รายงานพิเศษ
________________________________________
โดยกองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน
ข่าวกระแสหลักของสื่อมวลชนหลายแขนงในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ"ข่าวการเลือกตั้ง 2566"ที่สื่อมวลชนทุกแขนงได้นำเสนอข่าวสารการเลือกตั้งแบบเจาะลึกทุกความเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันสื่อก็มีการจัดเวทีดีเบต-ประชันวิสัยทัศน์ โดยเชิญตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมเวที ซึ่งทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
สำหรับข่าวสารการเลือกตั้ง 2566 ในช่วงที่ผ่านมาและกำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายต่อจากนี้ มีความเห็นจากสื่อมวลชนอาวุโส สองคนที่คว่ำหวอดในวงการสื่อมวลชนมาอย่างโชกโชน ที่ได้มาสะท้อนความเห็นต่อการทำหน้าที่ของสื่อในการเสนอข่าวสารการเลือกตั้งครั้งนี้
เริ่มที่คนแรก"วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ผู้ดำเนินรายการ “คุยให้คิด” ทางไทยพีบีเอส-นักวิเคราะห์ข่าวรายการ“คุยข่าวนอกสคริปท์”ช่องทางออนไลน์ของ The101.world-ผู้จัดรายการ “จับข่าวมาคุย” ทางสถานีวิทยุ FM90.5 "
โดย"วิสุทธิ์"มองภาพรวมการเสนอข่าวการเลือกตั้งของสื่อมวลชนทุกแขนงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จากการติดตามพบว่าการนำเสนอข่าวสารการเลือกตั้ง 2566 ของสื่อแต่ละประเภทค่อนข้างเป็นไปอย่างคึกคัก ซึ่งหากเป็นสมัยก่อน การนำเสนอข่าวสารการเลือกตั้งก็จะอยู่ในสื่อหลักๆ เช่น โทรทัศน์-วิทยุ-หนังสือพิมพ์ แต่การเลือกตั้งรอบนี้ สื่อออนไลน์หลายแห่งได้เสนอข่าวการเลือกตั้งที่ทำให้เป็นการปลุกกระแสการเลือกตั้ง จนเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการนำเสนอข่าวสารครบทุกแพลตฟอร์มของสื่อมวลชน ไม่มีสื่อแพลตฟอร์มไหนที่ไม่นำเสนอข่าวสารการเลือกตั้ง เพียงแต่ก็จะมีการนำเสนอที่แตกต่างกันไป
นอกจากนี้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ สื่อมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวค่อนข้างมาก อย่างในอดีต เมื่อถึงช่วงเลือกตั้งใหญ่ สื่อก็จะนำเสนอในบริบทข่าวการเมือง ข่าวเชิงสถานการณ์เป็นหลัก แต่สำหรับการเลือกตั้ง 2566 ผมคิดว่าหมวดหมู่ของการนำเสนอข่าวการเลือกตั้ง ไม่ได้มีแค่ข่าวการเมือง ข่าวเชิงสถานการณ์ แต่จะเห็นได้ว่าข่าวอื่นๆ เช่นข่าวบันเทิง ก็ยังนำเสนอแง่มุมมีการพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือข่าวกีฬา ก็ยังมีการพูดกันถึงเรื่องการเลือกตั้ง รวมถึงการนำเสนอข่าวในเชิงรายละเอียดในบางประเด็นที่เป็นการซอยย่อยลงมาที่โยงกับการเลือกตั้ง เช่น การจราจร - ความปลอดภัยบนท้องถนน - เรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ซอยย่อยลงมาจากภาพใหญ่ข่าวการเลือกตั้งในระดับมหภาค ที่ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือเนื้อหาและสีสันการนำเสนอข่าวการเลือกตั้งรอบนี้ที่สื่อนำเสนอครบทุกแพลตฟอร์ม ที่มีการลงลึกมากกว่าประเด็นแค่เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่ยังมีประเด็นย่อยอื่นๆ ที่ตอบสนองกลุ่มประชาชนได้เยอะมากขึ้น
