“ดราม่าสารพิษไซยาไนด์ เสรีภาพบนความรับผิดชอบ”

            "สื่อต้องยึดมั่นชัดเจนเป็นกลางในการนำเสนอข่าว แต่ถ้าเป็นการเสนอความคิดเห็น ผู้พูดต้องรับผิดชอบโดยบอกกับสังคมว่า เป็นความเห็นเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ส่วนตัว  จากประสบการณ์และความเชื่อของผู้พูด เกี่ยวโยงกับข้อมูลที่นำเสนอออกไป ตรงนี้ต้องทำให้สังคมชัดเจนก่อน  ไม่ใช่เอาความเชื่อส่วนตัวไปปรากฏอยู่ในส่วนที่เป็นข่าว"

            “มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ถึง “ข่าวดราม่า เร้าอารมณ์ สื่อควรทำอย่างไร ถึงจะไม่ชี้นำสังคม” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ขอเน้นสื่อแพลตฟอร์มเดิมเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  พบว่ามีทั้งแง่บวกและแง่ลบต่อสังคม ยกตัวอย่างแง่บวกกรณีข่าวซึ่งกำลังโด่งดัง  มีข้อสงสัยเรื่องสารพิษไซยาไนด์ ในการประกอบอาชญากรรม  สื่อนำเสนอข่าวแล้วตีแผ่ให้ชัดเจน ถือว่าเป็นมุมที่มีประโยชน์หลายเรื่อง  สังคมจะได้ศึกษาไปพร้อมๆกับระมัดระวังป้องกัน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต หรือในอดีตเคยเกิดขึ้นแล้วแต่ไม่มีใครสนใจ เช่น อาจจะไม่รู้ว่าอะไรแก้สารพิษดังกล่าวได้บ้าง หรือการออกฤทธิ์เป็นอย่างไร 

            มุมบวกอีกข้อหนึ่ง คือ การเบลอปิดบังใบหน้า  เพราะถือว่ายังเป็นแค่ผู้ต้องหา ซึ่งมีทั้งสื่อและไม่ใช่สื่อแต่เป็นการเล่าข่าว พยายามอธิบายถึงเหตุผลตอนแรก ที่ไม่เบลอหน้า เพราะว่าคนดังกล่าวยังไม่ได้ถูกตำรวจจับกุม  เกรงว่าจะเป็นอันตรายกับคนอื่นจึงแสดงใบหน้า แต่หลังจากจับกุมแล้วก็เบลอหน้า เป็นการปกป้องสิทธิตรงนี้ถือว่าถูกต้อง แม้จะเป็นผู้ต้องหา แต่หากระบบยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ สื่อจะไปตราหน้าเขาก็ไม่ถูกต้อง  ตรงนี้หลายคนอาจไม่เข้าใจ หลักปกป้องเสรีภาพกับหลักเรื่องของประโยชน์ส่วนรวม

สื่อเตือนตัวเองเสมอ ต้องมีจรรยาบรรณ-เป็นกลางชัดเจน ไม่นำเสนอข่าวละเมิดผู้อื่น

            "สื่อมีการเตือนอยู่เสมอ เรื่องพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการละเมิด แต่ปัจจุบันบริบทสังคมเปลี่ยนไปมาก  ทุกคนนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตัวเอง แต่สมาคมนักข่าวฯดูแลได้เฉพาะวงการสื่อเท่านั้น  ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่พอ สังคมต้องช่วยดูแลส่วนที่เกินกว่านั้นด้วย เช่น ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่สื่อโดยวิชาชีพหรือมืออาชีพ ที่รับผิดชอบโดยจริยธรรมจรรยาบรรณ ก็ต้องเฝ้าดูด้วยว่า มีพฤติกรรมของการบูลี่ หลอกลวงหรือปล่อยข่าวลวง เป็นภัยต่อสังคมที่เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆหรือไม่  สิ่งเหล่านี้องค์กรสื่อได้แต่ช่วยเตือน แล้วนำปรากฏการณ์มาเล่าไม่สามารถไปกำกับดูแลควบคุมได้" 

            ปัจจุบันสมาคมสื่อยังมีอยู่และทำหน้าที่อย่างดี  หากประชาชนมีปัญหาหรือสงสัย ให้ร้องเรียนเรื่องจริยธรรมมาได้ แต่หลายปีที่ผ่านมายังไม่มีข้อร้องเรียนนักข่าว  ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ  ถ้าเป็นข้อร้องเรียนถึงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กร ขอให้กรุณาแยกแยะบทบาทหน้าที่ให้ถูกต้องด้วย  ถึงจะรู้ว่าองค์กรไหนทำหน้าที่อะไร แต่อย่างไรก็ตามองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ก็มีการแสดงออกผ่านเวทีสาธารณะ หรือช่องทางสื่อสารผ่านการออกแถลงการณ์ได้เช่นกัน 

