัญ เป็นอาชีพที่น่าภูมิใจเพราะมีกรอบ จริยธรรม มีองค์กรกำกับดูแลอย่างชัดเจน”บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น และ บรรณาธิการบริหารกรุงเทพธุรกิจ กล่าวทิ้งท้าย