ต่อข้อถามที่ว่าอิทธิพลการนำเสนอข่าวการเลือกตั้งของสื่อ มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือโหวตเตอร์มากน้อยแค่ไหนในการทำให้ตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือก พรรคการเมืองหรือผู้สมัครคนใด "วิสุทธิ์"บอกว่า มีส่วน ผมมองว่ากลุ่มโหวตเตอร์ ประมาณสามสิบเปอร์เซ็นต์ เขาตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือกใคร เขาไม่เปลี่ยนแปลง คือชอบฝั่งไหน ชอบพรรคการเมืองใด และอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีประมาณ 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ถือว่าไม่น้อย เขาอาจจะยังไม่ได้ตัดสินใจ และการตัดสินใจจะอยู่ที่สื่อมวลชน เช่น หากสื่อนำเสนอ เขาก็จะพิจารณาว่าสไตล์ของผู้นำทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมือง เป็นอย่างไร -การพิจารณาถึงนโยบายของพรรคการเมือง หรือคนของพรรคการเมืองต่างๆ มีการนำเสนอประเด็นต่างๆ ได้น่าสนใจมากน้อยแค่ไหน แม้กระทั่งดูลีลา สีสัน ความมันส์
...ทำให้โหวตเตอร์กลุ่มดังกล่าวที่มีไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ พอเขาเห็นแล้ว ก็จะทำให้สามารถเลือกได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น บนการนำเสนอข่าวของแต่ละสำนัก แต่ละค่าย แต่ละกลุ่ม หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาอาจเห็นจากโฆษณา -โปสเตอร์ - สื่อออนไลน์ต่าง ๆ แต่สื่อมวลชน ทำให้เขาเห็นมากขึ้นเช่น เห็นการดีเบต การตอบโต้อะไรต่างๆ เห็นการโต้เถียงกัน เห็นความเข้าท่าและไม่เข้าท่า ความได้เรื่องหรือไม่ได้เรื่อง การมีสาระหรือไม่มีสาระ จากสิ่งที่สื่อนำเสนอ เพราะจากเดิม อาจเห็นจากการโฆษณาหาเสียง ดูแล้วอาจดูดี แต่พอได้เห็นคนจากบางพรรคที่มาออกสื่อ ผ่านการนำเสนอ-การตอบโต้ต่างๆ ที่เราจะเห็นได้ว่าก็มีผู้นำพรรคบางคนก็ไม่ได้มีความเข้าใจในประเด็นที่ตัวเองพูด หรือบางคนอาจโนเนม แต่พอสื่อนำเสนอ ก็ทำให้ได้เห็นความสามารถ เห็นskill เฉพาะ ผมก็มองว่าสื่อมีส่วนสำคัญในการทำให้โหวตเตอร์ตัดสินใจว่าจะเลือกใครหรือไม่เลือกใคร 30 - 40 เปอร์เซ็นต์
เมื่อถามถึงว่า ตอนนี้สื่อหลายแห่งจัดเวทีดีเบตหลายแห่งมองว่าเป็นอย่างไรบ้าง "วิสุทธิ์"ให้ทัศนะว่า การนำเสนอของสื่อ ผ่านเวทีดีเบต หรือการประชันวิสัยทัศน์ ถ้าในแง่ของสื่อผมคิดว่าสื่อจะลงรายละเอียดในภาพกว้างมากขึ้น เช่นเศรษฐกิจมองอย่างไร และสิ่งที่สื่อนำเสนอมากเลยคือจุดยืนทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมือง เช่น จะจับมือกับใคร ไม่จับมือกับใคร บนเงื่อนไขอะไร พรรคการเมืองนี้มาร่วมงานกับพรรคการเมืองนี้ได้หรือไม่ และนโยบายหลักๆ คืออะไร อันนี้คือสิ่งที่สื่อนำเสนอ แต่หากเป็นการจัดโดยสถาบันวิชาการ องค์กรวิชาชีพต่างๆ ประเด็นก็จะลงลึกไปพอสมควร เช่นอาจพูดเรื่องการส่งออก หากเป็นเวทีของคนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก หรือมีการพูดคุยเรื่องสิทธิมนุษยชน ขององค์กรสิทธิมนุษยชน ก็จะเห็นได้ว่าหากเป็นการจัดโดยองค์กรสาขาวิชาชีพต่างๆ ก็จะลงลึกในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กร แต่ถ้าเป็นเวทีสื่อ จะเป็นภาพกว้าง
