“คนที่มาบริหารสมาคม ต้องสังคายนาแล้วมองทิศทางร่วมกันว่า พ.ศ.นี้ปัญหาคืออะไร โดยเฉพาะเรื่องวิชาชีพมีประเด็นที่เราจะต้องทำมาก ความอ้างว้างของความเป็นสื่อที่เรามองไม่เห็นอนาคตว่า เราจะอยู่อย่างที่ควรเป็นได้หรือไม่ โดยที่เราไม่สูญเสียจิตวิญญาณให้กับซาตาน เราจะมีความมั่นใจในวิชาชีพนี้ได้ไหม เราจะมีกำลังใจโดยที่ไม่ถดถอยหรือไม่ เราจะเห็นทิศทางที่เจริญต่อไปไหม ทั้งหมดเราก็ต้องมาดูตัวเองว่า สมาคมฯได้ทำตรงนี้เปิดให้มีการรวมตัวกันมากน้อยแค่ไหน เราได้ส่งเสริม บทบาทกันไหม ถ้าเราสามารถทำตรงนี้ ผมว่า พลังมันเกิด"
ภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปี 2549 แสดงความเป็นห่วงว่า สมาคมนักข่าวฯ กำลังหลงทางเพราะทุกวันนี้เน้นเรื่องสวัสดิการสมาชิกเป็นหลัก เช่น ให้ทุนบุตรสมาชิก หรือ การที่จะมีสมาชิกอยู่ได้ก็ด้วยการหวังเพื่อรับสวัสดิการ ซึ่งเป็นบทบาทเพียงด้านเดียว ขณะที่บทบาทหลักเรื่องการดูแลสิทธิเสรีภาพ การพัฒนาวงการวิชาชีพ ซึ่งสำคัญมากยังน้อยเกินไป
ภารกิจที่ท้าทายสมาคมนักข่าวฯ ในมุมมอง ภัทระ คือ ต้องเร่งยกระดับพัฒนาวิชาชีพที่กำลังลดหายลงไปเรื่อยๆ เช่น บทบาทการทำข่าวตรวจสอบที่เคยเข้มข้นมาต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันแทบไม่เหลือแล้ว สะท้อนว่าต้องมีเรื่องผิดปกติหลายเรื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำข่าวแบบตรวจสอบและอยู่ได้ หรือ มีจุดยืนเพียงพอรวมอยู่กับการพาณิชย์ ต่างจากสมัยก่อนที่เราแยกเรื่องการทำงานกับเรื่องค้าขายออกจากกัน ปัจจุบันปัญหามันไปไกลที่ว่านักข่าวต้องไปหาสปอนเซอร์ด้วยแล้วซึ่งเมื่อก่อนทำไม่ได้ และไม่ควรทำ หรือ บทบาทนักข่าวที่มันเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างกรณีชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ที่ออกมาเปิดโปง เรื่อง ทุนจีนสีเทา กลายเป็นว่า สื่อกลายเป็นผู้กดสปอตไลท์ตาม ต่างจากแตกก่อนที่เราเป็นตะเกียงส่องแสง
หรือ กรณีปรากฎการณ์ข่าว "หมอปลา นำทีมนักข่าวบุกตรวจสอบ หลวงปู่แสง ญาณวโร ที่สำนักสงฆ์พื้นที่บ้านดงสว่าง ต.โคกนาโก จ.ยโสธร ปี 2565 แต่สุดท้ายหมอปลายอมรับ มีการสร้างหลักฐานเพื่อจับผิดหลวงปู่แสงทำให้เห็นว่า คนบางคนสามารถมาดึงสื่อไปทำข่าวรวมการเฉพาะกิจได้ขณะที่เราด่าเผด็จการแสดงว่า ไม่ได้มีแต่รัฐเท่านั้นที่มีรวมการเฉพาะกิจ หรือมี ทนายหิวแสงขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่สะท้อนว่า มีใครก็ได้ที่สามารถดึงสื่อไปทำอะไรได้ในแต่ละวัน
“ข่าวการเมือง ข่าวเลือกตั้ง นักข่าวก็ไปอยู่ในห้องไลน์ต่างๆ ของนักเลือกตั้ง พรรคการเมือง แล้วเราก็ถูกจำกัดข้อมูล เราไม่มีคำถามที่ควรจะถามแหล่งข่าวเพราะมันถูกจัดวางมาหมด เราเป็นแต่เพียงคนที่จะ echo ไป ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วผลสุดท้ายเรายังเหลือความเป็นนักข่าวยังอยู่หรือไม่” ภัทระ ตั้งคำถาม
