จักรวาล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ต่อไป…

ตลอดเวลาที่ผ่านมา “สื่อมวลชน” มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการถ่ายทอดเรื่องราวของสังคม ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ในหลายๆ หน้าของประเทศไทย หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 68 ปีที่ผ่านมา ครั้งนั้นมีการรวมตัวของคนข่าวเกิดขึ้นภายใต้ “สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย” ที่มีวิสัยทัศน์ เป็นสถาบันหลักของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยโลกที่ยังคงหมุนทุกวินาที และการขยายตัวของวิชาชีพก่อให้เกิดจักรวาลใบใหญ่ ทว่า กว่าจะมีวันนี้ได้ ก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ทางเดียวที่เราจะเรียนรู้อดีต คือ ต้องอาศัยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์มาฉายภาพวันวานนั้นอีกครั้ง

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี หรือที่แวดวงนักข่าวรู้จักกันในชื่อ “พี่ป๋อง ไทยรัฐ” อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คนที่ 7 (ปี 2554 – 2555) บอกเล่าเรื่องราวโดยไร้โพยกระดาษ ว่า เป็นนักข่าวที่คอยเฝ้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวและความเป็นมาของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่ก่อนปี 2535

“ขอเล่าย้อนกลับไปในช่วงก่อนหน้านั้น หากพูดถึง “สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย” ภาพที่เห็น ณ ถนนราชดำเนิน ทุกวันที่ 4 มีนาคม เป็นการประชุมใหญ่ของสมาคมนักข่าวฯ ผู้คนคับคั่งจนต้องปิดทางเท้า เกิดขึ้นเพื่อการเลือกนายกสมาคมฯ ซึ่งบทบาทสมาคมนักข่าวฯ ในขณะนั้น ยังคงเป็นการปฏิบัติตามเป้าหมายของการก่อตั้งสมาคมฯ เริ่มตั้งแต่การจัดประชุมใหญ่ประจำปี มอบทุนการศึกษาให้บุตรธิดาของสมาชิก ออกแถลงการณ์ถึงเพื่อนร่วมอาชีพเมื่อมีการคุกคามเสรีภาพสื่อจากรัฐบาล กระทั่งผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในช่วงปี 2536 จึงได้ตัดสินใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมฯ ในวันนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ผม แต่ยังมีอีก 4 คน ที่เป็นรุ่นราวคราวเดียวกัน อาทิ  ภัทระ คำพิทักษ์, ดิสทัต โรจนาลักษณ์, สันชาย จันทราวัฒนากุล เป็นการสมัครนั่งในตำแหน่งกรรมการสมาคมฯ ที่ในขณะนั้นมี ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ เป็นหัวเรือใหญ่นั่งในตำแหน่งนายกสมาคมฯ” ชวรงค์ ระบุ

พี่ป๋อง เล่าว่า ปีแรกก็ถูกจับเป็นกรรมการฝ่ายต่างประเทศ และปีต่อมาก็ได้เป็นอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ ต้องไปต่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นจะมีสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (ปี2498 –2543)  และ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ปี2508 – 2543) ต้องร่วมกันเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมในการก่อตั้งสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน จึงเกิดเป็นแนวคิดว่า เราควรรวมตัวกันก่อตั้งเป็น “สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ห้วงเวลานั้น รวบรวมสมาชิกได้ 8 สมาคม และขยายจนปัจจุบันมีถึง 10 สมาคม โดยมีสมาคมนักข่าวฯ เป็นแกนหลักของสมาพันธ์ฯ นับแต่นั้นมา ประกอบด้วย สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย, สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย, สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ, สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

หลัง “พฤษภาทมิฬ” สื่อขยายตัวก้าวกระโดด เริ่มปั้น “นักข่าวพิราบน้อย”