" แต่ผมคิดว่าเวทีรอบนี้ เกือบทุกสื่อให้ความสนใจเยอะจนเยอะเกินไปในเรื่อง จุดยืนทางการเมืองของแต่ละพรรค และเรื่องความขัดแย้ง การจับมือ-ไม่จับมือกันของพรรคการเมือง อันนี้เยอะมาก เยอะจนไปกดเรื่องนโยบาย ทางเลือก -โครงการต่างๆ คือมันก็เป็นข้อดี แต่สำหรับผม มองว่ามันเยอะเกินไป เช่น ใครจะจับมือกับก้าวไกลได้ไหม หรือก้าวไกล จะจับมือกับลุงป้อมได้ไหม - ก้าวข้ามความขัดแย้งคืออะไร หรือใครจะจับกับใครไม่จับกับใคร คือมันเป็นเรื่องท่าทีและจุดยืน แล้วตกลงนโยบายของพรรคคืออะไร"
...ในความเห็นของผม อยากให้สื่อนำเสนอเรื่องของนโยบาย-โครงการต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมืองให้เยอะขึ้น และอยากให้สื่อช่วยวิเคราะห์กลั่นกรองความเป็นไปได้ ของนโยบายหลักของแต่ละพรรคการเมือง
ยกตัวอย่างเช่นที่พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำกระเป๋าเงินดิจิทัล ก็เป็นนโยบายที่สื่อและสังคมได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ว่านโยบายดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และจะหางบประมาณจากส่วนใดมาทำนโยบายดังกล่าว แต่ต้องวิเคราะห์บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่ใช่โน้มน้าว สื่อมีหน้าที่ช่วยกลั่นกรองระดับหนึ่ง ก็เหมือนกับคนก็จะฟังว่า พรรคการเมืองนี้เสนอนโยบายแบบนี้ อีกพรรคการเมืองเสนออีกแบบหนึ่ง แล้วตกลงทำได้หรือไม่ได้ บนพื้นฐานอะไร เอาอะไรคิด นำงบประมาณจากส่วนไหน และทำแล้วจะเกิดความคุ้มค่าหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่มีคนช่วยกลั่นกรอง สื่อก็ควรเสนอข้อมูลเหล่านี้ แต่ไม่ต้องตัดสินใจแทน เพียงแต่ให้ข้อมูลเพื่อประกอบการกลั่นกรองของประชาชนอีกรอบ ก่อนเขาจะไปออกเสียงเลือกตั้ง แบบนี้สื่อจะช่วยได้เยอะ ช่วยคิด-วิเคราะห์ ให้มุมมอง ไม่ใช่แค่นำเสนอนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองอย่างเดียว คือไม่ใช่ว่านักการเมืองพูดอะไรก็เสนอไป แต่ดูว่าสิ่งที่นำเสนอมีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งสื่ออาจสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องหรือจะวิเคราะห์เองก็ได้บนพื้นที่สื่อ แต่ก็อยากให้มีมุมเหล่านี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจมากกว่าแค่ฟังที่เขาพูด
"วิสุทธิ์"ยังให้ความเห็นด้วยว่า สื่อควรให้โอกาสพรรคการเมืองขนาดเล็กได้มีโอกาสบนพื้นที่สื่อ เพราะมองว่าก็มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่มีความตั้งใจที่ดีในการทำงานทางการเมือง ก็ควรเปิดพื้นที่ให้เขา ไม่ใช่ว่ามีแต่พรรคขนาดใหญ่หมด
นอกจากนี้ ตอนนี้เวทีที่สื่อทำ ทั้งเวทีประชันวิสัยทัศน์ เวทีดีเบตต่างๆ แต่ผมก็อยากเห็นเวทีซึ่งจัดโดยประชาชน แล้วให้นักการเมืองมาฟัง ที่ผ่านมา เราฟังนักการเมืองพูด จะทำอะไรต่างๆ แต่ก็ควรมีเวทีของประชาชนที่นำเสนอประเด็นต่างๆ แล้วให้นักการเมืองมาฟัง แต่ก็ต้องมีการกลั่นกรองประเด็นมาแล้ว เพราะสื่อมีข้อมูลเยอะ เจอคนเยอะ ก็จัดเวทีแล้วให้นักการเมืองมาฟัง