สำหรับภัทระในช่วงที่นั่งเก้าอี้นายกสมาคมนักข่าวเมื่อปี 2549 ได้ริเริ่มก่อตั้งสำนักข่าวอิศราขึ้นเป็นครั้งแรกรายงานข่าวความเคลื่อนไหวสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ ขอความร่วมมือสำนักข่าวต่างๆ จากส่วนกลางส่งผู้สื่อข่าวเวียนลงไปในพื้นที่จริงเพื่อแก้ปัญหาสื่อไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ โดยให้ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวส่งให้มายังศูนย์ข่าวอิศราให้ทุกสำนักพิมพ์นำมาไปเผยแพร่ได้
ภัทระ เล่าย้อนถึงการก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยปี 2498 จุดกำเนิดครั้งนั้นมาจากการที่นักข่าวถูกย่ำยีจากนายทุน จึงมารวมตัวก่อตั้งสมาคม ทำกิจกรรม ร่วมกันปกป้องสิทธิเสรีภาพที่ต้องเผชิญกับยุคทมิฬทั้งหลาย และให้สวัสดิการกับนักข่าว วันนี้ก็ยังคล้ายๆ กัน คำถาม คือ บทบาทของสมาคมนักข่าวฯ ต่อการเปิดพื้นที่ให้อุดมการณ์ ความคิดฝัน ซึ่งล่อหลอมสมาคมฯมา 70 กว่าปี สามารถตกทอดมาเป็นต้นทุนในวิชาชีพนักข่าวปัจจุบัน รวมทั้งให้คนที่ใฝ่ฝันอยากทำงานด้านนี้ต่อไป ยังมีอีกหรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่า มันลดหายไปมาก
เขาย้ำว่า ปัญหาใหญ่ของวงการสื่อปัจจุบัน คือ นักข่าวมืออาชีพกำลังหายไป การเป็นนักข่าวมืออาชีพจำเป็นต้องมีการหล่อหลอม เปิดโอกาสในการทำงาน ปัจจุบันเรามีปัญหาการเลือกข้าง บรรยากาศอย่างนี้ทำให้การส่งต่ออุดมการณ์ การเรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์ไปสู่คนไม่มีประสบการณ์มันน้อยลง เรื่องนี้มันจำเป็นมาก เพราะวันนี้เรื่องผิดกลายเป็นถูก จนกลายเป็นธรรมชาติไปแล้ว เมื่อผิดก็ขอโทษกันง่าย ๆ ท่านพุทธทาสภิกขุ บอกว่า พลานุภาพสื่อมันสร้างโลก ทำลายโลก ถามว่าวันนี้เราเหลือพื้นที่ยืนตรงไหนให้นักข่าวมืออาชีพจริงๆได้บ้าง
“สื่อควรเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริงแต่มันลดน้อยถอยลงมาก สักวันหนึ่ง ผมกลัวว่า เราเองจะไม่มีที่ยืน แล้วเราก็จะแคบลงเรื่อยๆ ทุกวันนี้ถ้าเราดูยูทุป มีแต่คนเก่งๆ มาอธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีแหล่งข่าว คนรู้จริงที่เราเข้าไม่ถึงจำนวนมาก หรือไม่พยายามเข้าถึงเขา นักข่าวอาชีพจะต้องมีการหล่อหลอม เรียนรู้ส่งต่ออุดมการณ์ระหว่างกัน ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นมาก แต่ปัจจุบันมันไม่ค่อยมี”
ภารกิจที่สำคัญของสมาคมนักข่าวฯ จึงต้องเร่งซ่อมรากฐานให้ยั่งยืน แต่ทุกครั้งที่มีการพูดถึงปัญหาวิชาชีพ ก็จะวนแต่เรื่องเดิมๆ เช่น ใครเป็นสื่อ บริบทมันเปลี่ยนไปอย่างไร ทั้งที่ความจริงวิชาชีพสื่อเองก็ถูกดิสรัปชั่นมาเรื่อย แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร รากฐานของเราก็จะทรุดโทรมลงไป ขณะเดียวกัน นักข่าวรุ่นใหม่ มีความรู้สึกว่า สมาคมไม่ได้สำคัญอะไรสำหรับเขา เขาไม่ได้ผูกพันกับสมาคม เว้นแต่ บางกรณีเช่น เวลาลงสนามข่าวเมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้ง ต้องมาติดต่อสมาคมขอปลอกแขนเพื่อทำข่าว หรือ สมาชิกมีส่วนร่วมก็เฉพาะมารับทุนการศึกษาให้บุตร ทั้งที่มันควรมีการหล่อหลอมเป็นความรู้สึกใหญ่ๆ ร่วมกันในวิชาชีพนี้มากกว่านี้
