5 พรรคใหญ่ ร่วมเวทีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ โชว์วิสัยทัศน์ “สิทธิเสรีภาพสื่อ” 

ตัวแทน 5 พรรคการเมือง ตบเท้าร่วมเวทีเสวนา “วันเสรีภาพสื่อโลก” ประจำปี 2566 “ก้าวไกล” อัดรัฐประหาร 57 บั่นทอนเสรีภาพสื่อ ถ้าเป็นรัฐบาลยกเลิกศูนย์ Anti-Fake News ทันที ฝั่ง "ประชาธิปัตย์" ย้ำรัฐต้องให้สื่อดูแลกันเอง หนุนยกเลิกประมูลทีวีดิจิทัล ด้าน "เพื่อไทย-ไทยสร้างไทย" ค้านใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก "รวมไทยฯ" ปลุกสังคมปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อฯ

วันที่ 2 พฤษภาคม เวลา 10.55 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สำนักงานชั่วคราว) ห้องบอลรูมชั้น 7 ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อาคารบางซื่อจังชั่น ถ.กำแพงเพชร 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ UNESCO และ Cofact Thailand จัดเสวนาหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ในมุมมองพรรคการเมืองไทย” เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกประจำปี 2566 

กิจกรรมครั้งนี้มี 5 พรรคการเมืองส่งตัวแทนร่วมการเสวนา ประกอบด้วย 1.นายรังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล2.น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ จากพรรคไทยสร้างไทย 3.น.ส.วทันยา บุนนาค จากพรรคประชาธิปัตย์ 4.น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล จากพรรคเพื่อไทย และ 5.(ว่าที่) ร้อยตำรวจเอกหญิงอัยรดา บำรุงรักษ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ 

เริ่มต้น น.ส.ขัตติยา จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 (พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ) ภาครัฐต้องเปิดเผยให้เป็นหน้าที่ปกปิดเป็นข้อยกเว้น แต่ปัจจุบันมีความพยายามแก้ไขให้ปกปิดเป็นหน้าที่และเปิดเผยเป็นยกเว้น จึงขอให้ทุกคนต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้ถูกจำกัดเสรีภาพ นอกจากนี้ที่ผ่านมาก็มีการจำกัดข้อมูลของรัฐ อาทิ ข้อมูลของวัคซีนโควิด-19 ทำให้ขณะนั้นเกิดสื่อพลเมืองนอกเหนือจากสื่อหลักในการหาข้อมูลเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันการทำหน้าที่จะจำกัดสื่อเฉพาะสื่อหลักไม่ได้ เพราะสื่อหลักตอบคำถามให้สังคมได้หรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อพลเมือง ทั้งในเรื่องเพศ ศาสนา มาตรา 112 จึงขอให้สื่อหลักพิจารณาตัวเองด้วยว่าเหตุใดจึงเกิดสื่อพลเมืองขึ้นมา 

น.ส.ขัตติยา กล่าวต่อว่า สำหรับสื่อหลักถือว่าเคร่งครัดในจริยธรรมวิชาชีพอยู่แล้ว แต่อยากสร้างเพิ่มเติมเรื่องจริยธรรมไปถึงสื่อพลเมือง รวมถึงต้องมีการเคารพสิทธิส่วนบุคคลเพราะที่ผ่านมาก็มีสื่อบางแห่งมีการคุกคามอย่างจริงจัง ก็ต้องพิจารณาคำว่าบุคคลสาธารณะก็ต้องไม่คุกคามชีวิตส่วนตัวด้วย ดังนั้นต้องสร้างวัฒนธรรมสื่ออาชีพให้เกิดขึ้น ส่วนในกรณีสื่อรัฐที่ใช้เงินภาษีประชาชนต้องมีการชี้วัดว่าคอนเทนท์ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

"ไม่เห็นด้วยกับการฟ้องปิดปากหากเปิดมีการเผยข้อเท็จจริง เพราะไม่ควรมีอะไรเหนือไปกว่าเสรีภาพประชาชนในการับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ"น.ส.ขัตติยา กล่าว

ด้านน.ส.วทันยา จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐต้องเคารพเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ รัฐต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้ต้องให้สื่อตรวจสอบ กำกับ และดูแลกันเองอย่างเข้มแข็งแต่ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ส่วนภาคประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างอิสระเสรี และรัฐเองต้องเป็น Open Government ทำให้เกิดความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการเข้าถึงและตรวจสอบภาครัฐด้วย