"วิสุทธิ์"มองการเสนอข่าวของสื่อมวลชนในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งว่า คิดว่าน่าจะสนุก ที่แน่นอนว่า การแข่งขันวันที่ 14 ต้องแข่งขันกันรายงานข่าวด้วยความเร็ว มีสีสัน และสนุก โดยจะเน้นเรื่องบรรยากาศของการนับคะแนนผลเลือกตั้ง ซึ่งในช่วงการรายงานข่าวผมคิดว่าจะสนุก และสื่อแต่ละค่าย แต่ละแพลตฟอร์ม ก็ต้องแข่งขันกัน เพียงแต่ว่าความยากของรอบนี้คือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะรายงานผลช้า คือกกต.พอปิดหีบเสร็จ ก็จะรายงานอย่างไม่เป็นทางการ แต่รอบนี้จะรายงานประมาณ 22.00-23.00 น. อย่างเร็ว ทำให้สื่อที่จะรายงานผลการเลือกตั้ง ช่วงสุญญากาศตั้งแต่หลังห้าโมงเย็นไปจนถึงสี่ทุ่ม แล้วสื่อจะรายงานอะไร นอกจากฟังการวิเคราะห์ของนักวิชาการและคนอื่นๆ แต่ก็มีข่าวว่าจะมีองค์กรสื่อและภาคประชาชนจะอาสารายงานผลการนับคะแนน ความเข้มข้นในการรายงานข่าวของสื่อก็จะอยู่ในช่วงหลังปิดหีบเลือกตั้งห้าโมงเย็นไปจนถึงช่วงค่ำ ตรงนี้น่าสนใจว่าสื่อแต่ละแห่งจะแข่งขันกันด้วยอะไร ก็เป็นการวัดกึ๊นส์ วัดฝีมือของแต่ละสื่อเหมือนกัน นอกจากนี้ช่วงต่อจากนี้ ก็จะมีข่าวพวกจับทุจริตเลือกตั้งต่างๆ แต่ก็อย่าไปหลงเป็นเครื่องมือใคร
"วิสุทธิ์"กล่าวตอนท้ายว่า หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. ข่าวก็จะไปอยู่ที่เรื่อง การเจรจาจัดตั้งรัฐบาล การล็อบบี้ต่างๆ ที่สื่อก็ต้องดูด้วยว่าสัญญาประชาคมที่นักการเมืองให้ไว้ตอนหาเสียง สัญญาต่างๆ ทำได้หรือไม่ได้ หรือจะมาโกหก แก้ต่างไป เช่น พรรคการเมืองนี้เคยบอกว่าจะไม่จับมือกับพรรคการเมืองนั้น แต่ถึงเวลาก็ไปจับมือกัน สื่อก็ต้องตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ แล้วสุดท้าย พอเป็นรัฐบาล ที่มีหลายพรรคการเมืองมาร่วมตั้งรัฐบาล นโยบายที่หาเสียงไว้ ตกลงทำได้หรือไม่ได้
หลังเลือกตั้ง สิ่งที่ผมคิดว่าต้องดูเลยคือท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา ทางสมาชิกวุฒิสภาจะเอาอย่างไร จะขึ้นกับใครหรือไม่ สั่งได้หรือสั่งไม่ได้ แต่ก่อนจะเลือกนายกฯ จะต้องเลือกประธานสภาฯ ก่อน อันนี้ก็อาจเป็นเกมที่น่าสนใจ เพราะอาจมีการหักเหลี่ยมเฉือนคม เพราะพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก ไม่จำเป็นว่าคนจากพรรคนั้นจะได้ประธานสภาฯ เสมอไป อย่างรอบที่แล้ว ก็หักเหลี่ยมกันหน้างาน คุณชวน หลีกภัย ที่ไม่ได้มาจากพรรคหลัก ก็ได้เป็นประธานสภาฯ
"ดังนั้นหลังเลือกตั้ง ก็ต้องดูหลายอย่างทั้งการเลือกประธานสภาฯ การเลือกนายกฯ ดูกลเกมการเมืองแต่ละอย่าง ดูพวกท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงสัญญาต่างๆ ที่พรรคการเมืองเคยประกาศตอนหาเสียง ก็ไม่อยากให้ว่าพอเลือกตั้งเสร็จ สื่อก็เฟดไป แต่อยากให้ตามต่อจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่"
บทบาทสื่อเสนอข่าวเลือกตั้ง
และสมรภูมิข่าว วันที่ 14 พ.ค.