“สมาคมมีต้นทุนเก่ามากมายที่ทำมาต่อเนื่องมาเกือบ 70 ปี มันมหาศาล ผมเชื่อว่า คนเป็นกรรมการสมาคม ถ้าแบกป้ายไปพูดจาที่ไหน ก็ได้รับความเชื่อถืออยู่ เพราะมันสะสมมา ฉะนั้นมันอยู่ที่กระบวนการ ถึงบอกว่า การซ่อมแซมรากฐานให้มันแข็งแรงมันสำคัญมาก แต่ถ้าเราปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ สมาคมทำประชานิยมไปเรื่อยๆเน้นแต่เรื่องสวัสดิการ ผลสุดท้ายเราก็อาจล้มละลายทางความเชื่อถือ คนก็ไม่อยากมีส่วนร่วมกับเรา แล้วต้นทุนที่สะสมมันก็อาจหายไปหมดได้”
เขา กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯต้องสำรวจตัวเองใหม่โดยตีโจทย์ว่า ถ้าจะทำให้สมาคมฯมีพื้นที่ตรงนี้เกิดขึ้นจะทำอย่างไร ซึ่งเรายังทำได้ เพราะยังมีคนหนุ่มสาวเข้าไปทำงานในสมาคมพอสมควร สิ่งสำคัญ คนที่เป็นผู้นำต้องทรงพลัง ต้องพูดคุยกับคนที่มาทำงาน มองเห็นเป้าหมายร่วมกัน มีการวางระบบ คิดโครงการขึ้นมา ซึ่งทำได้ แต่ถ้าเราไปตีกรอบว่า ใครเป็นสื่อแท้สื่อเทียม หรือโทษว่ามันมีเรื่องดิสรัปชั่น จึงทำอะไรมากไม่ได้ หรือ อ้างว่า เราไม่รู้ว่า การเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยจะสิ้นสุดเมื่อไร เราจึงนั่งดู ปล่อยมันไปเรื่อยๆ ก่อน อย่างนั้นไม่ได้ ถ้าสมาคมฯเปิดพื้นที่ให้เป็นที่รวมของคนข่าวได้ ไม่ว่าจะกี่ดิสรัป และอนาคตต่อไป มันจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ใช่ปัญหาแล้ว
ภัทระ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมนักข่าวฯ ได้แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการสมาคมไปแล้ว ปลดล็อคให้อยู่ได้นานขึ้นเพื่อความต่อเนื่องในการทำงานก็น่าจะทำภารกิจที่กล่าวมาได้ ซึ่งคนบริหารสมาคมต้องบริหารความหลากหลายให้เกิดประสิทธิภาพ บริหารคนที่มีพลังเอามารวมกันให้เกิดความแนวทางชัดเจน ความสามัคคี แต่เห็นว่า การหลอมหลวมให้เกิดพลังมันยังไม่ออกแล้วมันจะไปหมุนอย่างอื่นได้อย่างไร สิ่งสำคัญ ไม่ควรมองอะไรที่เป็นข้อจำกัด เช่น การจำแนกคนด้วยรุ่น อายุ หรือ สังกัด
เขาย้ำว่า สมาคมนักข่าวฯต้องสร้างทีม เราอยู่ในความพร้อมที่ทำได้ เพราะสมาคมเป็นสมาชิกโดยบุคคล ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับองค์กร เราสามารถสร้างความภาคภูมิใจในวิชาชีพเราได้ ยิ่งมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดพลังมากเท่านั้น
“ถ้าเรามองอนาคต เราอาจเห็นความเวิ้งว้าง เพราะความเป็นตัวกลางของสื่อมันลดลงไม่เหมือนแต่ก่อน คนจำนวนมากที่อยู่ในวิชาชีพมองว่า พลังของตัวเองน้อยลง แต่ถ้าเราร่วมกันคิดทำก็จะทำให้มีพลังขึ้นมาเหมือนทุกวันนี้ เช่น ถ้าเราจะพัฒนาวงการวิชาชีพ เราจะรวมหัวกะทิในการทำข่าว สมาคมนักข่าวก็ริเริ่มตั้งศูนย์ข่าวอิศรามา แต่ผลสุดท้ายสำนักข่าวนี้ก็กลายเป็นลูกมากินแม่ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนักข่าวทั้งหลาย