ชวรงค์ ได้เล่าถึงความเป็น “นักข่าว” ในช่วงนั้นว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก ตัวอย่างเช่น เกิดข้อเรียกร้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2539 (ส.ส.ร.) เรียกได้ว่า เป็นยุคที่ข่าวเยอะมาก มวลข่าวมหาศาลที่สะพัด เกิดการขยายตัวของวงการสื่อจนรับมือแทบไม่ทัน ทั้งก่อเกิดเป็นนักข่าววิทยุ สถานีโทรทัศน์เริ่มตีแพร่ข่าวสารการเมืองมากขึ้น

 “ทำให้คนเข้าสู่วิชาชีพสื่อ เป็นนักข่าวมากตาม จนขาดการเฟ้นหาคนที่มีคุณสมบัติ แต่ใช้เพียง “คนที่มีแวว” ในการทำข่าว ก็รับมาเป็นนักข่าว แน่นอนว่า สื่อในช่วงนั้นขาดการอบรม (Training) จะมีเพียงสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ที่จัดอบรมนักข่าวโดยมีกรอบการฝึกฝนฝีมือให้เชี่ยวชาญภายใต้งบประมาณที่องค์กรทุนภายนอกจัดเตรียมไว้ให้ นั่นทำให้ผลผลิตไม่ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมสื่อ มันเกิดปรากฏการณ์ที่เห็นบ่อย นักข่าววิ่งไปล้อมนักการเมืองที่ลงมาจากบันไดรัฐสภา แต่ไม่มีนักข่าวถามอะไร จึงเกิดการพูดคุยกันว่า เราควรจัดอบรมนักข่าวใหม่ หลายสื่อส่งนักข่าวเข้าร่วมการอบรม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักข่าวรุ่นใหญ่ หรือแหล่งข่าวที่ถูกสัมภาษณ์กับนักข่าวใหม่ จากนั้น ก็เริ่มเฟ้นหานักข่าวที่ถูกเตรียมความพร้อมก่อนเข้ามาสู่วิชาชีพ ผ่านการประกวดทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติของเด็กนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และเราได้รับข้อเสนอว่า ควรจัดฝึกอบรมให้นักศึกษาก่อนที่จะมีการจัดประกวด ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพียงแต่แนวคิดนี้เกิดขึ้นช่วงปี 2540 ที่ทุกคนจำได้ดีว่าเราเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง การของบประมาณสนับสนุนเป็นไปได้ยาก เราได้เงินมาก้อนหนึ่งราว 6 หมื่นบาท ทำให้เกิดเป็นโครงการนักข่าวพิราบน้อย รุ่นที่ 1 และค่อยๆ ต่อยอดโครงการต่อเนื่อง เคยได้รับการตอบรับล้นหลามที่สุด มีนักศึกษาเข้าร่วม 104 คน จากที่เราตั้งไว้เพียง 80 คน” ชวรงค์ กล่าว และว่า ปัจจุบันโครงการนักข่าวพิราบน้อย ยังคงอยู่ แต่มีการปรับไปตามความเหมาะสมกับของยุคสมัย

ก่อตั้ง “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ”

ชวรงค์ กล่าวถึงช่วงหนึ่งที่เป็นปัญหาการทำงานของคนสายข่าว ว่า “จริยธรรม” มีการร้องเรียนมาที่สมาคมนักข่าวฯ ถึงการทำงานข่าวที่ไปกระทบต่อความเชื่อมั่น หรือภาพลักษณ์ของหน่วยงานรัฐและเอกชน ความเชื่อทางศาสนา หรือเรื่องอื่นๆ แต่โดยปัญหาสำคัญคือ แม้ว่าสมาคมนักข่าวฯ จะมีคณะกรรมการจริยธรรม หรือที่รู้จักกันคุ้นหูว่า กรรมการจรรยาบรรณ แต่สมาชิกของสมาคมนักข่าวฯ เป็นการสมัครใจของบุคคลนั้นๆ ไม่ใช่องค์กร