ด้าน "รัชชพล เหล่าวานิช ผู้ประกาศข่าว พิธีกรและสื่อมวลชนผู้มากประสบการณ์และคร่ำหวอดในวงการข่าวมาหลายปี"โดยปัจจุบัน เป็นผู้ดำเนินรายการ "สนามข่าว" ทางสถานีวิทยุ FM. 101 และบรรณาธิการบริหารของ JKN-CNBC สถานีข่าวเศรษฐกิจและการลงทุน ที่สะท้อนความคิดเห็นต่อการรายงานข่าวการเลือกตั้งของสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมาว่า ภาพรวมการเสนอข่าวของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างคึกคัก และแต่ละสื่อก็พยายามแข่งขันในการนำเสนอ แต่หากเอาตรง ๆ ก็จะมีสื่อเลือกข้างพอสมควร โดยสื่อที่อยู่ฝั่งอนุรักษ์นิยม ก็กลุ่มหนึ่ง สื่อที่อยู่กลุ่มเสรีนิยมก็กลุ่มหนึ่ง ที่ก็จะมีทั้งสื่อออนไลน์และสื่อออฟไลน์ แต่ก็มีสื่อที่พยายามอยู่กลางๆ จำนวนหนึ่งแต่สื่อที่กลางๆ ก็จะไม่ค่อยให้น้ำหนักกับการทำข่าวเรื่องเลือกตั้งมากเท่าไหร่ ก็เหมือนกับเกาะกระแสไป แต่สื่อที่ค่อนข้างให้น้ำหนักกับข่าวเลือกตั้งค่อนข้างเยอะ ก็อาจจะเป็นสื่อที่อาจจะมี พูดตรงไปตรงมา ก็คือ อาจจะมีธงของสื่ออยู่แล้ว ก็นำเสนอในลักษณะที่อาจจะดูมี bias นิดๆ อันนี้ในความเห็นผม
แต่เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการต่อสู้ระหว่าง ฝั่งของอนุรักษ์นิยมกับฝั่งของเสรีนิยม โดยฝั่งอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่ก็จะเป็นเจเนอเรชั่นที่ค่อนข้างสูงวัย
ส่วนฝั่งเสรีนิยม ก็จะเป็นกลุ่มลักษณะนิวโหวตเตอร์ และกลุ่มคนทำงานที่อายุอาจไม่มากนัก โดย ageing ก็จะเป็นตัวที่จะตัดแต่ละกลุ่ม เพราะฉะนั้นสื่อที่นำเสนอ ก็อยู่ที่คาแรคเตอร์ของสื่อเขา โดยสื่อที่อยู่ในปีกอนุรักษ์นิยม ก็จะมีการนำเสนอในแบบหนึ่ง สื่อที่เป็นฝั่งเสรีนิยมก็จะนำเสนออีกแบบหนึ่ง โดยเท่าที่เห็น ก็เห็นสื่อแข่งขันกันค่อนข้างดี แต่ว่ารูปแบบในการแข่งขันก็จะมีลักษณะที่เห็นภาพใหญ่กันในช่วงที่ผ่านมาเช่นการจัดเวทีดีเบต ของตัวแทนพรรคการเมืองหลัก ๆที่คิดว่าจะมีบทบาทในการที่จะได้รับเลือกและมาฟอร์มรัฐบาล พรรคการเมืองขนาดเล็ก ก็จะถูกให้ความสำคัญน้อย โดยเวทีดีเบต ก็จะมีการนำประเด็นต่างๆ ที่สังคมให้ความสนใจแต่ละเรื่อง เช่น เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง เรื่องมาตรา 112 ที่ก็แล้วแต่ว่าใครจะหยิบจับประเด็นมาชู แล้วก็เชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาดีเบต เพื่อมานำเสนอแนวคิดของแต่ละพรรคการเมืองผ่านเวทีดีเบต ที่ก็คึกคักดี แต่ละแห่งก็มีการแข่งขันกัน
"รัชชพล"ให้มุมมองต่อไปว่า นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการทำโพล ซึ่งการทำโพลในความเห็นผม ดูเหมือนโพลของสำนักหลักๆที่เขาทำกันอยู่เดิม ก็อาจจะมีความคิดว่าบางสำนักอาจจะbias หรือไม่ สื่อก็เลยพยายามจะเล่นบทบาทในการทำโพลเอง หลายค่ายก็จับมือกันในการทำโพล แต่ว่าวิธีการทำโพลของแต่ละค่าย มันยังไม่ใช่เป็นการทำโพลในเชิงที่ได้มาตรฐาน