            "สื่อต้องยึดมั่นชัดเจนเรื่องความเป็นกลางในการนำเสนอข่าว แต่ถ้าเป็นการเสนอความคิดเห็น ผู้พูดต้องรับผิดชอบโดยบอกกับสังคมว่า เป็นความเห็นเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ส่วนตัว  จากประสบการณ์และความเชื่อของผู้พูด เกี่ยวโยงกับข้อมูลที่นำเสนอออกไป ตรงนี้ต้องทำให้สังคมชัดเจนก่อน  ไม่ใช่เอาความเชื่อส่วนตัวไปปรากฏอยู่ในส่วนที่เป็นข่าว"

              เช่น ข่าวการเมือง  ฉันชอบพรรคนี้เชียร์พรรคนี้ ข่าวดีๆของพรรคนี้ฉันนำมาลงหมด  ถ้าฉันไม่ชอบอีกพรรคหนึ่ง ข่าวอะไรที่เสียหายของพรรคนั้นก็นำลงไปแต่ไม่เน้นข่าวดีๆ  อย่างนี้คือการละเมิด  มีโอกาสที่ประชาชนจะได้ข้อมูลไม่ทั่วถึง แสดงว่าคุณทำหน้าที่สื่อข่าวไม่เป็นกลาง แต่ถ้าคุณจะไปเขียนบทความ หรือออกรายการ คนดูจะได้รู้ว่านั่นคือความเชื่อส่วนตัว ฉะนั้นต้องฟังหูไว้หูและช่วยกันทำให้สังคมกระจ่างชัด  อยากแนะนำประชาชนต้องฟังให้รอบด้าน  แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่าเหตุผลในการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง  เป็นเพราะอารมณ์ที่ถูกกระตุ้นถูกเร้าหรือไม่ หรือสิ่งที่มีการพยายามพูดถึงในเรื่องของการบูลี่ เรื่องของการข่าวลวงข่าวปลอม 

อำนาจทางกฎหมายของสภาสื่อต้องรัดกุม ไม่ถูกรัฐแทรกแซง

            สำหรับกรณีที่ผู้มีอำนาจพยายามที่จะเข้ามาจัดระเบียบสื่อ ขณะที่ประชาชนบอกว่าน่าจะมีกฎหมายควบคุมสื่อ ทำให้สื่อพยายามคัดค้านมาตลอด เพราะมองว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพ   นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า ก่อนที่จะมองว่ากฎหมายจะเข้ามาละเมิดหรือไม่ ต้องดูลึกเข้าไปในตัวกฎหมายด้วยว่า มีขอบเขตในการกำกับดูแลแค่ไหน  ไม่ใช่ไปฟังความรู้สึกของคนอื่นแล้วรู้สึกตาม 

            ความจริงแล้วเรื่องร่างกฎหมาย คนในวงการสื่อรุ่นก่อนๆพยายามทำ เพราะสังคมเรียกร้องว่าสื่อต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ขณะที่เราเห็นองค์กรต่างๆเริ่มมีการกำหนดกฎหมาย เรื่องจริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพต่างๆ  แต่ปรากฏว่าปัญหาเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่อมวลชนๆกลับไม่ค่อยยึดถือเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะสภาของสื่อไม่มีอำนาจตามกฎหมาย  ปัญหาเรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก 

            “อำนาจทางกฎหมายของสภาสื่อต้องรัดกุม และต้องไม่ถูกรัฐเข้าไปแทรกแซง  ไม่เช่นนั้นรัฐจะใช้ช่องทางเหล่านี้  ปิดกั้นเสรีภาพสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ เรื่องนี้มันซับซ้อนมาก ร่างกฎหมายเก่าก่อนหน้านี้  เคยก่อความระแวงก็จริง แต่ถ้าดูในเนื้อหาแล้ว บทบังคับจริงๆร้ายแรงที่สุดก็แค่ประณาม แต่สังคมทุกวันนี้ก็ใช้วิธีประณาม โดยไม่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลเท่าที่ควร  ดังนั้นการที่จะมีองค์กรหนึ่งมาเคลียร์สงสัยของสังคม ว่าสื่อไม่ถูกตามจรรยาบรรณ แล้วมาอธิบายความโดยเข้าไปสืบเสาะวิเคราะห์ ว่าสิ่งที่กล่าวหานั้นจริงหรือไม่จริงอย่างไร เรื่องนี้คือมาตรการหนึ่งที่ในร่างนั้นต้องการให้มี”  