“ขณะนั้น จึงมีการนำหลักคิดที่ว่า หากประเด็นที่ถูกร้องเรียนนั้นๆ เกิดขึ้นจากนักข่าวในสำนักข่าวใดที่มีบรรณาธิการของต้นสังกัดเป็นสมาชิกอยู่ในสมาคมนักข่าวฯ ขอให้การสอบสวนเป็นอำนาจของทางสมาคมฯ ทว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนจริยธรรมของนักข่าวแต่ละครั้ง ต้องยอมรับว่ามีการพิจารณาที่ไม่ตรงไปตรงมา จึงเกิดความโกลาหล สมาชิกขอยื่นใบลาออกกันยกเข่ง แต่ในทางเดียวกันนั้น สมาคมนักข่าวฯ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากต้นสังกัดของสมาชิก เพื่อให้การทำงานของสมาชิกเกิดความราบรื่นและได้รับการสนับสนุนสูงสุด ในช่วงปี 2540 ที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการยกร่างฯ มีแนวคิดตั้งสภาหนังสือพิมพ์ขึ้นมา เพื่อให้มีกฎหมายที่เขียนในรัฐธรรมนูญคอยกำกับดูแล แต่ทุกคนเห็นว่า เราไม่ควรมีสภาหนังสือพิมพ์ที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย ทั้งที่เรามีความพยายามดันแคมเปญยกเลิกคำสั่งปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 หรือ ปร.42 และ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพิมพ์ พ.ศ.2484 ที่ยังมีการให้อำนาจในการขออนุญาตการพิมพ์ แม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ แต่วันดีคืนดี ก็ยังมีหนังสือเตือนหนังสือพิมพ์ต่างๆ ถึงการเผยแพร่ข่าวที่ละเมิด แม้ว่าจะไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแล้ว แต่ยังรบกวนความรู้สึกของเราอยู่ จึงมีความพยายามยกเลิกมาโดยตลอด ซึ่งมักจะได้คำตอบว่า สื่อจะต้องมีกฎหมายมาควบคุมกันเอง” ชวรงค์ ระบุ

นอกจากนี้ พี่ป๋อง ยังบอกด้วยว่า ผ่านไปไม่นานก็มีการเสนอโดยสมาชิกของสมาคมนักข่าวฯ ในการจัดตั้ง “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” ช่วงปี 2540 เป็นการกำกับดูแลกันเองโดยสมัครใจ ซึ่งจะมีบรรณาธิการสำนักพิมพ์ร่วมกันลงนาม ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ฉะนั้น สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จึงเป็นคำตอบของการสอบสวนประเด็นต่างๆ ที่ถูกร้องเรียน

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คนที่ 7 (ปี 2554 – 2555)

รวมกันเป็นหนึ่ง มุ่งสู่ความร่วมมือนานาชาติ

ชวรงค์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสมาคมต่างๆ ที่ได้ถือกำเนิดขึ้น และเมื่อย้อนกลับมาดูบทบาทของสมาคมนักข่าวฯ ที่ยังคงเดิม นำมาสู่การหารือกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ จากนั้น ก็ได้ตัดสินใจรวมกันเป็นองค์กรเดียว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2543