เพราะก็เป็นการทำโพลในลักษณะที่ให้คนเข้ามาโหวต ซึ่งมันเหมือนเป็นการโหวตมากกว่า ไม่ใช่เป็นโพล และโพลที่พยายามจะทำให้มีกลุ่มตัวอย่างเยอะๆ บางครั้ง มันก็ไม่เสมอไปที่โพลซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างเยอะๆ มันจะแม่น ต้องยอมรับว่า โพลมันคือการวัดกระแสของแต่ละช่วงเวลา เพราะฉะนั้นมันก็จะมีขึ้นมีลงไปเรื่อยๆ และมันก็อาจจะมีอิทธิพลต่อโหวตเตอร์ด้วยซ้ำ เพราะพอดูกระแสแล้ว อาจทำให้การตัดสินใจของคนโหวตอาจเปลี่ยนแปลงไป เช่นตอนนี้ก็มีเรื่องของกระแสลักษณะของ Strategic vote ที่ก็ต้องยอมรับว่าโพลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ คะแนนมันอาจพลิกผันได้
ผมเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว โพลแต่ละค่ายจะไม่แม่นสักค่าย เพราะว่าพอกระแสมาทางหนึ่ง นักการเมือง ก็ต้องพยายามแก้ ซึ่งตัววัด นอกจากกระแสแล้วก็ยังอยู่ที่ เขตเลือกตั้ง ที่ก็คือ ผู้สมัครส.ส.ระบบเขต รวมถึงกระสุนของแต่ละพรรคที่จะใช้ในช่วงสุดท้าย รวมถึงนโยบายเด็ดๆ ที่อาจจะออกมาในช่วงท้าย ก่อนวันเลือกตั้ง ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงผลโพลได้เหมือนกัน ในทัศนะผม โพลก็เป็นเรื่องการวัดกระแสในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น แต่มันไม่น่าจะถึงกับต้องมาดูว่าหลังเลือกตั้งมันแม่นหรือไม่แม่นอย่างไร เพราะมันพูดยาก
เมื่อถามถึงว่าการจัดเวทีดีเบตต่างๆ ของสื่อ จะมีผลในการตัดสินใจของโหวตเตอร์ ในวันเลือกตั้งหรือไม่อย่างไร "รัชชพล"มีความเห็นประเด็นนี้ว่า ก็อาจจะมีบ้าง แต่ต้องยอมรับว่า ผู้ลงคะแนนหรือโหวตเตอร์ส่วนใหญ่ ทุกวันนี้เขามีคนที่จะเลือกหรือพรรคที่จะเลือกอยู่ในใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงผลการตัดสินใจของเขา มันอาจไม่ได้มีมากนัก ในทัศนะผม แต่เขาจะไปรอดู ประเมินดู เพราะเนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้มันเป็นการเลือกด้วยกติกาเลือกตั้งบัตรสองใบ จุดพลิกผันก็อยู่ที่ว่า ณ วันที่เขาจะเข้าคูหา เขาจะเลือกในลักษณะStrategic vote คือเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งให้มีคะแนนเยอะ ส่วนการเลือกส.ส.เขต อาจจะเลือกพรรคที่ชอบ คนที่ใช่หรือเปล่า แต่พรรคที่ชอบเขาอาจไม่เลือกในบัตรลงคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อก็ได้
... ผมยกตัวอย่าง เช่นบางคนเขาชอบพรรคประชาธิปัตย์ แต่ตอนที่จะลงคะแนนเสียง ถ้าอาจมองว่าถ้าเลือกประชาธิปัตย์ อาจไม่ได้ทำให้ประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำรัฐบาล แต่หากเลือกอีกพรรคการเมืองหนึ่งอาจมีโอกาสมากกว่า เขาก็อาจเลือกแบบ Strategic vote เพื่อเทคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้อีกพรรคการเมืองหนึ่งก็ได้ แต่สำหรับบัตรส.ส.เขต เขาก็อาจเลือกคนที่เขาชอบ ไม่ว่าจะอยู่พรรคการเมืองใด
