ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นผู้สื่อข่าว โดยเฉพาะภาคสนามที่ต้องเกาะติดสถานการณ์การชุมนุมหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวถูกลูกหลง ถูกทำร้าย แม้ที่ผ่านมา “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ในฐานะองค์กรที่กำกับดูแลการทำงานของสื่อ จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยการออกแถลงการณ์ ทำปลอกแขนแล้วก็ตาม
ตลอดระยะเวลา 13 ปีในการทำงานด้านนี้ของ “เจี๊ยบ - พรทิพย์ โหม่งใหญ่” (@PorntipMorngyai)บรรณาธิการข่าว โต๊ะรายงานพิเศษ สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ 23 เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวที่ผ่านเหตุการณ์น่าตื่นเต้นมาแล้วหลายครั้ง และเหตุการณ์ที่จดจำมากที่สุด คือ ในยุคของการชุมชน “กปปส.” และ “เสื้อแดง” ก่อนการรัฐประหาร ในฐานะผู้สื่อข่าวที่ต้องติดตามสถานการณ์ในพื้นที่และได้ยินเสียงปืนที่ใช้กระสุนจริง เรียกได้ว่า เสียงดังจนขนหัวลุก
ปกป้องการทำงานสื่ออย่างเป็นรูปธรรม
“พรทิพย์” เล่าว่า ค่อนข้างเจออะไรเยอะในการทำข่าวชุมนุม ความจริงตำรวจจะไม่มายุ่งกับสื่อ แต่พอมีการปะทะจะเริ่มแยกไม่ออกว่าคนไหนผู้ชุมชนคนไหนสื่อแม้จะเห็นปลอกแขนก็ตาม หมวกกันน็อกเซฟทุกอย่างก็ยังโดน ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ทำร้ายสื่อมวลชนจากการไปทำข่าวชุมชนในปีที่ผ่านมา ซึ่งสมาคมฯ มีการออกแถลงการณ์ การพูดคุยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง การหาข้อตกลงในเรื่องของปลอกแขน แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการซัพพอร์ตการทำงานของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรง
“สิ่งที่ต้องการให้เพิ่มเติม คือ ความเข้มข้นในการช่วยติดตามคดี ว่าตำรวจรายไหนเป็นคนทำร้ายสื่อมวลชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเท่าใดนัก ดังนั้น อยากให้สมาคมฯ ออกมาปกป้องการทำงานของสื่อด้วยให้เป็นรูปธรรมจริงจัง เป็นตัวแทนสื่อติดตาม รายงานความคืบหน้าทางคดี กรณีที่เจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย หรือเหตุพลั่งพลาด เพื่อให้เกิดการลงโทษอย่างเป็นรูปธรรม อาจจะทำความร่วมมือ MOU กับกระทรวงยุติธรรมได้หรือไม่ ในการไม่ใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชน หรือมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับสื่อในการทำงาน หากทำได้เชื่อว่าครั้งหน้า การปฏิบัติงานในการชุมนุม ตำรวจก็จะมีความรอบคอบมากขึ้น”
ติดอาวุธนักข่าว หนุนข่าวเชิงตรวจสอบ
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันเราได้เห็นข่าวเชิงตรวจสอบน้อยลง เพราะหลายครั้งที่การทำข่าว สื่อมวลชนตกเป็นเป้าการถูกฟ้องร้องได้โดยที่ไม่เจตนา หรือการถูกคุกคามด้านสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น เบื้องหลังการทำงานข่าวคุณภาพ อาจต้องมีบุคคลที่รู้เรื่องกฎหมายคอยให้คำปรึกษาเพื่อให้การทำงานข่าวเป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัย
“อยากให้สมาคมฯมีที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายวิชาชีพสื่อโดยตรง เวลาไปทำข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบทุจริต ต้องยอมรับว่า บก. แต่ละสถานีก็ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทุกคน เคยสะท้อนไปที่ กสทช. ว่าน่าจะมีฝ่ายกฎหมายให้คำแนะนำ ปกป้อง นักข่าวด้วย เพราะปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าการทำข่าวเกี่ยวกับตรวจสอบทุจริตทำได้ยาก สมัยนี้ฝ่ายคู่กรณีก็เริ่มหัวหมอมากขึ้น เรารู้ขอบเขตอำนาจของสมาคมฯ แต่หากสามารถออกแบบกฎหมาย หรือบางอย่างที่ทำให้สื่อมีอาวุธในการทำงานข่าวตรวจสอบทุจริตได้มากขึ้น ก็จะทำให้สื่อหันกลับมาทำข่าวเชิงตรวจสอบมากขึ้นเช่นกัน
“ปัจจุบันเกิดความคิดว่าการทำข่าวตรวจสอบทำได้ยาก เสี่ยงถูกฟ้อง เรตติ้งก็ไม่มีเท่ากับทำข่าวชาวบ้านตามคลิปในโซเชียล ส่งผลให้ข่าวคุณภาพไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง เรตติ้งก็ไม่ได้ จึงไม่ค่อยมีคนทำข่าวเชิงตรวจสอบ นอกจากนี้ คิดว่าน่าจะมีคนให้ความรู้เรื่องกฎหมายสิทธิเด็กด้วย เพราะปัจจุบันยังพบว่ามีบางช่องทำข่าวละเมิดสิทธิเด็กอยู่หลายข่าว อาจจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้น ควรมีคนให้คำแนะนำ”
"คงถึงเวลาที่สมาคมฯอาจจะเปลี่ยนเป้าคนที่มาอบรม เป็นระดับผู้บริหาร ระดับเจ้าของสถานี ว่าจะมีหนทางไหนให้เขาเข้าใจในเรื่องของหลักการดำเนินธุรกิจด้านข่าวที่แสวงหากำไร ควบคู่ไปกับจริยธรรม จรรยาบรรณ และหลักการของวิชาชีพสื่อ"
เปลี่ยนการถอดบทเรียน สู่การฟังเสียงประชาชน
ขณะเดียวกัน การทำงานข่าวที่ต้องรวดเร็ว การทำงานที่หน้างานบางครั้งอาจเกิดสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ส่งผลให้มีการดำเนินการผิดพลาด เกิดจากการตั้งตัวไม่ทันในบางครั้ง หรือบางกรณีที่ต้องทำตามผู้บังคับบัญชา ทำให้สื่อถูกต่อว่าจากการทำข่าว หลายครั้งที่เราเห็นว่าสมาคมฯ ได้ออกแถลงการณ์จากประเด็นดังกล่าว รวมถึงมีการถอดบทเรียน อย่างไรก็ตาม หากการพูดคุย ให้ความรู้ สัมมนา หรือถอดบทเรียนเกิดความสัมฤทธิ์ผลนับเป็นข้อดีต่อคนทำข่าวและประชาชน
“เราก็ถอดบทเรียนกันมาเยอะ พอเกิดปัญหาก็ซ้ำรอยอีก ทั้งหมดทั้งมวลทุกคนก็ต้องทำงานภายใต้นายจ้าง ดังนั้น คงถึงเวลาที่สมาคมฯอาจจะเปลี่ยนเป้าคนที่มาอบรม เป็นระดับผู้บริหาร ระดับเจ้าของสถานี ว่าจะมีหนทางไหนให้เขาเข้าใจในเรื่องของหลักการดำเนินธุรกิจด้านข่าวที่แสวงหากำไร ควบคู่ไปกับจริยธรรม จรรยาบรรณ และหลักการของวิชาชีพสื่อ เพราะทุกวันนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการระดับกรรมการผู้จัดการบริษัทยังไม่ค่อยเข้าใจการดำเนินธุรกิจข่าว”
“เข้าใจว่าการดำเนินธุรกิจทุกอย่างจะต้องมีกำไร ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้ แต่จะมีหนทางไหนที่ได้กำไรแล้ว สามารถดำรงอยู่ของจริยธรรมข่าวคุณภาพด้วย อยากให้ทางสมาคมฯ ส่งเสริมตรงนั้น ตอนนี้ทราบมาว่า กสทช. ได้จ้างทางมหาวิทยาลัยทำการศึกษา เรื่องข่าวคุณภาพ ดังนั้น ทางสมาคมฯ สามารถต่อยอดงานวิจัยในครั้งนี้ได้ว่าแท้จริงแล้วคนดูอยากดูอะไรกันแน่”