ทั้งนี้ น.ส.วทันยายังแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยที่นำ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องหมิ่นประมาท ปิดปากสื่อและสื่อพลเมือง รวมถึงไม่เห็นด้วยกับ พรบ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน แต่ต้องปล่อยให้สื่อกำกับดูแลกันเอง เพราะหากสื่อแข็งแรงเท่าไหร่การแทรกแซงของรัฐก็จะน้อยลงเช่นกัน 

ส่วนกรณีพรรคการเมืองจะมีแนวคิดปรับลดต้นทุนของสื่ออย่างไร เพื่อให้ลดต้นทุนทีวีดิจิทัลและเน้นไปที่จรรยาบรรณมากกว่าการค้าข่าวนั้น น.ส.วทันยา กล่าวว่า ในเรื่องนี้ได้สะท้อนความไม่เข้าใจของภาครัฐในการมองความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศ์ของสื่อและเทคโนโลนี หลังจากนี้เทคโนโลยีและภูมิทัศน์สื่อจะเปลี่ยนไป ดังนั้นต้องปรับมุมมองเรื่องการสัมปทานใหม่ ยกเลิกการประมูลสัมปทานโดยแข่งกันที่เงิน แต่ต้องแข่งกันว่าใครจะสามารถส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานว่าเจ้าไหนจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด เช่นเดียวกับ Digital Democratization ของประเทศอินเดีย

"กสทช.ต้องเปลี่ยนวิธีคิด แต่ก่อนที่จะเปลี่ยนวิธีคิดต้องเปลี่ยนคนและเปลี่ยนการสรรหา จากการสรรหาคนที่มียศมีตำแหน่งมาทำงาน แต่นำคนที่มีความรู้ความสามารถด้านสื่อจริงๆ เข้ามา"น.ส.วทันยา กล่าว

ขณะที่ น.ส.ธิดารัตน์ จากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เรื่องพรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ จะถูกอ้างเรื่องความมั่นคงจากรัฐบาลสมัยนี้เพื่อไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลออกมา ทั้งที่มีเทรนด์ของโลกเกิดขึ้นจากกรณี "วิกิลีกส์" ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลสำคัญเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการค้นหาความจริงและพิสูจน์ความโปร่งใสการทำหน้าที่ของรัฐซึ่งในเรื่องนี้สามารถนำมาบทเรียนปรับใช้กับประเทศไทยได้ ขณะเดียวกันในสหรัฐฯ จะมีเว็บไซต์ในการค้นหาข้อมูลหรือหากจะค้นข้อมูลนักการเมืองจะมีช่องทางที่เข้าถึงได้

น.ส.ธิดารัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากก็เป็นสิ่งไม่ควรทำ ดังนั้นรัฐต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่เกินเลยมากเกินไป ส่วนสื่อพลเมืองนั้นอาจไม่มีขอบเขตจะรายงานก็ต้องพิจารณาให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายเช่นกัน ดังนั้นสื่อพลเมืองต้องรู้ว่าอะไรคือจริยธรรมที่มากำกับตัวเอง อะไรทำได้ไม่ได้ หรืออะไรที่ควรพูดและไม่ควรพูด

น.ส.ธิดารัตน์ เสริมด้วยว่า ในประเทศที่เป็นโลกที่ 3 จะมีสื่อที่ไม่เป็นอิสระเพราะมีทุนสนับสนุนที่มาจากหน่วยงานต่างๆ หรือบางสื่ออาจมีทุนอิสระหรือทุนองค์กรเอกชนซึ่งหลายครั้งก็มีการเลือกข้าง ทำให้สื่อต้องมีจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ และต้องรู้ว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ควรนำเสนอหรือไม่ควรนำเสนอ ส่วนในเรื่องลิขสิทธิ์ภาพถ่ายภาครัฐและประชาชนต้องให้ความร่วมมือเพื่อเห็นใจเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพ หรืออาจใช้วิธีการทางกฎหมายมาควบคุม

ด้านนายรังสิมันต์ จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนเป็นสื่อได้ ส่วนกรณีรัฐบาลตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม(Anti-Fake News Center Thailand) เพื่อใช้ปิดปากและดำเนินคดี หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และที่ผ่านมาก็เป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือคนพูด Fake News มาตลอดที่บอกว่าขอเวลาไม่นาน แต่พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ถึงวันนี้