มันกลายเป็นแค่ของคนกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น ความรู้สึกของผู้คนในวิชาชีพมันจึงเปลี่ยนไป อันนี้น่ากลัวที่สุด ไม่ใช่การดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องการกดขี่ของผู้มีอำนาจซึ่งประเด็นพวกนี้มันเปลี่ยนไปตามสังคม และยิ่งเผชิญกับภาวะกับการเลือกข้างของสื่อ และอยู่รอดทางเศรษฐกิจ มันก็ยิ่งไปกันใหญ่เพราะมันไม่มีแรงที่จะผู้คนเข้ามาหล่อหลอมจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ซึ่งนั่นคือ หัวใจของการเกิดของสมาคมนักข่าว”
ภัทระ กล่าวว่า ครูอาจารย์ที่สอนมาในวิชาชีพ ไม่ว่าจะอายุงานเท่าไรแม้ว่าจะ 1 วันหรือ 20 ปี แต่เราเสมอกันด้วยความเป็นนักข่าวเมื่อเราลงสนาม ไม่มีใครพรากเอาความเป็นนักข่าวของเราไปได้ เว้นแต่เราจะสละสิ่งนั้นด้วยตัวเราเอง ฉะนั้น เราต้องมีสิ่งดึงดูดใจร่วมกัน ต้องมีการออกแบบ ริเริ่มอะไรต่างๆร่วมกัน ไม่ใช่จำกัดวงเฉพาะกรรมการสมาคมนักข่าวฯ เพื่อให้เกิดความหลากหลายของผู้คน จะได้เดินได้อย่างทรงพลัง ซึ่งก็ยอมรับว่า นี่เป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะทำ
“เวลาเราทำงานเพื่อสังคม การมีกัลยาณมิตรคือ สิ่งที่สำคัญ การมีเพื่อนร่วมทิศทางเดียวกัน เพื่อให้มีความคิดความอ่าน แลกเปลี่ยนกัน ให้กำลังใจ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และงานที่เราทำ โดยเนื้อแท้ เราทำเพื่อสาธารณะตั้งแต่โลกนี้ ลงมาย่อยถึงชุมชน ผู้คนเล็ก ๆ ดังนั้น มันจะมาแค่หิวแสง เฉพาะตัวเองไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่เราต้องคิดถึงวิชาชีพของเรา บทบาทของนักข่าวคนนึงมันไมได้เป็นแค่ตัวเราเอง แต่เรายังผูกพันกับความเป็นอาชีพนักข่าวของพวกเรา มันก็ต้องมีบทบาทอันนี้ที่ต้องคืนให้กับวิชีพ” สุดท้าย ภัทระเห็นว่า ทุกวันนี้ในแง่อุดมกรณ์ของสื่อยังมีอยู่ เพียงแต่เราต้องทำให้ชัดเจนมากกว่านี้ สมาคมนักข่าวฯมีศักยภาพทำได้ สมาชิกก็เป็นโดยตัวบุคคล ไม่ได้เป็นสมาชิกโดยองค์กร แปลว่า การทำงานของสมาชิกไม่ได้ถูกครอบงำโดยนายทุน หรือ กองบรรณาธิการใดๆ ดังนั้น สมาคมนักข่าวฯและสมาชิกสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงอุดมการณ์และความคิดฝันที่เคยมีมาตั้งแต่ตอนแรกได้ไม่ยาก ซึ่งนี่เป็นแกนของความเป็นนักข่าว ไม่ว่า ยุคสมัยใดจะต้องมี อะไรจะมาดิสรัปมันก็ต้องมีอันนี้เป็นแกนอยู่ เรียกรวมๆ ว่า ความเป็นนักข่าวมืออาชีพ ถ้าแต่ละคนมี แล้วสมาคมนักข่าวฯถ่ายทอดสิ่งนี้ต่อไปมันก็จะขยายออก คนเหล่านี้ก็จะไปเปลี่ยนองค์กร เกิดสำนึกในวิชาชีพขึ้น มันก็จะไปปรากฎในเนื้องาน ในกองบรรณาธิการ งานที่มีคุณภาพ สุดท้ายจะทำให้สังคม โลกนี้ดีขึ้น คนที่จะทำงานสมาคมต่อไป ต้องประเมินภารกิจเหล่านี้ให้ชัดเจน ขายไอเดียให้กับคนในแวดวง เพราะสมาคมนักข่าวฯ มันไม่ได้นำด้วยใครคนใดคนหนึ่ง ความเป็นสถาบันของเรามันประกอบด้วยจิตวิญญาณที่ไหลมาต่อเนื่องกว่า 70 กว่าปี