เช่น กรณีศึกษาหนองบัวลำภู ที่ทุกคนประณามสื่อว่าไม่ดี ทำกราฟฟิก อาจจะเป็นบทเรียน ใช้งบประมาณให้ทำรายงานหาอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำรายงานหรือหลักสูตรอบรม เพื่อให้เป็นรูปธรรม และนำรายงานมาเปิดเผย ส่งให้แต่ละสถานีได้รับทราบว่าสิ่งที่ทำไปแล้ว ประชาชนสำรวจมาแล้ว เขามองแบบนี้ น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าเอาคนในวงการเดียวกัน หรือ นักวิชาการมานั่งถอดบทเรียน
เป็นข้อมูลดาต้า ที่แต่ละคนจะต้องเอาไปปรับ จัดทำรายงาน การศึกษา หรือโพล เพราะเชื่อว่าสมาคมฯ มีคอนเนคชั่นกับอาจารย์แต่ละสถาบันการศึกษาที่จัดทำโพลอยู่แล้ว เพื่อจะได้ศึกษาจริงจัง นำข้อมูลมาเปิดเผยผ่านโซเชียล และส่งให้แต่ละสำนักข่าวได้รับรู้ว่าคนดูอยากดูอะไร เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน
"อยากให้สมาคมฯ จัดเทรนนิ่งนักข่าว มีการอบรมว่าควรจะยึดหลักในการทำงานเริ่มต้นอย่างไร เพื่อให้ทราบถึงความแตกต่างระหว่าง Journalist กับ Content Creator ประเด็นไหนควรจะใช้วิธีดั้งเดิม ประเด็นไหนควรจะใช้ Content Creator เพราะในบางประเด็นที่ควรจะเป็น Journalist ควรชั่งน้ำหนักก่อนที่จะนำเสนอออกมาและฟังให้รอบด้าน"
หน้าที่“Journalist”ต่าง“Content Creator”
ทั้งนี้ เมื่อการทำงานข่าวในปัจจุบัน แตกต่างจากในอดีต หลายครั้งที่เราเห็น “Journalist” เปลี่ยนเป็น “Content Creator” โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ๆ ที่มีวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม ในบางข่าวเราอาจจะต้องรู้ว่า เวลาไหนควรจะเป็น “Journalist” และเวลาไหนควรจะเป็น “Content Creator”
“ตอนนี้เด็กๆ ที่เข้ามาในวงการ ต้องเข้าใจว่ากระแสการทำงานข่าวสมัยนี้เปลี่ยนไปเยอะ อย่างไรก็ตาม ในบางประเด็นเราเป็น Content Creator ได้ แต่ในบางประเด็นเราเป็นไม่ได้ เราต้องเป็น Journalist เพราะในบางครั้ง นักข่าวใหม่ได้รับการรับรู้ ดูคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์ไม่มากพอ ผู้ประกาศหลายคน นักข่าวที่มีชื่อเสียงมีคนติตตามเยอะ เพราะเอาตัวเองไปแทรกในข่าว เกิดการเลียนแบบ”
ดังนั้น อยากให้สมาคมฯจัดเทรนนิ่งนักข่าว มีการอบรมว่าควรจะยึดหลักในการทำงานเริ่มต้นอย่างไร เพื่อให้ทราบถึงความแตกต่างระหว่าง Journalist กับ Content Creator ประเด็นไหนควรจะใช้วิธีดั้งเดิม ประเด็นไหนควรจะใช้ Content Creator เพราะในบางประเด็นที่ควรจะเป็น Journalist ควรชั่งน้ำหนักก่อนที่จะนำเสนอออกมาและฟังให้รอบด้าน
แนะเพิ่มสวัสดิการช่วยเหลือคนโสด
ท้ายนี้ พรทิพย์ กล่าวว่า จากการพูดคุยในกลุ่มของนักข่าวโสดๆ ทั้งหลาย ทางสมาคมฯ มีสวัสดิการทุนการศึกษาให้กับสมาชิกที่มีบุตร ในอนาคตเป็นไปได้หรือไม่ จะมีสวัสดิการให้กับนักข่าวหรือคนในวงการส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิงที่ยังครองตัวเป็นโสดซึ่งมีจำนวนเยอะมากขึ้น อาจจะมีพิจารณาเพิ่มสวัสดิการสำหรับนักข่าวผู้หญิงสูงอายุ มีสวัสดิการอะไรรองรับสำหรับนักข่าวผู้หญิงที่อยู่คนเดียว ไม่มีครอบครัว เพราะหลุดจากอาชีพนี้ไปแล้วเขาว้าเหว่ ขณะที่เขาก็เสียเงินค่าสมาชิกเหมือนกับคนที่มีครอบครัว อาจจะมีสวัสดิการรายปี ให้กับหญิงที่ยังไม่แต่งงานอายุเกิน 50 - 60 ปี ที่อยู่ในวงการหรือนอกวงการก็แล้วแต่ อยากให้สมาคมฯ นึกถึงกลุ่มคนกลุ่มนี้ด้วย การไม่ถูกลืมเดือนละ 200-300 บาท หรือ ปีละ 1,000 บาท เขาก็รู้สึกว่าสมาคมฯไม่ลืม