            นอกจากนี้ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ทุกคนยอมรับเรื่องของจริยธรรมที่ร่างร่วมกัน ในลักษณะที่เข้ารูปเข้ารอยหรือไม่  ผมคิดว่าสิ่งนี้วงการสื่อจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้สื่อ ควรปกป้องเสรีภาพควบคู่กับความรับผิดชอบ ขณะที่ประชาชนหากเห็นว่า ถูกกระทบเรื่องของชื่อเสียง ก็ใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย หรือใช้ช่องทางร้องเรียนในกรณีที่เป็นตัวบุคคล ก็ร้องเรียนมาที่สมาคมนักข่าวฯ  แต่ถ้ากรณีที่เป็นองค์กรให้ร้องไปที่สภาการสื่อมวลชน  

            อย่างไรก็ตามการวิพากษ์วิจารณ์สื่อทำได้ แต่ขอให้คลี่เหตุผลออกมาให้ชัดเจน อย่าใช้แต่อารมณ์อย่างเดียว  ต้องอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ว่าคือ ความบกพร่องด้านจริยธรรมและนำมาซึ่งความเสียหาย  ความจริงแล้วดาบในทางกฎหมายไม่มี แต่ถ้าเราเชื่อว่าผู้คนในสังคมอยากให้สังคมดีขึ้น และรวมกันเป็นพลังสำคัญนั่นก็ คือดาบเหมือนกัน

หลากกิจกรรมวันสื่อมวลชนโลก  3 พฤษภาคม 

            มงคล บอกว่า  3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสื่อมวลชนโลก  ปัจจุบันสถานการณ์สื่อไทยกับสื่อทั่วโลกไม่ต่างกัน  เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงต้องปรับตัวมากขึ้น สื่อหลายส่วนเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียล จากเนื้อหาข่าวสารทั่วไป ก็ต้องมีคอนเทนท์เข้ามาผสมผสาน แต่ความจริงแล้วคอนเทนท์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ สำหรับสื่อมวลชนยุคเก่า ในเทคโนโลยีเก่าๆ

            ในกลุ่มของสื่อจะแบ่งเนื้อหาลักษณะเชิงข่าวสาร กับเนื้อหาเชิงความคิดเห็น  ,บทความ ซึ่งสื่อข่าวสารกับคอนเทนท์ ต้องแยกออกมาให้ชัดเจน ว่าตรงไหนเป็นประสบการณ์ของผู้เล่า ที่คิดวิเคราะห์เอง หรือตรงไหนเป็นข้อมูลข่าวสาร ที่ประชาชนจะต้องไปดู  โดยที่ผู้นำเสนอข้อมูลข่าวสาร ต้องรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูล ครบถ้วนรอบด้าน  เพื่อให้ผู้รับข้อมูลข่าวสารเป็นผู้ตัดสิน 

            แต่ถ้าเราแยก 2 ส่วนนี้ไม่ออก ทำเจือปนไปหมดหรือกลายเป็นว่า ไปเน้นคอนเทนท์ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัว มากกว่าข้อมูลข่าวสาร  ผมคิดว่าจะทำให้สังคมถูกผลักไปสู่การใช้อารมณ์ มากกว่าใช้ปัญญา  ซึ่งปัญหานี้เป็นทั่วโลกด้วยไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันทั่วโลกก็ประสบปัญหา  เรื่องของเสรีภาพที่จะถูกคุกคามได้เหมือนกัน เพราะสื่อมวลชนมักจะมีบทบาทในการตรวจสอบ การทุจริตของผู้มีอำนาจ ทำให้ผู้มีอำนาจพยายามแทรกแซง ครอบงำเสรีภาพของสื่อได้ตลอดเวลา  ผ่านหลากหลายรูปแบบ อาทิ ใช้อำนาจและอิทธิพล ใช้ความรุนแรงหรือแม้กระทั่งการฟ้องปิดปาก เป็นต้น

            สำหรับสมาคมนักข่าวฯมีการจัดงานใน 3 พฤษภาคมนี้   เชิญตัวแทนพรรคการเมือง มาพูดคุยถึงมุมมองความคิด นโยบายเกี่ยวกับสื่อ  เพราะไม่ค่อยได้เห็นในเวทีดีเบสต่างๆ พูดคุยประเด็นปัญหาสื่อ  ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญตามหลักสากลของยูเนสโก  ปีนี้เราพยายามผลักดันว่า “เสรีภาพสื่อเป็นการสะท้อนเสรีภาพของประชาชน” เพราะขนาดสื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่หลัก ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ยังถูกปิดกั้นเสรีภาพ ก็อย่าคาดหวังว่าประชาชนจะได้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  

            นอกจากนี้ภายในงานมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายที่น่าสนใจ เช่น การประกวดภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ซึ่งเป็นการนำเสนอการทำหน้าที่สื่อมวลชนทางหนึ่ง ว่าการทำหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง จะต้องเผชิญอะไรบ้าง ซึ่งหลายภาพสะท้อนปรากฏการณ์ที่สื่อ จะต้องเข้าไปอยู่ตรงเหตุการณ์นั้น  มีอะไรสุ่มเสี่ยงหรือคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนในการทำหน้าที่หรือไม่ 

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5