สำหรับการจัดเวทีดีเบตของสื่อสำนักต่างๆ ก็จะพบว่าก็จะมีประเด็นอ่อนไหว ที่เวทีดีเบต ก็จะถูกหยิบยกมาเป็นคำถามแล้วให้แต่ละพรรคการเมืองแสดงจุดยืน เช่นจะจับมือกันพรรคการเมืองใดหรือไม่ (จับมือตั้งรัฐบาล) ก็ทำให้โหวตเตอร์ต้องฟังว่าท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองเป็นอย่างไร หรือประเด็นอ่อนไหวบางเรื่องที่โหวตเตอร์อยากฟังทัศนะ เขาก็ต้องรอฟังในเวทีดีเบต
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ มีการ echo กันอยู่ในกลุ่ม คือเนื่องจากโซเชียลมีเดีย หรือสื่อหลักต่างๆ ก็ดี คนก็เลือกเสพในสิ่งที่ตัวเองชอบหรือว่ามาในทางกลุ่มของตัวเอง ก็ทำให้จะไม่ไปฟังความเห็นของอีกฟากสักเท่าไหร่ ก็ทำให้เห็นได้ว่าในช่วงโค้งสุดท้าย ก็จะมีข่าวสารที่จะเป็นวิชามารเยอะขึ้นเรื่อยๆ คือเริ่มใส่กันแรงขึ้น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติของการเลือกตั้งที่จะเป็นแบบนี้
เมื่อถามถึงมีข้อคิดเห็นถึงการเสนอข่าวการเลือกตั้งที่มีขึ้นอย่างไร เพราะก็มีเสียงสะท้อนว่าสื่อไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือไม่ค่อยนำเสนอเรื่องนโยบายพรรคการเมืองมากเท่าใดนัก "รัชชพล-คนสื่อมากประสบการณ์"มองว่า ก็ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองเข้าสู่การเลือกตั้งเยอะมาก ก็ทำให้แน่นอนว่าการให้พื้นที่กับพรรคการเมืองขนาดเล็ก เปอร์เซ็นต์ก็คงลดลงไปตามขนาดของพรรคและโอกาส ความเป็นไปได้ของพรรคการเมืองนั้นๆ เพราะฉะนั้นผมว่ามันก็ต้องทำใจในการเป็นพรรคขนาดเล็ก ยกเว้นว่า จะเป็นพรรคเล็กที่มีบทบาทบางอย่างที่โดดเด่นหรือมีนโยบายบางอย่างที่โดดเด่นมาก มองในแง่สื่อ เขาก็อาจมองว่าก็ดูมีสีสัน ก็อาจมีการให้พื้นที่กับพรรคขนาดเล็กบ้าง หรือบางค่าย ผมก็ได้ยินมาว่าก็อยากเอาพวกพรรคขนาดเล็กมานั่งคุยเป็นอีกวงหนึ่งเพื่อจะได้มีโอกาสในการนำเสนอ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าพื้นที่สื่อก็มีจำกัด และส่วนใหญ่คนจะสนใจพรรคขนาดใหญ่มากกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องของนโยบายที่อยากให้สื่อเจาะลึก ก็เนื่องจากนโยบายของพรรคการเมืองมีเยอะมาก โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เห็นว่าแต่ละพรรคการเมืองแย่งชิงการผลักนโยบายกันออกมาแบบเกทับบลัฟแหลก ทางโหวตเตอร์เอง ก็อาจต้องศึกษานโยบายต่างๆ ที่ออกมาโดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจที่มีลักษณะประชานิยมจะส่งผลกระทบต่ออนาคตมากน้อยแค่ไหน มันอาจได้ผลในระยะสั้น แต่จะเกิดปัญหาในระยะยาวหรือไม่ จะเป็นภาระด้านงบประมาณหรือไม่ในแต่ละปี ก็อาจต้องมองในมุมเหล่านี้ด้วย โหวตเตอร์จะมองในสิ่งที่ตัวเองจะได้อย่างเดียว โดยไม่ได้มองว่าแล้วเขาจะหารายได้กลับมาทำนโยบายต่างๆให้เราได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่โหวตเตอร์ก็ต้องพิจารณาเหมือนกัน เพราะว่างบประมาณเรามีจำกัด จะมาทำประชานิยมมากมาย งบประมาณทำได้ไหวหรือไม่ ส่วนการวิเคราะห์สื่อ บางครั้ง ก็อาจถูกมองว่าbias หรือไม่ เช่นบางพรรคออกนโยบายมาบางอย่าง ก็วิเคราะห์เสียลึกเชียว แต่อีกพรรค กลับไม่ค่อยวิเคราะห์ มันก็ต้องชั่งน้ำหนักให้บาลานซ์พอสมควร