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ถ้าพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะแก้ไขพรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2557 เสรีภาพของสื่อมวลชนก็น้อยลงและมีการใช้กฎหมายปิดปากมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพทางความคิดถูกลดทอนลงมาขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องทบทวนคือสื่อที่เป็นกระบอกเสียงให้รัฐทั้งช่อง 11 หรือช่อง 5 ถือเป็นสื่อที่หมดยุคสมัยไปแล้ว 

"แต่สื่อรัฐแห่งหนึ่งหากยกตัวอย่างคือไทยพีบีเอสซึ่งได้เงินจากรัฐ แต่ก็ทำงานเป็นอิสระ และสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบได้ ดังนั้นสื่อของรัฐทุกวันนี้ก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องเป็นรูปแบบไหนต่อไป หรือในเรื่องรายได้ของผู้สื่อข่าวที่มีจำนวนน้อยก็ต้องมาทบทวน ซึ่งในเรื่องนี้พรรคก้าวไกลก็กำลังพิจารณาเช่นกัน" นายรังสิมันต์ กล่าว 

ขณะที่ (ว่าที่) ร้อยตำรวจเอกหญิงอัยรดา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่อง Fake News เกิดขึ้นจริง ส่วนตัวจึงมีความเห็นว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังมีความจำเป็น เพราะเรื่องข้อมูลนั้นก็ต้องมีความรับผิดและรับชอบกับสิ่งที่ได้กระทำไป นอกจากนี้การปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเพียงอย่างเดียวแต่ต้องเป็นหน้าที่ของคนในสังคมเช่นกัน ส่วนเรื่องกองทุนสื่อสร้างสรรค์นั้นก็ต้องส่งเสริมเพิ่มเติมไปที่สื่อหลักและสื่อพลเมืองด้วย

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีการถามไปถึงตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติกรณีเคยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ใช้ขวดแก้วปาไปที่ช่างภาพสื่อมวลชนต่างประเทศ ขณะมาทำข่าวถ่ายภาพการชุมนุมจะมีการรับผิดชอบอย่างไร 

ในเรื่องนี้ (ว่าที่) ร้อยตำรวจเอกหญิงอัยรดา ระบุว่า ในฐานะที่เคยรับราชการเห็นว่า เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นจะทำอย่างไรเพื่อหาแนวทางทำให้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเทรนนิ่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเพื่อให้เข้าใจมุมของสื่อ ขณะที่น.ส.ขัตติยา ระบุว่า ถ้าในอนาคตมีรัฐบาลประชาธิปไตยต้องมีการเชือดไก่ให้ลิงดู โดยการเปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ว่าใครไปทำหน้าที่ตรงไหนอย่างไรและเจ้าหน้าที่ต้องไม่มองประชนเป็นศัตรู ส่วนนายรังสิมันต์ ระบุเพียงว่า ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะเข้าไปดูแลในเรื่องนี้

นอกจากนี้ ก่อนการจัดกิจกรรมเสวนา “สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ในมุมมองพรรคการเมืองไทย” มีการอ่านแถลงการณ์ร่วมกันของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายชำนาญ ไชยศร รองเลขาธิการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ กับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยนายธวานันทภัทร ตั๋นไชยวงค์ปฏิคม ซึ่งทั้ง 2 สมาคมฯ ได้ร่วมกันประกาศข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านหลังการเลือกตั้ง ดังนี้ 

1.คุ้มครองและพิทักษ์ไว้ซึ่งเสรีภาพการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองที่สงบ สันติ และปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

2.ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน และแก้ไขปัญหาการใช้กฎหมายปิดปากสื่อและประชาชน หรือที่เรียกว่า SLAPP (สแลป)

3.สร้างกลไกตรวจสอบและเอาผิดผู้ที่คุกคามสื่อหรือใช้ความรุนแรงต่อคนทำงานสื่อได้อย่างแท้จริง เพื่อขจัดวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล (culture of impunity) 

4.ไม่นำเอา "ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน" ฉบับที่ตกไปแล้วในรัฐสภาชุดก่อน ขึ้นมาพิจารณาอีกในอนาคต

5.สนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองในวงการสื่อมวลชน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ และส่งเสริมจริยธรรมสื่อควบคู่ไปกับเสรีภาพสื่อพร้อมๆ กัน

ขณะเดียวกันภายในงานยังได้รับเกียรติจาก Mr.Joe Hironaka Chief of Communication and Information Unit, UNESCO Bangkok (องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) มาร่วมกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาส “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2566” อีกด้วย