“ด้วยอยากคงที่มาของสมาคมทั้งสองเอาไว้ เราจึงประกาศชื่อภาษาไทยว่า “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” และใช้ชื่อว่าภาษาอังกฤษ ว่า Thai Journalists Association เพื่อให้เป็นสากล สอดคล้องกับต่างประเทศ พร้อมปักหมุดที่ตั้งสมาคมโดยใช้อาคารของสมาคมนักข่าวฯ จากนั้น ก็เรื่องมีกิจกรรมของสมาคมฯ เพิ่มมากขึ้น อย่างด้านต่างประเทศ เราได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง International Freedom of Expression eXchange (IFEX) และ South East Asian Press Allian (SEAPA) ซึ่งทำงานด้านการรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกสมทบของ International Federation of Journalists (IFJ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการประสานเครือข่ายนักหนังสือพิมพ์ทั่วโลก รวมทั้งการมีบทบาทในการสนับสนุนนักข่าวไทยเข้าอบรมและสัมมนาร่วมกับนักหนังสือพิมพ์ในระดับนานาชาติ การเกิดขึ้นของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เริ่มมีชื่อเสียงแพร่หลายขึ้น มีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น จัดกิจกรรมมากขึ้น มีการอบรมต่างๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น จนเริ่มกินงานของสมาคมฯ มากขึ้น ทั้งที่งานควรจะเป็นสิทธิเสรีภาพสื่อ และดูแลสมาชิก จึงมีการริเริ่มรื้อโครงการสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ขึ้นมาอีกครั้ง และภายหลังได้ผนวกเข้ากับสำนักข่าวอิศรา ก่อตัวเป็น สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อจัดอบรมนักข่าวเชี่ยวชาญพิเศษตามความต้องการของอุตสาหกรรมสื่อ ไม่ใช่แบบเดิมที่จำกัดตามทุนของผู้สนับสนุน” ชวรงค์ บอก

เชื่อม “องคาพยพวิชาชีพสื่อ” ความร่วมมือสหวิชาชีพ

ชวรงค์ กล่าวถึงการรวมตัวกันของวิชาชีพสื่อมวลชน ว่า ช่วงปี 2554 สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ถูกพับโครงการไปเมื่อปี 2520 จุดประสงค์หลัก คือ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อโดยเฉพาะ ต่อมา ก็ได้มีองค์กรวิชาชีพเกิดขึ้นอีกเป็นขบวน โดย 10 ปีที่ผ่านมา มีการก่อตั้ง “สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์” เพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ข่าวให้กับองค์กรธุรกิจสื่อ โดยมีตนได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมฯ คนแรก และมีสมาชิกสมาคมที่เป็นเจ้าของธุรกิจสื่อ ไม่ใช่เป็นบุคคลเหมือนกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ

“เมื่อถึงตอนนี้แล้ว องคาพยพองค์กรวิชาชีพสื่อ จะประกอบด้วย 6 องค์กร อันได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เราต้องเข้าใจว่าวิชาชีพสื่อ แตกต่างจากวิชาชีพอื่นๆ ดูได้จากการรวมตัวขององค์กรวิชาชีพ ที่มีองค์กรเป็นสมาชิก ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่หากเราไปดูวิชาชีพอื่น เช่น แพทยสภา สภาทนายความ สภาการพยาบาล สภาวิศวกร ฯลฯ มีตัวบุคคลเป็นสมาชิก ทั้งยังมีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทำให้ผู้ที่จะเข้าไปทำงานต้องผ่านการศึกษาได้รับใบปริญญาสาขาที่ตรงกับวิชาชีพ แต่กับวิชาชีพผู้สื่อข่าว ไม่จำเป็นต้องจบนิเทศศาสตร์ เพราะสื่อเป็นวิชาชีพเปิดที่ต้องการความหลากหลายของความคิดคน ต้องการคนคิดนอกกรอบ ฉะนั้นแล้ว การจะไปร่วมมือกับวิชาชีพอื่นๆ เราต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เช่น สภาทนายความ เราได้ร่วมกันดูแลด้านกฎหมาย มีการลงนามความร่วมมือกันในกรณีช่วยเหลือสื่อที่ถูกฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท ที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่สื่อ ซึ่งขณะนี้เรากำลังคุยกับแพทยสภาในการอบรมสื่อเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการแพทย์” ชวรงค์ กล่าว

รักษาเสถียรภาพนักข่าว ท่ามกลางยุคที่ทุกคนเป็นสื่อได้

พี่ป๋อง บอกว่าเราต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ ในช่วง 5 ปีที่ผ่าน สื่อสิ่งพิมพ์ถูกแทรกแซงโดยสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย

“แม้กระทั่งปัจจุบัน เว็บไซต์ก็ถือเป็นสื่อเก่าไปแล้ว ไม่มีใครตื่นเช้ามาเปิดเว็บไซต์เพื่ออ่านข่าวแล้ว ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสูงมาก สื่อเองก็ต้องปรับตัว แต่ยังต้องยึดถือเรื่อง ความน่าเชื่อของสื่อหลัก เอาไว้ ต้องยอมรับว่า เมื่อมีการแทรกแซงโดยสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้คนของเราส่วนหนึ่งสละรากเดิมไป หลายครั้งเราจะเห็นว่า มีสื่อเกิดขึ้นใหม่มากมาย แต่มีกรอบที่หนุนแนวคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างชัดเจน ขณะที่ การปรับตัวของสมาคมนักข่าวฯ ได้เปิดรับสมาชิกใหม่ ๆ ที่มาจากสื่อออนไลน์อื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขว่า สื่ออนไลน์นั้นจะต้องมีแหล่งอ้างอิงได้ มีที่มาที่ไป มีที่ตั้งสำนักงานชัดเจน และจะต้องมีเว็บไซต์ข่าวที่อัพเดตข้อมูล เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเราพบว่า มีสื่อออนไลน์ให้ความสนใจ ตบเท้าเข้าสมัครสมาชิกอยู่เนืองๆ” อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าว

“แม้กระทั่งปัจจุบัน เว็บไซต์ก็ถือเป็นสื่อเก่าไปแล้ว

ไม่มีใครตื่นเช้ามาเปิดเว็บไซต์เพื่ออ่านข่าวแล้ว

ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสูงมาก

สื่อเองก็ต้องปรับตัว แต่ยังต้องยึดถือ

เรื่อง ความน่าเชื่อของสื่อหลักเอาไว้"

ทิศทางสมาคมนักข่าวฯ ในอนาคต

โดยความเห็นส่วนของ ชวรงค์ บอกว่า ในสิ่งแวดล้อมสื่อปัจจุบัน ทำให้เกิดมีแนวคิดที่จะรวมสมาคม ให้เข้ามาอยู่ในร่มเงาเดียวกัน โดยกลับมาใช้ชื่อ “สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย” เพื่อการคุ้มครองเชิงเสรีภาพ เพราะการทำงานของสื่อปัจจุบัน มีความซับซ้อนของการนำเสนอข่าว โทรทัศน์เองก็ต้องมีออนไลน์ ซึ่งในสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ก็มีสมาชิกจากทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์มารวมกันอยู่แล้ว อย่างไรแล้ว เริ่มต้นอาจจะได้ความร่วมมือจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้ว เราจะต้องมารวมกัน

ชวรงค์ ยังแสดงวิสัยทัศน์ถึงการมีอยู่ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ในปัจจุบัน ว่า แม้กาลเวลาจะผ่านไป สังคมที่เปลี่ยนแปลง ความต้องการของผู้บริโภคสื่อต่างไปจากเดิม แต่บทบาทหน้าที่ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ยังคงยึดมั่นในการดูแลพัฒนาสมาชิก ซึ่งถือเป็นงานหลักของสมาคมฯ ขณะเดียวกัน ยังคงต้องประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก อาทิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสื่อต่อไป ทั้งนี้ คิดว่าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ยังยืนหยัดในการปั้นนักข่าวที่ผ่านการอบรม เพื่อให้ยังคงไว้ซึ่งจริยธรรม เนื่องจากปัจจุบันนักข่าวหน้าใหม่มักถูกปรุงแต่งมาเพื่อเป็นนักสร้างคอนเท้นท์ (Content Creator) มากขึ้น แต่แน่นอนที่สุดว่า เราจะต้องไม่ลืมเรื่อง “จริยธรรมวิชาชีพ” ที่ต้องฝังอยู่ในหัว

หมายเหตุ เนื้อหามาจาก หนังสือวันนักข่าว 2566