ผมยกตัวอย่างนโยบายประชานิยม พรรคการเมืองหนึ่งแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท หกเดือนใช้งบห้าแสนกว่าล้านบาท แต่อีกพรรคการเมืองหนึ่ง ก็จะแจกเงินบำนาญให้กับผู้สูงอายุ คิดแล้วใช้งบประมาณต่อปี ก็ร่วมห้าแสนล้านบาทถึงหกแสนล้านบาทเช่นกัน แต่ในแง่ที่ว่าพรรคการเมืองที่จะแจกเงินดิจิทัล ดูแล้วมีความหวือหวา ก็ไปให้น้ำหนักกับนโยบายดังกล่าวเยอะ แต่ความจริงผลกระทบก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล เลยทำให้เรื่องเงินบำนาญผู้สูงอายุเลยถูกพูดถึงน้อย
"รัชชพล"มองว่าการเสนอข่าวของสื่อมวลชนในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. เรื่องการรายงานผลการเลือกตั้งเป็นแค่สีสัน เพราะเข้าใจว่าตัวองค์กรสื่อ ก็ทำการวิเคราะห์ผลร่วมกันในลักษณะเป็นพูล เพราะฉะนั้น ทันทีที่เริ่มเห็นผลการเลือกตั้งว่าแต่ละพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงเท่าใด ก็จะแย่งชิงกันในการที่จะฟอร์มรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา และจะไปวัดกันตรงที่ว่าสถานีไหน จะสามารถบอกได้ว่าการจัดตั้งรัฐบาล จะเป็นพรรคการเมืองไหนจับมือกับใครตั้งรัฐบาล ที่ก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลนานแค่ไหน แต่มันก็มีแนวโน้มที่ทันทีที่ผลออกมามีแนวโน้มที่ชัดเจน ที่ผมคาดว่าอย่างเก่งก็ประมาณ 20.00-21.00 น. ก็น่าจะเห็นภาพแบบทันทีทันใด ที่จะจัดสูตรตั้งรัฐบาลกันแล้ว สื่อก็คงวัดชัยชนะกันตรงที่ใครจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อนกัน
สำหรับเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องโหวตในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา 376 เสียงจาก 750 เสียง โดยหากพรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลปัจจุบัน รวมเสียงกันแล้วได้ระดับ 250 เสียง ก็แทบจะปิดประตูสำหรับอีกฝั่งเลย เพราะเขามีสว.อยู่แล้ว แต่หากฝั่งพรรคการเมืองขั้วเสรีนิยม มีเสียงส.ส.หลังเลือกตั้งเกิน 250 เสียง ก็ยังต้องไปลุ้นต่ออีกว่า จะเอาเสียงสว.มาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ก็หมายความว่าเขาต้องมีเสียงที่เกิน 250 เสียงไปเยอะพอสมควรที่จะทำให้สว. จะไม่กล้าที่จะขัดความชอบธรรม ทำให้ดูแล้วโจทย์ของฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันง่ายกว่าฝั่งเสรีนิยม เพราะตอนนี้ฝั่งเสรีนิยม ก็ดูจะขบ ๆกันอยู่ด้วยซ้ำ
ทั้งหมดคือเสียงสะท้อนของคนในวงการสื่อ ต่อการเสนอข่าวการเลือกตั้ง 14 พ.ค.ที่น่าสนใจ บนข้อคิดที่ว่าแม้การเลือกตั้งจะจบวันที่ 14 พ.ค. แต่ข่าวการเมืองการเลือกตั้ง จะยังมีอีกหลายซีนการเมืองที่ต้องตามต่อ ไม่ได้จบแค่วันที่ 14 พ.ค.เท่านั้น